ข้ามไปเนื้อหา
Update
 
 
Gold
 
USD/THB
 
สมาคมฯ
 
Gold965%
 
Gold9999
 
CrudeOil
 
USDX
 
Dowjones
 
GLD10US
 
HUI
 
SPDR(ton)
 
Silver
 
Silver/Oz
 
Silver/Baht
 

Honeymew's Blog

  • เรื่อง
    3
  • ความเห็น]
    8
  • เข้าชม
    25,175

7 เทคนิคดูแล “ลูกสมาธิสั้น” อย่างสร้างสรรค์

Honeymew

ดูแล้ว

7 เทคนิคดูแล “ลูกสมาธิสั้น” อย่างสร้างสรรค์

แหล่งที่มา http://kid.plearnkid.com/?p=482

 

ได้ ชื่อว่าเป็นพ่อแม่ของลูกสมาธิสั้น หรือสมาธิบกพร่อง คงต้องรับบทหนักกันหน่อย เพราะเด็กในกลุ่มนี้จะมีความบกพร่องในการใส่ใจ การคงสมาธิ ทำให้วอกแวก อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น วู่วาม หรือทำอะไรโดยไม่ทันได้คิด จึงมักประสบอุบัติเหตุจากความซน และความไม่ระวังของตัวเองอยู่บ่อยครั้ง

 

ในเรื่องนี้ พญ.อังคณา อัญญมณี จิตแพทย์ เด็ก และวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ บอกว่า การดูแลลูกที่เป็นสมาธิบกพร่อง พ่อแม่ต้องมีความรู้ และความเข้าใจ เพราะเด็กในกลุ่มนี้จะมีปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเรียน การเล่น หรืออื่น ๆ ดังนั้น เด็กไม่ได้แกล้งซน แกล้งไม่เชื่อฟัง หรือขาดความรับผิดชอบ แต่มันเป็นอาการผิดปกติการทำงานของสมอง ทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

 

“ลูกที่มีสมาธิบกพร่อง เป็นเด็กเลี้ยงยากที่พ่อแม่มักเกิดอารมณ์หงุดหงิดได้ง่าย บางครั้งจึงใช้วิธีตีลูก เพื่อให้ลูกทำในสิ่งต้องการ แต่ไม่เข้าใจสิ่งที่ลูกเป็นว่าลูกไม่ได้แกล้งดื้อ หรือแกล้งซน เมื่อเป็นเช่นนี้จะยิ่งทำให้ลูกมีอาการของตัวโรคมากขึ้น นำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าว และใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา” จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นท่านนี้กล่าว

 

ดังนั้น พ่อแม่ของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น หรือสมาธิบกพร่อง จำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้อง เพื่อช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็ก ซึ่งการตี หรือการลงโทษทางร่างกาย เป็นวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผล และจะมีส่วนทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธ หรือแสดงพฤติกรรมดื้อต่อต้าน จนก้าวร้าวมากขึ้น

 

7 เทคนิคดูแลลูกสมาธิสั้นอย่างสร้างสรรค์

 

1. ลดสิ่งเร้า

 

สิ่งเร้าเป็นตัวสำคัญที่ทำให้สมาธิของลูกน้อยลง ดังนั้นการลดสิ่งเร้า สมองจะไม่ถูกกระตุ้นมากเกินไป ทำให้เด็กไม่จดจ่ออยู่กับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่สำคัญ นำไปสู่การมีสมาธิกับสิ่งสำคัญได้มากขึ้น

 

สำหรับวิธีลดสิ่งเร้านั้น คุณ หมอแนะนำว่า พ่อแม่ควรจัดบ้านให้เรียบง่าย และเรียบร้อย ไม่ควรมีลวดลายสีฉูดฉาด หรือของตกแต่งบ้านมากเกินไป พร้อมทั้งจัดของให้เป็นระเบียบ เก็บของในตู้ทึบแทนตู้กระจก

 

- ควรจัดที่เงียบ ๆ ให้ลูกได้ทำงาน หรือทำการบ้าน ต้องไม่มีเสียงโทรทัศน์รบกวน ส่วนบนโต๊ะควรมีเฉพาะสมุด ดินสอ และยางลบ

 

- มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสงบ พูดกับเด็กด้วยเสียงเบา ไม่ตะโกน โวยวาย รวมทั้งพ่อแม่ไม่ควรทะเลาะ หรือใช้ความรุนแรงต่อหน้าลูก

 

- หัดให้ลูกอยู่ในบรรยากาศที่สงบ หรือทำกิจกรรมเงียบ ๆ เช่น หัดให้นั่งเล่นในสนามหญ้าเงียบ ๆ ลดการเที่ยวศูนย์การค้า ไม่ซื้อของเล่นให้มากเกินไป อีกทั้งจำกัดเวลาดูโทรทัศน์ เล่นเกม และคอมพิวเตอร์

 

ด้านสภาพแวดล้อมที่โรงเรียน ควรจัดให้เด็กมานั่งใกล้ ๆ ครู ไม่ควรให้นั่งใกล้ประตูหน้าต่าง หรือเพื่อนที่ชอบเล่น ชอบคุย

 

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ท

2. เฝ้ากระตุ้น

 

- จำเป็นต้องมีผู้ใหญ่คอยติดตาม และตักเตือนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กเล็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ตลอดเวลา แม้จะรู้ และเข้าใจว่าควรทำสิ่งใดก็ตาม

 

- เด็กต้องการความช่วยเหลือจากพ่อแม่ และครูตลอดเวลา

 

- ทำบันทึกร่วมกันระหว่างพ่อแม่ และครู

 

วิธีการกระตุ้น

 

- เตือนเด็กเมื่อถึงเวลาทำงาน หรือเตือนเมื่อหมดเวลาเล่น

 

- โน้ตข้อความสำคัญในที่ที่เด็กเห็นได้ง่าย เช่น กล่องดินสอ โต๊ะเรียน ผนังห้อง หรือกระดาน

 

- ตั้งนาฬิกา หรือเครื่องจับเวลาให้เด็กเห็นชัด ๆ ขณะทำงาน เพื่อให้เด็กกะเวลาได้ดีขึ้น และตั้งใจทำงานให้เสร็จทันเวลาที่กำหนด

 

- แบ่งงานให้สั้นลง โดยให้เด็กได้พักเป็นช่วง ๆ

 

- แนะเคล็ดวิธีช่วยจำให้ลูก เช่น การย่อ ทำสัญลักษณ์ ผูกเป็นโคลง

 

- ให้เด็กอ่านออกเสียง หัดขีดเส้นใต้ขณะเรียน

 

3. หนุนจิตใจ

 

- เด็กมักทำสิ่งต่างๆ ไม่สำเร็จ เพราะได้รับแต่คำตำหนิติเตียน หมดความมั่นใจ เด็กจึงต้องการกำลังใจอย่างมากจากพ่อแม่ และคุณครู

 

- ระวังที่จะไม่เข้มงวด จับผิด แต่ควรเปิดโอกาสให้เด็กคิด

 

- ช่วยเด็กหาวิธีแก้ไขจุดอ่อน เช่น ขี้ลืม

 

- หาเรื่องตลกขำขันมาคุยกับเด็ก เล่นกับเด็กอย่างสนุกสนาน หรือพาเด็กออกกำลังกายบ้าง

 

- ชมเด็กบ่อย ๆ เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี หรือมีความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ

 

- บอกสิ่งที่สังเกตได้ในทางบวก เช่น เหนื่อยไหม แม่เห็นลูกทำมานานแล้ว วันนี้ลูกคิดได้เร็วกว่าเมื่อวานเยอะเลยนะ หรือ ทำมาได้ตั้ง 3 ข้อแล้ว เอ้าเหลืออีก 2 ข้อเองคนเก่งของพ่อ

 

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ท

4. ให้รางวัล

 

เด็กที่สมาธิบกพร่อง มักจะเบื่อ และขาดความอดทน แต่หากมีรางวัลตามมา เด็กจะรู้สึกท้าทาย และมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น โดยการให้รางวัล ควรให้ง่ายๆ บ่อยๆ มากกว่าที่ให้เด็กทั่วไป และต้องให้ในทันที

 

นอกจากนี้ควรเปลี่ยนรางวัลบ่อยๆ เพื่อให้เด็กได้สนุก และสนใจ อาจให้เด็กได้ลองคิดรางวัลเองบ้าง หรือให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเด็กเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการให้แต้ม/รางวัลแก่เด็กตลอดเวลา

 

สำหรับการให้รางวัล ถือเป็นแรงจูงใจที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กได้ โดยมีขั้นตอนการให้รางวัลง่ายๆ คือ

 

- ระบุพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นทดแทนพฤติกรรมปัญหา (เลือกให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่มีผลต่อเด็กในระยะยาวก่อน)

 

- ให้รางวัลกับพฤติกรรมใหม่ทุกครั้งที่เห็น

 

- หลังจากฝึกได้ 1-2 สัปดาห์ เริ่มใช้การลงโทษแบบไม่รุนแรง เช่น Time out ตัดสิทธิ์ อดรางวัล เมื่อเกิดพฤติกรรมปัญหา

 

- ใช้วิธีการให้รางวัลมากกว่าการลงโทษ

 

5. การพูดกับเด็ก

 

- ไม่พูดมาก ไม่เหน็บแนม ประชดประชัน ไม่ติเตียน

 

- บอกกับเด็กสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่าต้องการให้ทำอะไรในตอนนี้

 

- หากไม่แน่ใจว่าเด็กฟังอยู่ เข้าใจ พ่อแม่ควรให้เด็กทบทวนว่าสิ่งที่สั่ง หรือพูดไปคืออะไรบ้าง

 

อย่างไรก็ดี หากเด็กไม่ทำตามคำสั่ง พ่อแม่ควรใช้วิธีเดินเข้าไปหา จับมือ แขน หรือบ่า สบตาเด็ก พูดสั้น ๆ จากนั้นให้เด็กพูดทวน หากเด็กไม่ทำ ให้พาไปทำด้วยกัน หลีกเลี่ยงการบังคับ หรือออกคำสั่งตรงๆ แต่ใช้วิธีบอกกับเด็กว่าเขามีทางเลือกอะไรบ้าง เช่น หากต้องการให้เด็กเริ่มต้นทำการบ้าน แทนที่จะสั่งให้เด็กทำการบ้านตรงๆ อาจพูดว่า “เอาล่ะได้เวลาทำการบ้านแล้ว…หนูจะเริ่มทำภาษาไทยก่อน หรือจะทำเลขก่อนดีจ้ะ” เป็นต้น

 

6. นับสิ่งดี

 

- หาเวลาหยุดพักสั้น ๆ ในแต่ละวัน

 

- เตือนตัวเองอยู่เสมอว่า เด็กไม่ได้ตั้งใจทำตัวให้มีปัญหา แต่เด็กมีความผิดปกติในการทำงานของสมอง ทำให้คุมตัวลำบาก หยุดตัวเองได้ยาก และไม่มีใครอยากเป็นแบบนี้

 

- ให้อภัยแก่เด็ก ตัวเราเอง และทุกคนที่อาจไม่เข้าใจในพฤติกรรมของลูก

 

- คิดถึงความน่ารัก และความดีในตัวเด็ก และตัวเรา (พ่อแม่) เอง

 

7. มีขอบเขต

 

- มีตารางเวลา หรือรายการสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้เด็กรับรู้ขีดจำกัด และช่วยควบคุมให้เด็กทำตามง่ายขึ้น

 

- เรียงลำดับกิจกรรมง่าย ๆ ให้ชัดเจน และแน่นอน เช่น เวลาตื่น เวลานอน เวลาทำการบ้าน อ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์ เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมอื่นๆ

 

- ไม่ปล่อยปละละเลย หรือตามใจมากเกินไป เพื่อไม่ให้เด็กสับสนและผัดผ่อนต่อรองบ่อย ๆ

 

การ ดูแลลูกสมาธิสั้น สำคัญที่สุด พ่อแม่ต้องมีทัศนคติต่อเด็กในทางบวก ซึ่งพ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่าลูกไม่ได้แกล้งซน แกล้งดื้อ จากนั้นใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรมที่ไม่ทำลายความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองของ เด็กให้ลดลงตามวิธีที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อรู้จักลูกของเราแล้ว เรามาเลี้ยงเขาอย่างสร้างสรรค์กันดีกว่า



2 ความเห็น


แนะนำความคิดเห็น

ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความดีๆ มีประโยชน์สำหรับครอบครัวเช่นนี้ ชอบวิธีการให้รางวัลมากการลงโทษ ลูกๆ ไม่ได้เป็นเด็กสมาธิสั้นแต่จัดว่าดื้อและซนมาก คิดว่าจะนำความรู้ข้างต้นไปปรับใช้ค่ะ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

แชร์ความคิดเห็นนี้


ลิงก์ไปความเห็น

ขอบคุณมากสำหรับบทความที่ดีเช่นนี้ เชื่อว่าในปัจจุบันนี้วงการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้นรวมทั้งพ่อแม่ที่ใส่ใจต่อพฤติกรรมของลูกตั้งแต่ยังเล็กและมีความรู้กว้างขึ้นจากการอ่าน ทำให้สมารถติดตามและพบแพทย์ได้เร็วขึ้น ลูกชายเป็นHyper+สมาธิสั้น สังเกตุตั้งแต่อายุ2ขวบจนกระทั่งเข้าอนุบาล ในที่สุดเข้าป.1จึงตัดสินใจพบแพทย์โรงพยาบาลรัฐประจำภาคใต้ ซึ่งอาจารย์แพทย์ได้อธิบายและทดสอบไอคิวตอนนั้นลูกชาย7ขวบต้องทดสอบไอคิว10ขวบ และทดสอบหลายอย่างมากมายค่ะ ผลออกมาไอคิวสูงกว่าปกติ average2+ ไม่เป็นแอลดี แต่มีความสามารถพิเศษด้านมิติสัมพันธ์ แล้วทำไมจึงเรียนไม่ได้ดีตามศักยภาพที่มี คุณหมอบอกว่าเพราะสมาธิสั้นไปกดความสามารถพิเศษอยู่ ส่วนพฤติกรรมการอยู่ร่วมกับเพื่อนก็ลำบากมากเพราะเด็กคิดและเล่นจะต่างจากเพื่อนๆๆไปเลยดิฉันนั่งดูแลลูกอยู่ห่างๆเวลาพักกลางวันค่ะ มีปัญหาต้องค่อยๆบอกลูกไปเรื่อยๆที่สำคัญแม่จะต้องเข้าพูดคุยกับครูให้ทราบถึงปัญหานี้ด้วย ครูจะได้เตือนเพื่อนๆ เด็กจะได้ไม่ทุกข์ใจค่ะ ใครมีลูกที่เป็นสมาธิสั้นล่ะก็จำเป็นที่ต้องปรึกษาแพทย์อย่างยิ่ง ทั้งพ่อแม่รวมทั้งปู่ย่าตายายควรเข้าใจในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน หากโทษกันไปโทษกันมาก็มีแต่ทำร้ายจิตใจเด็กและก่อให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัวได้อย่างแน่นอน

ขณะนี้เจ้าลูกชายก็อายุ15ปีแล้ว ครอบครัวดิฉัน4คนพ่อแม่ลูกสาว ลูกชายก็ผ่านปัญหานี้มาได้ หากมองย้อนหลังไปตอบได้คำเดียวว่า..ผ่านวิกฤตินั้นมาได้อย่างไรกัน วันนี้ลูกชายก็มีความสุข

แชร์ความคิดเห็นนี้


ลิงก์ไปความเห็น
ผู้มาเยือน
เพิ่มความคิดเห็น

×   วางข้อความแบบ rich text.   วางแบบข้อความธรรมดาแทน

  อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 75 อิโมติคอน.

×   ลิงก์ของคุณถูกฝังอัตโนมัติ.   แสดงเป็นลิงก์แทน

×   เนื้อหาเดิมของคุณได้ถูกเรียกกลับคืนมาแล้ว.   เคลียร์อิดิเตอร์

×   คุณไม่สามารถวางรูปภาพได้โดยตรง กรุณาอัปโหลดหรือแทรกภาพจาก URL

กำลังโหลด...
×
×
  • สร้างใหม่...