ข้ามไปเนื้อหา
Update
 
 
Gold
 
USD/THB
 
สมาคมฯ
 
Gold965%
 
Gold9999
 
CrudeOil
 
USDX
 
Dowjones
 
GLD10US
 
HUI
 
SPDR(ton)
 
Silver
 
Silver/Oz
 
Silver/Baht
 

โพสต์แนะนำ

Blitzkrieg : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร (**บทความล่าสุด**)

 

Blitzkrieg

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

 

น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยเวลานี้ทำให้ผมนึกไปถึงสงครามโลกครั้งที่สอง เปรียบเทียบประเทศไทยก็คล้าย ๆ กับฝรั่งเศสหรืออังกฤษขึ้นอยู่กับว่าผลของน้ำท่วมสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ส่วนน้ำนั้นก็คือเยอรมัน สงครามโลกครั้งที่สองนั้นเป็นมหาสงครามระหว่างฝรั่งเศส อังกฤษและพันธมิตรอื่น ๆ กับเยอรมัน ส่วนน้ำท่วมใหญ่นั้นเป็น “มหาสงคราม” ระหว่างประเทศไทยกับมวลน้ำมหาศาลที่กำลังบุกเข้าโจมตีกรุงเทพ

 

สงครามโลกครั้งที่สองเริ่มจริง ๆ ในเดือนกันยายน ปี 1939 เมื่อฮิตเลอร์บุกโปแลนด์ซึ่งทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสต้องประกาศสงครามกับเยอรมัน แต่ในความเป็นจริงการรบระหว่างสองค่ายยังไม่เกิดขึ้น คนในอังกฤษและฝรั่งเศสก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไป ยังคงใช้ชีวิตและฉลองคริสต์มาศกันตามปกติ ช่วงเวลาหลายเดือนต่อจากนั้นจึงถูกเรียกกันว่า Phony War หรือ “สงครามเก๊” แต่ในทางตรงกันข้าม เยอรมันนั้นกำลังเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์และฝึกซ้อมทหารอย่างขะมักเขม้นเพื่อเตรียมบุกยึดประเทศศัตรู ถ้าเปรียบไปก็คงเหมือนช่วงประมาณเดือนมิถุนายนปีนี้ที่น้ำเริ่มท่วมในชนบทของไทยหลายแห่งแต่ก็ไม่ใคร่มีใครคิดว่ามันจะกลายเป็นการท่วมที่ใหญ่โตอะไรนัก ในเวลาเดียวกัน น้ำฝนก็เริ่มตกลงมาและสะสมพลังน้ำไว้มหาศาลโดยที่ไม่มีใครตระหนัก และเขื่อนต่าง ๆ ยังกักเก็บน้ำตามปกติ มหาสงครามโลกครั้งที่สองกำลังจะเริ่มแล้ว.. เช่นเดียวกับ “มหาสงครามน้ำ” ในประเทศไทย

 

ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม 1940 เยอรมันก็เริ่มสงครามเปิดศึก “Blitzkrieg” หรือการรุกแบบ “สายฟ้าแลบ” เข้ายึดประเทศต่าง ๆ เช่นเดนมาร์ก นอร์เวย์ เบลเยี่ยม ประเทศยุโรปที่อยู่ทางใต้หลายประเทศ และยึดฝรั่งเศสได้ในวันที่ 22 มิถุนายน 1940 ใช้เวลาเพียงประมาณ 2-3 เดือน จากนั้นก็เตรียมบุกอังกฤษซึ่งมี “ป้อมปราการ” ที่เป็นช่องแคบอังกฤษขวางอยู่

 

Blitzkrieg นั้น เป็นกลยุทธ์การรบที่เยอรมันใช้หน่วยรถถังแพนเซอร์ที่เคลื่อนที่เร็วและทรงพลานุภาพพร้อม ๆ กับกองกำลังทหารจำนวนมหาศาลบุกเข้าโจมตีแนวป้องกันต่าง ๆ ของฝ่ายตรงข้ามจุดแล้วจุดเล่า ทุกแห่งนั้นไม่สามารถป้องกันได้และ “แตก” อย่างรวดเร็ว ในกรณีของฝรั่งเศสนั้น “แนวป้องกันมายิโนต์” ซึ่งฝรั่งเศสสร้างเอาไว้อย่างยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งมากและคิดว่า “ไม่มีใครสามารถผ่านไปได้” ก็ถูก “อ้อม” และผ่านไปในที่สุด ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรสามารถต้านทานกองทัพเยอรมันได้

 

ประมาณ เดือนสิงหาคม 2554 น้ำก็เริ่ม “บุก” จังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือของประเทศไทยตั้งแต่เชียงใหม่ และต่อมาที่นครสวรรค์ อยุธยา ปทุมธานี ทุกเมืองต่างก็สร้าง “เขื่อน” ป้องกันและ “ต่อสู้” กับน้ำในทุกรูปแบบแต่ก็ล้มเหลว เช่นเดียวกัน นิคมอุตสาหกรรมซึ่งเปรียบเสมือนเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเทียบได้กับโรงงานผลิตอาวุธหรือแหล่งแร่หรือพลังงานที่จำเป็นในสงครามที่เราพยายามป้องกันอย่างเต็มที่นั้น ต่างก็ “แตก” อย่างง่ายดายทุกที่ที่น้ำผ่าน แห่งแล้ว แห่งเล่า มวลน้ำมหาศาลที่ไหลบ่ามานั้นก็คงเหมือนรถถังแพนเซอร์และกองกำลังของเยอรมันที่มีประสิทธิภาพสูงจนไม่มีใครสามารถทานได้ ในเวลาเพียง 2-3 เดือนน้ำก็มาจ่ออยู่ที่กรุงเทพซึ่งได้สร้าง “ป้อมปราการ” เป็นแนวป้องกันที่แข็งแกร่งและหวังว่าจะ “ไม่มีมวลน้ำที่จะสามารผ่านไปได้”

 

ขณะที่เขียนบทความนี้ ผมเองก็ยังไม่ทราบว่ากรุงเทพโดยเฉพาะในเขตชั้นใน จะรอดพ้นจากภาวะน้ำท่วมรุนแรงได้หรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จ กรุงเทพก็คงจะเปรียบเหมือนฝรั่งเศส ที่ถูกยึดครองอย่างรวดเร็วเมื่อกองทัพเยอรมันเคลื่อนพลมาถึง แต่ถ้ากรุงเทพรอดพ้นจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ไปได้ก็คงจะเหมือนกับอังกฤษ ที่รอดพ้นจากการยึดครองของเยอรมันเนื่องจากมีช่องแคบอังกฤษขวางอยู่ แต่สิ่งที่ทำให้อังกฤษรอดไปได้นั้นอยู่ที่กองทัพเรือและกองทัพอากาศที่มีประสิทธิภาพในการที่จะยับยั้งฝ่ายเยอรมันไม่ให้รุกข้ามช่องแคบมาได้ เหนือสิ่งอื่นใด กำลังใจที่เข้มแข็งและความสามัคคีอันยิ่งใหญ่ของชาวอังกฤษที่พร้อมจะต่อสู้และปกป้องประเทศจากข้าศึกเป็นปัจจัยชี้ขาดทำให้อังกฤษสามารถปกป้องประเทศไว้ได้ และในที่สุดก็เอาชนะฝ่ายเยอรมันได้สำเร็จ

 

ความพ่ายแพ้ของเยอรมันนั้น ถ้ามองกันในภาพใหญ่จริง ๆ แล้วก็คือ เยอรมันมีทรัพยากรหรือกำลังไม่พอที่จะทำสงครามยืดเยื้อยาวนานได้ เช่นเดียวกัน น้ำนั้นก็มีพลังเพียงเท่าที่มันยังอยู่ในที่สูงและอยู่บนพื้นดิน ซึ่งในไม่ช้าน้ำทั้งหมดก็จะต้องไหลลงทะเลเป็นส่วนใหญ่และก็จะหมดพลังไปในที่สุด เรารู้ว่าในที่สุดเยอรมันก็ต้องแพ้โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับอังกฤษฝรั่งเศส เรารู้ว่าในที่สุดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยก็ต้องจบลงไป แต่ในขณะนี้สิ่งที่ต้องทำก็คือ ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

 

ในแง่ของผู้คนทั่วไป ผมดูแล้วผลกระทบก็น่าจะคล้ายกัน ในสงครามมีผู้อพยพและศูนย์ผู้ลี้ภัย มีการอพยพไปอยู่กับญาติในต่างจังหวัด น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ก็คล้ายกัน ในสงครามผู้คนต่างก็ต้องกักตุนอาหาร เช่นเดียวกัน น้ำท่วมครั้งนี้สินค้าจำนวนมากถูกกวาดจากชั้นวางของในห้าง ซึ่งรวมถึงน้ำ อาหารแห้งและอาหารกระป๋อง เราเห็นความแตกตื่นของผู้คนที่หนีการสู้รบและหนีน้ำไม่ต่างกัน แต่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเสียหายของทรัพย์สินที่มากมายมหาศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านและของใช้ภายในบ้านที่จะหายไปกับสงครามและสายน้ำ แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป

 

ในมหาสงครามโลกครั้งที่สองนั้น แน่นอน ถือเป็นวิกฤติที่ยิ่งใหญ่ แต่วิกฤตินั้นมีโอกาสอยู่เสมอโดยเฉพาะในตลาดหุ้น ตลาดหุ้นทั้งในอเมริกาและอังกฤษในช่วงของสงครามมีราคาขึ้นลงหวือหวารุนแรงตามสภาวการณ์ของสงคราม ในช่วงที่ฝรั่งเศสและอังกฤษเพลี่ยงพล้ำ ตลาดหุ้นตกต่ำอย่างแรง แต่ในยามที่เยอรมันปราชัย ตลาดหุ้นก็วิ่งขึ้น เช่นเดียวกัน ราคาหุ้นของบางบริษัท เช่นผู้ผลิตอาวุธและยุทธปัจจัยในอเมริกาต่างก็ได้ประโยชน์และวิ่งขึ้น ตรงกันข้ามกิจการหลายอย่างโดยเฉพาะที่เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยก็ถูกกระทบเพราะคนคงลดการใช้ลงไปมาก

 

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ก็เช่นกัน บางบริษัทได้ประโยชน์แม้ว่าส่วนใหญ่จะเสียหาย อย่างไรก็ตาม กรณีของน้ำท่วมนี้ เรารู้ผลลัพธ์ชัดเจนอยู่แล้วว่าในไม่ช้าน้ำก็จะลดลงหรือแพ้ไปตามธรรมชาติ ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องพิจารณาจึงมีเพียงว่าบริษัทจะได้รับความเสียหายแค่ไหนและความเสียหายนั้นจะต่อเนื่องต่อไปอีกนานเท่าไร ภาพโดยรวมแล้วผมคิดว่าบริษัทที่น่าจะเสียหายมากที่สุดก็คือบริษัทที่ตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมหรือมีทรัพย์สินอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมรุนแรง เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ บริษัทที่มีโรงงานส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่ที่โดนน้ำท่วมหนักและบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีที่ดินและโครงการจมอยู่ใต้น้ำ ส่วนบริษัทอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบรองลงมาก็คือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริษัทอื่นที่ถูกกระทบรุนแรงและการผลิตหรือการดำเนินงานต้อง “สะดุด” หยุดลงชั่วคราว ส่วนบริษัทที่ได้ประโยชน์หรือเสียหายน้อยก็คือบริษัทที่อาจจะมียอดขายลดลงบ้างในช่วงนี้แต่จะกลับมาขายดีขึ้นเมื่อน้ำลดเช่นบริษัทขายวัสดุก่อสร้างหรือบริษัทที่ขายสินค้าจำเป็นทั้งหลาย แต่สิ่งที่จะเป็นโอกาสจริง ๆ นั้นก็คือ เราจะต้องพิจารณาว่าราคาหุ้นของแต่ละบริษัทที่เรากำลังพิจารณานั้นตกลงมาแค่ไหนเมื่อเทียบกับผลกระทบที่บริษัทได้รับ

 

Blitzkrieg

 

โลกในมุมมองของ Value Investor

 

Wednesday, 26 October 2011

!53 !53

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ชีวิตชีวาของหุ้น

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

 

ทุกครั้งที่ผมซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ผมคิดเสมอว่า ผมกำลังลงทุนในธุรกิจ ผมไม่ได้ซื้อกระดาษที่เรียกว่า "หุ้น" แผ่นเล็กๆ ที่มีราคาขึ้นๆ ลงๆ ทุกวัน

 

ธุรกิจนั้นเป็น "ของจริง" ที่มีโรงงาน หรือสำนักงาน มีพนักงาน มีระบบการบริหารและข้อมูล มีแหล่งป้อนวัตถุดิบหรือสินค้าเพื่อนำมาขายต่อ

 

และสุดท้าย ก็คือ มีร้านหรือช่องทางที่จะขายให้กับ "ลูกค้า" ซึ่งบ่อยครั้ง ก็คือ ตัวผมเองและคนในครอบครัว ดังนั้นสำหรับผมแล้ว การลงทุนซื้อขายหุ้น ผมสามารถ "สัมผัส" กับมันได้ผ่านการได้เห็นร้าน และการใช้สินค้าหรือบริการของบริษัท

 

นอกจากผมเองที่สามารถ "สัมผัส" กับกิจการได้แล้ว ผมยังมักจะถามความเห็นของภรรยา และโดยเฉพาะลูกสาวที่ยังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยว่ากิจการที่ผมสนใจนั้น เขามีความ "รู้สึก" อย่างไรด้วย

 

เหตุผลก็คือ ถ้าผมคิดเอง ความรู้สึกของผมอาจจะผิด เนื่องจากอายุที่มาก และอาจจะรู้ข้อมูลที่เป็นตัวเลขมากจนทำให้มีความลำเอียงในความดีเด่นหรือความด้อยของกิจการ

 

ในขณะที่ฐานะและความแข็งแกร่งทางด้านการตลาดนั้น เด็กวัยรุ่นกับผู้หญิงที่ไม่ได้เล่นหุ้นน่าจะรู้ดีที่สุด และต่อไปนี้ก็คือบางประเด็นที่ผมมักใช้ทดสอบว่า หุ้นตัวนั้นมีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหนจากการ "สัมผัส" โดยที่ประเด็นต่างๆ เหล่านั้น ผมจะมองที่หุ้นของกิจการที่มี "อนาคต" และ "มีชีวิตชีวา" มองจากสายตาของ "คนรุ่นใหม่" หรือคนที่สามารถ "ใช้สามัญสำนึกได้โดยไม่ลำเอียง"

 

ข้อแรกที่เป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกหุ้น ก็คือ ธุรกิจนั้น เรา "ภูมิใจ" ที่จะได้เป็นเจ้าของหรือไม่ หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่า ก็คือ ลูกเรารู้สึกภูมิใจที่จะไปคุยกับเพื่อนฝูงว่า เขาเป็นเจ้าของหรือไม่ ถ้าเขารู้สึกว่ากิจการที่เรากำลังพิจารณาซื้อนั้น เป็นกิจการที่ดูเชยหรือโบราณหรือไม่น่าสนใจ พูดไปเพื่อนฝูงก็ไม่รู้จัก

 

แบบนี้ก็แสดงว่าเป็นกิจการที่ "ไม่เท่" ในสายตาของคนรุ่นใหม่ ตรงกันข้าม ถ้าเขารู้สึกว่าการเป็นเจ้าของกิจการที่กำลังพูดถึงนั้นจะทำให้เขาดูดีมาก เป็นที่อิจฉาของเพื่อนฝูงและน่าจะทำให้เขาดูป๊อปปูล่าร์มาก แบบนี้ก็แสดงว่าหุ้นที่เรากำลังพิจารณานั้น น่าจะเป็นหุ้นที่มีอนาคตที่ดีอย่างน้อยก็ในแง่ของตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์

 

ข้อสอง ธุรกิจนั้น เป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่กำลังนิยมใช้มากหรือไม่ มันเป็นเทรนด์หรือเป็น "แฟชั่น" หรือไม่ ถ้าคำตอบก็คือ นี่เป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้ใช้แล้ว คนรุ่นใหม่ไม่สนใจหรือกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้อย่างอื่น

 

แบบนี้ก็ต้องระวังว่าอนาคตอุตสาหกรรมอาจจะกำลังตกต่ำลง ตรงกันข้าม สินค้าหรือบริการที่คนรุ่นใหม่กำลังนิยมใช้หรือเริ่มเข้ามาใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ หรือแสดงความสนใจศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ก็แสดงว่าสินค้าหรือบริการนั้น กำลังอยู่ในเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ อนาคตและการเติบโตของอุตสาหกรรมน่าจะดีขึ้น

 

ข้อสาม กิจการมีการเติบโตต่อเนื่องเห็นได้จากการ "เปิดร้านสาขาใหม่ๆ" เพิ่มขึ้นตลอดทั้งในทำเลที่ใกล้เคียงและในทำเลใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเปิดมาก่อน ความคึกคักของร้านนั้น สามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจนจากร้านที่ "ดูใหม่" และทันสมัย มีสินค้าใหม่ๆ มากมายที่ลูกค้า ซึ่งอาจจะรวมถึงครอบครัวเราด้วย อยากเข้าไปใช้บริการมากกว่าร้านอื่นๆ ที่ขายสินค้าคล้ายคลึงกัน

 

ข้อสี่ เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการแล้วรู้สึก "โดน" มาก คือรู้สึกประทับใจและถ้าเลือกได้ก็จะใช้ของบริษัทนี้ นอกจากนั้นเพื่อนๆ หรือคนอื่นก็พูดคล้ายๆ กัน คำว่าประทับใจหรือพอใจนั้นต้องดูโดยรวมและเทียบกับราคาของสินค้าหรือบริการนั้นด้วย กิจการที่ให้บริการที่ "โดน" นั้น จะสามารถผูกใจให้ลูกค้ามีความภักดีต่อสินค้าหรือบริการซึ่งจะส่งผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัททั้งในระยะสั้นและยาว

 

ข้อห้า รู้สึกว่าบริษัทมี "ความมั่นคงมาก" ความรู้สึกนี้มักจะมาจากการที่บริษัท ก่อตั้งมานาน มีระบบการจ้างงานที่ดี ให้เงินเดือนหรือสวัสดิการดี องค์กรจ้างคนที่มีคุณสมบัติสูงเมื่อเทียบกับองค์กรอื่นที่จ้างคนที่มีระดับการศึกษาเดียวกัน เราไม่ต้องไปดูข้อมูลเหล่านี้ เราเพียงแต่ใช้หรือฟังภรรยาและลูกพูดถึงบริษัทว่ารู้สึกอย่างไรก็พอ

 

ข้อหก พนักงานของบริษัท "ดูดี" เช่น ขยันและเอาใจใส่กว่าบริษัทคู่แข่ง แต่งตัวดีและหน้าตาดีกว่าบริษัทอื่นในระดับเดียวกัน บางทีผมก็พยายามมองดูว่าพนักงานของบริษัทนี้รู้สึกจะมีความภูมิใจในตัวเองมากกว่าพนักงานของบริษัทคู่แข่งหรือไม่ ถ้าใช่ก็ถือว่าดี

 

ข้อเจ็ด กิจการมีการ "เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด" เช่นเดิมทีต้องรอนานและพนักงานไม่สนใจลูกค้า กลายเป็นเร็วขึ้นและต้อนรับลูกค้าอย่างดีและมีบริการใหม่ ๆ มาเสนอต่อลูกค้าตลอด ข้อนี้ถ้าเราเห็นหรือรู้สึกได้ตั้งแต่ช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ก็จะเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นที่งดงามได้

 

การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั้น ครอบคลุมกว้างมากและรวมไปถึงกิจการทุกประเภทที่เราจะสามารถสัมผัสได้ ดังนั้นในแง่ของการลงทุนแล้ว ทุกครั้งที่เราซื้อสินค้าหรือใช้บริการ เราควรจะต้องสังเกตและวิเคราะห์เสมอว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไหม ดีขึ้นหรือเลวลง มากน้อยแค่ไหน ถ้าคำตอบคือ ดีขึ้นมากละก็ ลองพิจารณาอย่างจริงจังที่จะซื้อหุ้นดู

 

ผมคงไม่สามารถที่จะพูดได้หมดว่ามีประเด็นอะไรอีกบ้าง ที่จะเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าบริษัทหรือหุ้นตัวนั้นมีความน่าสนใจมองจาก "การสัมผัส" กับสินค้าหรือบริการนั้น แต่สิ่งที่จะเน้นย้ำอีกครั้งก็คือ เราจะต้องเห็นถึงความ "มีชีวิตชีวา" ของตัวกิจการ ซึ่งสิ่งนี้มักจะอิงหรือเกี่ยวข้องกับคนที่มีอายุน้อยและเป็นคนรุ่นใหม่ และก็เช่นเคย การวิเคราะห์โดยการสัมผัสนั้น แม้จะเป็นการวิเคราะห์ที่สำคัญมากแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด นักลงทุนยังคงต้องวิเคราะห์ในเรื่องของการเงินและอื่นๆ รวมถึงราคาหุ้นตามมาตรฐานที่เข้มงวดแบบ VI ด้วย

 

โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552

!thk !thk

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ตลาดหุ้นไทยปิดบวก 1.57 จุด ที่ 974.75 จุด ฝ่าแรงขายทำกำไรระยะสั้น จับตาน้ำท่วม-ยุโรปถกแก้วิกฤติหนี้ยูโรโซน

 

บรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยวันนี้ (31 ต.ค.) ดัชนีแกว่งตัวผันผวน ท่ามกลางแรงขายทำกำไรระยะสั้น โดยนักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์น้ำท่วม และการประชุมของกลุ่มผู้นำยุโรปที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 พ.ย. เพื่อหามาตรการแก้ไขวิกฤติหนี้กลุ่มยูโรโซน ระหว่างชั่วโมงการซื้อขายดัชนีปรับตัวสูงสุดที่ 981.83 จุด และต่ำสุดที่ 969.85 จุด ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 974.75 จุด บวก 1.57 จุด หรือ 0.16%

 

หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย

 

PTTGC ปิดที่ 65.50 บาท -1.00 (-1.50%)

 

PTT ปิดที่ 306.00 บาท -6.00 (-1.92%)

 

ADVANC ปิดที่ 130.50 บาท +5.50 (+4.40%)

 

SCB ปิดที่ 117.50 บาท -0.50 (-0.42%)

 

BANPU ปิดที่ 628.00 บาท +2.00 (+0.32%)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ขอบคุณค่ะคุณ โอเค และทุกท่านที่นำมาโพสต์ค่ะ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

วิกฤติหนี้ยุโรปกลับมาหลอน! กดดันหุ้นไทยปิดร่วง 18 จุด ตามตลาดต่างประเทศ นักลงทุนถล่มขายกลุ่มพลังงาน-แบงก์ ลดความเสี่ยง

 

บรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยวันนี้ (1 พ.ย.) ดัชนีปรับตัวในแดนลบตามตลาดต่างประเทศ จากความกังวลวิกฤติหนี้ยุโรป โดยตลาดยังคงเฝ้าจับตาแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้กรีซ การประชุมผู้นำจี-20 และการประชุมของธนาคารกลางยุโรป ว่าท้ายที่สุดแล้วจะหามาตรการแก้ปัญหาหนี้ยูโรโซนอย่างไร ระหว่างชั่วโมงการซื้อขายดัชนีปรับตัวสูงสุดที่ 978.64 จุด และต่ำสุดที่ 955.13 จุด ก่อนปิดตลาดที่ 956.59 จุด ลบ 18.16 จุด หรือ 1.86%

 

 

หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย

 

PTTGC ปิดที่ 64.25 บาท -1.25 (-1.91%)

 

PTT ปิดที่ 295.00 บาท -11.00 (-3.59%)

 

SCC ปิดที่ 312.00 บาท -3.00 (-0.95%)

 

SCB ปิดที่ 116.00 บาท -1.50 (-1.28%)

 

KTB ปิดที่ 14.50 บาท -0.70 (-4.61%)

 

นางสาวธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงในการซื้อขายบ่ายนี้ เป็นผลมาจากความกังวลเรื่องหนี้ยุโรป

 

ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นต่างประเทศปรับตัวลดลงค่อนข้างแรง นำโดย ดัชนี ดาวโจนส์ ล่วงหน้า ตลาดหุ้นนิวยอร์ค เวลา 15:15 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ลดลง 109 จุด อยู่ที่ระดับ 11,788.00 จุด

 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การแก้ปัญหาหนี้ยุโรป โดยเฉพาะกรณีของกรีซ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่มีการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย. 2554 ติดตามการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G-20 ว่าจะมีมาตราการแก้ไขปัญหาหนี้ยุโรปในรูปแบบใด

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

หุ้นไทยปิดบวก 9.21 จุด ที่ 965.80 จุด ตามตลาดในภูมิภาคเอเซีย เก็งเฟดงัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แห่เก็งกำไรกลุ่มแบงก์-พลังงาน

 

บรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยวันนี้ (2 พ.ย.) ดัชนีแกว่งตัวผันผวนสอดคล้องทิศทางตลาดในภูมิภาคเอเซีย ท่ามกลางความกังวลปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรป หลังกรีซเตรียมจัดให้ประชาชนลงประชามติมาตรการขอรับความช่วยเหลือสหภาพยุโรป ซึ่งส่อแววว่ากรีซอาจผิดนัดชำระหนี้ กดดันดัชนีลดลงต่ำสุดที่ 948.24 จุด อย่างไรก็ตาม ในช่วงภาคบ่ายตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวตามตลาดในภูมิภาคเอเซีย ที่ปรับตัวในแดนบวกกันถ้วนหน้า โดยมีการเก็งว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐน่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดัชนีปรับตัวสูงสุดที่ 968.86 จุด มาปิดตลาดที่ 965.80 จุด บวก 9.21 จุด หรือ 0.96% มูลค่าการซื้อขาย 27,555.35 ล้านบาท

 

หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย

 

PTTGC ปิดที่ 65.50 บาท +1.25 (+1.95%)

 

PTT ปิดที่ 298.00 บาท +3.00 (+1.02%)

 

IVL ปิดที่ 33.50 บาท -0.50 (-1.47%)

 

KTB ปิดที่ 14.80 บาท +0.30 (+2.07%)

 

BANPU ปิดที่ 602.00 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง

 

นายเตชธร ลาภอุดมสุข ผู้อำนวยการอาวุโสหลักทรัพย์และบริหารผลิตภัณฑ์ตราสารอนุพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเชียพลัส จำกัด กล่าวว่า การที่ตลาดหุ้นไทยปรับบวกกว่า 10 จุดในช่วงบ่าย เป็นการฟื้นตัวตามตลาดภูมิภาค ขณะที่ดาวโจนส์ฟิวเจอร์ฟื้นตัวค่อนข้างมากสนับสนุน รวมทั้งนักลงทุนมีมุมมองที่ดีต่อการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในคืนนี้ และได้รับแรงซื้อกลับในหุ้นกลุ่มพลังงาน-แบงก์

 

"มองว่าสัญญานการปรับขึ้นของตลาดคงไม่นาน เพราะหากดูมูลค่าการซื้อขายจะเห็นว่าเบาบาง ได้หุ้นกลุ่มแบงก์ พลังงานช่วย มองแนวต้าน 975 -980 จุด"นายเตชธร กล่าว

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

หุ้นไทยปิดลบ 8.24 จุด ที่ 957.56 จุด ร่วงตามตลาดต่างประเทศ กังวลปัญหาหนี้กรีซ-น้ำท่วม

 

บรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยวันนี้ (3 พ.ย.) ดัชนีปรับตัวในแดนลบตามตลาดต่างประเทศ จากความกังวลปัญหาหนี้กรีซ และสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศ โดยระหว่างชั่วโมงการซื้อขายดัชนีปรับตัวลดลงต่ำสุดที่ 945.40 จุด ก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นในช่วงท้ายตลาด ปิดที่ระดับ 957.56 จุด ลดลง 8.24 จุด หรือ 0.85%

 

หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย

 

PTTGC ปิดที่ 64.75 บาท -0.75 (-1.15%)

 

PTT ปิดที่ 294.00 บาท -4.00 (-1.34%)

 

IVL ปิดที่ 33.00 บาท -0.50 (-1.49%)

 

KTB ปิดที่ 14.50 บาท -0.30 (-2.03%)

 

BANPU ปิดที่ 590.00 บาท -12.00 (-1.99%)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Value + Growth

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

 

ในโลกของการลงทุน มีแนวความคิดใหญ่ๆ น่าจะประมาณ 3 แบบ นั่นคือ Value Investment ซึ่งเป็น "โรงเรียน" ที่เก่าที่สุด

 

นำโดย เบน เกรแฮม Growth Investment หรือการลงทุนในหุ้นที่เติบโตเร็วนำโดย ฟิลิปส์ ฟิสเชอร์ และ Passive Investment หรือการลงทุนที่ไม่ต้องเลือกหุ้นแต่ซื้อหุ้นทุกตัวที่อยู่ในดัชนีหรือในตลาด ซึ่งเป็น “โรงเรียน” ล่าสุดที่นำโดยนักวิชาการการเงินแต่คนที่มีชื่อเสียงน่าจะเป็นกองทุนอิงดัชนี Vanguard ที่ก่อตั้งและบริหารโดย จอห์น โบเกิล ส่วนแนวทางอื่นๆ นั้น มักเป็นแนวทางเล็กๆ ที่แตกแขนงออกไป มีคนใช้และศึกษาน้อยเกินกว่าที่จะเรียกว่าเป็น “โรงเรียน”

 

แนวทางของ Value Investment มีหลักการที่เข้มข้นเป็นเรื่องเป็นราว เป็นตำราที่ต้องใช้ศาสตร์หลายๆ อย่าง เฉพาะอย่างยิ่งทางการเงินในการวิเคราะห์หามูลค่าที่แท้จริงของหลักทรัพย์ ดังนั้น คนที่ศึกษาจำเป็นต้องมีความรู้หลายอย่าง รวมถึงความสามารถในการคำนวณทางการเงินถึงจะเข้าใจได้ลึกซึ้ง หนังสือที่เป็น “ไบเบิล” ของ Value Investment เช่น Securities Analysis ของ เบน เกรแฮม นั้น หนามากและอ่านยากเท่า ๆ กับความ “น่าเบื่อ” ซึ่งแม้แต่คนที่เรียนมาทางการเงินโดยตรง ก็พบว่ากว่าจะอ่านจบก็เหนื่อยทีเดียว

 

หัวใจของ Value Investment นั้น อยู่ที่การซื้อหุ้นที่มีราคาถูกหรือราคาต่ำกว่า “พื้นฐาน”ของกิจการ โดยที่พื้นฐานของกิจการนั้นมักเน้นไปที่ข้อมูลหรือตัวเลขทางการเงิน เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สิน กำไรที่เป็นตัวเลขในอดีตที่ผ่านมาเป็นต้น ส่วนความถูกของราคาหุ้นก็มักจะดูจากค่า PE และ PB ว่าจะต้องต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น เวลาเลือกหุ้นโดยใช้มาตรฐานแบบนี้ หุ้นที่เข้าข่ายเป็นหุ้น Value จึงเป็นหุ้นที่มีค่า PE และ PB ต่ำเป็นหลัก ซึ่งหุ้นประเภทนี้ส่วนมากมักเป็นหุ้นที่นักลงทุนไม่ค่อยสนใจจะลงทุน เนื่องจากเหตุผลหลายอย่างแต่ที่สำคัญ ก็คือ เป็นหุ้นของกิจการที่มี “คุณภาพต่ำ” และคำว่าคุณภาพต่ำก็มีความหมายกว้างมากเช่น เป็นกิจการที่ไม่โตหรือเป็นกิจการ “ตะวันตกดิน” ผู้บริหารมีปัญหาในด้านของบรรษัทภิบาล หรือกำไรลุ่มๆ ดอน ๆ ไม่แน่นอน เป็นต้น

 

หัวใจของ Growth Investment นั้น อยู่ที่การซื้อหุ้นที่เติบโตเร็ว บริษัทมีคุณภาพดีหรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่า ก็คือ มีศักยภาพสูงในการที่จะเติบโตในอนาคตด้วยเหตุผลต่างๆ รวมถึงผู้บริหารที่มีความสามารถสูง มีตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัย สิ่งเหล่านี้จะทำให้บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และในที่สุด จะทำกำไรมหาศาล ดังนั้น การซื้อหุ้นไว้จะทำให้ได้กำไรงดงามเมื่อบริษัทประสบความสำเร็จและเติบโตไปตามที่คาด

 

ส่วนเรื่องของราคาหุ้น แม้ว่าอาจจะดูว่ามีราคาแพงในวันนี้ โดยที่ค่า PE และ PB อาจจะสูงหรือสูงมากในวันนี้ เนื่องจากกำไรของบริษัทยังอาจจะน้อยหรือไม่มีกำไรเลย แต่ในอนาคตเมื่อกำไรเพิ่มขึ้น ค่า PE ก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นหุ้นที่ไม่แพง อย่างไรก็ตาม Growth Investor นั้น สนใจค่า PE น้อยกว่าการเติบโตของรายได้และกำไร

 

ผมคงไม่พูดถึง Passive Investment เพราะเขาไม่เลือกหุ้นอยู่แล้ว พวกเขาคิดว่าตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นตลาดที่มี “ประสิทธิภาพ” ในการกำหนดราคาหุ้นให้เหมาะสมกับพื้นฐานของหุ้นทุกตัว ดังนั้น ไม่ต้องไปเลือก ซื้อเฉลี่ยไปทุกตัวและถือไว้ตลอดเวลา ซึ่งก็จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม คือ ประมาณปีละเกือบ 10% ในระยะยาว

 

จุดอ่อนของความคิดแบบ Value Investment ก็คือ การเน้นไปที่ความถูกของหุ้นเพียงอย่างเดียว ทำให้มักเลือกหุ้นที่มีคุณภาพต่ำ หุ้นเหล่านี้อาจจะให้ผลตอบแทนพอใช้ได้ แต่ก็ไม่โดดเด่นนัก หุ้นถูกหรือถูกมากเหล่านั้นเมื่อเวลาผ่านไปมันก็ยังคงถูกอยู่อย่างเดิม ดังนั้น นักลงทุนก็อาจจะไม่ได้อะไร เวลาของการรอคอยเพื่อที่จะให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาสะท้อนพื้นฐานบางครั้งมันนานมากจนไม่คุ้มที่จะรอ เพราะว่าเงินนั้นมีต้นทุนและมีค่าเสียโอกาส

 

จุดอ่อนของ Growth Investment ก็คือ มันไม่ค่อยคำนึงถึงราคาหุ้นที่อาจจะแพงเกินไป มันอิงอยู่กับการคาดการณ์อนาคตของบริษัทว่าจะโตแบบก้าวกระโดด ถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นไปตามคาด หุ้นก็อาจจะตกลงมาอย่างแรงได้ เหนือสิ่งอื่นใด ศาสตร์ของการมองอนาคตนั้นไม่หนักแน่นมั่นคง โอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมีมหาศาลและหลายเรื่องไม่อาจคาดได้ ดังนั้น การซื้อหุ้นโดยไม่สนใจหรือสนใจน้อยในเรื่องของราคารวมถึงปัจจัยพื้นฐานทางการเงินหรือตัวเลขอื่นๆ จึงเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

 

ทางเลือก ก็คือ จับแนวความคิดของ Value มารวมกับ Growth เพื่อหลีกเลี่ยงจุดอ่อนของการลงทุนทั้งสองแบบ ขณะเดียวกัน ได้จุดแข็งของแต่ละแนวทางมาใช้ในการลงทุน แนวทางของ Value+Growth Investment นั้น เราจะเน้นการวิเคราะห์ที่เป็น “แก่น” โดยใช้ Value Investment ที่มีการตรวจสอบบริษัทอย่างเข้มข้นเป็นหลัก หลังจากนั้น เราจะมองทางด้านของคุณสมบัติทางด้านคุณภาพ โดยเฉพาะโอกาสในการเติบโตของบริษัท ในแบบของ Growth Investment ซึ่งจะต้องมองถึงศักยภาพด้วยไม่ใช่ดูแต่ตัวเลขในอดีต เช่นเดียวกัน จะต้องมองไปถึงความสามารถในการแข่งขันของบริษัทและคู่แข่ง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในภาวะแวดล้อม และตลาดของสินค้าในอนาคต

 

การเลือกลงทุนแบบ Value + Growth นั้น เราจะไม่เลือกโดยยึดถือปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเป็นหลัก เราจะไม่เลือกเพราะว่ามันเป็นหุ้นที่ถูกที่สุดหรือดีที่สุดในด้านของคุณสมบัติและการเติบโตของบริษัท แต่เราจะเลือกเพราะหุ้นนั้นเป็นกิจการที่ดีและแข็งแรงมีการเติบโตที่ดีพอในขณะเดียวกันหุ้นมีราคาถูกหรือมีราคาที่เหมาะสม นี่เป็นศาสตร์ที่เราจะต้องเรียนรู้และปฏิบัติ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ใช้แนวทางนี้ เซียนหุ้นจำนวนมากใช้แนวทางนี้ ผมเองก็ใช้แนวทางนี้ แต่คนที่ใช้ส่วนใหญ่ก็ไม่เคยบอกว่าตนเอง “เปลี่ยนสี” บัฟเฟตต์บอกว่า Growth กับ Value นั้นเหมือนกับแฝดสยามที่มีตัวติดกันที่ “สะโพก” นั่นก็คือ Growth หรือการเจริญเติบโตนั้น ที่จริงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของ Value มันแยกกันไม่ออก

 

ถ้าจะพูดไป เมื่อเป็น Value Investor ถึงจุดหนึ่ง คุณก็จะรู้ว่า Value Investment นั้น แท้ที่จริงเป็น “กระบวนการในการคิด” ที่ต้องมีเหตุผลในด้านของการลงทุนรองรับ มันไม่มีเรื่องของ Growth เรื่องของ โมเมนตัม และเรื่องอื่น ๆ ร้อยแปดที่แยกออกมาต่างหาก ทุกเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน คือ มัน “Make Sense” หรือไม่

 

Value + Growth

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

โลกในมุมมองของ Value Investor

 

วันที่ 1 มิถุนายน 2553

!031 !031

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

การวิเคราะห์ทางเทคนิค

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

 

คนที่ติดตามเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นแทบทุกคน คงต้องเคยได้ยินการวิเคราะห์หุ้น "ทางเทคนิค" ซึ่งเป็นการวิเคราะห์หุ้น โดยอาศัยเส้นกราฟที่นักวิเคราะห์สามารถที่จะเรียกขึ้นมาดูได้ทันทีจากจอคอมพิวเตอร์ นักวิเคราะห์สามารถที่จะตอบได้ทันทีว่า หุ้น หรือดัชนีน่าจะไปที่ราคาเท่าไร และราคาหุ้นหรือดัชนีจะมี "แนวรับ" หรือ "แนวต้าน" ซึ่งจะเป็นราคาที่หุ้น หรือดัชนี จะไม่ตกลงมาต่ำกว่า หรือวิ่งขึ้นไปเกินจุดนั้น แต่ถ้าตกหรือวิ่งเกินแนวรับหรือแนวต้าน ราคาหุ้นหรือดัชนีก็จะวิ่งไปที่จุดไหน

 

การวิเคราะห์ทางเทคนิคคืออะไร? มันมีเหตุผลไหม? และที่สำคัญมันบอกว่าหุ้นจะไปทางไหน และไปที่ราคาเท่าไร ได้แม่นยำพอที่จะทำให้เราทำกำไรจากการซื้อขายหุ้นได้จริงไหม? นี่คือ สิ่งที่ผมจะพยายามอธิบายอย่างคนที่ไม่เชื่อ ไม่ได้ปฏิบัติ และแน่นอน ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เพียงแต่ได้ศึกษามาบ้างในฐานะของนักวิชาการ

 

นักวิเคราะห์ทางเทคนิค จะศึกษาความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น และปริมาณการซื้อขายหุ้นที่ผ่านมาในอดีต เพื่อที่จะดูว่าทิศทางและราคาหุ้นในอนาคตจะไปทางไหน พวกเขาเชื่อว่าในตลาดหุ้นนั้น ความมีเหตุมีผลมีเพียง 10-20% ราคาหุ้นส่วนใหญ่ 80-90% เป็นเรื่องของจิตวิทยา

 

ดังนั้น เกมของหุ้น คือ เกมที่เราจะต้องคาดว่า คนอื่นจะคิด และทำอย่างไร และกราฟข้อมูลราคาหุ้นที่ผ่านมานั้น เป็นตัวบอกที่ดีที่สุดว่าคนอื่นได้ทำอะไร นักเทคนิคหวังว่าการศึกษาอย่างรอบคอบของสิ่งที่คนอื่นได้ทำ จะเป็นสิ่งที่บอกว่าฝูงชนเหล่านั้น น่าจะทำอย่างไรในอนาคต

 

นักเทคนิคพันธุ์แท้ จะไม่สนใจว่าพื้นฐานของกิจการเป็นอย่างไร บริษัทขายสินค้าอะไร กำไรที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ความเข้มแข็งของธุรกิจอยู่ตรงไหน ผู้บริหารเป็นอย่างไร ว่าที่จริงเขาไม่สนใจด้วยซ้ำว่าบริษัทชื่ออะไร แต่นี่ไม่ได้หมายความว่านักเทคนิคไม่เชื่อว่าพื้นฐานของกิจการเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดราคาหุ้น เพียงแต่พวกเขาเชื่อว่า ราคาหุ้นได้รวมพื้นฐาน และข้อมูลทั้งหมดของกิจการเอาไว้แล้ว ดังนั้นแค่เขาดูราคาหุ้นที่ผ่านมาก็พอแล้ว และนี่ก็นำไปสู่หลักการใหญ่สองข้อของการวิเคราะห์ทางเทคนิคนั่นคือ

 

ข้อแรก ข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับกำไร ปันผล และผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัท ได้ถูกสะท้อนเข้าไปในราคาหุ้นของบริษัทหมดแล้ว ถ้ากิจการแย่ราคาก็ลง กิจการดี ราคาก็ขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นจากกราฟราคาและปริมาณการซื้อขายที่ผ่านมาในอดีต

 

ข้อสอง ราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวเป็นแนวโน้ม หุ้นที่กำลังขึ้นต่อเนื่อง จะมีแนวโน้มที่จะขึ้นต่อไป หุ้นที่กำลังลงต่อเนื่องก็จะลงต่อไป และหุ้นที่นิ่งๆ ก็จะนิ่งต่อ หุ้นจะเคลื่อนไหวไปตามแนวโน้มจนกว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นที่จะเปลี่ยนสมดุลของแรงซื้อ และแรงขายของหุ้นตัวนั้น

 

หน้าที่ของนักวิเคราะห์ทางเทคนิค ก็คือ การมองหาแนวโน้มจากเส้นกราฟของราคาที่ผ่านมาย้อนหลังซึ่งอาจจะเป็นร้อยๆ วันหรือไม่กี่วัน แนวโน้มที่มีชื่อ และเป็นที่ยอมรับกันแพร่หลายว่าสามารถทำนายทิศทางหุ้นได้ชัดเจน ก็เช่น รูปแบบที่เรียกว่า HEAD-AND-SHOULDERS หรือหัวและไหล่ นอกจากรูปแบบนี้ซึ่งมีมาเก่าแก่แล้วก็ยังมีรูปแบบมากมาย ที่นักเทคนิคจะสามารถคิดค้นขึ้นได้ และตั้งชื่อให้เก๋ไก๋ เช่น แบบแท่งเทียน ผมก็เคยได้ยิน

 

เหตุผลที่นักเทคนิคให้ว่า ทำไมการวิเคราะห์แบบนี้จึงใช้ได้นั้น อยู่ที่เรื่องของจิตวิทยา และเรื่องของนิสัยหรือพฤติกรรมของคน เช่น เมื่อนักลงทุนเห็นราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปต่อเนื่อง เขาก็เข้าไปซื้อเพราะไม่อยาก "ตกรถ" ดังนั้นทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปต่อทำให้ราคาหุ้นขึ้นแบบเป็นแนวโน้ม หรืออย่างในกรณีของแนวรับแนวต้านนั้น ก็เป็นเพราะพฤติกรรมของคน

 

ตัวอย่าง เช่น หุ้นตัวหนึ่งราคาอยู่ที่ 5 บาทมานาน และมีคนที่ซื้อในราคานี้จำนวนมาก และสมมติว่าราคาตกลงมาเหลือ 4 บาท ซึ่งทำให้คนติดหุ้นจำนวนมาก และอยากขายเอาทุนคืน ดังนั้น เมื่อราคาวิ่งกลับมาที่ 5 บาทคนเหล่านี้ ก็จะขายหุ้นซึ่งทำให้ราคาขึ้นไปเกิน 5 บาทยาก และนี่ก็คือ "แนวต้าน"

 

ในทางตรงกันข้าม ถ้าหุ้นอยู่ที่ราคาค่อนข้างต่ำมานานแล้ววิ่งขึ้นไประยะหนึ่งแล้วกลับตกลงมาใกล้จุดเดิม คนที่ขายหุ้นไปก่อนในราคาสูง และคนที่รู้สึกว่าได้พลาด "ตกรถ" ที่ไม่ได้ซื้อในช่วงก่อนก็ถือโอกาสเข้ามาช้อนซื้อ ทำให้ราคาไม่ตกต่ำลงกว่าจุดเดิมก่อนหุ้นขึ้น และนี่ก็คือ "แนวรับ" ทั้งแนวต้านและแนวรับนั้น นักเทคนิคยังให้เหตุผลต่อว่า ถ้าราคาหุ้นไม่ผ่านหลายๆ ครั้ง มันก็จะเป็นแนวต้าน และแนวรับที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

 

ข้างต้นนั้นก็เป็นเรื่องที่สามารถอธิบายไปได้ แต่ถ้าถามนักเทคนิคว่า มันเป็นเรื่องจริง หรือที่คนทำอย่างนั้น เขาก็มักจะตอบว่าไม่รู้เหมือนกัน เขาเพียงแต่เชื่อว่า ประวัติศาสตร์มันมักซ้ำรอย ซึ่งทำให้การวิเคราะห์ด้วยราคาหุ้นในอดีตสามารถบอกอนาคตได้

 

จากการศึกษาของนักวิชาการในต่างประเทศที่ตลาดทุนก้าวหน้ามายาวนาน ข้อสรุปนั้นชัดเจนว่า การวิเคราะห์ทางเทคนิคไม่สามารถที่จะทำกำไรให้กับผู้ใช้ได้ พูดง่ายๆ ข้อมูลของราคาหุ้นในอดีต ไม่สามารถบอกราคาในอนาคตได้ และคนที่ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคในการซื้อขายหุ้นมักจะขาดทุนมาก เนื่องมาจากค่าคอมมิชชั่นที่ต้องจ่ายมากกว่าปกติ เพราะการซื้อขายหุ้นด้วยเทคนิคนั้นทำให้ต้องซื้อๆ ขายๆ บ่อย

 

ว่าที่จริงระยะหลังๆ นี้ แทบจะไม่มีคนสนใจเทคนิคนี้แล้ว แต่ในเมืองไทย การเล่นหุ้นโดยอาศัยการวิเคราะห์แบบเทคนิค ยังน่าจะอยู่กับเราอีกนาน ผมเองคิดว่า VALUE INVESTOR ไม่ควรสนใจการใช้การวิเคราะห์แบบเทคนิค ในการตัดสินใจซื้อขายหุ้น แม้ว่าจะเป็นแค่ปัจจัยประกอบ เพราะผมคิดว่า มันอาจจะทำให้เราไขว้เขวจากปัจจัยพื้นฐานของกิจการ และการลงทุนระยะยาว ที่เรายึดถืออย่างมั่นคงที่น่าจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าในการลงทุน

 

การวิเคราะห์ทางเทคนิค

 

โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

วันอังคารที่ 05 มิถุนายน พ.ศ. 2550

!thk !thk

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

อาหารหรือขยะ

 

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

 

คนที่จะเป็น “เซียน” ในวิถีทางแบบ Value Investment นั้น ดูเหมือนว่าจะต้องเป็นนักอ่านตัวยง วอเร็น บัฟเฟตต์ เป็นตัวอย่างที่สำคัญ เพราะเขาอ่านหนังสือมากมายมหาศาลและเป็นคนที่อ่านได้เร็วมาก นอกจากหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงแล้ว ผมเชื่อว่าเขาอ่านหนังสืออื่น ๆ อีกมาก เพราะถ้าจำไม่ผิด เขาเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการชื่อดังอย่าง The Selfish Gene ของ Richard Dawkins เช่นเดียวกัน ชาลี มังเกอร์ เพื่อนซี้และหุ้นส่วนของ วอเร็น บัฟเฟตต์เองก็อ่านหนังสือหลากหลายและน่าจะมากกว่า บัฟเฟตต์ ในแง่ของความหลากหลายทางวิชาการอื่น ๆ เขาบอกว่าการลงทุนนั้น คุณต้องอาศัยความรอบรู้รอบด้านมากกว่าความรู้ที่เจาะจงเฉพาะอย่าง

 

การอ่านหนังสือมากนั้น ผมคิดว่าไม่พอที่จะทำให้เราเป็นนักลงทุนที่ดี การอ่านที่ได้ประโยชน์และได้ความรู้ที่ถูกต้องแท้จริงต่างหากที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น การเลือกอ่านหรือเลือกที่จะเชื่อหรือยอมรับในสิ่งที่เราอ่านจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เราเก่งขึ้น รอบรู้ขึ้น การอ่านในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่จริงนั้น ถ้าดีหน่อยก็ทำให้เราเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ แต่ถ้าแย่ก็คือ ทำให้เราเสียหาย ขาดทุน และรู้น้อยลง เปรียบไปก็เหมือนกับการที่สมองเรานั้น แทนที่จะได้ “อาหาร” ก็กลายเป็นได้ “ขยะ” หรือได้ “ยาพิษ” และต่อไปนี้ก็คือข่าวสารข้อมูลบางส่วนที่ผมคิดว่าเราควรใส่ใจมากน้อยแค่ไหน และเราควรเชื่อหรือไม่ เอาเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับหุ้นและการลงทุนโดยตรง

 

ข้อมูลข่าวสารเรื่องแรกที่เรามักพบเจอเป็นประจำก็คือ การคาดการณ์ภาวะตลาดหุ้นหรือดัชนีหุ้นในปีนี้หรือปีหน้า สำหรับผม นี่เป็น “ขยะ” เพราะการคาดการณ์ตลาดหุ้นอย่างถูกต้องหรือใกล้เคียงนั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมีใครทำได้ดูจากสถิติที่ผ่านมา เหตุผลก็คือ ภาวะตลาดหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับเหตุการณ์มากมายที่จะเกิดขึ้นในประเทศและในโลก เหตุการณ์เหล่านั้นมักจะเกิดขึ้นโดย “ไม่คาดฝัน” ดังนั้น ภาวะตลาดหุ้นก็มักจะเป็นไปอย่าง “ไม่คาดฝัน” ก็ใครจะไปคิดว่าปี 2552 ที่ทุกคนคิดว่าจะเป็นปี “เผาจริง” ของภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยนั้น จะกลายเป็น “ปีทอง” ที่ทำให้ตลาดหุ้นคึกคักกันทั่วโลก ด้วยเหตุผลดังกล่าว เวลาฟังใครคาดการณ์เกี่ยวกับดัชนีตลาดในปีนี้หรือปีหน้า อย่าไปคิดจริงจังอะไร พวกเขาต้องคาดเพราะมีคนจำนวนมากอยากฟังเท่านั้น ไม่ได้แตกต่างอะไรกับหมอดูที่ต้องตอบคำถามของคนที่กำลังสับสนและกังวลกับชีวิตในอนาคตของตนเอง

 

เรื่องของ “Dr. Doom” หรือคนที่มาบอกว่า “โลกกำลังจะแตก” ประเทศไทยกำลังวิบัติ เกิด “กลียุค” ถึงกับล่มสลาย เหล่านี้ ฟังแล้วก็อย่าไปเชื่อหรือกังวล เพราะหลายคนที่พูดนั้นก็พูดกันเกือบทุกปี ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลอะไร ความจริงก็คือโอกาสที่จะเกิดนั้นน่าจะต่ำมาก เช่นเท่ากับโอกาสที่เราจะเดินออกนอกบ้านแล้วถูกฟ้าผ่าตาย ถ้าเราก็ยังเดินออกนอกบ้านทุกวันผมก็ไม่เห็นเหตุผลอะไรที่จะยังลงทุนในตลาดหุ้นเป็นปกติ จำไว้ว่า “ดร. ดูม” นั้นมีอยู่ทุกประเทศ และก็แน่นอน นาน ๆ ก็มี ดร. ดูม ที่พยากรณ์ถูกต้อง ก็คงเป็นอย่างที่พูดกันว่า แม้แต่นาฬิกาตายก็ยังบอกเวลาได้ถูกต้องวันละหนึ่งครั้ง ดังนั้น อย่าสนใจการพยากรณ์แบบ ดร. ดูม ถ้าไม่แน่ใจในอารมณ์ของตัวเองก็อย่าไปอ่าน เพราะมันเป็น “ขยะข่าวสาร”

 

เรื่องของเท็คนิคใหม่ ๆ ในการลงทุนที่จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม นี่ก็เป็นข้อมูลข่าวสารที่มีการเสนอออกมามากมาย ส่วนใหญ่ที่เห็นก็เป็นเรื่องของประสบการณ์ของเจ้าตัวที่อ้างว่าสามารถทำกำไรได้งดงามจากเท็คนิคที่ “ค้นพบเอง” เท็คนิคเหล่านั้นเกือบทั้งหมดมักจะไม่มีเหตุผลที่เข้มข้นรองรับแต่ชื่อที่ใช้เรียกก็มักจะน่าประทับใจชวนให้คิดว่าเป็นเทคนิคที่ตอบโจทย์ที่คนหลายคนกำลังแสวงหาคำตอบอยู่ สำหรับผมแล้ว เท็คนิคใหม่ ๆ แปลก ๆ นั้นเกือบทั้งหมดก็เป็น “ขยะ” มีคนเคยถาม วอเร็น บัฟเฟตต์ ว่ามีเท็คนิคอะไรพิเศษจึงสามารถสร้างผลงานสุดยอด เขาบอกว่า เท็คนิคก็เป็นเรื่องเก่าที่มีคนอื่นโดยเฉพาะ เบน เกรแฮม ได้คิดไว้แล้วทั้งนั้นไม่มีอะไรใหม่ เขาเพียงแต่เอามันมาใช้ได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

 

ข้อมูลอีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าต้องระวังเวลาอ่านก็คือเรื่องของ ผลการลงทุน ของ “เซียน” หรือบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องของการศึกษาทางวิชาการจริง ๆ มีตัวเลขข้อมูลที่สนับสนุนชัดเจน เช่น ผลการลงทุนของกองทุนรวมที่มีข้อมูลเปิดเผยและเป็นตัวเลขจริง ข้อมูลของบริษัทอย่าง เบิร์กไชร์ ของ วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือการศึกษาทางวิชาการเปรียบเทียบผลตอบแทนของกลยุทธ์แบบ Value กับ Growth ที่มีเกณฑ์แน่นอนและทำอย่างมาตรฐาน แบบนี้ เราก็พอเชื่อถือได้ แต่การ “อ้าง” ว่าได้ผลตอบแทนเท่านั้นเท่านี้โดยไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้สนับสนุน หรือการทำโพล์ทางอินเตอร์เน็ตนั้น ผมคิดว่าผลลัพธ์ที่ได้ไม่น่าเชื่อถือ เหตุผลก็คือ มันจะมี Bias หรือความลำเอียง นั่นก็คือ คนที่ได้ผลตอบแทนดีก็จะมาตอบแบบสอบถามมากกว่าคนที่มีผลงานแย่ คนบางคนก็บอกผลตอบแทนที่อาจจะไม่จริงแต่มีแนวโน้มไปในทางสูงเพื่อที่จะแสดงว่าตนเองมีความสามารถสูงซึ่งก็เป็นเรื่องของแรงจูงใจของมนุษย์ทุกคน ดังนั้น เมื่ออ่านข้อมูลเหล่านั้น อย่าไปเชื่อ พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงสงครามเวียตนามที่ทหารสหรัฐและเวียตนามต่างก็คุยว่าสังหารศัตรูได้มากมายในการรบทุกครั้ง แต่มีคนให้ข้อสังเกตว่าถ้าเป็นจริงตามที่ว่า กองทัพเวียตนามและอเมริกาคงหมดไปนานแล้ว

 

สุดท้ายก็คือข้อมูลหุ้นรายตัวพร้อมการวิเคราะห์ นี่คือข้อมูลที่มองภายนอกนั้นคือ “อาหาร” แน่ เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของข้อมูลตัวเลขที่เป็นจริงพร้อมการวิเคราะห์ตามข้อมูลที่มีอยู่ ดังนั้น คนที่อ่านข่าวสารข้อมูลก็น่าจะได้ความรู้เกี่ยวกับบริษัท ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรที่จะเสียหายหรือเสียเวลาได้ อย่างไรก็ตาม เราก็ควรพิจารณาแรงจูงใจของคนที่นำเสนอข้อมูลนั้นด้วยเพราะคงไม่มีใครยอมเสียเวลานำเสนอข้อมูลให้คนอื่นโดยไม่ได้อะไรตอบแทน ดังนั้น เมื่ออ่านข้อมูลแล้วก็ต้องคิดด้วยตนเองว่าข้อมูลที่ปรากฏนั้นสมเหตุผลหรือไม่ ราคาหุ้นที่เห็นนั้นคุ้มค่าหรือไม่ ที่สำคัญมีปัจจัยอะไรอื่นไหมที่ทำให้ราคาหุ้นไม่สะท้อนพื้นฐานของกิจการทำให้หุ้นมีราคาต่ำกว่าที่ควรเป็น มิฉะนั้น การใช้ข้อมูลที่รับมาลงทุนอาจจะกลายเป็นกับดัก สิ่งที่เราคิดว่าเป็นอาหารอาจจะกลายเป็น “เหยื่อล่อ” ที่ทำให้เรา “ติดกับ” หรือขาดทุนได้

 

อาหารหรือขยะ

 

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

โลกในมุมมองของ Value Investor

 

10 มกราคม 53

 

!031 !031

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ซื้อหุ้นต่างประเทศ : ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ซื้อหุ้นต่างประเทศ

 

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

 

 

ในอดีตนั้น การลงทุนในหุ้นสำหรับ Value Investor ค่อนข้างจำกัดอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้น แต่ปัจจุบันเรามีทางเลือกที่จะลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ การลงทุนในต่างประเทศนั้น ดูเหมือนจะไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนอาจจะกลัวกันอีกต่อไป เพราะปัจจุบันมีโบรกเกอร์ หลายรายให้บริการการซื้อขายหุ้นต่างประเทศสำหรับนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินเพียงประมาณห้าแสนหรือหนึ่งล้านบาทขึ้นไป การซื้อขายก็ทำกันทางอินเตอร์เน็ตที่ไม่ได้แตกต่างจากการซื้อขายหุ้นไทยเท่าใดนัก ผมคงยังไม่วิจารณ์ว่า Value Investor ควรจะลงทุนในหุ้นต่างประเทศหรือไม่ แต่อยากจะวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียของการลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะในกรณีของการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาเป็นหลัก

 

ข้อดีข้อแรกของการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างตลาดนิวยอร์กก็คือ เรามีโอกาสในการเลือกลงทุนในหุ้นจำนวนมาก นอกจากจำนวนของบริษัทที่มีมากมายแล้ว เรายังมีโอกาสหาหุ้นที่มีลักษณะเฉพาะที่เราต้องการลงทุนได้มากมายซึ่งหาไม่ได้จากตลาดหุ้นไทย ยกตัวอย่างเช่น หุ้นของกิจการที่ “ดีเยี่ยม” แบบ “Great Company” ที่มีโอกาสที่จะกลายเป็น “Super Stock” ที่ให้ผลตอบแทนมหาศาลในระยะยาวอย่างที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ชอบลงทุนนั้น ถ้าเรานำมาใช้ในตลาดหุ้นไทย เราอาจจะหาได้ค่อนข้างยาก แต่ในตลาดหุ้นสหรัฐนั้น หุ้นที่มีคุณภาพสูงระดับโลกนั้นมีมากมายให้เลือก ไล่ตั้งแต่หุ้น Google ไปถึง ไมโครซอพท์ ที่เป็นหุ้นไฮเท็ค ถึงหุ้นโค๊กที่เด่นทางด้านยี่ห้อ และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินระดับโลกอย่างหุ้นที่ให้บริการบัตรเครดิตเช่น หุ้นวีซ่า เป็นต้น

 

ข้อดีข้อสองก็คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐโดยเฉลี่ยในระยะยาวนั้นดูเหมือนจะสูงกว่าผลตอบแทนที่ได้จากตลาดหุ้นไทย โดยที่ผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นของอเมริกานั้นให้ผลตอบแทนประมาณปีละ 10-11% ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยน่าจะให้ผลตอบแทนประมาณปีละ 8-9% ผลต่างประมาณปีละ 2% นั้นในระยะยาวก็ถือว่าค่อนข้างต่างกันมาก และนั่นก็อาจจะเป็นผลจากคุณภาพที่สูงกว่าของบริษัทจดทะเบียนในอเมริกาเทียบกับบริษัทไทย

 

ข้อดีข้อสามก็คือ การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศด้วยนั้น ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนลง เพราะการขึ้นลงของราคาหุ้นของไทยกับหุ้นต่างประเทศนั้นโดยทั่วไปมักจะไม่ตรงกัน บางช่วงที่ตลาดหุ้นไทยคึกคัก หุ้นต่างประเทศอาจจะซบเซา และช่วงที่หุ้นต่างประเทศดี หุ้นไทยอาจจะแย่ โดยรวมแล้ว ถ้าเรามีหุ้นอยู่ในทั้งสองตลาด ผลตอบแทนการลงทุนของเราจะมีความสม่ำเสมอขึ้นหรือก็คือความเสี่ยงลดลง

 

ข้อดีข้อที่สี่ ระบบบัญชีและการรายงานต่าง ๆ ของบริษัทในอเมริกามีความโปร่งใสและผู้บริหารสามารถให้ข้อมูลแก่นักลงทุนได้มากกว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารสามารถคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทได้เป็นรายไตรมาศซึ่งทำให้นักลงทุนสามารถนำมาใช้ประกอบในการตัดสินใจซื้อขายหุ้นได้ นอกจากนั้น สังคมของนักวิเคราะห์ที่มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นก็ทำให้การคาดการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับผลประกอบการมักจะไม่ค่อย “มั่ว” ถ้าผู้บริหารคาดการณ์ผิดบ่อยหรือผิดไปมากก็จะเสียเครดิต

 

ข้อเสียของการไปลงทุนนอกประเทศนั้นก็มีไม่น้อยกว่ากัน ข้อแรกก็คือ ความเข้าใจในตัวกิจการหรือบริษัทที่เราจะลงทุนในต่างประเทศนั้นอาจจะมีน้อยกว่าในกรณีของบริษัทในประเทศไทย จริงอยู่ ข้อมูลที่เป็นตัวเลขหรือรายงานต่าง ๆ ของบริษัทต่างประเทศอาจจะดี มีมาก และหาได้ง่ายกว่าโดยที่เราเพียงแต่เข้าไปดูผ่านหน้าเว็บดัง ๆ อย่าง YAHOO FINANCE ได้ แต่ข้อมูลที่เราจำเป็นต้อง “สัมผัส” เช่นในเรื่องของผลิตภัณฑ์ การตลาด หรือการพบปะกับผู้บริหารนั้น เราไม่สามารถทำใด้ นอกจากนั้น สำหรับหลายคนที่ภาษาอังกฤษยังไม่แข็งแรงพอ การทำความเข้าใจในตัวบริษัทก็จะยากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

 

ข้อเสียข้อที่สองก็คือ การซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นอเมริกามีต้นทุนค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายสูงกว่าในตลาดไทย โดยที่ค่าคอมมิชชั่นรวมกับค่าบริการอื่น ๆ แล้ว อาจจะขึ้นถึง 0.5% ในกรณีที่ซื้อขายครั้งละไม่มาก ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ประมาณ 0.2 – 0.27% รวมภาษี อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างนี้ก็อาจจะไม่ถึงกับมากถ้าเราไม่ได้ซื้อขายหุ้นบ่อย

 

ข้อเสียข้อสามก็คือ การซื้อขายหุ้นในตลาดสหรัฐนั้น เรามีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างเงินดอลลาร์กับเงินบาทซึ่งคาดการณ์ไม่ได้ นอกจากนั้น เราต้องมีการแลกเงินในกรณีซื้อขายครั้งแรกและตอนที่จะเอาเงินกลับซึ่งทำให้เราเสีย Spread หรือส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายเงินตราที่ธนาคารคิดกับเราซึ่งก็มักจะต่างกันพอสมควร

 

ข้อเสียที่สี่ก็คือ การลงทุนในต่างประเทศนั้น กฏก็คือ ถ้าเราได้กำไรจากการขายหุ้นและนำเงินเข้ามาในประเทศในปีภาษีเดียวกัน เราจะต้องนำกำไรที่ได้ไปคิดคำนวณเป็นรายได้ส่วนบุคคลที่จะต้องเสียภาษีรายได้ประจำปี ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการเสียภาษีนี้ก็ต้องนำเงินเข้ามาในปีต่อไป ซึ่งทำให้การโอนย้ายเงินไม่คล่องตัวนัก

 

ข้อเสียสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ ความเสี่ยงในเรื่องของกฏระเบียบและวิธีปฏิบัติโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับภาษีต่าง ๆ ของการลงทุนซื้อขายหุ้นในต่างประเทศ ในขณะนี้อาจจะมีการสรุปแนวทางปฏิบัติเป็นที่ตกลงกันระหว่างโบรกเกอร์กับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกันแล้ว แต่ก็เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ เรื่อง ความเห็นและความเข้าใจกันในวันนี้อาจจะไม่ได้รับการยอมรับหรือมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไปหรือมีเจ้าหน้าที่คนใหม่เข้ารับหน้าที่ต่อ ความเสี่ยงตรงนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าสูงต่ำแค่ไหน แต่ถ้าเกิดขึ้น ความยุ่งยากคงจะมีไม่น้อย และนี่อาจจะเป็นข้อเสียที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งสำหรับคนที่ระมัดระวังและไม่ค่อยไว้วางใจกับระบบของราชการไทยอย่างผม

 

กล่าวโดยสรุปสำหรับตัวผมเองนั้น ในขั้นนี้ผมคงจะรอดูไปก่อน และตราบใดที่ยังพอหาหุ้นดีที่คุ้มค่าน่าลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้พอสมควรผมก็คงไม่ไปลงทุนในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการลงทุนในต่างประเทศนั้น มีประโยชน์และมีคุณค่าพอสมควรทีเดียว และวันหนึ่งก็อาจจะหนีไม่พ้นที่ผมจะต้องไปลงทุนด้วยเหมือนกัน

 

**************************

 

ซื้อหุ้นต่างประเทศ

 

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

โลกในมุมมองของ Value investor

!031 !031

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ขอบคุณครับ มาบวกให้เรื่องน้ำท่วม กับเรื่องเทคนิค ครับ ขอบคุณที่แบ่งปัน

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ทำน้อยได้มาก : ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

ทำน้อยได้มาก

 

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

news_img_10608_1.jpg

หนทางสู่ความสำเร็จ ความร่ำรวย และความสุข โดยที่ไม่ต้องทำงานหนักหรือดิ้นรนมากเกินไปนั้น ผมคิดว่าอยู่ที่การรู้จักเลือกทำอะไรที่มีคุณค่ามากซึ่งทำแล้วจะได้ผลลัพธ์หรือผลตอบแทนมาก พูดง่าย ๆ ก็คือ “ทำน้อยได้มาก” และหนทางที่ทำให้เราเหนื่อยยากและทำแล้วก็ไม่ได้มรรคผลเท่าที่ควรก็คือการทำสิ่งที่ไร้ประโยชน์หรือก่อให้เกิดผลน้อยกว่าแรงงานที่ใส่ลงไป เราทำมันโดยที่ไม่ได้คิดไตร่ตรอง ทำมันตามที่คนอื่นบังคับให้เราทำ ทำเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่การงาน หรือทำเพราะความเคยชิน เป็นต้น

 

หลักของการ
“ทำน้อยได้มาก”
นั้น มาจากหลักการ 80/20 ซึ่งค้นพบโดย
Vilfredo Pareto
นักเศรษศาสตร์ชาวอิตาลี หลักการนี้พูดถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่าง สาเหตุและผล สิ่งที่ใส่เข้าไปกับสิ่งที่ได้ออกมา และงานที่ทำกับผลตอบแทนที่ได้รับ โดยที่ความไม่เท่าเทียมนั้นโดยคร่าว ๆ ก็คือ ประมาณ 80 ต่อ 20
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเอาคนที่ดื่มเหล้าหนักที่สุด 20% ของคนดื่มเหล้าทั้งหมดมานับรวมกันดูก็จะพบว่าพวกเขาดื่มเหล้าคิดเป็นประมาณ 80% ของการบริโภคเหล้าทั้งหมด หรือเอาปัญหาทางการผลิตที่สำคัญเพียง 20% มาแก้ไขปรับปรุงก็จะได้ผลผลิตที่ดีขึ้น 80% หรือมากกว่า ว่าที่จริงกฏ 80/20 นั้น เริ่มจากการพบสิ่งที่ไม่สมดุลของรายได้และความมั่งคั่งของประชากร โดยที่พาเรโตพบว่ามีความเหลื่อมล้ำกันมากคือ คนที่มีรายได้สูงที่สุด 20% มีรายได้รวมกันถึงประมาณ 80% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ นั่นคือเรื่องที่เป็นเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว
ถึงวันนี้ผมคิดว่ามันก็ยังคงเป็นอยู่หรือเป็นมากขึ้นด้วยซ้ำ

 

หลักการ 80/20 หรือหลักของความไม่สมดุลนี้ เกิดขึ้นมากมายในชีวิตประจำวัน ในธุรกิจ และแม้แต่ในเรื่องทางวิทยาศาสตร์ แน่นอนว่าความไม่สมดุลในแต่ละเรื่องนั้นไม่ใช่ 80/20 พอดี อาจจะเป็น 75/25 หรือ 70/30 แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นความเหลื่อมล้ำที่ค่อนข้างสูง
ดังนั้น ถ้าเราค้นพบ เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้มาก
เช่นนักการตลาดทำโปรแกรมโฆษณาหรือส่งเสริมการขายเน้นไปที่ลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคหนักที่สุด 20% แรก ซึ่งเป็นลูกค้าที่สร้างรายได้ให้บริษัทถึง 80% พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงบริษัทประกันภัย GEICO หรือ Government Employee Insurance Company ของวอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ขายประกันโดยเฉพาะประกันรถยนต์ให้กับพนักงานของรัฐโดยไม่ผ่านนายหน้า นี่ก็เป็นวิธีคิดแบบ 80/20 เหมือนกัน เพราะพนักงานของรัฐนั้น โดยสถิติพบว่าเป็นนักขับรถที่ดีเยี่ยมประสบอุบัติเหตุน้อยกว่าคนกลุ่มอื่นมาก ดังนั้น GEICO จึงสามารถขายประกันให้ในราคาเบี้ยประกันที่ต่ำ นอกจากนั้น ยังสามารถลดต้นทุนด้านการขายซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมากโดยไม่ผ่านนายหน้าด้วย

 

ในฐานะของ VI นั้น ผมคิดว่าเราน่าจะต้องเป็นคนที่คำนึงถึงเรื่องหลัก 80/20 มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เพราะความสามารถของเราหรือสิ่งที่เราค้นหาตลอดเวลาก็คือ เราต้องการหาการลงทุนที่เราใช้เงินน้อยแต่ในที่สุดมันจะให้ผลตอบแทนที่มากกว่าปกติ เราไม่ต้องการอะไรที่เป็นแบบ 50/50 หรือลงทุน 10 บาทแล้วในที่สุดก็ได้ผลตอบแทนประมาณ 1 บาทต่อปีหรือ 10% หรือลงไปแล้วขาดทุน นั่นคือปรัชญาสำคัญของ VI แต่ VI นั้นไม่ใช่ดูเฉพาะเรื่องของการลงทุนทางการเงินเท่านั้น VI ที่แท้จริงเป็นสิ่งที่ครอบคลุมทั้งชีวิต ดังนั้น เวลาเราพูดถึงหลัก 80/20 VI ก็จะมองหาว่ามีอะไรในชีวิตที่เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากหลักการนี้ได้

 

ผมคงไม่สามารถบอกได้ทุกเรื่องว่าเรื่องไหนมีช่องที่เราจะสามารถนำหลักการ 80/20 มาใช้สำหรับทุกคน เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะต้องคิดเอง แต่อยากจะลองยกตัวอย่างเพื่อให้นำไปคิดต่อเช่น ในการเรียนหนังสือนั้น มีคนบอกว่าวิธีที่จะทำให้สามารถ
“ทำน้อยได้มาก”
ก็คือ เวลาอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบนั้น ให้อ่านคำนำกับบทสรุปหลาย ๆ เที่ยวเพื่อทำความเข้าใจในประเด็นที่สำคัญก่อน ส่วนเนื้อหาก็ให้เน้นอ่านเฉพาะที่เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนรายละเอียดหรือเรื่องที่ไม่ได้เน้นไว้ในบทสรุปก็ให้อ่านผ่าน ๆ ไปหรือไม่ต้องอ่าน เหตุผลก็เพราะว่า ข้อสอบนั้น 80% หรือมากกว่านั้น จะออกเฉพาะในเรื่องที่สำคัญที่อยู่ในบทสรุป

 

ในเรื่องของการทำงานนั้น ว่ากันว่า คนที่มีคุณค่ามากในบริษัทเพียง 20% เท่านั้นที่ทำกำไรให้กับบริษัท ส่วนคนส่วนใหญ่นั้นสร้างคุณค่าน้อยและอาจจะไม่คุ้มค่าด้วยซ้ำ งานจำนวนมากในบริษัทนั้นไม่ก่อให้เกิดคุณค่าจริง ๆ ดังนั้นบริษัทหลายแห่งจึงใช้วิธี Outsource หรือจ้างคนอื่นทำงานทั่ว ๆ ไป ตัวเองทำเฉพาะงานสำคัญที่ตนเองมีความสามารถจริง ๆ เช่นเดียวกัน ในแง่ของส่วนบุคคล เราก็ควรต้องเน้นทำเฉพาะงานที่เป็นความเชี่ยวชาญของเราจริง ๆ และลดงานที่ไม่ถนัดลงถ้าเราจะสามารถ “ทำน้อยได้มาก” และประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องเหนื่อยยากเกินไป

 

ในเรื่องของการลงทุนนั้น ความชัดเจนประการแรกก็คือ หุ้นนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เรา “ทำน้อยได้มาก” เพราะในระยะยาวแล้ว หุ้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารการเงินอื่นมาก สมมุติว่าเรามีเงิน 1 ล้านบาทและอายุ 30 ปี ถ้าเราลงทุนในหุ้นไปเรื่อย ๆ โดยซื้อกองทุนรวมหุ้นที่อิงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเราเกษียณที่ 60 ปี เราจะมีเงินประมาณ 17.4 ล้านโดยที่แทบไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะหุ้นจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นประมาณปีละ 10% แต่ถ้าเราฝากไว้ในธนาคารแบบฝากประจำเราน่าจะมีเงินเพียง 2.4 ล้านบาทเพราะเงินฝากน่าจะให้ผลตอบแทนเพียง 3 % ต่อปี และถ้าเราลงทุนเป็นพันธบัตรรัฐบาล เงินที่เราจะมีในวันเกษียณก็อาจจะเป็นเพียง 4.3 ล้านบาทเพราะพันธบัตรน่าจะให้ผลตอบแทนเพียงปีละ 5% ความแตกต่างของเม็ดเงินระหว่างหุ้นกับเงินฝากหรือพันธบัตรก็ประมาณ 80 ต่อ 20

 

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงหลักการและตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเพื่อเป็นการจุดประกายให้เห็นถึงความสำคัญของกฏ “ทำน้อยได้มาก” VI ที่จะประสบความสำเร็จจากการลงทุนสูงจริง ๆ นั้นจะต้องเชี่ยวชาญในเรื่องนี้จริง ๆ นั่นคือ หาอะไรที่ทำหรือลงทุนแค่ 20% แล้วให้ผล 80% ซึ่งด้วยวิธีนี้เขาสามารถทำงาน 40% ของพลกำลังแล้วได้ผลตอบแทน 160% เปรียบเทียบกับอีกคนหนึ่งที่ทำงาน 120% แล้วได้ผลตอบแทน 120% แล้ว ผมคิดว่าคนแรกนั้นน่าจะมีความสุขและร่ำรวยกว่ามาก

 

 

**********************

 

ทำน้อยได้มาก

 

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

โลกในมุมมองของ Value Investor

 

25 ตุลาคม 52
:031
:53

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Join the conversation

You can post now and register later. If you have an account, sign in now to post with your account.

ผู้มาเยือน
ตอบกลับกระทู้นี้...

×   วางข้อความแบบ rich text.   วางแบบข้อความธรรมดาแทน

  อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 75 อิโมติคอน.

×   ลิงก์ของคุณถูกฝังอัตโนมัติ.   แสดงเป็นลิงก์แทน

×   เนื้อหาเดิมของคุณได้ถูกเรียกกลับคืนมาแล้ว.   เคลียร์อิดิเตอร์

×   คุณไม่สามารถวางรูปภาพได้โดยตรง กรุณาอัปโหลดหรือแทรกภาพจาก URL

กำลังโหลด...

  • เข้ามาดูเมื่อเร็วๆนี้   0 สมาชิก

    ไม่มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนกำลังดูหน้านี้

×
×
  • สร้างใหม่...