ข้ามไปเนื้อหา
Update
 
 
Gold
 
USD/THB
 
สมาคมฯ
 
Gold965%
 
Gold9999
 
CrudeOil
 
USDX
 
Dowjones
 
GLD10US
 
HUI
 
SPDR(ton)
 
Silver
 
Silver/Oz
 
Silver/Baht
 

โพสต์แนะนำ

นังสือพิมพ์แนวหน้า -- เสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2553 07:54:21 น.

 

สถาบันวิจัยนครหลวงไทยหรือSCRI วิเคราะห์หุ้นบริษัทน้ำตาลขอนแก่น(KSL)ประเมินแนวโน้มผลการดำเนินงานของธุรกิจเอทานอลและโรงไฟฟ้าของ KSL ในครึ่งหลังปี2553( 2H/53 )จะชะลอลง เนื่องจากมีปัจจัยกดดันด้านต้นทุนการผลิต โดยราคากากน้ำตาลล่าสุดปรับสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้มีปริมาณที่น้อย ขณะที่ราคาเอทานอลทรงตัวไม่ปรับขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ ขณะที่โรงงานไฟฟ้าของ KSL มีเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอทำให้ต้องซื้อจากภายนอกส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น

 

 

 

SCRI จึงปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2553 ของ KSL ลง 12.5% เป็น 624 ล้านบาท ขณะเดียวกันจากปัญหาภัยแล้งทำให้ไร่อ้อยบางส่วนได้รับผลกระทบ ทำให้มีแนวโน้มที่ปริมาณอ้อยเข้าหีบในปี 2553/54 จะอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับในปี 2552/53 นอกจากนี้ผู้บริหารเผยการขายคาร์บอนเครดิตมูลค่า 100 - 150 ล้านบาท มีความไม่แน่นอนสูง

 

SCRI คาดผลการดำเนินงานปี 2554 ของKSLจะฟื้นตัวจากการเริ่มเดินเครื่องผลิตของโรงงานที่บ่อพลอย ซึ่งในปีนี้โรงงานที่บ่อพลอยประสบปัญหาทางเทคนิก ทำให้ไม่สามารถเดินเครื่องผลิตได้เต็มกำลังการผลิต นอกจากนี้ผู้บริหารเผยผลการดำเนินงานของโรงงานน้ำตาลที่ลาวและกัมพูชา ในปี 2554 มีแนวโน้มที่จะยังคงขาดทุนเนื่องจากปริมาณอ้อยเข้าหีบที่ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน แต่คาดจะรายงานผลขาดทุนที่ลดลงเป็น100 ล้านบาท จากที่คาดว่าจะขาดทุน150-200 ล้านบาทในปี 2553 โดยรวมแล้ว SCRI คาดกำไรสุทธิของ KSL ในปี 2554 จะเติบโต 51.3%เทียบกับปีก่อน( yoy) เป็น 944 ล้านบาท

 

SCRI ประเมินว่าผลการดำเนินงานของ KSL จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2554 อย่างไรก็ตาม SCRI ประเมินมูลค่าเหมาะสมปี 2554 KSL เท่ากับ 10.00 บาท จึงยังคงคำแนะนำ "ขาย"

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- ศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 2553 07:54:10 น.

 

บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เคจีไอ(ประเทศไทย)วิเคราะห์หุ้นบริษัทห้างสรรพสินค้าโรบินสัน หรือ ROBINSหลังขยายธุรกิจอย่างช้า ๆ มาหลายปี ROBINS เปลี่ยนมาวางแผนบุกตลาดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้บริษัท ตั้งเป้าเปิด 3 สาขาใหม่ต่อปีหลังปี 2553 หรือตั้งเป้าให้มีสาขาครบ 35 สาขา ในปี 2557 เราเชื่อว่าเป้าดังกล่าวมีความเป็นไปได้ จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและรายรับภาคการเกษตรที่สูงขึ้นในต่างจังหวัด จากสาขาในปัจจุบันที่ 22 สาขา มีเพียง 13 สาขาที่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัด อยู่ใน 11 จังหวัดจาก 76 จังหวัด เราจึงเชื่อว่ามีโอกาสสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคตได้อีก

 

 

 

แม้ว่าประเทศไทยจะพึ่งผ่านปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองไปเป็นที่น่าแปลกใจว่า ROBINS กลับเปิดเผยถึงตัวเลขอัตราการเติบโตของยอดขายต่อพื้นที่เดิม (SSS) ที่ดีเช่นเดียวกันกับในไตรมาส1ปี2553ที่ 7.4% สาขาบางแห่งที่อยู่ในกรุงเทพและพื้นที่ธุรกิจใจกลางเมืองได้รับผลกระทบอย่างจำกัด เนื่องจากบริษัทปิดทำการเพียงระยะสั้น

 

บริษัท ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของยอดขายต่อพื้นที่เดิมที่ 7.0% ซึ่งเราเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ จากอัตราการเติบโตของยอดขายต่อพื้นที่ที่อยู่ในระดับสูงในครึ่งปีแรก บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยที่ดีขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ นอกจากนี้ยอดขายต่อพื้นที่และยอดขายจากบริษัทในเครือที่เติบโตในระดับสูง เราคาดว่าบริษัท ย่อมมีโอกาสรายงานยอดขายต่อพื้นที่เติบโตในระดับที่สูงกว่าคาด

 

หลังประชุมกับบริษัทฯ เราปรับเพิ่มกำไรในปี 2553-54 อีกเล็กน้อยเพื่อให้สมมุติฐานของเราสอดคล้องกับเป้าของบริษัท ที่ประกาศไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ดี รายการปรับสำคัญของเราอยู่ที่ตัวเลขสาขาใหม่ของบริษัท ในปี 2556-57 จากเดิมที่คาดว่าจะไม่มีสาขาใหม่ในช่วงดังกล่าว

 

จากแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับแผนการขยายสาขา เราปรับเพิ่มคำแนะนำจาก 'ถือ' เป็น 'ซื้อ' ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 17.20 (จาก 14.10) บาท

 

ที่มา .. บล.เคจีไอ ( ประเทศไทย )

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

American Revolutionary Wars สงครามปฏิวัติอเมริกา

 

valleyforge1.jpg

ภาพ จอร์จ วอชิงตัน กับทหารที่ค่าย Valley Forge เผชิญกับความยากลำบาก หนาวเหน็บ ต้องสูญเสียทหารไปถึง 1/4 จาก การเจ็บป่วย และ ขาดแคลน

 

ถ้าพูดถึงสงครามปฏิวัติอเมริกา หลายคนคงนึกถึง จอร์จ วอชิงตัน ผู้บันชาการทหารสูงสุดของกองทัพภาคพื้นทวีป Continental Army และ ประธานาธิปดีคนแรกของอเมริกา คนส่วนใหญ่ รู้จักเขาในฐานะแม่ทัพผู้เก่งกาจ สามารถนำพาทหารฝ่ายอเมริกาชนะฝ่ายอังกฤษในที่สุด ส่งผลให้อเมริกาสามารถประกาศอิสระภาพจากประเทศอังกฤษได้ แต่น้อยคนจะรู้ว่า ที่จริงแล้ว วอชิงตัน ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการศึกเท่าไร การศึกในชีวิตของเค้าทั้งหมด 9 ครั้งมีเพียง 3 ครั้งที่ได้รับชัยชนะ ศึกใหญ่ศึกแรกของเขา ศึก Long Island,New York วอชิงตัน พ่ายแพ้อย่างหมดรูปแก่อังกฤษ ต้องนำทหารหนีข้ามแม่น้ำ Delaware จาก New York ข้ามมายังฝั่ง New Jersey อย่างทุลักทุเล ในศึกสำคัญอีกครั้ง ศึก ฺBrandywine,Pennsylvania อีกครั้งที่นำกองทัพอเมริกาพ่ายแพ้แก่ฝ่ายอังกฤษ ต้องสูงเสียเมืองสำคัญที่เป็นศูนย์กลางปกครองของฝ่ายอเมริกา อย่าง ฟิลาเดลเฟีย ไป อีกทั้งแม่ทัพใหญ่ฝ่ายอเมริกา Benedict Arnold ยังทรยศไปเข้ากับฝ่ายอังกฤษ ทหารอเมริกาในขณะนั้นสูญเสียกำลังใจอย่างหนัก วอชิงตัน เห็นว่าทหารตนขณะนั้นไม่พร้อมที่จะรบ จึงหลีบเสี่ยงการปะทะกับฝ่ายอังกฤษโดยตรง ถ่วงเวลาไว้ในขณะที่เสียเปรียบ รบเฉพาะที่จำเป็น รบไปถอยไป หนึ่งเพื่อเร่งฟื้นฟูกำลังใจทหาร และ อีกส่วนนึงรอพันธมิตรอย่างฝรั่งเศสมาถึง วอชิงตัน นำทหารหลบไปตั้งค่ายที่ Valley Forge เพื่อฝึกใหม่ (ทหารอเมริกาส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร ชาวไร่ชาวนาไม่ได้เป็นทหารอาชีพ)เสริญสร้างทักษะทางการรบ และ ฟื้นฟูกำลังใจ แม้ว่าจะประสบกับภาวะขาดแคลน และต้องเผชิญกับความหนาวเหน็บ อีกทั้งยังถูกตำหนิจากฝ่ายการเมืองอย่างรุนแรงจากทั้งเรืองผลการศึกที่ผ่านมา และเรื่องที่ไม่ยอมสู้รบ ตัวเค้าก็ไม่ได้ท้อถอย ยังคง "Stay the Cause" ในที่สุด เมื่อพันธมิตรกองเรือฝรั่งเศสมาถึงและสามารถปิดเส้นทางลำเรียงทางน้ำของฝ่ายอังกฤษ วอชิงตันเห็นว่า ฝ่ายตนกำลังได้เปรียบ ทหารก็พร้อมรบ กำลังใจก็ดี สุดท้ายจึงนำพาทหารเข้ารบขั้นแตกหลังกับฝ่ายอังกฤษ อังกฤษต้องพ่ายแพ้แบบหมดรูปเป็นครั้งแรกในศึก Cowpens,South Carolina และถูกตีถอยร่นไปตั้งหลักที่ Yorktown, Virginia ในศึกสุดท้ายศึก Yorktown ทหารอเมริกา และเรือรบฝรั่งเศส ปิดล้อมเมืองหนาแน่น ระดมยิงปืนใหญ่ทั้งทางบกทางทะเล ผู้บันชาการทหารสูงสุดของฝ่ายอังกฤษ Cornwallis กับทหารหาญอีก 9000 คน ต้องลงนามประกาศยอมแพ้สงครามในที่สุด

 

ปล Stay the Cause มีความหมายประมาณว่า "คง มุ่งเน้น" จุดมุ่งหมายหรือวัสถุประสงค์ไว้อย่างเหนียวแน่น มักจะใช้เพื่อให้กำลังใจในเวลาที่เผชิญความยากลำบาก อยากท้อถอย ไม่ว่าจะเผชิญปัญหาซักเพียงใด พ่ายแพ้ซักศึกกี่ครั้งไม่สำคัญ สำคัญที่ศึกสุดท้ายเอาชนะได้ก็เพียงพอแล้ว

 

จุดมุ่งหมายที่ผมเขียนบทความนี้ เพื่อเตือนใจเพื่อนๆว่า นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องเอาชนะศึกย่อยเล็กๆ ทุกสมรภูมิ จะแพ้ทุกสมรภูมิก็ได้ ขอเพียงศึกสุดท้ายชนะ และชนะสงครามในที่สุดก็ประสบความสำเร็จได้ ครับ

การซื้อหุ้นในบ่อยครั้ง เราเลือกมาอย่างดี วิเคราะห์ ทั้งงบการเงิน แนวโน้มธุรกิจดี ดีหมด แต่พอเราซื้อปุ๊บหุ้นลง หลายคนพอติดลบ ออกอาการ "แพ้ไม่เป็น" เห็นลบ 5% 10% ถอดใจขายทิ้ง ไม่เชื่อใจตัวเองว่าวิเคราะห์มาอย่างดีแค่ไหน พอขายปุ๊บหุ้นวิ่งปั๊บ วิ่งขึ้นหน้าตั้งไป 100% กว่า ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ แบบนี้เรียกว่า ชนะศึกย่อยแต่แพ้สงครามครับ

ถูกแก้ไข โดย TOUNE

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ตามมาเยี่ยมบ้านคุณ Toune และสะสมความรู้ครับ เป็นประโยชน์มากเลย เทคนิคต่าง ๆ สามารถนำมาปรับใช้กับกองทุนได้ เช่น การ cut 10% มารับที่ราคาต่ำ ก็คงแบบเดียวกัน DSM ที่ทำให้ได้หุ้นเพิ่มโดยไม่ต้องเพิ่มเงิน การจัดทีมฟุตบอลไอเดียดีมากครับ กองทุนก็มีกองทุน defensive เหมือนกัน nav ไม่วิ่งมากแต่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ น่าเอาไปลองจัดทีมกองทุนดูบ้าง

:ph34r:

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ตามมาเยี่ยมบ้านคุณ Toune และสะสมความรู้ครับ เป็นประโยชน์มากเลย เทคนิคต่าง ๆ สามารถนำมาปรับใช้กับกองทุนได้ เช่น การ cut 10% มารับที่ราคาต่ำ ก็คงแบบเดียวกัน DSM ที่ทำให้ได้หุ้นเพิ่มโดยไม่ต้องเพิ่มเงิน การจัดทีมฟุตบอลไอเดียดีมากครับ กองทุนก็มีกองทุน defensive เหมือนกัน nav ไม่วิ่งมากแต่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ น่าเอาไปลองจัดทีมกองทุนดูบ้าง

:ph34r:

 

ดีใจครับ ที่มีเซียนอย่างคุณงูดินมาช่วยวิจารณ์ !57

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

วันนี้ขอเปลื่ยนแนว มาวิเคราะห์หุ้น แทนนะครับ

จะไดไม่้ซ้ำซากจำเจ จนเกินไป

สนใจหุ้นตัวไหน ฟากได้ แต่ขอเอาหุ้นที่ดูดี หรือมีอนาคตนิดนึงครับ (หุ้นเน่าดูไปก็เสียเวลาป่าวๆ)

 

ขออนุญาตจะยังไม่วิเคราะห์หุ้น อีก 2-3 กลุ่มครับ

 

กลุ่มรับเหมาก่อสร้างประเภทประมูลงานกับภาครัฐ (รับเหมาที่เป็น subcontract ได้ไม่มีปัญหา) เหตุผล หุ้นกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงจากการไม่ได้งานเลย เพราะต้องประมูลแข่งกัน ประมูลไม่ได้ก็จบเห่ แถมมีกำไรต่ำมาก คิดว่าจากที่ต้องพยายามกดราคาตัวเองตอนยื่นซองเพื่อให้มีโอกาสได้งาน อีกทั้งภาครัฐเรามีชื่อเสียงในเรื่องไม่โปร่งใส อาจมีเรื่องต้องจ่ายใต้โต๊ะเพิ่มอีก หุ้นกลุ่มนี้ไม่น่าเล่นที่สุดใน SET เข้าข่าย "ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนต่ำ"

 

กลุ่มแบงค์ การเงิน โบรกเกอร์ ประกัน กลุ่มนี้ มีลักษณะ ที่แปลกกว่ากลุ่มอื่นตรงที่ วิธีการวิเคราะห์ สูตรต่างๆทางการเงิน ไม่สามารถใช้ได้กับกลุ่มนี้ ยกตัวอย่างเช่น หุ้นกลุ่มอื่น สร้างหนี้น้อยดี กลุ่มนี้ต้องมีหนี้มากถึงจะดี หุ้นกลุ่มนี้ ต้องใช้วิธีวิเคราะห์ที่แตกออกไปซึ่งผมยังไม่มี Skill ในตรงนี้ ของข้ามไปก่อน

 

กลุ่ม สื่อ สิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะโฆษณา ไม่มีเหตุผลใด นอกจากไม่ชอบเป็นการส่วนตัว แฮะๆ เราไม่ชอบอะไร เราก็จะสนใจสิ่งนั้นต่ำ การวิเคราะห์ก็จะออกมาไมดีจริงไหม ขอข้ามไปก่อนครับ

 

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เรื่มจาก KSL ก็แล้วกัน

 

KSL น้ำตาลขอนแก่น

ลักษณะทางธุรกิจ

ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 4 ของไทย มีส่วนแบ่งตลาดน้ำตาล 7-8%

โรงงานกระจายอยู่หลายภูมิภาคได้แก่

โรงงานน้ำพอง ขอนแก่น กำลังผลิตหีบอ้อยได้ 28,000 ตันอ้อย/วัน

โรงงานท่ามะกา อ. ท่ามะกา กาญจนบุรี 20,000 ตันอ้อย/วัน

โรงงานนิวกรุงไทย อ. ท่ามะกา กาญจนบุรี 12,000 ตันอ้อย/วัน

โรงงานนิวกว้างสุ่นหลี พนัสนิคม ชลบุรี 4,000 ตันอ้อย/วัน

โรงงานสะหวันนะเขต สะหวันนะเขต ลาว 3,000 ตันอ้อย/วัน

โรงงานเกาะกง เกาะกง กัมพูชา 6,000 ตันอ้อย/วัน

 

ปล กำลังผลิตเป็น กำลังผลิตสูงสุด

 

ธุรกิจลูกอื่นๆที่สำคัญ

ไทยซูการ์เทอร์มินัล (จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ชื่อย่อ TSTE) ท่าเรือที่ พระประแดง สมุทรปราการ ให้เช่าเก็บคลังสินค้า ถ่ายสินค้าขึ้นเรือ เพื่อส่งออก

ขอนแก่นแอลกอฮอล์ ผลิตเอทานอล จากกากน้ำตาล 15,000 ลิตร/วัน

โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น ผลิตไฟฟ้าพลังไอน้ำ ใช้กากอ้อยเป็นเชื่อเพลิง ขาย กฟผ ขนาด 30 mW

ทั้ง ขอนแก่นแอลกอฮอล์ และ โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น อยู่ที่ จ ขอนแก่น

โครงสร้างรายได้

น้ำตาล 71%

ท่าเรือ 11%

แอลกอฮอล์ 7%

ไฟฟ้า 4%

 

การเปลื่ยนแปลงภายใน KSL ในปี 53

โรงงานบ่อพลอย กาญจนบุรี ย้ายกำลังผลิตมาจากโรงงานนิวกรุงไทย ไป

กำลังผลิตเมื่อเสร็จสมบูรณ์ จะเพิมขึ้นเป็น 32,000 ตันอ้อย/วัน สามารถผลิตเอทานอลได้อีก 200,000 ลิตร ไฟฟ้า 90 mW และ ปุ๋ย

กำหนดแล้วเสร็จ เฟตแรก กลางปี 53 14,000 ตันอ้อย/วัน ไฟฟ้า 45 mW เอทานอล 200,000 ลิตร

ที่เหลือ เฟต 2 กำหนดเสร็จ ต้นปี 54

 

โรงงาน เกาะกง กับ สะหวันนะเขต เป็นโรงงานใหม่ที่เสร็จเมื่อปลายปีที่แล้ว กำลังผลิตปี 52 ยังได้น้อยยังไม่มีนัยยะสำคัญใดๆ

 

หลังจากโรงงานต่างๆ เสร็จสมบูรณ์ KSL จะเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ

 

ปัจจัยภายนอก

ฝนแล้ง มีผลทางลบกับปริมาณผลผลิต อ้อย

คู่แข่ง ในประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 47 โรง กำลังผลิตรวม 60-80 ล้านตันอ้อย/ปี คิดเป็นน้ำตาล 5-8 ล้านตันน้ำตาล/ปี

คู่แข่ง ต่างประเทศ รายชื่อประเทศผู้ส่งตามลำดับจากมากไปน้อย Brazil EU Australia Thailand SADC Guatemala India South Africa Cuba

ข้อกำหนดภาครัฐ น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม ภาครัฐจะกำหนดราคาสูงสุดไว้และจะไม่สามารถขายเกินราคาได้ ปัจจุบันอยู่ที่ 23.5 บาท/กก

โครต้า ก สำหรับในประเทศ ข ค ต่างประเทศ

ราคาน้ำตาลโลก Sugar future #11 Oct 2010

 

SUA0.GIF

ถูกแก้ไข โดย TOUNE

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ข่าวเกี่ยวข้องกับ KSL ในรอบเดือน

 

KSL รับกำไร Q2/53 (สิ้นสุด เม.ย.53) ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อน

เหตุผลผลิตอ้อยทรุด

 

บิ๊ก KSL รับกำไร Q2/53 (สิ้นสุด เม.ย.53) ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อน

เหตุผลผลิตอ้อยทรุดถ่วงมาร์จิ้นร่วงเหลือ 19-20% ทำกำไรทั้งปี (สิ้นสุด ต.ค.53) อ่อนตัวจากปี

ก่อน ส่วนรายได้โตเล็กน้อย หลังไม่มีบันทึกรายได้พิเศษ ส่วนรายได้ดีขึ้นเล็กน้อยหลังทำสัญญา

ล่วงหน้าปีนี้หมดแล้ว 21-22 เซนต์ต่อปอนด์

 

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาล

ขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL) กล่าวกับ eFinanceThai.com ว่า ยอมรับว่าแนวโน้มกำไร

จากการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/2553 (ก.พ.-เม.ย. 2553) คาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยจาก

ช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่รายได้คาดว่าจะออกมาใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้

ประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาท สำหรับสาเหตุที่กำไรลดลงเนื่องจากนั้นมาจากผลผลิตอ้อยที่ใช้

เป็นวัตถุดิบมีปริมาณลดลงจากปีก่อน โดยประเด็นดังกล่าวได้ส่งให้ต้นทุนต่อหน่วยของบริษัทสูง

ขึ้น

นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของต้นทุนดังกล่าวยังกดดันให้อัตรากำไรขั้นต้น (Gross

Profit Margim)ในปีนี้ปรับลดลงเหลือ 19-20% จากปีก่อนที่อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 23-25%

นายชลัช กล่าวต่อว่าสำหรับแนวโน้มกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทงวดปีนี้ (พ.

ย.52-ต.ค.53) จะต่ำลงจากปีก่อนเล็กน้อยจากงวดปีก่อนที่มีกำไร 956 ล้านบาท เนื่องจากในปีนี้

จะไม่มีการรายได้พิเศษจากการขายทรัพย์สินเหมือนปีก่อนหน้าจำนวน 75-80 ล้านบาทที่บันทึก

เข้ามาเป็นกำไร

ในส่วนของรายได้รวมประเมินว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนที่มีรายได้ราว

11,000 ล้านบาท เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากในปีนี้ที่บริษัทได้ทำสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้า

ของผลผลิตทั้งหมดปีนี้ในราคา 21-22 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งสูงกว่าราคาในตลาดโลกที่ปัจจุบันอยู่ที่

17 เซนต์

ด้านความคืบหน้าของโรงงานน้ำตาลที่ อ.บ่อพลอย เฟสที่ 2 กำลังการผลิต 1.4 หมื่น

ตัน/วันว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ราวเดือน ธ.ค. 2553 หลังจากโรงงานน้ำ

ตาลเฟสแรก กำลังการผลิต 1.4 หมื่นตัน/วัน ปัจจุบันได้เดินเครื่องผลิตเรียบร้อย โดยหากเฟสสอง

สามารเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ได้ก็จะมีกำลังการผลิตจากทั้งสองเฟสดังกล่าว 2.8 หมื่นตัน/วัน

ทั้งนี้ปิดตลาดวานนี้ (20 เม.ย.) KSL อยู่ที่ 11.10 บาท เพิ่มขึ้น 0.60บาทหรือ

5.71% มูลค่าการซื้อขาย 14.18ล้านบาท

 

 

 

รายงาน โดย ประลองยุทธ ผงงอย

เรียบเรียง โดย พรทิพย์ พลสิทธิ์

อนุมัติ โดย พิมพ์รภัส ศิริไพรวัน

อีเมล์แสดงความคิดเห็น commentnews@efinancethai.com

 

8 โรงงานน้ำตาลรุมยำ"นิวกรุงไทย" ขอทบทวนมติ"กอน."ให้เปิดหีบอ้อยพร้อมกัน 2 โรง

 

วิจารณ์กันทั่ววงการอ้อย-น้ำตาล หลังคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) อนุญาตให้โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย ทดลองเครื่องจักรใหม่ที่ อ.บ่อพลอย แถมให้โรงงานเดิมที่ อ.ท่ามะกา หีบอ้อยต่อไปได้ อ้างไม่ผิด พ.ร.บ.โรงงาน สุดท้าย 8 โรงงานน้ำตาลในพื้นที่ใกล้เคียงทำหนังสือถึง "วิฑูรย์ สิมะโชคดี" ประธาน กอน. ขอให้ทบทวนมติ

 

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีผู้แทนโรงงานน้ำตาลจำนวน 8 บริษัทที่อยู่ในเขตพื้นที่ของโรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยร่วมลงนามในหนังสือ ถึงนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 ขอให้ทบทวนมติการอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยทดลองเดินเครื่องจักรที่ อ.บ่อพลอย

 

โดย 8 โรงงานน้ำตาลที่ยื่นหนังสือ ประกอบไปด้วยบริษัท ไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล จำกัด, บริษัท ไทยเพิ่มพูนอุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด, บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด, บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จำกัด, บริษัท อุตสาหกรรมมิตรเกษตร จำกัด, บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด และบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้ให้เหตุผลของการขอให้ทบทวนมติดังต่อไปนี้

 

1) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยต้องย้ายโรงงานจาก อ.ท่ามะกา ไปยัง อ.บ่อพลอย พร้อมกับได้รับอนุญาตให้ขยายกำลังการผลิตจาก 8,385 ตันอ้อย/วันเป็น 20,400 ตันอ้อย/วัน แต่จะต้องปิดโรงงานเดิม (โรงงานเดิมที่ อ.ท่ามะกา) ก่อน และถึงจะเปิดหีบโรงงานใหม่ได้ เนื่องจาก "ใบอนุญาต" มีเพียงใบเดียว หากหีบ 2 โรงพร้อมกันด้วยการอ้างว่า เพื่อทดลองผลิต เท่ากับกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยจะมีถึง 28,785 ตันอ้อย/วัน เกินกว่าที่อนุมัติไว้

 

2) การจะเปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศจะต้องออกประกาศจัดสรรน้ำตาล ทรายให้โรงงานที่จะเปิดหีบ โดยโรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยเดิมที่ อ.ท่ามะกา ได้รับจัดสรรน้ำตาลทรายโควตา ก. ข. และ ค.ไปเรียบร้อยแล้ว แต่โรงงานใหม่ที่ อ.บ่อพลอยยังไม่ได้รับจัดสรร ประกอบกับจะต้องโอนใบอนุญาตประกอบกิจการให้กับโรงงานใหม่ที่ อ.บ่อพลอย จึงจะถือว่าโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ได้รับโอนโควตาจัดสรรจากโรงงานเดิม จึงมีเพียงโรงงานเดียวที่รับจัดสรร ก่อนเปิดหีบต้องตรวจสอบความพร้อมของโรงงานกับระบบการวัดค่าซื้อขายอ้อยก่อน ที่จะอนุญาตเปิดหีบ แต่โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยแห่งใหม่ยังไม่มีการดำเนินการในส่วนนี้

 

และ 3) ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 สามารถทดลองเครื่องจักรได้ แต่หากใช้อ้อยทดลองเดินเครื่องจักรจะต้องเป็นไปตามประกาศ/ระเบียบอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 แต่เมื่อ กอน.ไม่มีการจัดสรรอ้อยและน้ำตาลทรายให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ย้ายไป ก็ไม่สามารถผลิตหรือทดลองผลิตน้ำตาลได้ ทั้งนี้การทดลองเดินเครื่องจักรโดยไม่มีอ้อยเข้าหีบสามารถดำเนินการได้อยู่ แล้ว

 

ทั้งนี้เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดจากในเดือนมกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทโรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย ในกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น ที่ย้ายโรงงานจาก อ.ท่ามะกาไปยัง อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี สามารถทดลองเดินเครื่องจักรหีบอ้อยไปพร้อม ๆ กับการเดินเครื่องจักรโรงงานเดิมที่ท่ามะกาต่อไปด้วย เท่ากับในฤดูการผลิต 2552/2553 นี้มีโรงงานน้ำตาลที่หีบอ้อยได้ทั้งหมด 48 โรงงาน ในขณะที่มติ กอน.เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้กำหนดโควตาจัดสรรปริมาณอ้อยและน้ำตาลไว้ 47 โรง

สำหรับรายละเอียดของมติดังกล่าว ได้อนุญาตให้โรงงานน้ำตาลกรุงไทยที่ อ.บ่อพลอย ทดลองเดินเครื่องจักรได้ โดยใช้ปริมาณอ้อยทั้ง 180,225 ตันจำนวน 15 วัน โดย สอน.จะควบคุมดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งหากโรงงานใดมาขอในลักษณะนี้ก็จะต้องนำเสนอ กอน.พิจารณาเป็นรายกรณี โดยใช้ปริมาณอ้อยเท่ากับกำลังการผลิตที่ได้รับอนุญาตของโรงงานใหม่ ลบด้วยกำลังการผลิตที่ได้รับอนุญาตเดิม คูณด้วย 15 วัน ในการทดลองเดินเครื่องจักรผลิตน้ำตาล

 

การอนุญาตข้างต้นอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 และกฎกระทรวงฉบับที่ 6 เกี่ยวกับการขออนุญาตทดลองเครื่องจักร ซึ่งโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ย้ายมาตั้งยังที่ใหม่สามารถทดลองเครื่องจักร ได้ โดยโรงงานเดิมไม่ต้องหยุดเดินเครื่องจักร

 

อย่างไรก็ตาม การย้ายที่ตั้งโรงงานและการขอทดลองเครื่องจักรโรงงานใหม่ ควบคู่ไปกับการเดินเครื่องจักรโรงงานเดิม สำหรับ "โรงงานทั่วไป" สามารถกระทำได้ แต่สำหรับกรณีของโรงงานน้ำตาล ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2534 เรื่องนโยบายอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายแดง ระบุไว้ชัดเจนว่า หากโรงงานน้ำตาลมีกำลังการหีบอ้อยเกิน 300 ต้นอ้อย/วัน จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527

 

โดย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ระบุไว้ว่า โรงงานน้ำตาลก่อนที่จะเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายได้นั้น กอน.จะต้องมีมติออกระเบียบกำหนดโควตาการจัดสรรปริมาณอ้อยและน้ำตาลทรายให้ โรงงานแต่ละโรงผลิตเสียก่อน ซึ่งมติ กอน.เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2552 ได้กำหนดบัญชีจัดสรรโควตาน้ำตาลให้กับ 47 โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ รวมถึงโรงงานการนิวกรุงไทยที่ อ.ท่ามะกา ซึ่งเป็นโรงงานเดิมที่ได้รับการอนุญาตและจัดสรรปริมาณอ้อย จึงยังคงเปิดหีบอ้อยได้ แต่สำหรับโรงงานใหม่ที่ย้ายไปยัง อ.บ่อพลอยไม่ได้รับการจัดสรรปริมาณอ้อย จึงเท่ากับว่า การทดลองเดินเครื่องจักรด้วยการเปิดหีบอ้อยในครั้งนี้เป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อ้อยฯ

 

ที่มา : www.prachachart.net วันที่ 19 เมษายน 2553

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

กรอ.เบรกเลิกส่งเงินกองทุนอ้อยฯ ตั้งเงื่อนไขรอจ่ายหนี้ 1.4 หมื่นล้าน

กรอ. เบรกงดส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยฯ กก.ละ 5 บาท อ้างต้องจ่ายหนี้กองทุนฯ 1.4 หมื่นล้านบาทให้หมด เผยหากยกเลิกส่งเงินก็ควรลดราคาน้ำตาลไปด้วย โยน "ไตรรงค์" ศึกษาแนวทางบริหารจัดการเงินกองทุนฯ

 

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ (19 เม.ย.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนเกี่ยวกับแนวทางการยกเลิก หรือลดอัตราการนำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กก.ละ 5 บาท แต่นายกฯ และกรรมการหลายคนแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ปัจจุบันกองทุนอ้อยฯ ยังมีหนี้สะสมอยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จึงต้องการให้คงเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยฯ ในอัตรา กก.ละ 5 บาทต่อไป จนกว่าจะสามารถชำระหนี้กองทุนฯ หมด โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้หรือต้นหน้าปีหน้าจะชำระหนี้ได้ทั้งหมด

 

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รายงานภาระหนี้ของกองทุนอ้อยฯ เหลือทั้งสิ้น 1.4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะชำระหนี้ทั้งสิ้นได้ภายใน 14-17 เดือน

 

นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า กรอ.มอบให้ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายทั้งระบบ อาทิเช่น หลังจากกองทุนอ้อยฯ ปลอดหนี้แล้ว จะยังคงเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตราอย่างไร และเงินที่เก็บไว้จะนำไปใช้อย่างไรบ้าง อาทิเช่น นำเงินไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล หรือกันเงินบางส่วนสำรองไว้ใช้ในช่วงราคาน้ำตาลตกต่ำ

 

อย่างไรก็ตาม การกำหนดแนวทางเรื่องนี้ กรอ.มองว่าต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค อาทิเช่น หากยกเลิกการส่งเข้ากองทุนอ้อยฯ ควรจะพิจารณาลดราคาน้ำตาลทรายไปพร้อมกันด้วย

 

ด้านนายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า สมาคมจะมีหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมติดตามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว เพราะกองทุนฯ จะชำระหนี้หมดในเดือน พ.ย. 2553 โดยเห็นว่าควรเตรียมสมาคมจึงเห็นว่าควรเตรียมการเรื่องนี้ให้เสร็จก่อน คาดว่าจะส่งหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมหลังเทศกาลสงกรานต์แล้ว

 

"การขึ้นราคาน้ำตาลเดือน เม.ย. 2551 เพื่อให้กองทุนฯ นำเงินไปใช้หนี้จำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท เมื่อกองทุนฯ ชำระหนี้หมดแล้วก็ควรกำหนดแนวทาง

ยกเลิกส่งเงินเข้าฯ เพราะผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมยอมรับภาระดังกล่าวมา 2 ปี ซึ่งการยกเลิกดังกล่าว อาจจะแบ่งเงิน 5 บาท เป็น 3 ส่วน คือ 1. แบ่งเข้าระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 ตามต้นทุนผลิตน้ำตาลและการปลูกอ้อย โดยภาคเอกชนเห็นด้วยที่จะเพิ่มราคาน้ำตาลหน้าโรงงานให้สอดคล้องต้นทุนแท้ จริง 2. แบ่งให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเก็บไว้ใช้รักษาเสถียรภาพหรือพัฒนา อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 3.ปรับลดราคาน้ำตาลลง เพื่อลดภาระผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรม"

 

ทั้งนี้ ในการกำหนดตามแนวทางดังกล่าวอาจต้องใช้เวลา 3-6 เดือน เพราะต้องฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภาคเอกชนเห็นว่าหากกระทรวงอุตสาหกรรมรอให้ถึงเดือน พ.ย. 2553 จึงตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการยกเลิกอัตราการนำเงินเข้ากองทุน จะทำให้ภาระของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมไม่ลดลงทั้งที่กองทุนอ้อยและน้ำ ตาลทรายชำระหนี้หมดแล้ว โดยเห็นว่ากระทรวงอุตสาหกรรมควรเร่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาแนวทางการยก เลิกส่งเงินเข้ากองทุนตามที่มติ ครม.กำหนดไว้

นายประจวบ กล่าวว่า ภาคเอกชนไม่เห็นด้วยที่จะไม่ปรับราคาน้ำตาล หลังกองทุนอ้อยฯ ชำระหนี้หมดแล้ว โดยเฉพาะการนำเงินที่ได้จากการขายน้ำตาล กก.ละ 5 บาท มาเข้าในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่กับโรงงานน้ำตาล เพราะผิดหลักการในการขึ้นราคาน้ำตาลที่มีเจตนารมณ์เพื่อชำระหนี้แทนชาวไร่ อ้อย ซึ่งที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ก็กล่าวชัดเจนว่าหากกองทุนใช้หนี้หมดแล้วควรดูแนวทางว่าจะปรับ การจ่ายเงินเข้ากองทุนอย่างไร โดยช่วงนี้ให้ส่งเงินเข้ากองทุนตามปกติไปก่อนจนกว่าจะใช้หนี้หมด

 

โรงงานน้ำตาลกินแห้ว US.โควตาเพิ่มแค่ 1,117 ตัน

โดยประเด็นดังกล่าวเป็นผลมาจากกรณีที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึง สอท.เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับข้อมูลการจัดสรรปริมาณน้ำ ตาลทรายดิบที่ไทยจะสามารถส่งออกไปยังสหรัฐตามโควตาเดิมหรือไม่ และหากสหรัฐจะขอเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายดิบประเทศไทยจะสามารถจัดสรรได้เท่าใด ซึ่งในส่วนน้ำตาลทรายดิบที่ขอเพิ่มจะมีผลเฉพาะปีงบประมาณ 2553

(1 ตุลาคม 2552-30 กันยายน 2553) เท่านั้น โดยจะไม่มีผลผูกผันในปีถัดไป

 

การที่สหรัฐทำหนังสือขอซื้อน้ำตาลทรายดิบจากไทยเพิ่มขึ้นจากปริมาณโควตา เดิมที่กำหนดไว้ เนื่องจากการผลิตน้ำตาลในสหรัฐขาดแคลนจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตข้าวโพด, อ้อย และหัวบีทรูต ที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำตาลของสหรัฐลดลง ประกอบกับประเทศผู้ผลิตน้ำตาลที่ส่งออกไปยังสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก หรือบราซิล ผลผลิตก็ลดลง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำตาลไปสหรัฐลดลงด้วยเช่นกัน ทำให้สหรัฐต้องมีการขอซื้อน้ำตาลจากประเทศผู้ผลิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น

 

จากการหารือร่วมกับ 47 โรงงานได้ข้อสรุปว่า โรงงานสามารถจัดสรรเพิ่มให้ได้ถึง 50,000 ตัน โดยขอให้สหรัฐกำหนดเป็นโควตาถาวรในปีต่อ ๆ ไปด้วย สุดท้ายสหรัฐก็ขอปรับเพิ่มโควตาเพียง 1,117 ตัน พร้อมระบุว่าจะไม่มีผลในปี ถัดไปด้วย ทั้งนี้ "US.โควตา" เป็นสิ่งที่โรงงานน้ำตาลต้องการมาก เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าในสหรัฐและจำหน่ายได้ในราคาสูงถึง 30 เซนต์/ปอนด์

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ขอนแก่นโต้ "อ้อยใครอ้อยมัน"

ทางด้าน นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและสายงานผลิตและเทคนิค กลุ่มบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย ไม่ใช่โรงงานแรกที่มีการดำเนินการในลักษณะนี้ ก่อนหน้านี้โรงงานน้ำตาลเอราวัณที่ขอแยกกำลังการผลิตจากโรงงานน้ำตาลเริ่ม อุดม ที่จังหวัดอุดรธานี มาตั้งที่จังหวัดหนองบัวลำภู ก็ได้รับอนุญาตให้ทดลองเครื่องจักรเช่นกัน

 

"ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมโรงงานน้ำตาลต่าง ๆ ถึงโต้แย้งประเด็นนี้ ทั้ง ๆ ที่ก็เคยกระทำการในลักษณะนี้มาก่อน และอ้อย ที่นำมาทดลองเครื่องจักรของเราที่ อ.บ่อพลอยก็เป็นอ้อยที่บริษัทส่งเสริมการปลูกไปตั้งแต่ต้น ไม่ได้ไปแย่งอ้อยกับโรงงานน้ำตาลของใคร ซึ่งหากโรงงานนิว กรุงไทยไม่สามารถทดลองเครื่องจักร อ้อยที่บริษัทได้ส่งเสริมไปก็คงต้องไปเข้าหีบให้กับโรงงานน้ำตาลอื่นที่ อยู่ใกล้เคียงแทน ส่วนน้ำตาลที่ออกจากโรงงานนิวกรุงไทยก็เป็นน้ำตาลทรายดิบ ซึ่งต้องส่งไปรีไฟน์ที่โรงงานเดิมที่ อ.ท่ามะกา ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะที่สุดแล้วก็เป็นน้ำตาลที่ได้รับจัดสรรจาก กอน.นั่นเอง" นายชลัชกล่าว

 

ล่าสุดมีรายงานเข้ามาว่า มติ กอน. ที่อนุญาตให้ทดลองเดินเครื่องจักรดังกล่าว ปรากฏ กอน.ได้ส่งให้คณะที่ปรึกษากฎหมาย ที่ กอน.แต่งตั้งพิจารณาอีกครั้งว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่อย่างไร

 

ทั้งนี้ การย้ายโรงงานจากอำเภอท่ามะกาไปที่อำเภอบ่อพลอย เนื่องจาก ปัจจุบันที่อำเภอท่ามะกามีโรงงานน้ำตาล อยู่หลายโรง อาทิ โรงงานน้ำตาลท่ามะกา, โรงงานน้ำตาลประจวบอุตสาหกรรม, โรงงานน้ำตาลกาญจนบุรี เป็นต้น ประกอบกับชาวไร่อ้อยในพื้นที่บางส่วน เลิกปลูกอ้อย ทำให้ปริมาณอ้อยในบริเวณดังกล่าวลดลง บางเวลาถึงขั้นเกิดการแย่งซื้ออ้อยเพื่อเข้าหีบโรงงาน ในขณะที่พื้นที่บริเวณอำเภอบ่อพลอย ยังไม่มีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ อีกทั้งพื้นที่การปลูกอ้อยยังมีอยู่มาก ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้เข้าส่งเสริมการปลูกในพื้นที่อำเภอบ่อพลอยแล้วประมาณ 200,000 ไร่ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะทำให้มีอ้อยเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลได้มากขึ้นแล้ว ยังประหยัดต้นทุนการขนส่งจากไร่อ้อยสู่โรงงานได้อีกด้วย

 

ซึ่งโรงงานน้ำตาลที่ย้ายไปอยู่ที่อำเภอบ่อพลอยจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น จากการหีบอ้อยวันละประมาณ 8,300 กว่าตัน เป็นวันละประมาณ 20,000 กว่าตัน โดยกลุ่มโรงงานน้ำตาลขอนแก่นใช้เงินลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนสร้างโรงงานครบวงจรในพื้นที่เดียวกัน 2,000 ไร่ ตั้งแต่โรงงานน้ำตาล, โรงาน เอทานอล, โรงไฟฟ้าไบโอแก๊สไปถึงโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์

 

KSLเติม1.5หมื่นล.ผลิต10ล้านตันอ้อย

KSL ตีแผ่แผน 5 ปี เดินหน้าลงทุน 15,000 ล้านบาท พุ่งเป้า 4 โรงงานดันกำลังการเพิ่มเป็น 10 ล้านตันอ้อยต่อปี รั้งผู้ผลิตเบอร์ 3 ของประเทศ ฟุ้งปี 2552 ฟันกำไร 900 ล้านบาท ด้านเอทานอลเร่งเซ็นสัญญาขายระยะยาวกับลูกค้าเกือบหมดแล้ว ราคา 23-24 บาทต่อลิตร

 

 

บริษัทขยายการลงทุนเพิ่มใน 4 โรงงานโดยเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 10 ล้านต้นหีบอ้อยต่อปี

 

 

จำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL เปิดเผยว่า บริษัทจะขยายการลงทุนอีก 15,000 ล้านบาทในระยเวลา 5 ปี (2553-2557) เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันหีบอ้อยได้ 5 ล้านตันอ้อยต่อปี เป็น 10 ล้านตันอ้อยต่อปี ซึ่งจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นจาก 12,000 ล้านบาทต่อปีไปอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้เคเอสแอลมีกำลังผลิตมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของผู้ผลิตในประเทศ

 

สำหรับแผนการลงทุนเคเอสแอลจะดำเนินการใน 4 โรงงาน เริ่มที่การตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ที่จังหวัดสระแก้ว ด้วยเงินลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถหีบอ้อยได้ปีละ 3 ล้านตันอ้อย เป็นอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลครบวงจร คือ มีทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานผลิตเอทานอลกำลังผลิต 200,000 ลิตรต่อวัน และโรงงานผลิตปุ๋ย ขณะนี้เริ่มส่งเสริมการปลูกอ้อยในเขตอำเภอตาพระยาแล้ว โดยตั้งเป้าพื้นที่การปลูกอ้อยไว้ที่ 200,000-300,000 ไร่ เฉลี่ยผลผลิตอ้อยประมาณ 10 ตันต่อไร่ ส่วนการก่อสร้างโรงงานน่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 1-2 ปีนี้

 

นอกจากนี้ยังได้ลงทุนย้ายโรงงานจากอำเภอท่ามะกาไปอยู่ที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการในเฟสแรกไปแล้วเป็นเงินลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และเตรียมลงทุนต่อเนื่องในเฟสที่ 2 ราวสิ้นปีนี้อีกกว่า 3,000 ล้านบาท รวมกำลังผลิตของโรงงานที่บ่อพลอยเมื่อการลงทุนแล้วเสร็จจะหีบอ้อยได้ 3 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันมีการปลูกอ้อยป้อนเข้าโรงงานอยู่แล้ว 400,000-500,000 ตันต่อปี และจะส่งเสริมให้เพิ่มพื้นที่ปลูกอีก 200,000-300,000 ไร่ ซึ่งจะทำให้มีอ้อยป้อนเข้าโรงงานบ่อพลอยได้ 3 ล้านตันอ้อยต่อปีตามเป้า เมื่อรวมกำลังการผลิตใหม่จาก 2 โรงงานดังกล่าวข้างต้น กับกำลังการผลิตเดิมของโรงงานน้ำตาลท่ามะกาขนาด 1.5 ล้านตันอ้อยต่อปี และโรงงานน้ำตาลขอนแก่นขนาด 3 ล้านตันอ้อยต่อปี ก็จะมีกำลังการผลิตในประเทศทั้งหมดกว่า 10 ล้านตันอ้อยต่อปี

 

นายจำรูญ กล่าวถึงการลงทุนในต่างประเทศว่า ล่าสุดได้มีพิธีเปิดโรงงานผลิตน้ำตาลทรายดิบของ บริษัท เกาะกง ชูการ์ อินดัสทรี จำกัด และบริษัท เกาะกงแพลนเทชั่น จำกัด ที่จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา ไปเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 โดยทั้ง 2 บริษัทประกอบด้วย 3 หุ้นส่วนหลักคือ เคเอสแอล 50 เปอร์เซ็นต์ บริษัท วีวอง คอร์ปอเรชั่น จากไต้หวัน 30 เปอร์เซ็นต์ และนายลี ยง พัด นักธุรกิจชาวกัมพูชา อีก 20 เปอร์เซ็นต์ เงินลงทุนรวม 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,500 ล้านบาท ได้รับสัมปทานพื้นที่จากรัฐบาลกัมพูชา 120,000 ไร่ เป็นเวลา 90 ปีกำลังผลิต 100 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 720,000 ตันอ้อยต่อปี ประมาณการปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูกาลผลิต 2552/2553 อยู่ที่ 240,000 ตันอ้อย ผลิตเป็นน้ำตาล 24,000 ตัน

ผลผลิตที่ได้เป็นน้ำตาลดิบส่งออก 100 เปอร์เซ็นต์ ไปยังสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจะได้รับ สิทธิพิเศษด้านภาษีตามโครงการ EBA (Everything But Arms) และได้ราคาสูงกว่าตลาดโลก โดยเซ็นสัญญาซื้อขายกับบริษัทคู่ค้าไว้ที่อัตรา 19 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งเดิมสูงกว่าราคาตลาดโลกมาก แต่ปัจจุบันราคาน้ำตาลในตลาดโลกขยับขึ้นไปอยู่ที่ 29 เซ็นต์ต่อปอนด์

อย่างไรก็ตาม โรงงานน้ำตาลเกาะกงจะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทในปีนี้ได้ประมาณ 400 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปีถัดไป ส่วนการลงทุนทำน้ำตาลทรายขาวนั้น มีความเป็นไปได้หากมีปริมาณอ้อยเข้าหีบสูงถึง 700,000-800,000 ตัน ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี และใช้เงินลงทุนเพิ่ม 300-500 ล้านบาท ผลิตน้ำตาลทรายขาวได้ราว 300 ตันต่อวัน

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการ KSL กล่าวว่า ผลประกอบการในปี 2552 มีกำไร 900 ล้านบาท ส่วนราคาหุ้น KSL ปรับตัวสูงขึ้น น่าจะได้รับข่าวดีจากแนวโน้มราคาน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 26-27 เซ็นต์ต่อปอนด์ และมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีก

ทั้งนี้เนื่องจากขณะนี้พบว่าความต้องการน้ำตาลยังคงเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนและอินเดียที่ยังคงมีปริมณนำเข้าน้ำตาลเพิ่มขึ้นต่อ เนื่อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการนำสต๊อกน้ำตาลออกมาใช้จำนวนมาก ทำให้ขณะนี้ปริมาณน้ำตาลในสต๊อกลดลงอย่างมาก

อย่างไรก็ดี จากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทด้วย ขณะเดียวกันหากโครงการใหม่ของบริษัท อาทิ โรงงานน้ำตาลที่ อ.บ่อพลอย โรงงานน้ำตาลในประเทศกัมพูชาและลาว เสร็จตามแผน ก็จะทำให้ผลประกอบการของบริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดด

ในส่วนของธุรกิจเอทานอลขณะนี้ได้เซ็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าระยะยาวกับลูกค้า เกือบทั้งหมดแล้ว โดยราคาขายค่อนข้างสูงเทียบกับราคาขายในตลาดขณะนี้อยู่ที่ 23-24 บาทต่อลิตร และแนวโน้มปี 2553 น่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับดังกล่าว

"ราคาน้ำตาลตอนนี้สูงมาก และปีหน้าคาดว่าราคาขายเฉลี่ยน้ำตาลมีแนวโน้มทรงตัวในระดับมากกว่า 22-26 เซ็นต์ต่อปอนด์ ขณะเดียวกันมองว่าในช่วง 3-4 เดือนแรกปี 2553 จะมีความต้องการน้ำตาลอย่างมาก ส่วนธุรกิจเอทานอลยอมรับว่ายังมีการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย โดยเฉพาะฤดูกาลใหม่ ขณะนี้ต้นทุนผลิตก็สูงขึ้นมากด้วย โดยเฉพาะกากน้ำตาล(โมลาส)"นายชลัช กล่าว

สำหรับธุรกิจโรงงานน้ำตาลในต่างประเทศ โดยในส่วนของโรงงานในกัมพูชาเดินเครื่องผลิตไปบ้างแล้ว ส่วนโรงงานน้ำตาลใน สปป.ลาว เตรียมจะเดินเครื่องผลิตภายในปลายเดือน ม.ค.2553

อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มธุรกิจน่าจะดีขึ้นอีกจากปัจจัยดังกล่าว แต่เบื้องต้น KSL ยังคงยืนยันตัวเลขแนวโน้มการเติบโตของรายได้ในปี 52/53 (พ.ย. 52-ต.ค. 53) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบจากปี 51/52 ที่คาดว่าจะเติบโตมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อนที่มีรายได้ 11,354 ล้านบาท

อนึ่ง บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นในปี 2519 ด้วยทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท ปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียน 1,600 ล้านบาท เรียกชำระแล้วประมาณ 1,270 ล้านบาท ปัจจุบัน บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย และเป็นบริษัทน้ำตาลที่ได้ผ่านการตรวจรับรองระบบบริหารจัดการคุณภาพตาม "มาตรฐาน SQF 2000", "มาตรฐาน ISO 9001 Version 2000", รวมทั้ง "มาตรฐานระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องการควบคุม" หรือ HACCP

ด้านสำนักงาน กก.อ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) รายงานถึงสถานการณ์น้ำตาลภายในประเทศที่กำลังเกิดภาวะตึงตัวอยู่ในขณะนี้ว่า การที่โรงงานผลิตอาหารเพื่อส่งออกหันมาซื้อน้ำตาลทรายที่จำหน่ายภายในประเทศ (โควตา ก.) มากขึ้น กลับเกิดการลักลอบนำน้ำตาลในประเทศส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ เนื่องจากได้ราคาดีกว่า

สำหรับเหตุที่โรงงานผลิตอาหารเพื่อส่งออกหันมาซื้อน้ำตาลโควตา ก.มากขึ้น เนื่องจาก "เดิม" ราคาน้ำตาลโควตา ก.ที่กระทรวงพาณิชย์ควบคุมไว้อยู่ที่ 19-20 บาท/กิโลกรัมนั้น "สูงกว่า" น้ำตาลทรายจำหน่ายต่างประเทศ (โควตา ค.) โรงงานผลิตอาหารจึงขอใช้สิทธิในการซื้อน้ำตาลโควตา ค.เพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่ปัจจุบันน้ำตาลโควตา ค. "แพงกว่า" โควตา ก. โรงงานผลิตอาหารจึงหันกลับมาซื้อน้ำตาลโควตา ก.ภายในประเทศแทน

ปัจจัยดังกล่าวถือว่ายังไม่รุนแรงจนทำให้ปริมาณน้ำตาลภายในประเทศขาดแคลน เพราะปริมาณน้ำตาลโควตา ค.ที่ผู้ผลิตอาหารได้ขอใช้สิทธิตกปีละ 360,000 ตัน ซึ่งปัจจุบันได้มีการทำสัญญาซื้อขายแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 240,000 ตัน เหลือ 120,000 ตัน โรงงานอาหารอาจจะหันมาใช้น้ำตาลโควตา ก.แทน โดยขณะนี้ สอน.อยู่ในระหว่างการวางมาตรการควบคุมเข้มงวดการใช้สิทธิของโรงงานผลิต อาหารมากขึ้น เบื้องต้นก็คือ หากผู้ผลิตอาหารไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่เคยขอแจ้งความจำนงใช้สิทธิในการซื้อ น้ำตาลโควตา ค.ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณการใช้เดิม ก็จะพิจารณาตัดสิทธิการขอใช้น้ำตาลโควตา ค.จาก 1 ปี เป็น 3-5 ปี โดยมาตรการดังกล่าวนี้จะนำเสนอในคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เพื่อเห็นชอบและจัดทำเป็นประกาศต่อไป

ส่วนประเด็นการลักลอบส่งออกน้ำตาลนั้น สอน.ก็ได้ประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับกรมศุลกากรให้เข้มงวดตรวจสอบ สินค้าน้ำตาลเป็นพิเศษ และอาจจะขอให้มีการปิดด่านชายแดนที่ตรวจสอบยากให้มากขึ้น เหลือเฉพาะด่านที่มีกำลังคนและการตรวจสอบทำได้ง่าย ซึ่ง ผู้ถูกลักลอบจะถูกดำเนินคดีขั้นสูงสุด คือ จำคุก 2 ปี ปรับ 4 เท่าของมูลค่าสินค้าที่มีการลักลอบ

"ปริมาณน้ำตาลโควตา ก.ที่เข้มงวดก็ยังเหลือค้างกระดานอยู่ 2 งวด ประมาณ 700,000 กว่ากระสอบ (กระสอบละ 1 กิโลกรัม) ซึ่งเรื่องของปริมาณน้ำตาลนั้น สอน.ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลควบคุมปริมาณการผลิต ปริมาณน้ำตาลจำหน่ายภายในประเทศ ขอยืนยันว่าไม่ขาดแคลนแน่นอน หากไม่มีกระแสจนทำให้คนตื่นตระหนก และหันมากักตุนน้ำตาลกัน และคิดว่าน้ำตาลโควตา ก.จำนวน 21 ล้านกระสอบนั้นเพียงพอ จึงยังไม่มีแนวทางที่จะเพิ่มปริมาณจัดสรร แต่เรื่องราคาจำหน่ายน้ำตาลภายในประเทศที่อาจจะมีการซื้อ-ขายน้ำตาลใต้โต๊ะ ราคาอาจสูงกว่าราคาควบคุม กรมการค้าภายในจะเป็นผู้ดูแล ในส่วนนี้ สอน.ไม่มีอำนาจควบคุม"นายประเสริฐ กล่าว

 

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำตาลโลกปรับเพิ่มขึ้นถึงกว่า 700 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือ คิดเป็นราคาน้ำตาลทรายเฉลี่ย 24-25 บาท/กิโลกรัม (ราคาโควตา ก.ควบคุม ขาวบริสุทธิ์ไม่รวมภาชนะบรรจุ ก.ก.ละ 22.85 บาท รวมภาชนะบรรจุ ก.ก. 23.60 บาท) เนื่องจากประเทศอินเดียผลิตน้ำตาลลดลง จากเดิมที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ กลับเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลถึง 7 ล้านตัน ทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายตลาดโลกลดลง จึงเป็นการผลักดันให้ราคาน้ำตาลตลาดโลกสูงขึ้น

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

KSL จ่อแจ้งงบ Q2 กลางมิ.ย.นี้ขาดทุน 113ล. -ครึ่งปีหลังฟื้น

KSL ผ่านจุดต่ำสุด ผู้บริหาร"ชลัช ชินธรรมมิตร์" เชื่อครึ่งปีหลังกลับมาเติบโตโดดเด่น หลังเคลียร์

สัญญาซื้อขายล่วงหน้าจบ ย้ำทั้งปีรายได้โต 5% จากปีก่อนรายได้ 1 หมื่นล้านบาท โบรกประเมินไตรมาส

2/2553 (ก.พ.-เม.ย.) ขาดทุน 113 ล้านบาท คาดครึ่งปีหลังฟื้นปีหน้าเติบโตก้าวกระโดด หลังเปิดเดิน

เครื่องโรงงานเอทานอล เฟส 2 ที่บ่อพลอยแนะ "ซื้อเก็งกำไร" เป้า 11.60 บาท

 

หัวข้อข่าว ชี้แจงข่าวได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดเลย

วันที่/เวลา 15 มิ.ย. 2553 06:55:22

 

บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)

503 อาคาร เค เอส แอล ทาวเวอร์ ชั้น9

ถนนศรีอยุธยา แขวงถนนพญาไท

เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400

 

14 มิถุนายน 2553

 

เรื่อง ขอชี้แจงข่าวเรื่องการได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่

ที่จังหวัดเลย ของบริษัท ตามมติคณะรัฐมนตรี

 

เรียน กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ขอแจ้งให้ทราบว่า

ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2517 และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การที่

โรงงานน้ำตาลจะขอย้ายและขยายกำลังผลิตน้ำตาลได้นั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบ

จากกระทรวงอุตสาหกรรม และจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

 

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ย้าย ขยาย

และตั้งโรงงานน้ำตาล จำนวน 12 ราย ซึ่งบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)

(หนึ่งในสิบสองราย) ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงงานแห่งใหม่ ที่จังหวัดเลย โดยแบ่ง

ใบอนุญาตจากใบอนุญาตเดิมที่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีกำลังการผลิต

เหลือจำนวน 12,000 ตันต่อวัน ไปเป็นใบอนุญาตใหม่ที่จังหวัดเลย พร้อมกับอนุญาตให้

ขยายเพิ่มกำลังการผลิตรวมเป็น 24,000 ตันต่อวัน

 

โดยโครงการดังกล่าว เป็นการอนุมัติในหลักการ จึงอยู่ในระกว่างการเริ่มต้น ยัง

ต้องผ่านขั้นตอนการขออนุมัติต่างๆ ตามกฎเกณฑ์กระทรวงอุตสาหกรรม การศึกษาความ

เป็นไปได้ของการลงทุน และการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจด

ทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัทจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบ

ในโอกาสต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ขอแสดงความนับถือ

 

(นายจำรูญ ชินธรรมมิตร์)

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

บิ๊ก KSL ชี้ภัยแล้ง-อากาศร้อน กระตุ้นการบริโภคน้ำหวาน- ดันความต้องการ

น้ำตาลพุ่ง แต่ยันไม่ได้ขยับราคาขายขึ้น เหตุเป็นสินค้าควบคุม

 

บิ๊ก KSL ชี้ภัยแล้ง อากาศร้อน กระตุ้นการบริโภคน้ำหวาน ดันความต้องการน้ำตาลพุ่ง

แต่ยันไม่ได้ขยับราคาขายขึ้น เหตุเป็นสินค้าควบคุม แย้มกำไร - รายได้ Q3/53 ( พ.ค.-ก.ค.) ดี

กว่าQ2/53(ก.พ.-เม.ย.) หลังบันทึกผลขาดทุนจากธุรกรรมการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เรียบ

ร้อยแล้ว

 

นายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด

(มหาชน) (KSL) เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า สถานการณ์ภัยแล้ง อากาศที่ร้อนขึ้น เป็น

สิ่งสำคัญที่ทำให้การบริโภคน้ำ อาทิ น้ำอัดลม ชาเขียว และน้ำหวานประเภทอื่นๆ ที่ใช้น้ำตาลเป็น

ส่วนผสมเพิ่มขึ้น โดยพบว่าภาคอุตสาหกรรมมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 50% ทำให้ความต้อง

การในตลาดมีสูง หนุนให้ราคาน้ำตาลขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งปกติต่อปีจะใช้ปริมาณน้ำตาลประมาณ 20

ล้านกระสอบ แต่จากอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้ความต้องการเฉลี่ยในปีนี้น่าจะสูงขึ้นเช่นกัน

'ตอนนี้น้ำตาลเองก็ไม่ค่อยพอใช้ เพราะการบริโภคมากขึ้นจริงๆ พบว่าภาค

อุตสาหกรรมซื้อเพิ่มขึ้น 50% อากาศที่ร้อนขึ้น คนกินน้ำหวานมากขึ้น การใช้น้ำตาลก็เพิ่มขึ้น

ตาม 'นายจำรูญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาขายในตลาดจะเพิ่มขึ้น แต่บริษัทฯ ไม่ได้ปรับราคาขายน้ำตาล

ในประเทศเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสินค้าควบคุม จึงต้องปล่อยให้เป็นไปตามราคาที่ควบคุมไว้ ซึ่งสัด

ส่วนขายในประเทศอยู่ที่ 40% และส่งออก 60%

นายจำรูญ กล่าวต่อว่า บริษัทฯ คาดการณ์รายได้และกำไรในงวดไตรมาส 3/2553 ( พ.

ค. - ก.ค. 2553) มีโอกาสเพิ่มขึ้นจากในช่วงไตรมาส 2/2553 (ก.พ.-เม.ย.2553) โดยผล

ประกอบการของบริษัทฯ โดยรวมน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เพราะได้

บันทึกผลขาดทุนจากธุรกรรมเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(เฮดจิ้ง) ไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ราคา

ในตลาดโลกปัจจุบันขยับมาอยู่ที่ 520 เหรียญ/ตัน เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่ปรับตัวลดลงมาที่

ระดับ 400 เหรียญ/ตัน

อนึ่ง ช่วงไตรมาส 2/2553 (สิ้นสุด เม.ย.2553) บริษัทฯ ได้บันทึกผลขาดทุนจากธุรก

รรมเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย ทำให้ไม่มีสถานะของสัญญาซื้อขายล่วง

หน้าของปีนี้คงค้างอยู่

ส่วนกรณีประเทศจีนผ่อนคลายเงินหยวนแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้น ยังไม่น่าจะมีผลต่อ

บริษัทฯ มากนัก เพราะสินค้าส่วนใหญ่ได้ขายล่วงหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว และราคาก็เป็นที่น่าพอใจ

ซึ่งการผ่อนคลายค่าเงินหยวน ก็อาจจะช่วยให้ความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น

ณ เวลา 12.20 น. ราคาหุ้น KSL อยู่ที่ 11.70 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าการซื้อขาย

5.47 ล้านบาท

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Join the conversation

You can post now and register later. If you have an account, sign in now to post with your account.

ผู้มาเยือน
ตอบกลับกระทู้นี้...

×   วางข้อความแบบ rich text.   วางแบบข้อความธรรมดาแทน

  อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 75 อิโมติคอน.

×   ลิงก์ของคุณถูกฝังอัตโนมัติ.   แสดงเป็นลิงก์แทน

×   เนื้อหาเดิมของคุณได้ถูกเรียกกลับคืนมาแล้ว.   เคลียร์อิดิเตอร์

×   คุณไม่สามารถวางรูปภาพได้โดยตรง กรุณาอัปโหลดหรือแทรกภาพจาก URL

กำลังโหลด...

  • เข้ามาดูเมื่อเร็วๆนี้   0 สมาชิก

    ไม่มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนกำลังดูหน้านี้

×
×
  • สร้างใหม่...