ข้ามไปเนื้อหา
Update
 
 
Gold
 
USD/THB
 
สมาคมฯ
 
Gold965%
 
Gold9999
 
CrudeOil
 
USDX
 
Dowjones
 
GLD10US
 
HUI
 
SPDR(ton)
 
Silver
 
Silver/Oz
 
Silver/Baht
 
ngoodin

การดูจุดซื้อขายกองทุนระบบ trend following แบบบ้าน ๆ

โพสต์แนะนำ

ความรู้พื้นฐานกองทุน

 

พอดีมีเพื่อน ๆ สนใจ pm ถามมา ผมเห็นว่าคำตอบน่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ก็เลยเอามารวมไว้ครับ

 

 

สำหรับกองทุนต่าง ๆ ที่ธนาคารหรือบริษัทเงินทุนจัดตั้งขึ้นนั้น ในการกำหนดมูลค่าหน่วยลงทุน จะต้องหาอะไรมาอ้างอิงสักอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เพื่อกำหนดมูลค่าหน่วยหรือ nav ในแต่ละวันว่าวันนี้เราสามารถซื้อได้ราคาเท่าไหร่ หรือขายได้ราคาเท่าไหร่

ถ้ากองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ก็มักจะอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร หรืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ เราเรียกกองทุนพวกนี้ว่ากองทุนตราสารหนี้ การซื้อกองทุนประเภทนี้ ก็เหมือนกับการเอาเงินไปฝากประจำหรือไปซื้อพันธบัตร มูลค่าของ nav จะปรับตัวขึ้นตลอดเวลาเหมือนดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละวันนั่นเอง แต่กองทุนแบบนี้ก็ได้ผลตอบแทนต่ำ คือดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำนิดหน่อยเท่านั้นเอง ตอนนี้ก็ประมาณ 2-3% ต่อปีครับ

 

กองทุนแบบนี้ก็เช่น scbtmf scbsff ของธนาคารไทยพาณิชย์ k-treasury k-money ของกสิกรไทย ktss ktsv ของกรุงไทย เป็นต้น ข้อดีของกองทุนตราสารหนี้ ที่เหนือกว่าเงินฝากประจำหรือการซื้อพันธบัตรรัฐบาลด้วยตนเอง นั่นคือ กองทุนสามารถซื้อหรือขายได้ทุกวันครับ ไม่ต้องรอให้ฝากครบกำหนด หรือพันธบัตรครบอายุ จึงมีสภาพคล่องสูงเหมือนกับฝากแบบออมทรัพย์ แต่ได้ดอกเท่าฝากประจำนั่นเอง

 

ถ้าคุณเพิ่งเริ่มศึกษาหรือเพิ่งหัดลงทุนในกองทุน ก็แนะนำว่า ให้ซื้อกองทุนตราสารหนี้ไว้ได้เลยครับ

 

กองทุนประเภทที่มีความเสี่ยงสูง ก็จะอ้างอิงกับตลาดทุนที่มีความผันผวนสูง เช่น ตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นต่างประเทศ หรือตลาดทองคำ ตลาดน้ำมัน ครับ ถ้าเป็นกองทุนที่อ้างอิงกับตลาดหุ้นไทย หรือ set ก็มีพวกกองทุน scbset ของธนาคารไทยพาณิชย์ ครับ การขึ้นลงของมูลค่าหน่วยลงทุน จะขึ้นลงเป็นเปอร์เซ็นต์เท่า ๆ กับการขึ้นลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทย เช่น หากวันนี้ตลาดหุ้นหรือ set ขึ้นไป 2% เทียบกับเมื่อวานนี้ มูลค่าหน่วยลงทุนของ scbset ก็จะขึ้นไป 2% เช่นเดียวกันครับ

 

นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทย ยังมี set50 หรือ set100 คือเป็นกลุ่มของหุ้น 50 ตัวหรือ 100 ตัว ที่ตลาดหลักทรัพย์นำมาจัดรวมเป็นเป็นดัชนีต่างหากออกมาจากตลาดหุ้น set ทั้งหมดที่มีหุ้นอยู่หลายร้อยตัว คัดมาเฉพาะหุ้นของบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือสูง มีความมั่นคง มีสภาพคล่องสูง เรียกว่าคัดมาเฉพาะหุ้นเกรด A มารวมกันเป็นดัชนีต่างหาก ดังนั้นกองทุนที่อ้างอิงกับ set50 หรือ set100 ก็จะปรับขึั้นลงตามสัดส่วนของ set50 หรือ set100 นั่นเองครับ แต่เท่าที่ผมติดตามดู set set50 set100 ก็มีทิศทางไปในทางเดียวกัน ไม่ต่างกันมากหรอกครับ ดังนั้นไม่ว่าจะลงทุนในกองทุนที่อ้างอิง set แบบ scbset หรือลงทุนใน set50 แบบ k-set50 ของกสิกรไทย ผลตอบแทนก็ไม่ต่างกันครับ

 

ส่วนตลาดทองคำ กองทุนมักจะอ้างอิงตลาดทองคำต่างประเทศ เช่น ตลาดฮ่องกง ตลาดสิงคโปร์ เช่น k-gold อ้างอิงตลาดสิงคโปร์โดยอิงกับราคาหุ้น gld10us ของสิงคโปร์ ซึ่งตามปกติมันก็ขึ้นลงตามราคาตลาดทองคำ nymex หรือ comex ของตลาดทองคำโลก แต่ก็มีบางครั้งเหมือนกันที่วิ่งสวนทางกันเพราะมีการปั่นราคาท้ายตลาด สิงคโปร์

:ph34r:

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ขอบคุณมากครับ คำแนะนำดีๆทั้งนั้น :blush:

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ความรู้พื้นฐานกองทุน(2)

จะซื้อกองทุน ก็ไปที่ธนาคารสาขาไหนก็ได้ บอกว่าขอเปิดบัญชีซื้อกองทุน แล้วก็บอกจำนวนเงินที่ซื้อ กับกองทุนที่ต้องการซื้อ แนะนำว่าเอาเงินที่ต้องการลงทุนทั้งหมด ไปซื้อกองทุนตราสารหนี้ทิ้งไว้ก่อน เพราะเหมือนฝากเงินบัญชีเงินฝากเอาไว้ก่อน แล้วถ้าจะซื้อกองทุนไหนตามสัญญาณซื้อ ก็ใช้คำสั่งสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปลงยังกองที่ต้องการในภายหลัง ตามจำนวนที่ต้องการซื้อครับ

 

เช่น สมมติว่าเรามีเงิน 100,000 บาท ต้องการลงทุนในกองทุนของกสิกรไทย จัดพอร์ตกองทุน k-set50 20,000 บาท กองทุน k-gold 20,000 บาท ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณซื้อทองคำ เราก็เอาเงินไปซื้อ k-treasury 100,000 บาท ก่อน พอมีสัญญาณซื้อทองคำ เราก็สับเปลี่ยนจาก k-treasury ไปเข้า k-gold 20,000 บาท แล้วถือไว้จนกว่าจะมีสัญญาณขาย ต่อมาเกิดสัญญาณซื้อกองทุนหุ้น เราก็สับเปลี่ยนจาก k-treasury ไปเข้า k-set50 20,000 บาท แล้วถือไว้ ตอนนี้เราก็จะมี k-set50 20,000 บาท k-gold 20,000 บาท k-treasury 60,000 บาท ต่อมาพอมีสัญญาณขายทองคำ เราก็สับเปลี่ยนจาก k-gold กลับไปเข้า k-treasury ทั้งหมด สมมติว่าได้กำไรจาก k-gold รวมเป็น 21,000 บาท เราก็จะเหลือ k-set50 20,000+กำไรตามระยะเวลาที่ถือไว้ k-treasury 81,000 บาท พอมีสัญญาณซื้อทองคำอีก เราก็สับจาก k-treasury ไป k-gold อีก 20,000 บาท เท่าเดิม (ส่วนกำไรรอบที่แล้วก็ยังคงไว้ใน k-treasury) สะสมไปแบบนี้เรื่อย ๆ ครับ

จะเห็นว่าเราใช้กองทุนตราสารหนี้ k-treasury เป็นฐานทัพเอาไว้พักเงินซึ่งเปรียบเสมือนหน่วยรบของเรา พอสมรภูมิไหนมีสัญญาณซื้อเราก็ส่งกองทัพออกไป 20,000 บาท ตามที่จัดพอร์ตไว้ พอมีสัญญาณขายก็ดึงกองทัพกลับมาพร้อมกำไร (หรือขาดทุนถ้าต้อง stop loss)

หมุนเวียนอย่างนี้เรื่อยๆไป แล้วสิ้นปีก็มาคิดกำไรขาดทุนว่าได้กำไรสุทธิเท่าไหร่ บางปีก็ได้มาก บางปีก็ได้น้อย แล้วแต่ตลาดจะพาไปครับ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ความรู้เรื่องกองทุน LTF, RMF

 

เคยตอบคุณตู่เอาไว้ ก็เลยขอเอามารวมไว้ที่เดียวกันเป็นคลังข้อมูลครับ

 

เรื่องกองทุนลดภาษี ltf rmf สำหรับคนที่ฐานภาษีสูง ๆ

ผมว่าเป็นการลงทุนที่ความเสี่ยงน้อยที่สุด และกำไรมากที่สุดสำหรับการลงทุนในเมืองไทยเลยทีเดียวแหละครับ ลองคิดดูว่าถ้าเราซื้อ ltf rmf เต็มมูลค่าที่หักภาษีคืนมาได้ เท่ากับว่าเราได้กำไรปีละ 37% ของเงินที่ซื้อเลยทีเดียว จะมีการลงทุนแบบไหนที่ได้กำไรมากขนาดนี้ละครับ อย่างผมนี่มีสิทธิซื้อ ltf 250,000 บาท rmf 250,000 บาท เท่ากับว่าลงทุนปีละ 500,000 บาท ปีถัดไปได้ภาษีคืนมาเอาง่าย ๆ ประมาณ 30% เท่ากับเราได้กำไรแน่ ๆ คืนกลับมา 150,000 บาท นอกจากนี้หากเราลงทุนถูกจังหวะเราจะไ้ด้กำไรจาก capital gain ตามมูลค่าของ set ที่ปรับสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้เรายังได้กำไรจากเงินปันผลที่กองทุนจ่ายให้อีกปีละประมาณ 10% อีกด้วย รวมเฉพาะภาษีกับปันผล ก็ได้ปีละ 40% แล้ว มีการลงทุนไหนบ้างที่กำไรขนาดนี้

 

เรียกว่าหลับหูหลับตาซื้อไปเลย ยังไงก็กำไร แม้ตลาดหุ้นหรือทองคำจะร่วงแรง ๆ หลังจากซื้อไป แต่ก็มีโอกาสน้อยมากที่จะร่วงลงไปถึง 40%

 

ดังนั้นผมจึงสนับสนุนว่าถ้าฐานภาษีสูงมาก ๆ ต้องซื้อ ltf rmf ไว้เสมอ

 

เอาแค่นี้ก่อน เดี๋ยวว่าง ๆ จะมาต่อเรื่องที่ว่า จะซื้อตอนช่วงไหนของปีดี และแบ่งซื้ออย่างไร เพื่อให้ได้กำไรจาก capital gain สูงที่สุด เพิ่มขึ้นนอกเหนือจาก 40% ที่ได้กำไรแหง ๆ อยู่แล้ว เรียกว่าลงทุนทั้งทีให้กำไรสุด ๆ จนเบื่อไปเลย

ถูกแก้ไข โดย ngoodin

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

11 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF

 

 

 

1. ชื่อเรื่อง : ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนหลายประเภท

 

คำถาม : กรณีผู้ลงทุนมีการลงทุนในกองทุนหลายประเภท เช่น ลงทุนทั้งในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PDF) หรือลงทุนทั้งในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จะมี

หลักเกณฑ์การคำนวณการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร

คำตอบ : การลงทุนในกองทุนหลายประเภท จำนวนเงินที่ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะขึ้นอยู่กับสัด ส่วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในกองทุน เช่น กรณีกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จะลงทุนได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ เป็นต้น แต่เมื่อรวมทุกกองทุนแล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

 

 

 

2. ชื่อเรื่อง : ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF หลายกองทุน

คำถาม : ผู้ลงทุนซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หลายกองทุน จะมีหลักเกณฑ์อย่างไร เพื่อที่จะได้รับ

สิทธิประโยชน์ทางภาษี

คำตอบ : กรณีผู้ลงทุนมีการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หลายกองทุน จะได้รับสิทธิประโยชน์ทาง

ภาษีโดยพิจารณาจากตัวบุคคลเป็นเกณฑ์ในการได้รับสิทธิ กล่าวคือ ในแต่ละปีผู้ลงทุนจะต้องลงทุนในหน่วยลงทุนฯ รวมกัน

ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาท แต่หากมีการไถ่ถอนหน่วยลงทุนฯ ในบางกองทุน จนทำให้

ยอดรวมการลงทุนในปีดังกล่าวต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ถือว่ามีการลงทุนที่ผิดเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้

 

 

 

3. ชื่อเรื่อง : ขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ทั้งหมดแล้วซื้อใหม่นำมาหักลดหย่อนได้

คำถาม : นาย ก. มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ครั้งแรก เมื่อวันที่

22 ตุลาคม 2547 และซื้อติดต่อกันมาทุกปี นาย ก. ต้องการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ที่ซื้อมาทั้งหมด (ปี 2547 - 2551) ภายในปี 2552 และนำเงินไปซื้อกองทุน RMF ใหม่ นาย ก. นำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF นี้ไปหัก

ลดหย่อนภาษีในปี 2552 ได้หรือไม่

คำตอบ : หากนาย ก. ได้ขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF แล้ว ต่อมาในปี 2552 นาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ใหม่ นาย ก. มีสิทธินำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ดังกล่าวไปหักในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2552 ได้ โดยให้ถือปฏิบัติ ตามข้อ 2(55) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ.2551) ประกอบกับ ประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90)

 

 

 

4. ชื่อเรื่อง : ซื้อและขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ในปีภาษีเดียวกัน

คำถาม : กรณีผู้ลงทุนมีการซื้อและขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในระหว่างปี จะมีหลักเกณฑ์การคำนวณว่าได้มีการซื้อหน่วยลงทุนในกรณีนี้เป็นจำนวนเท่าใด เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

คำตอบ : กรณีผู้ลงทุนมีการซื้อและขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในระหว่างปี จำนวนเงินการซื้อหน่วยลงทุนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี จะต้องเป็นจำนวนเงินการซื้อและขายหน่วยลงทุนโดยคงเหลือสุทธิ ณ ตอนสิ้นปี

 

 

5. ชื่อเรื่อง : ขายและซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF ในปีภาษีเดียวกัน

คำถาม : นาย ก. มีเงินได้จากเงินเดือนประจำ ในปี 2552 ขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ถือครบ 5 ปี และซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF ใหม่ เงินได้ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าซื้อ LTF ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่ได้รับในปีภาษีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ต้องนำเงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF ที่ได้รับยกเว้นมารวมคำนวณด้วยหรือไม่

คำตอบ : กรณีซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF ที่ผู้มีเงินได้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เกินอัตรา ร้อยละ 15 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ให้คำนวณจากเงินได้ที่ได้รับทั้งหมดในปีภาษีนั้นก่อนหักเงินได้จากการขาย LTF ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(67) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)

 

 

 

6 .ขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ที่ไม่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

คำถาม : นาง อ. ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยเริ่มซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกในปี 2548 และซื้อต่อเนื่องมาโดยตลอดทุกปี ในแต่ละปีได้นำค่าซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ต่อมา ปี 2552 นาง อ.ซื้อหน่วยลงทุน จำนวน 200,000 บาท และได้ขายคืนระหว่างปี ซึ่งเป็นหน่วยลงทุนที่ซื้อมาในปี 2551 เฉพาะส่วนที่ไม่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

1. ปี 2552 นาง อ. มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากการซื้อหน่วยลงทุนหรือไม่

2. ปี 2548 - 2551 นาง อ. มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากการซื้อหน่วยลงทุนหรือไม่

คำตอบ : 1. หาก นาง อ. ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพให้เป็นไป ตามข้อ 1(2) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90)ฯ ก็จะมีสิทธินำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในปี 2552 เท่าที่ได้จ่ายไปจริง และถือไว้ตลอดปีภาษี ยกเว้นภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(55) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126(พ.ศ.2509)ฯ และประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้(ฉบับที่ 90)ฯ

2. เมื่อ นาง อ. ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงิน ได้แล้ว ต่อมาได้ขายหน่วยลงทุนดังกล่าวไปทั้งหมดหรือบางส่วน โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ตามข้อ 2(55) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ประกอบกับ ประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90)ฯ ดังนั้น นาง อ. จึงหมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนไปหักออก จากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมเพื่อเสีย ภาษีเงินได้เพิ่มเติมของแต่ละปีภาษีที่ผ่านมา พร้อมเงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร

 

 

7. ชื่อเรื่อง : การนับระยะเวลาการไถ่ถอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ที่ซื้อก่อน 1 มีนาคม 2551 และลงทุนไม่ต่อเนื่องได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

คำถาม : นาย ก. ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 และซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวเพิ่มในปี 2548 - 2550 (ปี 2547 หยุดการซื้อ) และขายหน่วยลงทุนดังกล่าวทั้งหมดคืนให้แก่กองทุนรวม RMF ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 เพื่อจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2551 การนับระยะเวลาการไถ่ถอนหน่วยลงทุนดังกล่าวครบ 5 ปี หรือไม่

คำตอบ : ผู้มีเงินได้ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อ หน่วยลงทุนดังกล่าว และเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ผู้มีเงินได้ได้รับจากการขายหน่วยลงทุนดังกล่าวคืนให้แก่กองทุนรวม มีการนับระยะเวลาการไถ่ถอนหน่วยลงทุน เป็น 2 กรณี ดังนี้

1.ให้นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก สำหรับผู้มีเงินได้ที่มิใช่ผู้สูงอายุ หรือทุพพลภาพ จึงจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(55) และ (65) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) และ ประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90)

2.ให้นับระยะเวลาถือหน่วยลงทุนเฉพาะปีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้ซื้อหน่วยลงทุน สำหรับผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้สูงอายุ หรือทุพพลภาพ จึงจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(56) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) และ ข้อ 1 ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 91)

ดังนั้น หาก นาย ก. มิใช่ผู้สูงอายุ หรือทุพพลภาพ การนับระยะเวลาถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF ให้นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกตามข้อ 1 ได้แก่ ปี 2546 ทำให้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าว ครบ 5 ปี นาย ก. จึงได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2551

 

 

8. ชื่อเรื่อง : ผู้สูงอายุซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และ LTF

คำถาม : การยกเว้นภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่หักได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้นั้น คำนวณจากเงินได้หลังหรือก่อนหักการยกเว้นภาษีกรณีเงินได้สำหรับผู้สูงอายุ ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ และเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

คำตอบ : กรณีซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF หรือ LTF ที่ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีให้ยกเว้นได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินก่อนหักยกเว้นภาษีกรณีผู้มีเงินได้อายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีที่ได้รับ และเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

 

 

 

 

 

9. ชื่อเรื่อง : ภริยาซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และ LTF และการกรอกแบบ

คำถาม : ภริยามีเงินได้ ตามมาตรา 40(1) และ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ถ้ามีการซื้อกองทุน RMF และ LTF จะหักลดหย่อนอย่างไร และกรอกแบบอย่างไร กรณีภริยาแยกยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 และภริยายื่นแบบ ภ.ง.ด.90 รวมกันกับสามี

คำตอบ : ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และ LTF หักลดหย่อนได้ ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ตามข้อ 2(55) และ (66) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)

ส่วนการกรอกแบบ ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90 ของภริยา กรณีแยกยื่นแบบฯ และยื่นแบบฯ รวมกับสามี นั้น

1. กรณีภริยาแยกยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมทั้ง 2 กองทุน ได้โดยเฉลี่ยตามสัดส่วนของเงินได้

2. กรณีภริยายื่นแบบ ภ.ง.ด.90 รวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับสามี สามารถกรอกในข้อลดหย่อนของผู้มีเงินได้ ได้ทั้งจำนวน หรือภริยาแยกคำนวณภาษีแต่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ในฉบับเดียวกับสามี สามารถใช้สิทธิได้โดยเฉลี่ยตามสัดส่วนของเงินได้

 

 

10.ชื่อเรื่อง : เอกสารที่ใช้แสดงสิทธิในการยกเว้นเงินได้ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF กรณีไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อนกำหนดเวลาเนื่องจากเหตุทุพพลภาพ

คำถาม : ผู้มีเงินได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ก่อนกำหนดเวลาตามหลักเกณฑ์การได้สิทธิยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ค่าซื้อหน่วยลง ทุนมารวมคำนวณเพื่อเสียเงินได้บุคคลธรรมดาเนื่องจากเหตุทุพพลภาพ จะต้องใช้หลักฐานใดให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

คำตอบ : ต้องเป็นกรณีที่แพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพซึ่งก่อให้เกิดเงินได้ที่จะ นำมาซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวต่อไปได้

 

 

11.ชื่อเรื่อง : การนับระยะเวลาการไถ่ถอน LTF เพื่อได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้

คำถาม : ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2547 และขายหน่วยลงทุนนี้เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551 อยากทราบว่าการนับระยะเวลาการไถ่ถอน LTF เพื่อได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีใดถูกต้องระหว่าง

กรณีที่ 1 ซื้อ LTF ในวันที่ 30 ธันวาคม 2547 ถือว่านับ 1 ปีปฏิทินแล้ว ดังนั้น เมื่อขายหน่วยลงทุน LTF ในวันใดวันหนึ่งในปี 2551 ถือว่าลงทุนมาครบ 5 ปีปฏิทินแล้ว

กรณีที่ 2 ซื้อ LTF ในวันที่ 30 ธันวาคม 2547 ถือว่านับ 1 ปีปฏิทินแล้ว แต่จะต้องถือ LTF ให้เต็มปี 2551 จึงจะถือว่าลงทุนครบ 5 ปีปฏิทินแล้ว ดังนั้น ต้องขาย LTF ในวันใดวันหนึ่งในปี 2552

คำตอบ : ค่าซื้อหน่วยลงทุน LTF ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน ตามข้อ 2(66) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ประกอบกับประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 169) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 175) ดังนั้น การนับระยะเวลาถือหน่วยลงทุน LTF ให้นับตามกรณีที่ 1 โดยไม่ได้คำนึงว่า ปีที่ถือครบ 5 ปีปฏิทินนั้นต้องถือให้เต็มปีปฏิทิน

 

ข้อมูลจาก www.rd.go.th

ถูกแก้ไข โดย ngoodin

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

กองทุนไหนดี ในการลงทุน ltf rmf ให้ได้กำไรสูงสุด และมีวิธีการอย่างไร

นอกจากกำไร 40% จากการคืนภาษีและเงินปันผลที่บอกมาแล้ว ยังมีผลกำไรจากส่วนต่างราคาซื้อขายในกรณีตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นหรือที่เรียกว่า captital gain ซึ่งในบางจังหวะอย่างเช่นปี 2553 ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีผลกำไรจาก capital gain อีก 40-50% ทีเดียวครับ

 

คุณตู่เล่นกองทุนกสิกรไทยเป็นหลักเหมือนกับผม สำหรับ ltf rmf ผมจึงขอเน้นเฉพาะกองทุนของกสิกรไทยเป็นหลัก

 

เอากองทุน ltf ก่อน กองทุน k70ltf เน้นลงทุนในตลาดหุ้น 70% ตราสารหนี้ 30% ดังนั้นจึงมีความผันผวนน้อยกว่ากองทุน kgltf หรือ kdltf ที่ลงทุนในตลาดหุ้นเกือบ 100% ดังนั้น หากต้องการลงทุนแบบสบาย ๆ ไม่ต้องดูแลมากซื้อครั้งเดียวให้ผู้จัดการกองทุนดูแลไปเรื่อย ๆ ก็ต้อง k70ltf แต่ผลตอบแทนในรูปของ capital gain หรือส่วนต่างราคาหากตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น ก็น้อยลง คือได้กำไรน้อยกว่ากองทุน kgltf ,kdltf นั่นเอง

 

ถ้าต้องการผลกำไรที่มากขึ้น แต่ก็ต้องดูจังหวะซื้อขาย เพื่อให้ได้ช่วงเวลาเข้าซื้อในราคาต่ำและขายได้ในราคาสูง หรือในกรณีที่ตลาดหุ้นปรับตัวลง หากยังถือกองทุน kgltf kdltf อยู่ ราคาก็จะปรับตัวลงแรงตามตลาด อย่างนี้เราก็ต้องสับเปลี่ยนหนีไปอยู่ในกองทุน ksdltf ก่อน เพราะกองทุน ksdltf นี้จะลงทุนในตลาด future ซึ่งสามารถทำกำไรในตลาดขาลงได้ด้วย ดังนั้น จึงมีหลักอยู่ว่า หากตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น ให้ซื้อหรือสับเปลี่ยนไปเข้ากองทุน kgltf หรือ kdltf (กองไหนก็ได้ ผลไม่แตกต่างกัน) แต่หากตลาดหุ้นปรับตัวเป็นขาลง

ก็ให้ซื้อหรือสับเปลี่ยนจาก kgltf หรือ kdltf ไปเข้ากองทุน ksdltf แทน

 

 

 

สรุปง่าย ๆ ว่า

 

ตลาดหุ้นขาขึ้น ksdltf--->kgltf หรือ kdltf

ตลาดหุ้นขาลง kgltf หรือ kdltf--->ksdltf

 

ต่อไปจะเป็นกลยุทธว่า ในแต่ละปี จะเข้าซื้อกองทุน ltf เมื่อไหร่กันดี

ถูกแก้ไข โดย ngoodin

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

จะเข้าซื้อกองทุน ltf เมื่อไหร่ดี

กองทุน ltf ส่วนใหญ่ช่วงปลาย ๆ ปี มักจะมีโปรโมชั่นแจกแถม อย่างของกสิกรบางปีหากซื้อเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมจะมี cash back เช่น ถ้าซื้อ 100,000 บาท ได้เงินคืน 300 บาท หรือไม่ก็มีแถมตุ๊กตา กระเป๋า อะไรทำนองเนี้ย ทำให้ถือว่าได้กำไรขึ้นมาอีก ดังนั้น จึงอาจกันเงินส่วนหนึ่งเอาไว้ซื้อตอนปลายปีสำหรับคนที่ชอบของแจกของแถม

 

สำหรับกสิกรไทยยังมีพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือสามารถซื้อกองทุนด้วยบัตรเครดิตได้ ทำให้ได้แต้มสะสมบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย จึงควรทำบัตรเครดิตกสิกรไทยเอาไว้ อย่างผมใช้บัตรแพลตินั่นซื้อกองทุนทั้ง ltf rmf และกองทุนทั่วไป ก็ได้แต้มคะแนนสะสมเพิ่มขึ้นมากมายถือว่าเป็นกำไรที่เพิ่มมากขึ้นโดยทางอ้อมอีกด้วย พอคะแนนมาก ๆ ก็เอาไปแลกได้ของตามโปรโมชั่นของบัตรเครดิต

 

จะเข้าซื้อเมื่อไหร่ดี และเมื่อไหร่ควรจะสับเข้ากองทุน ksdltf ,kgltf (kdltf) ก็ต้องดูว่าตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นหรือขาลง

 

ผมมีวิธีดูง่าย ๆ ครับ เราไม่ต้องสนใจข่าวคราวอะไรทั้งนั้น ไม่ต้องกังวลว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร เราซื้อหรือสับเปลี่ยนตามสัญญาณกราฟเทคนิคโดยดูจากกราฟอินดิเคเตอร์ที่ชื่อว่า MACD

 

ขอให้คุณตู่จำหลักง่าย ๆ เลยว่า

ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น เมื่อ MACD มีค่ามากกว่า 0 คือ MACD เป็นบวก

ตลาดหุ้นเป็นขาลง เมื่อ MACD มีค่าน้อยกว่า 0 คือ MACD เป็นลบ

 

 

 

แล้วเราจะดูกราฟตลาดหุ้น ดู MACD ได้จากไหน ตอนต่อไปครับผม

ถูกแก้ไข โดย ngoodin

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

กราฟตลาดหุ้นไทยที่ผมชอบใช้คือจากเวปนี้ครับ

http://stockcharts.c...h-sc/ui?s=$seti

 

ดูที่ช่องล่างสุด ที่มุมบนด้านซ้ายจะเขียนว่า MACD(12,26,9) นี่คือช่องกราฟ MACD นั่นเอง และดูตัวเลขต่อไปที่เป็นสีดำ นั่นคือค่า MACD ในปัจจุบันนั่นเอง

 

 

จุดซื้อที่ดีที่สุดอยู่ตรงที่จุดที่ MACD เริ่มจะตัดขึ้นจาก 0 เป็นบวกในวันแรกๆครับ เพราะจะเป็นจุดที่ตลาดหุ้นเริ่มกลับตัวเป็นขาขึ้น ดังนั้น เมื่อถึงวันนั้น กองทุนที่เราจะซื้อคือ kgltf,kdltf พร้อมกับเราต้องสับเปลี่ยนจาก ksdltf ออกไปเข้า kgltf,kdltf อีกด้วย

 

ในทางกลับกัน จุดที่เราจะเริ่มสับเปลี่ยนกลับจาก kgltf,kdltf ไปเข้า ksdltf คือจุดที่ตลาดหุ้นเริ่มจะกลับตัวเป็นขาลง นั่นคือจุดที่ MACD เริ่มมีค่าลดลงต่ำกว่า 0 ในวันแรก ๆ ครับ

 

หากดูจากเส้นกราฟของ MACD เส้นสีดำ จะเห็นว่ามันเป็นรูปคลื่น ขึ้น ๆ ลง ๆ จุดที่เส้นสีดำเริ่มตัดขึ้นจากเส้น 0 ในแนวนอน นั่นคือจุดที่เริ่มกลับตัวเป็นขาขึ้น ส่วนจุดที่เส้น MACD สีดำเริ่มตัดลงต่ำกว่าเส้น 0 นั่นคือจุดที่เริ่มกลับตัวเป็นขาลง

 

จึงพูดได้อีกว่า ซื้อ kgltf,kdltf เมื่อ MACD ตัดขึ้นเหนือ 0 และขายหรือสับเปลี่ยนเข้า ksdltf เมื่อ MACD ตัดลงต่ำกว่า 0

 

ดังนั้น หากในปีนี้ ยังไม่ได้เริ่มเข้าซื้อ kgltf,kdltf เลย ก็ขอให้รอไปอีกสักหน่อย รอจน MACD ตัดขึ้นเหนือ 0 ก่อนนะครับ แต่ถ้ารอจนถึงปลายปีแล้ว MACD ยังไม่ตัดขึ้นเหนือ 0 สักที อันนี้ก็ต้องเข้าซื้อ ksdltf แทนละครับ

 

กราฟตามเวปที่ผมให้ดูนี้จะ update ทุกวันที่ตลาดหุ้นไทยเปิดครับ เราจึงต้องเปิดดูทุกวัน วันละครั้งก็พอ วันไหนเห็น MACD เริ่มตัดขึ้นเหนือ 0 ละก็เข้าซื้อได้เลยครับ อาจจะซื้อทีเดียวทั้งหมดหรือซื้อครึ่งเดียว อีกครึ่งรอไปซื้อปลายปีเพื่อเอาของแถมอันนี้ก็แล้วแต่ชอบครับ

ถูกแก้ไข โดย ngoodin

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เมื่อผ่านเรื่องกองทุน ltf ไปแล้ว กองทุน rmf ก็ทำนองเดียวกันแหละครับ

 

สำหรับกสิกรไทย กองทุน rmf ก็จะมีกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นเหมือน ๆ กับ ltf สำหรับผมลงทุน keqrmf ในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น คือ MACD>0

แต่หากตลาดหุ้นเป็นขาลง ผมก็ต้องสับเปลี่ยนออกจาก keqrmf ให้หมด แล้วไปเข้ากองทุนตราสารหนี้ ksfrmf แทนครับ

 

rmf นั่นมีข้อดีที่เหนือกว่า ltf อยู่เรื่องหนึ่ง คือมีกองทุนสำหรับลงทุนในตราสารหนี้ด้วยในขณะที่ ltf มีแต่กองทุนตลาดหุ้นเท่านั้น

 

กองทุนตราสารหนี้ ksfrmf เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำมากเหมือนกับการฝากเงินในบัญชีธนาคารเลย ดังนั้นในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงเราก็สับเปลี่ยนมาเข้า ksfrmf ทั้งหมดครับ เพื่อรักษาผลกำไรเอาไว้ รอจนกว่าตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นอีกครั้งค่อยสับเปลี่ยนกลับไปเข้ากองทุนหุ้น เช่น keqrmf kgrmf แล้วแต่จะชอบ

 

หรือหากอยากจะซื้อกองทุน rmf ในตอนนี้เลย ก็สามารถซื้อได้ทันทีโดยซื้อ ksfrmf ไม่ต้องรอ MACD ตัดขึ้นด้วยครับ เพราะมันก็เหมือนเราเอาเงินไปฝากธนาคารนั่นเอง แล้วก็รอจนกว่า MACD ตัดขึ้นเหนือ 0 ก็ค่อยสับเปลี่ยนไปเข้า keqrmf, kgrmf

 

นอกจากกองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้แล้ว rmf ของกสิกรไทย ยังมีกองทุนทองคำอีกด้วย นั่นคือ kgoldrmf สำหรับเป็นทางเลือกในกรณีที่บางช่วงตลาดหุ้นเป็นขาลง แต่ตลาดทองคำเป็นขาขึ้น เราก็ไปซื้อกองทุนทองคำแทน หรือหากทองคำเป็นขาลง ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น เราก็ไปซื้อกองทุนหุ้น หรือหากทั้งทองคำและตลาดหุ้นเป็นขาลงทั้งคู่ เราก็สับเปลี่ยนกลับไปเข้ากองทุนตราสารหนี้ ksfrmf

 

 

 

เป็นยังไงครับ ดีไหมครับ แค่ลงทุนใน ltf rmf ก็มีเรื่องให้ลงทุนเล่นกันทั้งปีละครับ แถมมีโอกาสได้กำไรมากกว่าการเล่นหุ้นปกติอีกด้วย เพราะได้กำไรจากภาษีกับปันผล 40% ตุนไว้ในกระเป่าอยู่แล้ว

 

ขอให้สนุกครับ

ถูกแก้ไข โดย ngoodin

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ขอบคุณคุณงูดิมากค่ะ ความรู้เพียบเลย :rolleyes: :rolleyes: :rolleyes:

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ขอบคุณมากค่ะ คุณngoodin

ได้ความรู้มากค่ะ

ต้องเข้ามาอ่านบ่อยๆแล้วค่ะ

แล้วมาสอนต่อนะคะ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ตามมาดู ขอบคุณค่ะ คุณงูดิน กำลังเล็งๆอยู่เลยค่ะ ^^

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ksdltf ไม่สามารถเข้าซื้อได้อีกตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นไป

 

เป็นไปตามคำสั่งของ กลต ที่ต้องการเอาเปรียบนักลงทุน อิอิ

ดังนั้น เราจึงไม่สามารถใช้ ksdltf เป็นฐานสำหรับสับเปลี่ยนเข้าออกไปยัง kgltf kdltf ได้อีกต่อไป

 

การลงทุน ltf ในปีนี้จึงต้องซื้อแล้วถือยาวเท่านั้นครับ สำหรับกองทุน ltf ที่พอจะใช้แทน ksdltf ได้ สำหรับกสิกรไทย ก็คงมีแต่ k70ltf ซึ่งลงทุนในหุ้น 70% ตราสารหนี้ 30% ซึ่งพอจะลดความหวือหวาของตลาดหุ้นไปได้บ้าง แต่ก็จะได้กำไรน้อยกว่า ในขณะเดียวกัน ก็จะขาดทุนน้อยกว่ากองทุนหุ้น 100% แบบ kgltf และ kdltf

 

ดังนั้น สำหรับกองทุน ltf ที่คิดจะซื้อในปีนี้ หากไม่ต้องการความผันผวน ก็ให้รีบซื้อ ksdltf ก่อนสิ้นเดือนมกราคม 2555 แต่หลังจากนั้น ก็ควรซื้อ k70ltf

แต่หากต้องการเสี่ยงเพราะคิดว่าปีนี้ตลาดหุ้นจะเป็นขาขึ้น ก็เข้า kgltf kdltf

 

สำหรับผม มองว่า ปีนี้ ตลาดหุ้นไทยน่าจะเป็นขาลงครับ ดังนั้น ก่อนสิ้นเดือนมกราคม ผมจะเข้าซิ้อ ksdltf เพิ่มไว้ก่อน หลังจากนั้น ก็ค่อยพิจารณาเข้า k70ltf ตามสัญญาณซื้อเป็นครั้ง ๆ ไป

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Join the conversation

You can post now and register later. If you have an account, sign in now to post with your account.

ผู้มาเยือน
ตอบกลับกระทู้นี้...

×   วางข้อความแบบ rich text.   วางแบบข้อความธรรมดาแทน

  อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 75 อิโมติคอน.

×   ลิงก์ของคุณถูกฝังอัตโนมัติ.   แสดงเป็นลิงก์แทน

×   เนื้อหาเดิมของคุณได้ถูกเรียกกลับคืนมาแล้ว.   เคลียร์อิดิเตอร์

×   คุณไม่สามารถวางรูปภาพได้โดยตรง กรุณาอัปโหลดหรือแทรกภาพจาก URL

กำลังโหลด...

  • เข้ามาดูเมื่อเร็วๆนี้   0 สมาชิก

    ไม่มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนกำลังดูหน้านี้

×
×
  • สร้างใหม่...