ข้ามไปเนื้อหา
Update
 
 
Gold
 
USD/THB
 
สมาคมฯ
 
Gold965%
 
Gold9999
 
CrudeOil
 
USDX
 
Dowjones
 
GLD10US
 
HUI
 
SPDR(ton)
 
Silver
 
Silver/Oz
 
Silver/Baht
 
little devil

คัมภีร์ลงทุนทองคำฉบับไทยโกลด์

โพสต์แนะนำ

บทที่ 1 ทำความรู้จักทองคำก่อนการลงทุน

 

โดย Kumponys

 

!_Rd !_Rd

 

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคนเถ้าคนแก่ หรือ อาจจะกระทั่งตัวเองได้เคยซื้อ (ถ้าแก่พอ) ทองคำบาทละ 400 บาท สมัยนั้น (ปี พศ.2516) ทองคำ 1 ออนซ์ ถูกกำหนดตายตัวไว้แค่ 42.22 ดอลล่าร์ อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 20 บาทกว่าๆครับ วันนี้ ราคาระดับหมื่นกว่าบาทแล้ว และอาจจะไปถึง 2หมื่นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เกิดอะไรขึ้นกับทองคำ ใครไม่รู้ประวัติ ก็มาฟังผมเล่าฉบับย่อสุดๆ (เพราะรู้นิดเดียว ฮิฮิ)

 

สมัยก่อน ราวปี 1875-1914 ทองคำถูกใช้เป็นมาตรฐานระบบการเงิน ซึ่งกำหนดความแตกต่างด้วยปริมาณทองคำสำรองระหว่างสกุลเงินของ 2 ประเทศ ระบบนี้มีปัญหาในทางปฏิบัติเพราะต้องสำรองทองคำในปริมาณมหาศาลเพื่อรักษาดี มานด์/ซัพพลายทางการเงินให้มีเสถียรภาพ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานใหม่หลังสหรัฐตั้งตัวเป็นเจ้าโลกแทนอังกฤษที่เสื่อมอำนาจลง เรียกว่า ข้อตกลงเบรตัน วูดส์ ใน ค.ศ. 1944 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในเวลาต่อมา

หนึ่งในสาระสำคัญของเบรตัน วูดส์คือ การตีค่าตายตัวเอาไว้ว่า 35 ดอลลาร์เท่ากับทองคำ 1 ออนซ์ และเงินสกุลทั่วโลกจะผูกค่าเอาไว้นิ่งกับค่าดอลลาร์ อำนาจครอบงำจากดอลลาร์จึงเกิดขึ้น

 

เงินดอลลาร์กลายเป็นเงินสากลและถูกนำไปใช้ทั่วโลก และตกค้างในประเทศต่างๆในจำนวนพอๆกับในสหรัฐฯ เมื่ออเมริกันกระโจนเข้าสู่สงครามเวียดนาม และช่วงสงครามเย็น ภาระที่แบกรับมากเกินของรัฐบาลอเมริกัน ทำให้ดอลลาร์เริ่มมีค่าน้อยลงกว่าทองคำ สหรัฐขาดดุลการค้ามากขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศเริ่มแคลงใจ สงสัยว่าสหรัฐพิมพ์แบงค์ออกมาใช้มากกว่าทองคำที่เป็นทุนสำรองอยู่ จึงนำดอลล่าร์ไปแลกทองคำกลับมา และแน่นอน สหรัฐไม่มีปัญญาหาทองคำมาให้แลกคืนได้พอหรอก เพื่อปกป้องค่าดอลลาร์ไว้ ใน ค.ศ. 1971 ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐในสมัยนั้น ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์คงที่กับทองคำ ยุติการซื้อขายทองคำกับดอลลาร์เอาดื้อๆ เป็นการฉีกข้อตกลงเบรตันวูดส์อย่างสิ้นเยื่อใย และแน่นอน ประเทศอื่นก็ทำอะไรไม่ได้

 

สหรัฐเป็นผู้ที่มีทองคำเป็นทุนสำรองมากที่สุดในโลกด้วยเหตุนี้ละมั๊งครับ ทั้งที่ขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องมายาวนาน นับตั้งแต่ตั้งตัวเองขึ้นเป็นเจ้าโลก ประเทศอื่นเอาทองคำไปแลกกระดาษดอลล่าร์มาเพื่อใช้เป็นทุนสำรองในการซื้อขาย ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ข้าวสาร สากกะเบือ เรือรบ เพราะระบบการเงินที่เอาตัวเองเป็นแกน พอระบบที่ตัวเองตั้งขึ้น มันไปไม่ได้ เพราะตัวเองใช้เกินตัว ก็ชักดาบเอาดื้อๆ โดยไม่มีใครกล้าหือ

 

แล้วทำไมเราต้องไปยุ่งกับดอลล่าร์ด้วย?

- เพราะสหรัฐเป็นผู้ที่ถือครองทองคำมากที่สุด มีอิทธิพลในการกำหนดราคาทองคำมากที่สุด

- เพราะทองคำ ถูกกำหนดมูลค่าเป็นดอลล่าร์ ความสัมพันธ์จึงแนบแน่นเกินจะหลีกเลี่ยง

นวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆที่สหรัฐประดิษฐ์ขึ้น ล้วนเป็นที่มาของฟองสบู่เศรษฐกิจที่แตกมาหลายครั้ง และสะเทือนไปทั่วโลก รวมถึงนวัตกรรมล่าสุด ซึ่งเป็นที่มาของวิกฤติซัพไพร์มที่กำลังลามทั่วโลกขณะนี้ ทั้งหมด ยังคงเกิดจากพฤติกรรมกร่าง ใช้จ่ายเกินตัวเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมาครับ และคงไม่ต้องเดาเลยว่า มูลค่าทองคำจะสูงขึ้นไปได้อีกขนาดไหน เมื่อเทียบกับดอลล่าร์

ถูกแก้ไข โดย little devil

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

บทที่ 2 ปัจจัยพื้นฐานของทองคำ

 

โดย Kumponys

 

!_Rd !_Rd !Dh

 

แปลกใจกันบ้างหรือไม่ว่า ทำไมนักวิเคราะห์จึงเชื่ออย่างหัวปักหัวปำว่า ทองคำจะขึ้นไปถึง 2000 เหรียญ หรือกว่านั้น ถ้าได้อ่านบทที่ 1 ถึงความสัมพันธ์ระหว่างทองคำกับดอลล่าร์แล้ว คงพอจะเข้าใจกันบ้างแล้วว่า ทองคำคงไม่ลดมูลค่าง่ายๆ ตราบเท่าที่สหรัฐยังคงพิมพ์แบงค์ออกมาใช้เองไม่หยุด

 

เมื่อปี 2006 World Gold Council ได้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับราคาทองคำ ได้พบว่า

- ระยะยาว ราคาทองคำมีสัดส่วนความสัมพันธ์แบบ 1:1 กับเงินเฟ้อของสหรัฐ

- ราคาทองคำ ไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับเงินเฟ้อในส่วนอื่นๆของโลก

- ความเบี่ยงเบนจากปัจจัยอื่น เช่น การเมือง ความเสี่ยงทางการเงิน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อาจจะกินเวลาสั้นๆหรือเป็นปี แต่สุดท้าย ก็จะกลับมาอยู่ที่ความสัมพันธ์หลัก คือเงินเฟ้อสหรัฐเท่านั้น

หมายความว่า หากเงินเฟ้อสหรัฐขยับ 1% ราคาทองคำจะขยับ 1% ด้วยนั้นแหละครับ และนั่นคือที่มา ที่นักวิเคราะห์ทั้งหลาย ทำนายว่า ทองคำมันจะไป 2000 เหรียญ หรือกว่านั้น เพราะเทียบจากอดีตเมื่อครั้งลอยแพมูลค่าทองคำจนถึงปัจจุบัน ทองคำมันควรจะพุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว

 

steinitzgold1_pngforchapter2.jpg

 

แล้วจริงหรือเปล่า? ทำไมสิ่งที่เห็นอยู่ ไม่เห็นจะเกี่ยวกับเงินเฟ้อเท่าไหร่เลย เห็นทองคำวิ่งตามดอลล่าร์บ้าง น้ำมันบ้าง จนเวียนหัวไปหมด งานวิจัยมันบอกชัดครับ ว่าความเบี่ยงเบนไม่เกี่ยว สุดท้ายเมื่อปัจจัยที่ทำให้ราคาเบี่ยงเบนนั้นจบลง มันก็จะกลับเข้ามาหาความเป็นจริง เพียงแต่ว่า ในมุมมองการลงทุนของเรา กลับต้องมาศึกษาไอ้ปัจจัยเบี่ยงเบนพวกนี้ เพราะคือตัวแปรสำคัญ ตราบเท่าที่ราคาทองคำ มันยังไม่เข้าหาความจริง ที่ 2000 เหรียญกว่าๆโน่น และการที่อเมริกาในช่วงนี้ เร่งพิมพ์แบงค์อย่างไม่เกรงอกเกรงใจประชาคมโลก ทำให้มีการคำนวณและป่าวประกาศราคาทองคำ 5000 เหรียญแทนซะแล้ว

 

 

ปัจจัยเบี่ยงเบนราคาทองคำที่เราต้องรู้

!031 !031

 

ใครๆก็พูดว่า ราคาทองคำมาจากปัจจัยคือดีมานด์การใช้งานจริง กับดีมานด์การลงทุน แต่นั่นมันปัจจัยพื้นฐานจริงๆ ที่ไม่มีมือมืดมาเกี่ยวข้องครับ คุณแปลกใจมั๊ยล่ะ ว่าทำไมราคาทองคำมันยังอยู่ห่างจากความเป็นจริงมากขนาดนั้น ใครพอจำได้ ทองคำ เคยโดนกดราคาลงถึงแค่ 256 เหรียญในปี 1999

 

The Central Bank Gold Agreement – CBGA

นั่นเป็นเพราะมีภาพมายาที่ถูกสร้างขึ้น เพราะทองคำถือเป็นศัตรูตัวฉกาจกับระบบการเงิน นวัตกรรมใหม่ของสหรัฐ ความร่วมมือกันของเหล่าธนาคารกลางที่รวมหัว ประชุมกันที่กรุงวอชิงตันจึงเกิดขึ้น หัวเรือใหญ่ไม่ใช่ใครที่ไหน คือสหรัฐกับอังกฤษนั่นแหละ ข้อตกลงร่วมกันที่ออกมารู้จักกันในชื่อ the Central Bank Gold Agreement – CBGA นั่นเอง

ในปี 1999 นับเป็นจุดเริ่มต้นของข้อตกลงที่ว่า โดยธนาคารต่างๆมีโควตาในการขายทองคำไม่เกิน 400 ตัน ระหว่างปี 1999-2004 และข้อตกลงฉบับที่ 2 กำหนดไว้ที่ 500 ตันต่อปี ระหว่างปี 2004-2009

 

ราคาทองคำลดลงต่ำสุดในช่วงปี 1999 จากการที่อังกฤษ โดยนายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ ตัดสินใจขายทองคำออกมามากกว่าครึ่งหนึ่งของทองคำสำรองที่มีในคลัง นัยว่า เลิกใช้ทองคำเป็นทุนสำรอง ยกเลิกบทบาททองคำในฐานะทุนสำรอง ว่างั้น ทำให้ราคาทองคำรูดลงอย่างรวดเร็วจาก 300 กว่าเหรียญ เหลือ 250 กว่าเหรียญ

หลายปีต่อมา จากการกระทำอย่างต่อเนื่อง ตามข้อตกลง CGBA ทำให้ราคาทองคำซึมอยู่หลายปี แต่ความพยายามดังกล่าว มันเป็นการฝืนความจริง ในที่สุด ทองคำก็กลับมาทวงสิทธิ์ของตัวเองคืน

 

The Manipulation Of The Gold Market

เหล่าธนาคารกลางนำโดยสหรัฐ มีการจัดตั้งองค์กรที่ไม่ค่อยลับเท่าไหร่ เข้ามาดูแลราคาทองคำ ผ่านการซื้อขายทำธุรกรรมในตลาดทองคำ เหมือนอย่างพวกกองทุนเฮดฟันด์ทั้งหลายทำนั่นแหละ แต่วัตถุประสงค์ต่างจากเฮดฟันด์ คือไม่ได้เข้ามาหากำไร แต่เข้ามาควบคุมราคา ไม่ให้พุ่งเข้าหาราคาจริงตามเงินเฟ้อเร็วเกินไป ซึ่งเรียกว่า The Manipulation Of The Gold Market พวกนี้แหละที่เราต้องแหยงในการลงทุนทองคำ เพราะจะเข้ามาทำลายอารมณ์กระทิงในตลาดทองคำเป็นระยะ ตามแต่อารมณ์มัน 555

The Gold Anti-Trust Action Committee – GATA

ทางฝั่งผู้บริโภค ก็มีการตั้งองค์กรขึ้นมาในปี 1999 เช่นเดียวกันครับ เรียกว่า The Gold Anti-Trust Action Committee – GATA เพื่อสนับสนุนและรับหน้าที่ต่อต้านการกระทำที่ไม่ถูกต้องเพื่อการครอบงำตลาดทองคำ ไม่ให้กำหนดราคาและทิศทางตลาดตามอำเภอใจ

 

ดีมานด์การใช้งานจริง

ในแง่การลงทุนของพวกเรา จะหันกลับมาดูปัจจัยนี้ เมื่อราคามันหล่นลงมาหลังการปั่นขึ้นไปสูงๆแล้ว หรือเรียกว่า การปรับฐานใหญ่นั่นแหละ ปกติ ทุกปีจะมี 1 รอบ เรียกว่าเป็นวัฏจักรของราคาทองคำครับ โดยมีช่วงเวลาขาลงอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนโดยประมาณ ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนของฝรั่ง รวมถึงดีมานด์จากขาใหญ่อย่างอินเดีย ซึ่งเป็นชาติที่คลั่งใคล้ทองคำมากที่สุด ลดลงในช่วงนี้ ขณะที่ช่วงเดือนที่ราคาทองคำเป็นขาขึ้น จะเป็นช่วงราวเดือนตุลาคมไปจนถึงราวปลายเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงที่ทั่วโลกต่างก็ซื้อทองเพื่อใช้งานจริงทั้งนั้น

ช่วงการปรับฐานใหญ่ที่ว่านั้น ราคาจะหล่นลงมาจนกว่าผู้ซื้อทองคำเพื่อการใช้งานจริงๆจะพอใจและมีแรงซื้อกลับเข้ามามาก พวกนักลงทุนจึงจะมั่นใจ และไล่ราคาขึ้นไปเล่นกันที่สูงๆต่อ เท่ากับว่า ดีมานด์การใช้งานจริงนี้ คือตัวกำหนดราคาฐานที่แข็งแกร่งนั่นเอง

5 ปีที่ผ่านมา ราคาก็ขยับสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพราะความไม่สมดุลระหว่างซัพพลายและดีมานด์ครับ

- ผลผลิตจากเหมืองที่ลดลงเรื่อยๆ แหล่งผลิตเก่ากำลังการผลิตตก ขณะที่แหล่งผลิตใหม่ๆเกิดขึ้นน้อย

- ความต้องการทองคำจากประเทศจีน และอินเดียว ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นจนซัพพลายไม่เพียงพอ 2 ประเทศนี้ ประชากรรวมกันหลายพันล้านคน หากคิดเหมือนกันว่าอยากได้อะไร คงไม่ต้องบอกนะครับ ว่าของที่ต้องการนั้น จะขาดแคลนไปในทันที

ความต้องการใช้งานจริง ไม่ใช่เป็นตัวแปรที่ทำให้ราคาผันผวน เพราะสามารถกะเกณฑ์ได้ครับ ไอ้ที่ทำให้ผันผวนคือปัจจัยต่อไป

 

ดีมานด์ความต้องการลงทุน

ในฐานะที่ทองคำ มีบทบาทเป็นเงินอีกสกุลที่มีเสถียรภาพมาก ความต้องการใช้งานจริง จะมีผลต่อราคาทองคำเป็นวัฏจักรครับ แต่ตัวขับเคลื่อนหลักในเวลานี้ ต้องบอกว่า คือ ความต้องการในการลงทุนมากกว่า ยิ่งราคาทองคำสูง ความต้องการใช้งานจริงมีแต่จะลดลง ขณะที่ความต้องการสำหรับเพื่อการลงทุนกลับเพิ่มขึ่นเรื่อยๆ กลุ่มที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แบ่งได้ 3 กลุ่ม

NON COMMERICAL เป็นกลุ่มสถาบันการเงิน หรือ พวกนักเก็งกำไร หรือกองทุนขนาดใหญ่ พวกนี้เข้ามาตลาดเมื่อไหร่ จะเป็นตัวกำหนดราคาและสร้างความผันผวนในตลาดได้มากครับ เมื่อพวกนี้เข้ามาเมื่อไหร่ ปลาซิวปลาสร้อยอย่างพวกเรา ต้องรีบโดดเข้า และเตรียมโดดออกตามให้ทัน

COMMERCIAL เป็นกลุ่มผู้ผลิต ที่เข้ามาขายกันความเสี่ยงในตลาดล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นผู้ขายออก หรืออยู่ตรงข้ามกับนักเก็งกำไรนั่นแหละ พวกนี้ เมื่อไหร่ที่เริ่มซื้อสัญญากลับหรือไม่ค่อยขายเข้ามา ก็เป็นสัญญาณว่า ราคากำลังจะขึ้นแล้ว

NON REPORTABLE พวกนี้คือปลาซิวปลาสร้อยอย่างพวกเรานี่แหละครับ

 

ปัจจัยความต้องการเพื่อการลงทุนนี้ จะอ่อนไหวกับทิศทางตลาดโดยรวมค่อนข้างมาก โดยในปัจจุบัน ทิศทางของ

ปัจจัยนี้ ถูกกำหนดโดยนโยบายของเฟด หรือ ธนาคารกลางสหรัฐ เป็นส่วนสำคัญมากที่สุด ทั้งในเทอมดอกเบี้ยและนโยบายที่มีต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกวัน มาตรการผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐ หรือพูดอีกทางคือ พฤติกรรมใช้จ่ายเกินตัวที่ไม่ละ กำลังค่อยๆโผล่ออกมา เหมือนบ้านที่ไม่เคยกวาดสิ่งสกปรกออกจากบ้าน เอาแต่กวาดซุกใต้พรมแล้วนั่งทับไว้ จนตอนนี้ พรมคงปูดเป็นภูเขาลูกใหญ่แล้วมั๊ง คนนั่งทับ ก็กำลังนั่งง่อนแง่นอยู่บนยอด ทำเป็นไม่สนใจสิ่งหมักหมนที่อยู่ใต้พรม

 

ความรุนแรงทางการเมืองโลก จากการที่สหรัฐวางตัวเป็นเจ้าโลกและคุกคามประเทศอื่นๆที่ไม่ยอมตนเอง เพื่อเข้าไปยึดครอบครองทรัพยากรของประเทศอื่น ระเบิดเวลาที่ทิ้งไว้หลายจุดทั่วโลก ทั้งอิสราเอล อัฟกานิสถาน อิรัก อิหร่าน และอีกหลายประเทศ อีกไม่นานคงได้ประทุรุนแรง

 

นวัตกรรมทางการเงิน ตามแนวทางสหรัฐ เวลานี้กำลังย้อนกลับมาเล่นงานผู้คิดค้น ทั้งกรณีฉีกข้อตกลงเบรตัน วูดส์ พิมพ์แบงค์ใช้ไม่อั้น อนุพันธ์ทางการเงินเพื่อสร้างเม็ดเงินอย่างไร้ขีดจำกัดเช่นกรณีซัพไพร์ม การเปิดเสรีทางการเงินรวมทั้งบีบทั้งปลอบให้ประเทศอื่นเชื่อทำตาม การสร้างระบบเก็งกำไร เหล่านี้ล้วนช่วยสร้างเศรษฐกิจสหรัฐให้ขึ้นมาอยู่ชั้นแนวหน้าพร้อมๆกับการเผชิญความเสี่ยงมหันต์ที่ตามเป็นเงามานาน และกำลังเริ่มแผลงฤทธิ์อีกครั้ง ราคาน้ำมันถีบตัวขึ้นสูง รวมถึงโภคภัณฑ์ต่างๆและทองคำ คือตัวแทนเงามืดที่ตามสหรัฐมานานนั่นเอง

 

ปูพื้นฐานปัจจัยพื้นฐานกันแล้ว งวดต่อไปคงเริ่มเข้าเรื่องสิ่งที่พวกเรารอ คือปัจจัยเทคนิคเสียที ใครอ่านความเห็นผมมาตลอด อาจเคยเห็นผมเขียนไว้เสมอว่า

 

“ปัจจัยพื้นฐาน เป็นตัวบอกว่า ราคาจะไปทางไหน ส่วนปัจจัยเทคนิค จะบอกว่า จะไปได้แค่ไหน”

ถูกแก้ไข โดย little devil

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

บทที่ 3 ราคาทองคำกับปัจจัยทางเทคนิค

 

โดย Kumponys

 

!57 !57 !57

 

เคยสงสัยกันใช่ไหมครับ ว่าราคาเป้าหมายเท่านั้นเท่านี้ ที่นักวิเคราะห์ปล่อยออกมา ทำไมมันถึงได้แม่น หรือใกล้เคียงมาก สมัยก่อนผมเห็นใครให้ตัวเลขราคาเป้าหมายไว้ ผมจะไม่ค่อยสนใจ เพราะคิดว่าคงเดากันไปมากกว่า แต่เมื่อราคานั้นเกิดขึ้นจริง ผมย้อนกลับไปดูราคาที่มีบางท่านเคยทำนายไว้ ก็ต้องทึ่งและเริ่มสนใจศึกษามานับแต่นั้น

ผมคงไม่อธิบายยืดยาวเหมือนในตำรา แต่เอาเนื้อๆมาคุยกัน เพื่อความกระชับ สิ่งที่ผมสงสัยมานานเกี่ยวกับตัวเลขมหัศจรรย์นั้น มันเกิดมาจาก

 

หลักจิตวิทยา ความกล้า และความกลัวของคนนี่แหละ อย่างเช่น คุณซื้อของมา 100 บาท เพื่อเอาไว้ขายทำกำไร วันนึงเมื่อคุณพบว่า คุณกำลังขาดทุน เพราะราคาของนั้นกำลังตกลงทุกวัน คุณอาจพอใจที่จะขายแม้ราคาจะเหลือครึ่งเดียว ขณะที่บางท่าน รอให้มันกลับมาเท่าเดิมค่อยขาย หรือบางรายอดทนกว่านั้น จะรอให้ราคามันขึ้นจนกว่าจะกำไร ไอ้ความอดทนต่อสถานการณ์ที่ต่างกันไป ก็มีสถิติที่เก็บได้ กลายเป็นตัวเลข แนวต้าน แนวรับ ทางเทคนิคที่สามารถนำมาใช้คาดการณ์ได้นั่นเองครับ

ข้อมูลการลงทุนที่เหมือนกัน ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิค เช่นโปรแกรม MT4, MetaStock ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ มีการใช้เครื่องมือเหมือนๆกัน มองเห็นอย่างเดียวกัน ดังนั้น คุณไม่ต้องแปลกใจเลยว่า บางครั้ง ตัวเลขที่ออกมา มันแทบจะตรงเป๊ะกับที่ทำนายกันไว้

ในเมื่อรู้เช่นนี้แล้ว คุณจะยังคิดว่า ปัจจัยเทคนิค ยังจะเป็นเรื่องเหลวไหลอีกมั๊ย? 555 แน่นอนที่สุด คุณต้องตอบว่าไม่ สิ่งที่คุณต้องทำ คือเรียนรู้วิธีวิเคราะห์ทางเทคนิค แต่ไม่ต้องห่วงว่า มันจะยากครับ ผมอยากจะบอกว่า ง่ายๆ

 

เป็นไปได้ไง? คุณพยายามเรียนรู้มาตั้งนาน ไม่เห็นจะง่ายแบบผมพูด?

 

เป็นเพราะว่า ยังไม่มีคนบอกคุณว่า จะต้องไปทางไหนนะสิ เหมือนคุณเรียนรู้การใช้งานโปรแกรมอะไรสักโปรแกรมที่มี function การทำงานครบเครื่อง แต่จริงๆ คุณขอใช้มันแค่ไม่กี่ function คุณก็ได้งานของคุณออกมาแล้ว เท่านั้นเอง

ออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้เก่ง ไม่ได้ครบเครื่อง ผมแค่ใช้งานมันได้ เท่าที่ผมใช้อยู่ เท่าที่มีคนแนะนำผมเท่านั้นเอง และคุณไม่ต้องแปลกใจ ถ้าคุณมาถามนอกเหนือจากที่ผมแนะนำแล้วผมบอกคุณว่า ผมไม่รู้เหมือนกัน 555

 

สิ่งที่คุณต้องเรียนรู้ คือคุณแค่รู้ว่า คนอื่นส่วนใหญ่ เขาดูอะไรกัน แล้วคุณก็ดูให้เหมือนเขา ก็เท่านั้นเอง ง่ายมั๊ยครับ เมื่อก่อนผมหัดเองใหม่ๆ ดูคนโน้นวิเคราะห์ที คนนี้วิเคราะห์ที จับต้นชนปลายไม่ถูก ทำไปทำมา ไม่เห็นจะเข้าท่าเลย จนวันนึง น้องชายผม ที่เคยอยู่ในตลาดหุ้น มาบอกผมว่า

 

“เฮ้ย ดูแค่ไอ้เส้น Fibonacci ก็พอ ไปดูอะไรเยอะแยะวะ งงเปล่าๆ ไอ้เส้นโน้นเส้นนี้น่ะ ใครๆก็ต่างคนต่างขีด ตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง แต่ไอ้ Fibonacci นี่อ่ะ มันขีดยังไง ก็ได้ที่เดียวกันโว้ย!!!”

 

ผมตาสว่างเห็นธรรมทันทีครับ แต่ผมไม่ได้ดูแค่ Fibonacci ตามที่มันบอกหรอก ผมจับจุดได้ว่า ให้ดูไอ้ที่มันเหมือนชาวบ้านส่วนใหญ่เขาดูกัน อย่าไปแหกคอก ว่างั้น

 

เกริ่นมาถึงตรงนี้ บางท่านที่กำลังหัดๆอยู่ ผมอาจไม่ต้องสอนแล้วมั๊ง ส่วนท่านที่กำลังหัด รออ่านบทต่อไปนะ

!La !La !La

ถูกแก้ไข โดย little devil

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

บทที่ 4 Elliott wave คลื่นที่คุณต้องรู้จัก

 

โดย Kumponys

 

07baa27a.gif 07baa27a.gif 07baa27a.gif

 

หากคุณไม่สนใจทำความรู้จักมัน คงเหมือนกับคุณนั่งริมทะเลชมคลื่นไปเรื่อยๆ แต่หากคุณรู้ว่า เมื่อไหร่ที่อยู่ดีๆ ชายทะเลกลับหดถอยลงไปอย่างรวดเร็ว แปลว่า กำลังจะเกิดสึนามิ คุณต้องรีบวิ่งหนีจากชายฝั่ง เอาตัวรอดให้เร็วที่สุด แบบนี้ เท่ากับคุณรู้จักธรรมชาติของคลื่น นับเป็นเรื่องดีใช่ไหมครับ อยากรู้จักมันหรือยัง?

คิดว่า น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ถูกนะครับ น่าจะเป็นสิ่งที่ควรรู้เป็นอันดับแรก แต่บางคน แค่เห็นก็เมาคลื่นซะแล้ว อย่าเพิ่งครับ นั่นเป็นเพราะคุณหาจุดเริ่มต้นมันไม่ถูก เมื่อคุณเริ่มไม่ถูก อาการเมาคลื่น ก็จะตามมา ผมแนะนำคร่าวๆว่า

Elliott Wave ประกอบด้วยลูกคลื่นในขาขึ้น 5 ลูก ( 1-2-3-4-5) และลูกคลื่นในขาลง 3 ลูก (a-b-c) ในช่วงขาขึ้นเราเรียกว่า Impulse ส่วนขาลงเราเรียกว่า Correction โดยหากเป็นช่วงตลาดหมี ขาลงก็จะกลับกัน คือลง 5 ลูก ขึ้น 3 ลูกแทน และในคลื่นนึง ก็จะประกอบด้วยคลื่นเล็กๆ เสมอ อย่างเช่น คลื่นขา 1 เป็นขาขึ้น จะคลื่นในตัวเป็นคลื่นย่อย 5 คลื่น ขณะที่คลื่น 2 จะเป็นคลื่นขาลง จะมีคลื่นย่อยในตัวเป็น 3 คลื่น

 

ไม่ลงรายละเอียดมากนัก เพราะหนังสือที่ไหนก็มีให้อ่าน แต่จะบอกว่า สิ่งที่งงกันคือบางครั้ง มีการต่อคลื่น หรือเกิดคลื่นไม่ปกติขึ้นมา ทำให้นับกันไม่ถูก และอีกกรณีคือ ตราบเท่าที่คลื่นมันยังไม่จบ คุณไม่มีทางรู้ได้ว่า คุณนับถูกหรือไม่

 

อ้าว ไหงเป็นงั้น แล้วจะมีประโยชน์อะไร?

มีสิครับ อย่างน้อยที่สุด คุณจะตัดเส้นทางที่เป็นไปไม่ได้ออกไป เหลือทางที่มีโอกาสจะเป็นไปได้ และทางที่มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด แค่นี้ ก็ดีกว่าไม่รู้แล้ว ใช่ไหม

นักลงทุนที่ไม่ต้องการเสี่ยง จะเลือกลงทุนเมื่อกราฟอยู่ที่คลื่น 3 เพราะกว่าจะมาถึงคลื่น 3 ราคามันจะยืนยันขา 1 หรือขา 2 มาก่อนแล้ว และนี่คือสาเหตุครับ ว่าทำไม คลื่น 3 ถึงได้พุ่งได้แรงสุด เพราะมันชัดที่สุดนั่นเอง

 

รู้จักทฤษฎีหลักๆที่กำหนดว่า คลื่นไหนเป็นคลื่นไหน

 

Fibonacci number

ขี้เกียจพูดถึงที่มา เดี๋ยวยาว เอาเป็นว่าเป็นตัวเลขที่ช่วยในการวัดหรือกะระยะของคลื่นลูกต่อไปได้ ตัวเลขที่น่าสนใจ ได้แก่ 23.6% 38.2% 50% 61.8% 78.6% 100% 127.2% 161.8% 261.8% 423.6% โดยตัวเลขที่พบบ่อยๆว่ามีพลังหน่อย คือตัวเลขที่ผม ใช้สีแดงกำกับ

 

RSI คู่หูนับคลื่นแบบพลาดยาก

RSI เป็นสัญญาณยอดฮิต ที่แนะนำให้ศึกษาเลยครับ มันบอกถึงพละกำลังกระทิงหรือหมีได้เป็นอย่างดี สิ่งที่จะบอก ผมเอง ไม่เคยเจอในหนังสือเล่มไหนครับ ทฤษฎีนี้ ตั้งแต่รู้มา ทำให้ผมนับคลื่นได้มั่นใจขึ้นมาก ต้องขอบคุณ คุณลุงโฉลก แห่ง chaloke.com ผู้ถ่ายทอดเคล็ดวิชาสุดยอดแบบไม่มีหวงกัน ทฤษฎีไม่มีอะไรมาก หากมีความสับสน ให้ดูยอดคลื่นที่สูงที่สุดของ RSI เทียบกับยอดคลื่นราคาครับ ยอดคลื่น RSI ที่สูง จะตรงกับคลื่น 3 และคลื่น b เสมอ แค่นี้ ใครที่เคยนับคลื่นไม่ถูก ก็ลองใช้ช่วยนับใหม่ดูครับ ง่ายขึ้นเยอะ

 

elliottwaversi.gif[/url

 

ทฤษฎีอีเลียตเวฟมีหยุมหยิมค่อนข้างเยอะ ผมเอาหลักๆมาแนะนำเพื่อเป็น guide ก็พอนะครับ

 

คลื่นที่ 1 แค่เริ่มต้นก็ไม่ง่ายแล้ว

ไม่มีใครกะได้ว่า จะจบตรงไหน เพราะเพิ่งเริ่มคลื่นใหม่ สิ่งที่เราทำได้ คือรอให้มันจบคลื่น 1 ก่อนครับ แต่อย่างน้อยที่สุด คลื่นย่อยในคลื่น 1 ควรจะประกอบด้วย 5 คลื่น ไม่ใช่ 3 คลื่น หากนับได้ 3 คลื่นเมื่อไหร่ ตีความได้ว่า

- การ correction ของคลื่นรอบที่ผ่านมา ยังไม่จบจริง คืออาจมีการ correction ต่อเป็น a-b-c-x-a-b-c หรือ a-b-c-d-e เป็นต้น

- คลื่นนั้นยังไม่จบ คือยังเหลือการขึ้นขา 5 อีกขา ก่อนลง correction ขา 2 อีกที

หากคุณอ่านทฤษฎีในหนังสือ คงไม่ได้บอกคุณว่า ไอ้คลื่น 1 นี่อ่ะ มันก็ไม่ได้ระบุง่ายๆ เพราะมันเพิ่งต่อมาจากคลื่นปรับฐาน ทำให้ไม่รู้ว่า นี่มันคลื่น 1 หรือคลื่นปรับฐานต่อเนื่องกันแน่ เป็นเหตุให้ไม่ค่อยมีใครกล้าเข้าเล่นในคลื่น 1 นั่นเอง

 

คลื่น 2 จบเมื่อไหร่ ค่อยบอกคุณว่า ไอ้คลื่นลูกเมื่อกี๊น่ะ คลื่น 1 นะจ๊ะ

ถึงบอกว่า ไม่ค่อยมีใครเล่นคลื่น 1 เพราะมันมีโอกาสเป็นคลื่น correction ที่จะพาคุณชมดอยเต่าได้แบบไม่ต้องตีตั๋ว ตามทฤษฎีดูเหมือนง่าย มันบอกว่า คลื่น 2 จะไม่ต่ำกว่าคลื่น 1 หากคุณมั่นใจเข้าซื้อ เพราะคิดว่า นั่นคือคลื่น 2 ไม่มีทางหล่นต่ำกว่าคลื่น 1 หรอก ขอให้คิดใหม่ครับ เพราะเมื่อไหร่ที่ราคามันหลุดลงต่ำกว่าฐานคลื่น 1 มันก็เปลี่ยนสถานะตัวเองจากว่าที่คลื่น 2 เป็นคลื่น c ขาลงต่อเลย แสบมั๊ย

ปกติ เมื่อจบคลื่น 2 เราก็จะใช้ก้นคลื่น 2 ในการกะเป้าหมายคลื่น 3 ได้ต่อครับ ตามหลัก คลื่น 2 ของทองคำ มักจบแถว 61.8% หรือ 78.6% โดยหากเด้งขึ้นจากเส้นแถวนี้ได้แรงๆ ผ่านยอดคลื่น 1 มาได้ เราก็คาดได้ว่า นั่นน่าจะเป็นขา 2 และกำลังขึ้นคลื่น 3 ที่เราตั้งตารอกัน

 

คลื่น 3 คลื่นสุด hot

ใครๆก็รอขา 3 เพราะขา 3 มักจะยาวและทำกำไรได้มาก และความเสี่ยงต่ำที่สุด แต่กว่าจะรู้ว่าเป็นขา 3 บางทีมันก็เดินทางมาครึ่งทางแล้วครับ เพราะอะไร ก็ลองย้อนไปดูคลื่น 2 สิ

ตัวคลื่น 3 เอง ก็ประกอบด้วยคลื่นย่อยในตัว 5 คลื่น กว่าเราจะเห็นชัดๆว่า นี่คือคลื่น 3 ก็ต่อเมื่อเราจบคลื่น 2 ของ 3 และกำลังเข้าคลื่นย่อยขา 3 ของคลื่นหลักขา 3 แล้ว ถึงตรงนี้ ปกติผมจะไม่ลังเลในการบอกให้ซื้อครับ เพราะมันยังไปได้อีกอย่างน้อยก็ 60% ของขาล่างสุด เช่นขึ้นมาแล้ว 50 เหรียญ ก็เป็นไปได้ว่า มีโอกาสขึ้นอีกอย่างน้อย 30 เหรียญ ดีกว่าไม่ได้ ใช่ไหมครับ

ทฤษฎีมีว่า ขา 3 มีโอกาสขึ้นมาได้อย่างน้อย 161.8% เมื่อวัดจากยอดขา 1 ถึง ขา 2 และหากแรงๆ ก็จะไป 261.8% หรือกระทั่ง 423.6% ก็ได้ แถมตามด้วยคลื่น 5 ที่สามารถลุ้นเสี่ยงทำกำไรเพิ่มได้

 

คลื่น 4 คลื่นคืนกำไร

คลื่น 4 ลุงโฉลกให้นิยามว่า เป็นคลื่นคืนกำไร และไม่ค่อยแนะนำให้เล่น เพราะคาดการณ์ยากครับ ตามทฤษฎีบอกว่า ขา 4 จะลงไม่ถึงขา 1 แต่บางครั้งโดยเฉพาะในราคาทองคำตอนปลายๆทาง มันก็แล๊บลงมาต่ำกว่าขา 1 นิดหน่อยเหมือนกัน เรียกว่า เกิดความไม่ปกติขึ้น และจะเกิดเมื่อคลื่น 3 ไม่มีแรงขึ้น คือผิดปกติด้วย ว่างั้น และหากหลุดรูดลงมาเลย มันก็จะเปลี่ยนสถานะตัวเอง จากคลื่น 4 เป็นคลื่น a ครับ แล้วก็ต้องนับขากันใหม่ เพราะราคาไปไม่ถึงดวงดาวเสียแล้ว

มีความสัมพันธ์ระหว่างขา 2 กับขา 4 ที่มีความเป็นไปได้อยู่อย่างนึงครับ คือหาก ขา 2 มีความซับซ้อน คือไม่ลง a-b-c แล้วจบเลย แต่อาจเล่น sideway ยาวออกมา ในขา 4 มักจะไม่เกิดความซับซ้อนเหมือนขา 2 ครับ และในทางกลับกันก็เช่นกัน เราใช้ความสัมพันธ์นี้ มาช่วยเดาคลื่นครับ ว่าขา 4 น่ะ จะจบขึ้นขา 5 เลยมั๊ย หรืออาจมีต่อ ประมาณนั้น

 

คลื่น 5 คลื่นสำหรับคนกล้า

เพราะเป็นคลื่นที่ไม่มีความแน่นอน พร้อมที่จะล้มเหลวเมื่อไหร่ก็ได้ จึงเป็นคลื่นที่ไม่มีแรง คลื่นสำหรับคนตกขบวนคลื่น 3 ทดลองเข้ามาเสี่ยงทำกำไรอีกเล็กน้อย ก่อนการปรับฐาน

แต่มีข้อยกเว้นครับ ตามทฤษฎี ขา 3 ต้องไม่ใช่คลื่นที่สั้นที่สุด และควรจะยาวครับ หากไม่ยาว คือมีขนาดพอๆกับขา 1 คลื่น 5 มักจะเป็น extended wave 5 หรือมีการต่อคลื่น คือขึ้นคลื่นชุดย่อย(แต่ ใหญ่) ขยายความยาวคลื่น 5 ออกไปอีก

 

คลื่น a คลื่นปรับฐาน - สึนามิลูกแรก :ph34r:

เป็นคลื่นแรกของการปรับฐาน ที่อาจรุนแรงรวดเดียว หรือเพียงเบาะๆให้ตั้งตัวกันทันก็ได้ คลื่น a กับ คลื่น c เป็นคลื่นขาลงเหมือนกัน แต่ปกติหากมีคลื่นอันใดอันหนึ่งที่ยาว อีกอันก็จะสั้นๆครับ ในทองคำ การปรับฐานใหญ่ มักรุนแรงที่ขา a เรียกว่า เป็นสึนามิได้เลย ขณะที่ขา c อาจ sideway หรือสั้นๆมากกว่า

 

คลื่น b คลื่นถอนตัว VS คลื่นมวยประกอบรายการ :blink:

จบคลื่น a ราคามักจะดีดกลับขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะบางคนก็เชื่อว่า การปรับฐานจบแล้ว บางคนก็เชื่อว่า ไอ้ที่ผ่านมา คงเป็นแค่คลื่น 3 ขอเล่นคลื่น 5 ต่อ และอีกพวก คือพวกชอบเล่นกับไฟ รู้ว่าเป็นคลื่น b แต่ก็เล่น เพราะจริงๆ ก็ยังสามารถทำกำไรได้

คุณสมบัติของคลื่น b ต้องดูสัญญาณประกอบครับ โดยเฉพาะ stoch กับ RSI มักขึ้นมาเร็วมาก ราคาอาจสูงกว่าหรือต่ำกว่าคลื่น 5 ก็ได้ ขอให้ดูสัญญาณเป็นสำคัญครับ และรีบถอนตัวเมื่อยอดสัญญาณเลยยอดสัญญาณของคลื่น 5

 

คลื่น c คลื่นปรับฐาน สึนามิลูกสุดท้าย :wacko: :wacko: :wacko:

การ correction หรือการปรับฐาน จะจบด้วยขา c โดยขา c มักจบที่ 78.6% เมื่อวัดจากยอดคลื่น 5 ถึงฐานของคลื่น 1 หากลึกกว่านั้น แปลว่าตลาดอาจกลับสภาวะจากกระทิงเป็นหมีไปแล้วก็ได้ โดยด่านสุดท้าย ก็คือฐานคลื่น 1 นั่นแหละ

 

และวัฏจักรคลื่น ก็จะวนขึ้นขา 1 ใหม่อีกครั้ง เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ครับ

 

 

ครบ 5 คลื่นแล้ว หวังว่า คงยังไม่หมดแรงซะก่อนนะครับ บทต่อไปมาว่ากันต่อเรื่องวิธีดูเครื่องมือ หรือสัญญาณต่างๆ ที่ต้องใช้

fadeba1b.gif fadeba1b.gif fadeba1b.gif

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

บทที่ 5 Fibonacci number ช่วยให้คุณรู้จักคลื่น Elliott wave ดีขึ้น

 

โดย Kumponys

 

!047 !047

 

ผมพยายามลำดับความสำคัญว่า อะไรที่ควรจะเรียนรู้ก่อนในกลุ่มเครื่องมือจำนวนมากที่สามารถพาพวกเราเวียนหัวกันได้ ผมว่าน่าจะเอาสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุด ที่เข้าใจตรงกันมากที่สุด ก็คือ Fibonacci number นี่แหละ มาให้เราทำความเข้าใจกันก่อน ผมว่าเหมือนกับการป้อนข้อมูลใส่ให้พวกเราเข้าใจว่า สาวๆ หน้ากลมๆ สัดส่วน 30-24-36 ถึงจะสวยนะ ถ้าไม่ใช่ ก็สัก 32-26-36 ก็ยังดี (หุหุ เกี่ยวป่าว?)

 

fibonacci เป็นชื่อเรียกเลขอนุกรมมหัศจรรย์ ที่ตั้งขึ้นตามผู้คิดค้นคือ LEONARDS FIBONACCI ซึ่งสังเกตเห็นว่า ธรรมชาติมีสัดส่วนสัมพันธ์กับตัวเลขนี้ ต่อมาได้มีการประยุกต์นำมาใช้ในการวิเคราะห์ราคาหุ้น เพื่อที่จะใช้ค้นหาแนวโน้ม แนวต้าน แนวรับ สัญญาณซื้อและขาย โดยมีรูปแบบอยู่ 3 ลักษณะ คือ

- Fibonacci retracement หาแนวรับแนวต้านราคาในแนวระนาบ

- Fibonacci fan หาแนวรับในแนวเฉียง

- Fibonacci fan หาแนวรับในแนวดิ่ง หรือระยะเวลา

ส่วนใหญ่ที่เห็นใช้กัน ก็เป็นอันแรกครับ ส่วนที่มาของตัวเลข ไม่ขอพูดมากครับ ตำราเยอะแยะ เอาเป็นว่า ผมแนะนำสิ่งที่นำไปใช้งานเลยละกัน ตัวเลขสัดส่วนที่นำมาใช้ ถูกคำนวณมาเป็น % หรือเทียบกับ 1.0 เป็นเลขดังนี้

23.6% 38.2% 50% 61.8% 78.6% 100% 127.2% 161.8% 261.8% 423.6%

โดยตัวเลขสีแดง คือตัวเลขที่ผมให้ความสำคัญเป็นพิเศษครับ

การใช้ Fibonacci สามารถใช้วัดได้ทั้งคลื่นย่อย และคลื่นหลักตามสะดวก และโดยมากเราวัดในคลื่นย่อย มักจะตรงกับคลื่นหลักอย่างน่าแปลกใจในบางครั้ง ซึ่งหากตรงกัน ผมมักให้ความสำคัญเพิ่มตรงจุดนั้นด้วย

 

การใช้ Fibonacci ใช้ตอนไหน และตรงไหนดี?

คงเป็นคำถามสำหรับมือใหม่ ที่บางคนลากแบบไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี ต้องย้อนกลับไปอ่านอีกทีข้างบน ที่บอกว่า ใช้หาแนวต้าน แนวรับ แนวต้าน ไงครับ แนวรับจะเกิด เราต้องหาหัวหาท้ายคลื่นให้ได้ก่อน ใช่มั๊ย? เราสนใจคลื่นชุดใหญ่หรือชุดย่อยล่ะ ถ้ายังไม่รู้ ต้องเริ่มจากคลื่นใหญ่ก่อนครับ

 

- แนะนำให้เริ่มจาก กราฟรายวัน เพราะจะเห็นคลื่นหลักชัดๆ

 

เมื่อคลื่นเริ่มต้นขึ้น จนเริ่มตก เราก็จะได้จุดเริ่มต้นและปลายทางของคลื่นเป้าหมายครับ สิ่งที่เราจะวัดหา คือแนวรับเป็นอันดับแรก โดยมีจุดที่ผมให้ข้อคิดไว้ ตามประสบการณ์อันน้อยนิดของผมคือ

 

- หากคลื่นที่วัด ความแรงไม่มาก เช่นคลื่น 1 แนวรับจะอยู่ที่แถว 50% 61.8% และ 78.6% รวมถึง 100%

- หากหลุดต่ำกว่า 100% ก็จะเป็นการ correction หรือปรับฐานเลย (คลื่น a-b-c) เป้าหมายแรกอยู่ที่ 127.2% และ 161.8% หรือกว่านั้น

- หากเป็นคลื่น 3 บางที ลงไม่ถึง 50% ด้วยซ้ำ

 

หากแนวรับ รับได้อยู่แถว 61.8% และดีดกลับได้อย่างแข็งแกร่ง สิ่งที่เราจะมองหาคือแนวต้านแทน เราก็สามารถคาดได้ครับว่า คลื่นอาจจะย้อนสูงขึ้นกว่ายอดเดิม ไปที่ 127.2% 161.8% หรือ 261.8% หรือมากกว่านั้นได้ เราสามารถเอาความเข้าใจเรื่องอีเลียตเวฟมาประยุกต์คาดการณ์ร่วมกับการคะเน แนวต้านได้ครับ เช่น

- หากเป็นคลื่น 3 อาจแรงไปถึง 261.8 หรือ 423.6% ได้

- ขณะที่คลื่น 5 อาจไม่ผ่าน 100% หรือแค่ 127.2% ก็เป็นได้ หากสัญญาณไม่แรงพอ

 

lesson5fibo.gif

 

 

สั้นๆ ได้ใจความ ไม่เยิ้นเย้อนะครับ ที่เหลือ ลองไปหัดวัดดูคลื่นเก่าๆที่เคยผ่านไปแล้วดู ผมสรุปสั้นๆว่า

- มองภาพคลื่นใหญ่ หาจุดเริ่มต้นให้เจอ

- พิจารณาธรรมชาติของคลื่นลูกนั้น ว่าเป็นคลื่นไหน 1-2-3-4-5 หรือ a-b-c เพื่อคะเนว่า ตัวเลขแนวต้าน-แนวรับตรงไหน น่าจะสำคัญ สำหรับคลื่นลูกนั้น

- คลื่นใหญ่มองภาพไม่เห็นว่าจะจบแถวไหน ก็วัดคลื่นย่อยช่วย เช่น วัดคลื่น 3 หลักที่เห็นได้ชัดในรายวัน ในรายชั่วโมง เราก็มาวัดคลื่นย่อยของ 3 หลัก หากอยู่ในคลื่นย่อย 5 แล้ว เราก็คาดได้ว่า ราคาจะพุ่งไปเส้นต่อไปไม่ไหวก็เป็นได้ เป็นต้น

 

การดูว่าคลื่นไหนเป็นคลื่นไหน เราสามารถใช้ความรู้เรื่อง RSI มาช่วยกำกับได้ อย่างที่กล่าวไปในบทที่แล้วนะครับ เช่น หากคลื่นราคาใหม่ สูงขึ้น แต่ RSI ต่ำกว่าเดิม ก็มีโอกาสจะเป็นยอดคลื่น 5 ได้ เพราะ RSI จะ peak ในคลื่น 3 กับ b เป็นหลัก

 

Fibonacci fan กับ timezone คงไม่พูดถึงนะ ก็คล้ายกัน แต่ผมว่า ใช้วัดคลื่นหลักก็พอ โดยเฉพาะ fibo fan ผมใช้บ่อยตอนหาแนวรับ ใช้ร่วมกับ Fibonacci retracement ช่วยบอกแนวรับได้ดีมากๆ

 

บทต่อไปน่าจะเป็นการดู RSI, MACD นะ แต่ใครอ่านบทวิเคราะห์ของผมบ่อยๆคงได้เรียนรู้ไปเยอะแล้ว เพราะผมพูดถึงบ่อยมาก

 

 

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

บทที่ 6 เครื่องมือวัดพลังคลื่น

 

โดย Kumponys

 

!K2 !K2

 

มีของอยู่ในมือแล้ว พวกเรามักมีปัญหาในการปล่อย หรือติดดอย เพราะไม่มีการเช็คสุขภาพ หรือพลังของคลื่น ว่าเหลือมากน้อยแค่ไหน สมควรจะเสี่ยงถือต่อไป หรือโยนให้คนอื่นถือต่อดี วันนี้มารู้จักกับเครื่องมือวัดพลังคลื่นทั้ง 3 ตัวที่ผมใช้ประจำครับ

 

Stochastic Oscillator เป็นตัววัดแนวโน้มที่ให้ทิศทางเร็วกว่าเพื่อน แต่ก็นั่นแหละครับ หลอกเก่งกว่าเพื่อนเหมือนกัน เหมาะกับการให้ทิศทางระยะสั้นหรือตลาด sideway มากกว่า

 

Stochastic Oscillator เป็นตัววัดแนวโน้มที่ให้ทิศทางเร็วกว่าเพื่อน แต่ก็นั่นแหละครับ หลอกเก่งกว่าเพื่อนเหมือนกัน เหมาะกับการให้ทิศทางระยะสั้นหรือตลาด sideway มากกว่า

 

RSI (Relative Strength Index)เป็นเครื่องมือวัดพลังของคลื่น ที่ผมให้น้ำหนักค่อนข้างมาก ผมใช้ยอดคลื่นของมันชี้ตำแหน่งคลื่น 3 และคลื่น b

 

MACD (Moving Average Convergence Divergence)เป็นเครื่องมืออีกชิ้นที่ช่วยในการตัดสินใจเรื่องการเปลี่ยนแนวโน้มของคลื่นได้ดีครับ

 

การใช้งานเครื่องมือทั้ง 3 ชนิด

อ่านตำราแล้วเหมือนจะใช้ต่างกัน แต่ผมมักจะมองภาพรวมทั้ง 3 ตัวด้วยกัน รวมถึงการนับขาตามทฤษฎีอีเลียตเวฟ เพื่อช่วยตัดสินใจเรื่องการเปลี่ยนแนวโน้ม หากใครอ่านตำรา ก็มักจะพุ่งเป้าไปที่สัญญาณ overbought/oversold เป็นหลัก แต่จริงๆแล้ว เรายังดูหลายอย่างที่ละเอียดลงไปได้อีก

 

สิ่งที่เราต้องมองหาในเครื่องมือโดยรวม

- Divergence/Convergence ตรงนี้อธิบายง่ายๆ คือความสัมพันธ์ระหว่างราคากับสัญญาณในเครื่องมือ มันต้องไปทางเดียวกัน เท่านั้นแหละ หากราคาขึ้นทำ high ใหม่ แล้วสัญญาณขึ้นตาม ก็ดีไป แต่หากไม่ตาม เราเรียกว่า เกิด divergence คือสัญญาณมันไม่เอาด้วย แบบนี้ ก็เตรียมถอยครับ ทางกลับกัน หากราคาลงทำ low ใหม่ และสัญญาณตามลงไป เราก็รอต่อไป แต่เมื่อไหร่ที่สัญญาณไม่ลงด้วย เราเรียกว่าเกิด convergence คือสัญญาณไม่เอาด้วย แต่เป็นเชิงบวกแทน แบบนี้ เตรียมกระโจนเข้าได้

- แนวต้านจากการลาก trend line เมื่อเกิดยอดคลื่น 2 ยอด เราสามารถลากเส้น trendline ให้เส้นสัญญาณได้ เช่นเดียวกับกราฟราคาครับ และหากสัญญาณขึ้นมาชน trendline ที่เราตีไว้ ก็มีแนวโน้มว่า จะติดเส้นนี้ได้ ทางกลับกัน หากหลุดเส้น trendline นี้ไปได้ ก็อาจพุ่งไปต่อได้เลยเช่นกันครับ

หากมองไม่เห็น สมมุติว่า เราดูใน chart รายวัน เราอาจขยับมาดูราย 4 ชั่วโมง หรือต่ำลงมาเป็นรายชั่วโมง เพื่อหาสิ่งที่เราต้องการดู

 

สัญญาณในกราฟ รายชั่วโมง ราย 4 ชั่วโมง รายวัน อันไหนสำคัญกว่ากัน?

บางครั้ง สัญญาณระดับต่างๆมันขัดแย้งกัน มือใหม่จะงง และตัดสินใจไม่ถูก ไม่รู้จะเชื่ออันไหนดี ผมอธิบายง่ายๆว่า รายวันก็เหมือนเราดูคลื่นหลัก ส่วนราย 4 ชั่วโมง หรือ รายชั่วโมง เราก็เท่ากับกำลังมองคลื่นย่อยในคลื่นหลัก คลื่นหลัก สัญญาณอาจบอกว่า กำลัง bull มาก อยู่ในคลื่น 3 แต่รายชั่วโมง สัญญาณอาจเป็น bear เพราะกำลังปรับฐานอยู่ในคลื่น 2 ย่อยของ 3 ก็เป็นได้

 

การใช้ MACD ดูการเปลี่ยนแนวโน้ม

MACD ถูกยกย่องให้เป็นราชาของเครื่องมือวัด เพราะมีความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง วิธีการดู MACD ก็ดูว่า

- เมื่อไหร่ที่ เส้นสัญญาณ (เส้นสีแดง) อยู่เหนือแถบ MACD จะ bearish หรือกลับเป็นขาลง

- เมื่อไหร่ที่ เส้นสัญญาณ (เส้นสีแดง) อยู่ใต้แถบ MACD จะ bullish หรือกลับเป็นขาขึ้น

นอกจากนั้น ก็เป็นการมองหา divergence/convergence และ การใช้ trendline วัดความสูงเพื่อหาแนวต้านแนวรับแล้ว อย่างที่บอกไป แต่ยังมีอีกจุดที่น่าสนใจมาก คือมันสามารถบอกพลังงานสะสมได้ครับ เมื่อใดที่เส้นสัญญาณ (เส้นสีแดง) กับ MACD ตีคู่กันใกล้ๆไปสักระยะ จะเกิดพลังงานสะสม และมักมีไม้เขียว หรือไม้แดงยาวๆตามมาให้เห็นบ่อยๆครับ ลองไปสังเกตดู MACD ที่เกิดขึ้นมาในอดีตดูครับ ให้สัญญาณก่อนเกิดไม้เขียวไม้แดงยาวๆตามมา ชนิดทำกำไรได้สบาย

 

ถึงบทนี้ ความฮึกเหิมคงเริ่มเกิดในตัวแล้วใช่มั๊ยละครับ แต่อยากจะบอกว่า พอไปดูคลื่นจริงๆ อาจจะยังคงเมากันอยู่ครับ คงต้องอาศัยประสบการณ์ที่ต้องค่อยๆสะสมแล้ว อันนี้ สอนกันยาก ได้แต่บอกว่า ค่อยๆดูไปครับ ทุกวันนี้ ผมก็ยังสะสมอยู่เหมือนกัน

บทต่อไป คงเป็นเรื่องของ เครื่องมือปลีกย่อย อย่าง Moving Average, Trendline, ฯลฯ แต่ผมว่า ศึกษาเองก็ไม่น่ายากแล้วนา !hh !hh

 

 

lesson6indi1.gif

 

 

lesson6indi2.gif

 

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

โหสุดยอดจริงๆ แต่คงต้องใช้เวลานานมากเลยถึงจะเข้าใจได้หมด

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

มีประโยชน์มากค๊าบบ..ขอบคุนจิงจิง !01

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

การดู macd ประกอบคลื่น

90-1.png

 

http://ensign.editme.com/macdfundamental

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Join the conversation

You can post now and register later. If you have an account, sign in now to post with your account.

ผู้มาเยือน
ตอบกลับกระทู้นี้...

×   วางข้อความแบบ rich text.   วางแบบข้อความธรรมดาแทน

  อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 75 อิโมติคอน.

×   ลิงก์ของคุณถูกฝังอัตโนมัติ.   แสดงเป็นลิงก์แทน

×   เนื้อหาเดิมของคุณได้ถูกเรียกกลับคืนมาแล้ว.   เคลียร์อิดิเตอร์

×   คุณไม่สามารถวางรูปภาพได้โดยตรง กรุณาอัปโหลดหรือแทรกภาพจาก URL

กำลังโหลด...

  • เข้ามาดูเมื่อเร็วๆนี้   0 สมาชิก

    ไม่มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนกำลังดูหน้านี้

×
×
  • สร้างใหม่...