ข้ามไปเนื้อหา
Update
 
 
Gold
 
USD/THB
 
สมาคมฯ
 
Gold965%
 
Gold9999
 
CrudeOil
 
USDX
 
Dowjones
 
GLD10US
 
HUI
 
SPDR(ton)
 
Silver
 
Silver/Oz
 
Silver/Baht
 
tt2518

ขอเดา(ราคาทอง)กับเขาบ้าง

โพสต์แนะนำ

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา

 

ฉบับที่ 3 (256/2554)

 

เรื่อง พายุ “นาลแก”

 

เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (4 ต.ค.) พายุโซนร้อน “นาลแก” บริเวณทะเลจีนใต้ มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 250กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน หรือที่ ละติจูด 18.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในวันที่ 5 ตุลาคม นี้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดในระยะนี้

อนึ่ง ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีฝนตกชุกและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักในระยะ 1-2 วันนี้ ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย

พยากรณ์อากาศตั้งแต่เช้าวันนี้ (4 ต.ค.54) จนถึงเช้าวันพรุ่งนี้

 

ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก และเพชรบูรณ์

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

 

ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี

 

ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองทั่วไป ร้อยละ 90 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด ลมตะวันตก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร

 

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

 

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต ลมตะวันตก ความเร็ว 20-40 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร

 

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง

สภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ คำนวณโดยกรมอุทกศาสตร์

 

วันนี้น้ำขึ้นเต็มที่ เวลา 13.33 น. สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 1 เมตร 87 เซนติเมตร และเวลา 21.29 น. สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 1 เมตร 70 เซนติเมตร

น้ำลงเต็มที่ เวลา 06.10 น. สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 81 เซนติเมตร และเวลา 16.52 น. สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 1 เมตร 65 เซนติเมตร

วันนี้

ที่ประภาคารกาญจนาภิเษก แหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ดวงอาทิตย์ตกเวลา 18.17 น.

กรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์ตกเวลา 18.06 น.

*************

 

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

นนทบุรี * เงินเฟ้อ ก.ย.อยู่ที่ 4.03% ลดลงจากเดือน ส.ค. และเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน "ยรรยง" ชี้เป็นผลดีจากน้ำมันลง เงินบาทแข็ง

 

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า เงินเฟ้อเดือน ก.ย.2554 เท่ากับ 112.86 สูงขึ้น 4.03% เทียบเดือน ก.ย.2553 และลดลง 0.33% เทียบเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) สูงขึ้น 3.75% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.ย.เท่ากับ 106.75 สูงขึ้น 2.92% เทียบ ก.ย.2553 และสูงขึ้น 0.10% เทียบเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เฉลี่ย 9 เดือนสูงขึ้น 2.21% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

 

"เงินเฟ้อเริ่มกลับสู่ระดับที่ใกล้เคียงกับกรอบเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ทั้งปีที่ 3.2-3.7% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ย.ลดลง 0.33% จากเดือน ส.ค.ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ยังคงมีเสถียรภาพ โดยมีปัจจัยที่เอื้อต่อการปรับลดของเงินเฟ้อจากมาตรการของภาครัฐด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง การแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลต่อต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบมีราคาถูกลง และมีผลต่อค่าครองชีพของประชาชนลดลง" นายยรรยงกล่าว

 

ส่วนนโยบายของรัฐบาลที่อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทั้งการปรับขึ้นเงินเดือน ปริญญาตรี 15,000 บาท ปรับค่าแรงงานวันละ 300 บาท การรับจำนำข้าวตันละ 15,000-20,000 บาท นโยบายรถยนต์คันแรก และบ้านหลังแรก แม้จะเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ก็ยังไม่ปรากฏว่าจะผลต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น.

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ (วันที่ 4 ตุลาคม 2554)

 

            นายแพทย์กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการ เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาทองคำโลกในระยะนี้จะไม่หลุด 1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เนื่องจากมีความต้องการทองคำในโลกจำนวนมาก ขณะที่ปริมาณทองคำมีไม่เพียงพอ ซึ่งเห็นได้จากการยืดเวลาส่งมอบนานขึ้นเป็น 7 วัน ทั้งนี้ประเมินราคาทองคำในตลาดโลกสิ้นปี 2554 อยู่ที่ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ในปี 2555 จากเดิมมองว่าราคาดังกล่าวจะเกิดขึ้นในปีนี้

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ (วันที่ 4 ตุลาคม 2554)

 

ถูกแก้ไข โดย เด็กขายของ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

วิกฤติหนี้ยูโรโซนถล่มเศรษฐกิจโลก หุ้นไทยดิ่งหัวทิ่มอีก46จุด (04/10/2554)

วิกฤติหนี้ยูโรโซนยังไม่หมดฤทธิ์ ฟัดหุ้นทั่วโลกหัวทิ่มรวมถึงหุ้นไทยที่รูดหลุดด่าน 900 ลงมาแตะที่ 869.31 จุดหรือติดลบถึง 46.90 จุด "ธีระชัย"ยันไม่มีการทุบหุ้น แค่ต่างชาติเทขายดึงเงินกลับไปเสริมสภาพคล่อง วอนแมงเม่าไทยอย่าตกใจ มั่นใจไม่นานปกติ เอกชนเร่งระดมข้อมูลเตรียมเข้าหารือนายกในเวทีกรอ.เร็วๆนี้

 

หุ้นไทยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2554 ดัชนีทรุดตัวลงรุนแรงอีก สอดคล้องตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเซีย จากความกังวลปัญหาหนี้ยุโรป หลังมีแนวโน้มว่ากรีซอาจผิดชำระหนี้ โดยระหว่างวันมีการซื้อขายดัชนีต่ำสุดที่ 865.95 จุด และสูงสุดที่ 885.37 จุด ก่อนปิดตลาดที่ 869.31จุด ลดลงขึ้น 46.90 จุด หรือลบไป 5.12 % มูลค่าการซื้อขาย 26,638.06 ล้านบาท

 

สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1,545.54 ล้านบาท นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1,173.00 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 395.78 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 2,322.76 ล้านบาท

 

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรง เป็นไปตามทิศทางตลาดภูมิภาคที่ลดลง 3-4 % เพราะนักลงทุนกังวลปัญหาหนี้สาธารณะในประเทศแถบยุโรป ซึ่งถือเป็นวิกฤติของกลุ่มยูโรโซนที่รวมตัวกันมา 8 ปี ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวได้ยาก

 

อย่างไรก็ตามการที่ตลาดหุ้นลดลงต่อเนื่อง และยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวเพราะปัญหาของยุโรปยังไม่ชัดเจน ขณะที่ตลาดหุ้นถือว่ามีความอ่อนไหวต่อข่าวสารต่างๆ ดังนั้นนักลงทุนควรต้องติดตามผลกระทบและคำแนะนำของนักวิเคราะห์ ก่อนที่จะเข้าลงทุน

 

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง กล่าวว่า การที่หุ้นไทยร่วงลงแรงว่าเกิดจากการเทขายของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะสถาบันที่นำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดเอเชียและไทยเป็นจำนวนมาก และมีกำไรสูงอยู่ แต่ในเวลานี้ต่างชาติจำเป็นต้องขายหุ้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและนำเงินไปชำระหนี้ที่ถูกไถ่ถอนหน่วยลงทุน

 

นักลงทุนไทยจึงไม่ควรตื่นเต้นหรือหวั่นไหวตาม แต่ควรระมัดระวัง พร้อมทำใจเพราะเชื่อว่า หากถึงเวลาที่ต่างชาตินำเงินกลับไปแก้ปัญหาได้อย่างเพียงพอแล้ว ก็จะนำเงินกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยและเอเชียอีกครั้ง เพราะยังเป็นตลาดที่มีพื้นฐานดี เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตสดใส และการเมืองมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตามได้มอบหมายผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง ติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งมีความเสี่ยงอยู่

 

"เข้าใจว่านักลงทุนจะหวั่นไหว แต่หากเราเข้าใจถึงปัญหา เราก็น่าจะระมัดระวังการลงทุนไม่ต้องไปตกใจ แต่ภาวะนี้จะนานแค่ไหน ยังบอกไม่ได้ แต่คิดว่าคงไม่นานเกินไป เขาก็คงหยุดขาย ก็อย่างที่บอกว่า นักลงทุนต่างชาติจำเป็นต้องขาย เพื่อดึงสภาพคล่องเผื่อเอาไว้ และคงจะขายเท่าที่จำเป็นต้องระดมเงิน คงไม่ขายทั้งหมดหรอก ยืนยันว่า เท่าที่ดูปัญหาหลักมาจากต่างประเทศ ไม่ใช่เกิดจากความผิดปกติ หรือมีการทุบหุ้นแต่อย่างใด นักลงทุนน่าจะสบายใจในนโยบายของรัฐบาลและการเมืองที่มีความมั่นคงสูง" นายธีระชัย กล่าว

 

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า นักลงทุนยังคงกังวลปัญหาหนี้ในยุโรปทำให้มีการขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ เพื่อลดความเสี่ยง แล้วหันไปลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (Risk off)มากขึ้น เพราะตลาดมองว่า ปัญหาหนี้สินในยุโรปยังไม่จบ คาดการณ์ว่า โอกาสการเกิดภาวะ Risk off จะมีเพียงระยะสั้นซึ่งธปท.เห็นว่า ยังไม่จำเป็นที่ต้องมีมาตรการอะไรออกมาดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนเพิ่มเติม แต่หากมีปัญหาเกิดขึ้น ก็มีเครื่องมือที่พร้อมรับมืออยู่แล้ว

 

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน(กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศว่า ที่ประชุมได้สรุปประเด็นความกังวลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมหารือกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านเวทีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ(กรอ.)เร็วๆนี้

 

โดยกกร.เป็นห่วง 4 ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ 1.ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่จะลุกลามไปยังประเทศอื่นมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยในช่วงปลายปี 2554 ที่คาดว่าจะโตไม่ต่ำกว่า 10%โดยทั้ง 2 ตลาดมีสัดส่วนกว่า 10% และยังเป็นตลาดสำคัญอยู่ แม้ว่าไทยจะพยายามหาตลาดในเอเชียเพื่อเข้ามาทดแทนก็ตาม และหากกระทบภาคส่งออกก็จะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)อย่างแน่นอน

 

"เอกชนเป็นห่วงว่าการส่งออกจะลดลง แม้ว่าตอนนี้จะยังดีอยู่ แต่ไตรมาสสุดท้ายไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งจากเศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรปที่มีปัญหาทำให้คำสั่งซื้อ(ออเดอร์)ใหม่ๆมีสัญญาณชะลอตัว เพราะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง การสั่งของก็เลยลดลงตามไปด้วยทำให้เป็นห่วงกันมากว่าส่งออกจะโตได้ 15% หรือไม่" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

 

ประเด็นที่ 2 กกร.มีความเป็นห่วงนโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะการรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้ เพราะทำให้การส่งออกข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

 

ประเด็นที่ 3 นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ที่มีผลต่อต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เมื่อต้นทุนสูงขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว และมีผลต่อการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมให้ด้อยลงรัฐบาลควรให้เวลาภาคเอกชนได้ปรับตัว และมีมาตรการช่วยเหลือ

 

ประเด็นที่ 4 คือการหามาตรการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมว่าจะช่วยเหลือประชาชนอย่างไรบ้าง เพราะน้ำท่วมปีนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนหนักมาก ขณะเดียวกันหลายพื้นที่ทางการเษตรก็เสียหาย ซึ่งจะมีผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรด้วย

 

ด้านนายชาติศิริ โสภณพนิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวยอมรับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป จะมีการผลต่อการขยายตัวของจีดีพีไทยในปี 2555 อย่างแน่นอน และถือเป็นปัจจัยภายนอกที่ต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ ภาพรวมเชื่อว่า เศรษฐกิจคงไม่เลวร้ายเหมือนปี 2551-2552 แต่การฟื้นตัวคงต้องใช้เวลายาวนาน และหวังว่าจะไม่ส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า (วันที่ 4 ตุลาคม 2554)

 

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนส.ค.ของสหรัฐ พุ่งขึ้น 1.4% สู่ระดับ 7.9915 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี จากระดับของเดือนก.ค.ที่ 7.883 แสนล้านดอลลาร์ ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 0.3%

 

อย่างไรก็ตาม ยอดการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 5.114 แสนล้านดอลลาร์ ลดลง 3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่ระดับ 5.273 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐยังคงอ่อนแอ

 

ตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐยังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยก่อนหน้านี้ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผย ดัชนียอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนส.ค.ร่วงลง 1.2% มาอยู่ที่ระดับ 88.6 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.

 

สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตเดือนก.ย.ขยายตัวที่ระดับ 51.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค.ที่ระดับ 50.6 จุด ซึ่งเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 26 และขยายมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะอยู่ที่ 50.5 จุด เพราะได้แรงหนุนจากปริมาณการผลิตและการจ้างงานในภาคการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐเริ่มฟื้นตัวขึ้น

 

รายงานของ ISM ระบุว่า ในบรรดาอุตสาหกรรมทั้ง 18 ประเภทของสหรัฐนั้น อุตสาหกรรม 12 ประเภทรายงานว่ามีการขยายตัวในเดือนก.ย. รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ไม้, ปิโตรเลียมและถ่านหิน, อาหาร, อุปกรณ์การขนส่ง และสินค้าอิเล็กทรอนิก แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอ โลหะ และอุตสาหกรรมอีก 4 ประเภทหดตัวลงในเดือนก.ย.

 

นอกจากนี้ ISM ระบุว่า แม้ดัชนีที่เคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 50 จุดบ่งชี้ว่าภาคการผลิตโดยรวมยังคงมีการขยายตัวได้ดี แต่ผู้ประกอบการในภาคการผลิตส่วนใหญ่ยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ, ปัญหาทางการเมือง, นโยบายที่ไม่แน่นอนของรัฐบาล และอัตราว่างงานที่มีแนวโน้มว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งความกังวลในเรื่องเหล่านี้อาจทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลงในวันข้างหน้า สำนักข่าวซินหัวรายงาน

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีนเปิดเผยว่า ราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงเปิดตลาดวันนี้ปรับตัวสูงขึ้น 90 ดอลลาร์ฮ่องกง แตะระดับ 15,440 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึง

 

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ราคาดังกล่าวเทียบเท่ากับ 1,664.18 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ เพิ่มขึ้น 9.91 ดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ/7.788 ดอลลาร์ฮ่องกงในวันนี้

 

น้ำมันทรุดต่ำสุดในรอบปี-หุ้นมะกันดิ่งหลังลืออเมริกันแอร์ล้มละลาย (04/10/2554)

เอเอฟพี - ราคาน้ำมันนิวยอร์กเมื่อวันจันทร์(3) ดิ่งแรง แตะระดับต่ำสุดในรอบปี จากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นท่ามกลางความกังวลที่ถีบตัวสูงลิ่วต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ขณะที่วอลล์สตรีท ก็ปิดหนักหน่วง หลังข่าวลืออเมริกัน แอร์ไลน์ส อาจยื่นข้อล้มละลายก่อความตื่นตระหนกไปทั่วตลาด

       

       สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน ลดลง 1.59 ดอลลาร์ ปิดที่ 77.61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2010 ส่วนเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดลง 1.05 ดอลลาร์ ปิดที่ 101.71 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

       

       ค่าเงินยูโร ลดลงแตะ 1.3314 ต่อดอลลาร์ ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม ก่อนหน้าการประชุมของคณะรัฐมนตรีคลังยูโรโซน สำหรับตัดสินใจว่ากรีซสมควรจะปล่อยเงินกู้ช่วยเหลืองวดต่อไปจำนวน 8,000 ล้านยูโรหรือไม่ ทั้งนี้เงินงวดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการช่วยเหลือก้อนแรกที่อียูกับไอเอ็มเอฟให้แก่เอเธนส์

       

       เป็นที่คาดหมายกันว่า ถ้าหากไม่ได้รับอนุมัติเงินงวดนี้แล้ว กรีซก็จะตกอยู่ในภาวะไม่มีเงินสำหรับจ่ายเงินเดือนและเงินบำนาญข้าราชการเดือนตุลาคมนี้ทีเดียว

       

       ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯก็ดิ่งลงหนักเมื่อวันจันทร์(3) หลังความกังวลต่อวิกฤตหนี้ยุโรปถูกซ้ำเติมด้วยข่าวลือว่าสายการบินอเมริกัน แอร์ไลนส์ เตรียมยื่นข้อล้มละลาย

       

       หลังขยับในแดนบวกช่วงสั้นจากข้อมูลสำคัญๆที่บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐฯดีกว่าที่คาดหมายไว้ แต่สุดท้ายดัชนีทั้ง 3 ตัวก็ดิ่งอย่างหนักหน่วงจากสองปัจจัยแห่งความตื่นตระหนกข้างต้น

       

       ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ ลดลง 258.15 จุด (2.37 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 10,655.23 จุด แนสแดค ลดลง 79.57 จุด (3.29 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,335.83 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 32.22 จุด (2.85 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,099.20 จุด

       

       หุ้นของ AMR CORP บริษัทแม่ของสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ส สูญเสียมูลค่าตลาดถึง 1 ใน 3 หลังมีข่าวลือว่าสายการบินแห่งนี้ซึ่งมีภาระหนี้สินหนักหน่วงและมีอัตราการเติบโตอย่างเฉื่อยชาอาจต้องยื่นขอล้มละลาย

       

       นักวิเคราะห์รายหนึ่งบอกว่าแรงเทขายมีขึ้นหลังจากพบข้อมูลว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีจำนวนนักบินของเกษียณอายุมากผิดปกติ ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือตามมาว่าเหล่านักบินพยายามขายหุ้นของตนเองจากความวิตกว่าทางสายการบินอาจไปไม่รอด

       

       "มีข่าวลือหนาหูว่าพวกเขาพยายามขายหุ้นของตนเองเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนหน้าที่บริษัทจะผจญปัญหาทางการเงินเพิ่มเติมและต้องยื่นข้อล้มละลาย" นักวิเคราะห์กล่าว

       

       เขาบอกต่อว่ามีนักบินถึง 200 คนที่ยื่นใบลาออกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นับเป็นอัตราที่น่าตกใจอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยปกติที่มีเพียง 12 คนต่อเดือนเท่านั้น ขณะที่นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หุ้นของ AMR ปรับลดลงไปแล้วถึงร้อยละ 76 เลยทีเดียว

 

ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ (วันที่ 4 ตุลาคม 2554)

 

 

 

กรุงเทพฯ 3 ต.ค.– พีทีทีเออาร์-ไทยออยล์ คาดโรงกลั่นสิงคโปร์ 5 แสนบาร์เรล/วัน ที่เกิดเพลิงไหม้และหยุดกลั่นชั่วคราวจะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปขยับสูงขึ้น

 

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น หรือพีทีทีเออาร์ กล่าวว่าจากที่โรงกลั่นฯ สิงคโปร์เกิดปัญหาไฟไหม้เมื่อวันที่ 28 ก.ย. และเพิ่งจะประกาศหยุดการกลั่นชั่วคราว หากมีการหยุดกลั่นยาวนานก็จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปให้สูงขึ้นไปด้วย แต่จากที่ราคาน้ำมันดิบโลกปรับลดลง เพราะหวั่นปัญหาหนี้สินของยุโรปและสหรัฐ จึงทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงตามไปด้วย โดยลดจากปิดเมื่อวันศุกร์ที่ประมาณ 102 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล มาอยู่ที่ประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปไม่ได้ปรับลดลง จึงทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบและสำเร็จปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 18-20 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

 

"ล่าสุดโรงกลั่นดังกล่าวแจ้งว่า กำลังกลั่นจะหายไป 3 แสนบาร์เรล/วัน จาก 5 แสนบาร์เรล/วัน และหยุดกลั่นนาน 1 เดือน ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีผลต่อราคาในเอเชียให้สูงขึ้น" นายบวร กล่าว

 

นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ ผู้จัดการวางแผนพาณิชย์องค์กร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน).กล่าวว่า จากการปิดโรงกลั่นในสิงคโปร์ชั่วคราวและกำลังผลิตสูงมาก ในขณะที่ความต้องการน้ำมันดีเซลในเอเชียยังคงพุ่งสูงอยู่ ดังนั้น คาดว่าในสัปดาห์นี้จะมีผลต่อราคาสำเร็จรูปในสิงคโปร์ให้ปรับสูงขึ้นไปอีก และจะมีต่อราคาในไทยตามมา.

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย (วันที่ 3 ตุลาคม 2554)

 

ถูกแก้ไข โดย เด็กขายของ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เอเอฟพี - สมาชิกชาติยูโรโซนเมื่อวันจันทร์(3) เลื่อนตัดสินในว่าจะให้เงินช่วยเหลือก้อนต่อไปแก่กรีซหรือไม่ โดยโยนให้กลับไปรัดเข็มขัดเพิ่มเติม แต่ปฏิเสธหนักแน่นถึงความเป็นไปได้ที่เอเธนส์จะผิดนัดชำระหนี้

       

       ฌอง-โคลด จุงก์เกอร์ ประธานยูโรโซนแถลงหลังการหารือของบรรดารัฐมนตรีคลังจากพวกประเทศยูโรโซนที่ลักเซมเบิร์กว่าพันธมิตรยูโรโซนได้ร้องขอรัฐบาลกรีซดำเนินการรับประกันว่าจะมีมาตรการประหยัดรายจ่ายมากขึ้นในปี 2013 และ 2014

       

       ซึ่งนั่นจะนำไปสู่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายที่ชัดเจนให้ทันเส้นตายเดือนตุลาคม เพราะว่ากรีซบอกว่าตอนนี้ยังไม่ต้องการเงินกู้ช่วยเหลืองวดต่อไปจำนวน 8,000 ล้านยูโรไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน

       

       นอกจากนี้ จุงก์เกอร์ ยังปฏิเสธอย่างหนักแน่นต่อข่าวลือใดๆที่ระบุว่ากรีซจะได้รับอนุญาตให้พักชำระนี้ พร้อมเรียกร้องกรีซสำหรับผ่านร่างงบประมาณปี 2012 ฉบับใหม่และบังคับใช้โดยด่วน รวมถึงมาตรการรัดเข็มขัดพิเศษต่างๆในปีถัดๆไป ที่ทางรัฐบาลเอเธนส์มีกำหนดลงมติฉบับแก้ไขในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

       

       จุงก์เกอร์ บอกว่าประเด็นความกัวลหลักอื่น กรณีที่สโลวาเกีย ยับยั้งการอนุมัติปรับเปลี่ยนเงื่อนไขกองทุนช่วยเหลือของยูโรโซนนั้น ล่าสุดสามารถข้ามผ่านอุปสรรคนี้ได้แล้ว หลังมีการเจรจากับนายกรัฐมนตรีสโลวาเกีย

       

       เมื่อถามว่าเขามั่นใจหรือไม่ว่า สโลวาเกีย จะไม่โหวตขวางแผนดังกล่าว ขณะที่มอลตาและเนเธอร์แลนด์ก็เป็นอีก 2 ชาติที่ยังไม่เห็นชอบข้อตกลงเมื่อเดือนกรกฎาคมนี้ จุงก์เกอร์ ตอบอย่างหนักแน่นว่า "แน่นอน"

 

ตลาดผวาไม่แคล้ว'ผิดนัดชำระหนี้'กรีซ'รับ'ไม่อาจลดขาดดุลตามเป้า (04/10/2554)

เอเจนซี - ตลาดหลักทรัพย์พากันดิ่งร่วงเมื่อวันจันทร์(3) จากการที่รัฐบาลกรีซยอมรับว่าจะไม่สามารถทำตามเป้าหมายตัดลดการขาดดุลของปีนี้ได้ ซึ่งทำให้เกิดความสงสัยและหวั่นผวาขึ้นมาใหม่ว่า แม้กระทั่งแผนการที่นานาชาติจะปล่อยเงินกู้ช่วยเหลือเป็นก้อนที่สอง ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะดึงรั้งไม่ให้เอเธนส์ตกลงสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้

       

       กระแสข่าวอันมืดมนจากเอเธนส์เช่นนี้ คาดกันว่าจะเป็นประเด็นอภิปรายอันสำคัญ ในการหารือของบรรดารัฐมนตรีคลังจากพวกประเทศยูโรโซนที่ลักเซมเบิร์ก ตอนช่วงบ่ายวานนี้ (ตรงกับช่วงดึก ตามเวลาเมืองไทย) โดยที่ขุนคลังเหล่านี้กำลังพยายามตกลงกันเกี่ยวกับขั้นตอนต่อๆไป ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะของยูโรโซน ซึ่งกรีซคือประเทศที่เผชิญวิกฤตหนักหน่วงที่สุดในเวลานี้

       

       จากร่างงบประมาณประจำปีที่รัฐบาลกรีซยื่นต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์(3) โดยที่เป็นรายงานข่าวจากแหล่งข่าวกันตั้งแต่วันอาทิตย์(2) แสดงให้เห็นว่า การขาดดุลงบประมาณในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 8.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งสูงกว่าตัวเลข 7.6% ที่กรีซได้ตกลงเอาไว้ในแผนการกอบกู้ช่วยเหลือก้อนแรกที่ตกลงเอาไว้กับสหภาพยุโรป(อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)

       

       แต่สำหรับงบประมาณปี 2012 รัฐมนตรีคลัง อีแวนเจลอส เวนิเซลอส ของกรีซออกคำแถลงระบุว่า จะสามารถทำตามเป้าหมายต่างๆ ทางการคลังได้ โดยที่ก่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามพันธกรณี กรีซจะได้เปรียบดุลงบประมาณเป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ ปีด้วยซ้ำ

       

       รัฐบาลกรีซระบุว่า ปีงบประมาณ 2012 จะยังต้องขาดดุลเท่ากับ 6.8% ของจีดีพี สูงกว่าเล็กน้อยจากเป้าหมาย 6.5% ซึ่งได้ตกลงไว้กับอียู/ไอเอ็มเอฟ สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากเศรษฐกิจของกรีซจะหดตัวลงมาอีก 2.5% หลังจากที่ได้ถอยลงมาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 5.5% ในปี 2011

       

       ทว่าการที่เศรษฐกิจของกรีซจะต้องประสบภาวะถดถอยหนักหนาสาหัสกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ ย่อมหมายความเช่นกันว่า จะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศเท่ากับ 161.8% ของจีดีพีในปีนี้ และเพิ่มขึ้นเป็น 172.7% ในปีหน้า ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงสุดในบรรดาชาติยุโรปทั้งหมด และทิ้งอันดับสองอย่างห่างไกลด้วย

       

       เวลานี้ คณะผู้ตรวจสอบจาก “ทรอยกา” 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย อียู, ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี), และไอเอ็มเอฟ กำลังอยู่ในกรุงเอเธนส์ เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าสมควรจะปล่อยเงินกู้ช่วยเหลืองวดต่อไปจำนวน 8,000 ล้านยูโรหรือไม่ ทั้งนี้ เงินงวดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการช่วยเหลือก้อนแรกที่อียู/ไอเอ็มเอฟให้แก่กรีซ เป็นที่คาดหมายกันว่า ถ้าหากไม่ได้รับอนุมัติเงินงวดนี้แล้ว กรีซก็จะตกอยู่ในภาวะไม่มีเงินสำหรับจ่ายเงินเดือนและเงินบำนาญข้าราชการเดือนตุลาคมนี้ทีเดียว

       

       รัฐมนตรีช่วยว่าการคลัง ปันเตลิส โออิโคโนโมอู แถลงในตอนเช้าวันจันทร์(3) ว่า คณะทรอยกา ได้ทำการตรวจสอบและเจรจากับเอเธนส์เสร็จสิ้นแล้ว อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวรายหนึ่งที่คุ้นเคยกับการทำงานของทรอยกา บอกกับรอยเตอร์ว่า อันที่จริงแล้วการเจรจายังคงไม่ยุติ และทรอยกายังคงทำการตรวจสอบทั้งตัวเลขงบประมาณ และการปฏิรูปอื่นๆ ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขให้กรีซต้องกระทำ เพื่อให้ได้รับเงินกู้งวดต่อไป

       

       ในการหารือวานนี้ บรรดารัฐมนตรีคลัง 17 ชาติสมาชิกยูโรโซน จะยังไม่ตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ดังกล่าวแก่กรีซ เนื่องจากต้องรอรายงานของทรอยกาก่อน โดยที่พวกเขาได้กำหนดจัดการประชุมนัดพิเศษขึ้นในวันที่ 13 เดือนนี้ เพื่อตัดสินใจเรื่องนี้กันต่อไป

       

       การออกมายอมรับของรัฐบาลกรีซว่าไม่สามารถทำตามเป้าหมายลดการขาดดุลในปีนี้ได้ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แถบเอเชียวานนี้พากันไหลรูด โดยที่ฮ่องกงดิ่งลงถึง 4.38% ส่วนโตเกียวติดลบ 1.78% นอกจากนั้นยังทำให้ช่วงเปิดตลาดแถบยุโรปร่วงเป็นแถวเช่นกัน เป็นต้นว่าแฟรงเฟิร์ตหล่นลงมาราว 3% ส่วนลอนดอน และปารีส ติดลบระดับ 2%

       

       โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หุ้นของพวกธนาคารในยุโรปดำดิ่งสาหัสเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความวิตกกันว่า แบงก์เหล่านี้ซึ่งเป็นพวกที่เข้าไปซื้อพันธบัตรกรีซเอาไว้มาก อาจถูกบีบบังคับให้ต้องยอมรับการขาดทุนหนักหน่วงยิ่งขึ้นกว่าแผนการช่วยเหลือกรีซก้อนที่ 2 ซึ่งอียูได้เคยตกลงในหลักการกันเอาไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม

       

       ในแผนการคราวนั้น ภาคเอกชนที่ถือพันธบัตรกรีซ ในทางปฏิบัติแล้วได้ยินยอมที่จะลดหนี้ให้เอเธนส์ประมาณ 21% อย่างไรก็ตาม เวลานี้เมื่อเศรษฐกิจของกรีซย่ำแย่กว่าที่เคยคาดหมายกันไว้ และอียู/ไอเอ็มเอฟอาจต้องเพิ่มยอดความช่วยเหลือตามแผน 2 ก็มีเสียงเรียกร้องว่า ภาคเอกชนที่เป็นเจ้าหนี้พันธบัตรกรีซ ควรจะต้องยอมลดหนี้มากขึ้นอีก อาจจะสูงถึง 50% ทีเดียว

 

 

 

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ (วันที่ 4 ตุลาคม 2554)

 

ถูกแก้ไข โดย เด็กขายของ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เงินบาทเปิด 31.25/27 แนวโน้มอ่อนค่าต่อ นลท.ยังวิตกปัญหาหนี้กรีซ (04/10/2554)

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 31.25/27 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.19/26 บาท/ดอลลาร์

 

แนวโน้มเงินบาทวันนี้ยังมีโอกาสอ่อนค่าลงต่อ เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลกับปัจจัยเดิม คือ ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซ ซึ่งรัฐบาลกรีซได้ออกมายอมรับแล้วว่าไม่สามารถปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณลงได้ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยก็ยังคงร่วงแรง ซึ่งมีผลมาจากปัจจัยเรื่องกรีซเช่นกัน

 

"ปัญหาหลักๆ ก็ยังเป็นตัวเดิม คือ กรีซ ที่ออกมาพูดว่าเขาไม่สามารถลดยอดขาดดุลงบประมาณได้" โบรกเกอร์ ระบุ

 

ส่วนความเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลหลักต่างประเทศช่วงเปิดตลาดเช้านี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 76.71/73 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3214/3215 ดอลลาร์/ยูโร

 

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.10-31.40 บาท/ดอลลาร์

 

ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (วันที่ 4 ตุลาคม 2554)

 

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

รัฐบาลหลายประเทศที่ประสบปัญหาดุลการคลัง โดยเฉพาะประเทศที่เข้าขั้นต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ตระหนักดีว่า

 

หนึ่งในมาตรการที่มักจะต้องนำมาใช้เพื่อหารายได้เพิ่มอย่างเร่งด่วน ก็คือการขายสินทรัพย์ของรัฐให้กับต่างชาติหรือภาคเอกชน เช่นที่รัฐบาลกรีซกำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ และแม้แต่สหรัฐอเมริกา มหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นไข้จากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ถึงไม่ได้เจ็บหนักขนาดที่ต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ แต่ก็กำลังดิ้นรนทุกวิถีทางที่จะแก้ไขปัญหาหนี้และการขาดดุลก้อนมหึมา โดยยอมหันมาใช้มาตรการเฉือนสินทรัพย์ของรัฐขายให้กับเอกชนเพื่อเสริมรายได้และคลี่คลายปัญหาการขาดดุลที่กำลังรุมเร้าอยู่เช่นกัน

 

รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัก โอบามา มีข้อเสนอมาตรการเพิ่มรายได้และลดการขาดดุลมาตรการหนึ่งซึ่งได้รับการสนับสนุนทั้งจากพรรคเดโมแครตของรัฐบาลเองและพรรครีพับลิกันที่เป็นฝ่ายค้าน นั่นคือการขายสินทรัพย์ของรัฐ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เกาะแก่ง อาคารสถานที่ สนามบิน ที่ไม่ได้มีการใช้งานหรือใช้งานน้อย ไม่คุ้มค่าดูแลรักษา ไปจนถึงยานพาหนะ ถนน ที่ดิน หรือแม้กระทั่งคลื่นสัญญาณโทรทัศน์ โดยขณะนี้มีการเปิดเผยออกมาบ้างแล้วว่าจะเป็นอะไรและที่ใดบ้าง ยกตัวอย่าง เกาะพลัม (Plum Island) ในรัฐนิวยอร์ก ซึ่งตั้งอยู่ด้านเหนือของลองไอส์แลนด์ ขณะนี้กำลังจะถูกเสนอขาย โดยในประกาศขายมีข้อความระบุว่า "ที่ดิน 840 เอเคอร์ มีหาดทราย วิวดี และท่าเรือ" ในอดีตที่นี่เป็นที่ตั้งของศูนย์ควบคุมโรคสัตว์ของรัฐบาลกลาง

 

 

 

นอกจากเกาะพลัมแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯยังมีสินทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ในครอบครองอีกกว่า 1 ล้านรายการ ซึ่งเชื่อว่าจะทำรายได้มหาศาล แม้แต่นักการเมืองหัวอนุรักษนิยม เช่น พอล ไรอัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครตจากรัฐวิสคอนซิน ประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณสภาผู้แทนราษฎร ยังให้การสนับสนุนแนวความคิดดังกล่าว สมาชิกพรรคเดโมแครตจำนวนมากเห็นด้วยกับแนวคิดการหารายได้เข้ารัฐเพิ่มโดยไม่ต้องเจ็บปวดหรือส่งผลกระทบมากนัก ขณะที่ส.ส. พรรครีพับลิกันฝ่ายค้าน เจฟ เด็นแฮม จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีแนวคิดเชิงอนุรักษนิยมเช่นกันและมักออกเสียงคัดค้านข้อเสนอใดๆของโอบามามาโดยตลอด ยังให้ความเห็นว่า เป็นไปได้ที่สองพรรคจะมีความคิดเห็นตรงกันและตกลงกันได้ในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับนายจอน ไคล์ วุฒิสมาชิกจากรัฐแอริโซนา พรรครีพับลิกัน สมาชิกคณะกรรมการพิเศษสภาคองเกรส ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลมาตรการลดการขาดดุลงบประมาณ ที่ให้ความเห็นว่า การขายสินทรัพย์ภาครัฐเป็นหนึ่งในมาตรการที่คณะกรรมาธิการอาจจะตกลงกันได้

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการนำร่างข้อเสนอการขายสินทรัพย์ต่างๆของรัฐเข้าสู่รัฐสภาเพื่อขอการอนุมัติอย่างเป็นทางการ และทุกฝ่ายต่างก็ตระหนักดีว่า รายได้จากการขายสินทรัพย์ของรัฐให้เอกชนเพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาการขาดดุลที่มีอยู่ และถึงแม้สภาคองเกรสจะให้การอนุมัติ ก็ยังมีอุปสรรคในทางขั้นตอนและกระบวนการดำเนินการรออยู่อีกมาก

 

ทำเนียบขาวประเมินว่า ภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า รัฐบาลสหรัฐฯจะระดมทุนจากการขายสินทรัพย์ได้ประมาณ 22,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 6.6 แสนล้านบาท แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับตัวเลขดังกล่าวว่ามากเกินไปหรือเปล่า แต่รัฐบาลก็เล็งว่า กว่า 80% ของมูลค่าดังกล่าวจะมาจากการประมูลสัญญาณโทรคมนาคมซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้ในการแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ แต่รัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาสนับสนุนให้นำมาใช้สำหรับการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง (ไวร์เลส บรอดแบนด์)ในสัดส่วนมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทั้งสองพรรค รวมทั้งคณะกรรมาธิการการโทรคมนาคมของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ต่างก็ให้ความสนับสนุน อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่าข้อเสนอดังกล่าวนี้อาจพบอุปสรรคหรือถูกคัดค้านอย่างหนักจากบรรดาสถานีโทรทัศน์ซึ่งเป็นนักวิ่งเต้นผู้ทรงอิทธิพล

 

นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขประมาณการว่า รายได้อีกราว 4,000 ล้านดอลลาร์ จะมาจากการขายอาคารและที่ดิน ยกตัวอย่าง กระทรวงกลาโหม (เพนตากอน) และการไปรษณีย์กลาง ที่สร้างรายได้ในรูปเงินสดเข้าองค์กรเพิ่มมากขึ้นจากการขายอาคารหลายแห่งที่มีในครอบครอง สำนักงบประมาณสภาคองเกรสเปิดเผยว่า ภายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมขายที่ตั้งกองทัพที่ถูกปิดตัวไปแล้ว 350 แห่ง สร้างรายได้ทั้งสิ้น 1,500 ล้านดอลลาร์ ส่วนการไปรษณีย์กลางสหรัฐฯ เฉพาะในปี 2553 เพียงปีเดียว มีรายได้เพิ่มถึง 180 ล้านดอลลาร์ จากการขายหรือให้เช่าอาคารสถานที่ที่มีในครอบครอง นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่า มีแผนปิดหรือรวมที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศอีกราว 3,653 แห่ง ข่าวระบุว่าในอดีตเมื่อปี 2546 ไปรษณีย์กลางสหรัฐฯ ประกาศขายอาคารที่ทำการไปรษณีย์ซึ่งเป็นอาคารประวัติศาสตร์ในย่านมิดทาวน์ แมนฮัตตัน ได้เงินมา 230 ล้านดอลลาร์ โดยผู้ซื้อคือรัฐบาลรัฐนิวยอร์กเพื่อนำไปปรับปรุงเป็นสถานีรถไฟ

 

สำหรับสินทรัพย์สำคัญๆ ที่เล็งกันว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจประกาศขายเพื่อหารายได้เข้าคลังนั้น ได้แก่ สนามบินมอฟเฟ็ต เฟดเดอรัล แอร์ฟีลด์ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆเมืองซานฟรานซิสโก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งหน่วยงานหนึ่งขององค์การนาซา และเปิดพื้นที่บางส่วนให้เอกชนเข้ามาเช่าเป็นพื้นที่จอดเครื่องบินส่วนตัว ลูกค้ารายหนึ่งได้แก่ผู้ก่อตั้งบริษัทกูเกิลฯ ซึ่งมาขอเช่าพื้นที่เพื่อจอดเครื่องบินส่วนตัว 3 ลำ ชำระค่าเช่าปีละ 1.3 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ เป็นที่คาดหมายว่า สนามบินมอฟเฟ็ตที่ถูกเล็งขายมานานแห่งนี้อาจสร้างรายได้ให้รัฐบาลสหรัฐฯ หลายล้านดอลลาร์

 

เดอะ นิวยอร์กไทม์ส ระบุว่า การขายสินทรัพย์ของรัฐบาลมักมีอุปสรรคในแง่กระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การประมูลขายสัญญาณโทรคมนาคม ต้องผ่านการเห็นชอบจากสภาคองเกรส หรือการขายอาคารสถานที่ก็ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้น ซึ่งรวมถึงการให้หน่วยงานอื่นร่วมพิจารณาว่า ต้องการใช้อาคารนั้นหรือไม่ หรืออาจมีบางหน่วยงานแย้งว่าควรนำอาคารที่จะขายไปทำสถานพักพิงชั่วคราวสำหรับคนยากจนที่ไร้บ้านพักอาศัย หรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์อื่นๆ

 

ขณะนี้มีร่างกฎหมายสองฉบับที่เตรียมนำเสนอสู่รัฐสภาสหรัฐฯ เกี่ยวกับการเสนอขายสินทรัพย์ของรัฐบาลเพื่อสร้างรายได้ ทั้งสองร่างกฎหมายเน้นการกระชับกระบวนการขายให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะเหมือนกับที่กระทรวงกลาโหมมีคณะกรรมการดูแลการปิดฐานทัพที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานอีกต่อไป ทั้งสองร่างกฎหมายนี้คล้ายกันกับแนวคิดที่ประธานาธิบดีโอบามานำเสนอต่อสภาคองเกรสในร่างงบประมาณปี 2012 ซึ่งในตอนที่นำเสนอครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วนั้น มีรายการสินทรัพย์ที่ถูกเสนอเพื่อขายมากกว่า 12,000 แห่ง แต่พร้อมที่จะขายจริงๆเพียงประมาณ 1% และก็มีหลายสินทรัพย์ที่มีผู้ต้องการซื้อเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่อยู่ในรายการที่ถูกเสนอชื่อขาย เช่น พื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของศูนย์การแพทย์ในลอสแองเจลีสฝั่งตะวันตก

 

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้แรงกดดันจากปัญหาการขาดดุลมีมากขึ้นและรัฐบาลสหรัฐฯก็ต้องการทำทุกวิถีทางที่จะแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลทางการคลัง พร้อมกับผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เชื่อว่านักลงทุนทั้งในและนอกสหรัฐฯ คงต้องตั้งตารอคอยฟังข่าวดีว่าสินทรัพย์ชิ้นงามของรัฐบาลอเมริกันอาจถูกนำมาประกาศขายในเร็ววัน

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,675 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ตลาดผวาไม่แคล้ว'ผิดนัดชำระหนี้'กรีซ'รับ'ไม่อาจลดขาดดุลตามเป้า

 

เอเจนซี - ตลาดหลักทรัพย์พากันดิ่งร่วงเมื่อวันจันทร์(3) จากการที่รัฐบาลกรีซยอมรับว่าจะไม่สามารถทำตามเป้าหมายตัดลดการขาดดุลของปีนี้ได้ ซึ่งทำให้เกิดความสงสัยและหวั่นผวาขึ้นมาใหม่ว่า แม้กระทั่งแผนการที่นานาชาติจะปล่อยเงินกู้ช่วยเหลือเป็นก้อนที่สอง ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะดึงรั้งไม่ให้เอเธนส์ตกลงสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้

 

กระแสข่าวอันมืดมนจากเอเธนส์เช่นนี้ คาดกันว่าจะเป็นประเด็นอภิปรายอันสำคัญ ในการหารือของบรรดารัฐมนตรีคลังจากพวกประเทศยูโรโซนที่ลักเซมเบิร์ก ตอนช่วงบ่ายวานนี้ (ตรงกับช่วงดึก ตามเวลาเมืองไทย) โดยที่ขุนคลังเหล่านี้กำลังพยายามตกลงกันเกี่ยวกับขั้นตอนต่อๆไป ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะของยูโรโซน ซึ่งกรีซคือประเทศที่เผชิญวิกฤตหนักหน่วงที่สุดในเวลานี้

 

จากร่างงบประมาณประจำปีที่รัฐบาลกรีซยื่นต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์(3) โดยที่เป็นรายงานข่าวจากแหล่งข่าวกันตั้งแต่วันอาทิตย์(2) แสดงให้เห็นว่า การขาดดุลงบประมาณในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 8.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งสูงกว่าตัวเลข 7.6% ที่กรีซได้ตกลงเอาไว้ในแผนการกอบกู้ช่วยเหลือก้อนแรกที่ตกลงเอาไว้กับสหภาพยุโรป(อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)

 

แต่สำหรับงบประมาณปี 2012 รัฐมนตรีคลัง อีแวนเจลอส เวนิเซลอส ของกรีซออกคำแถลงระบุว่า จะสามารถทำตามเป้าหมายต่างๆ ทางการคลังได้ โดยที่ก่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามพันธกรณี กรีซจะได้เปรียบดุลงบประมาณเป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ ปีด้วยซ้ำ

 

รัฐบาลกรีซระบุว่า ปีงบประมาณ 2012 จะยังต้องขาดดุลเท่ากับ 6.8% ของจีดีพี สูงกว่าเล็กน้อยจากเป้าหมาย 6.5% ซึ่งได้ตกลงไว้กับอียู/ไอเอ็มเอฟ สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากเศรษฐกิจของกรีซจะหดตัวลงมาอีก 2.5% หลังจากที่ได้ถอยลงมาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 5.5% ในปี 2011

 

ทว่าการที่เศรษฐกิจของกรีซจะต้องประสบภาวะถดถอยหนักหนาสาหัสกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ ย่อมหมายความเช่นกันว่า จะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศเท่ากับ 161.8% ของจีดีพีในปีนี้ และเพิ่มขึ้นเป็น 172.7% ในปีหน้า ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงสุดในบรรดาชาติยุโรปทั้งหมด และทิ้งอันดับสองอย่างห่างไกลด้วย

 

เวลานี้ คณะผู้ตรวจสอบจาก “ทรอยกา” 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย อียู, ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี), และไอเอ็มเอฟ กำลังอยู่ในกรุงเอเธนส์ เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าสมควรจะปล่อยเงินกู้ช่วยเหลืองวดต่อไปจำนวน 8,000 ล้านยูโรหรือไม่ ทั้งนี้ เงินงวดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการช่วยเหลือก้อนแรกที่อียู/ไอเอ็มเอฟให้แก่กรีซ เป็นที่คาดหมายกันว่า ถ้าหากไม่ได้รับอนุมัติเงินงวดนี้แล้ว กรีซก็จะตกอยู่ในภาวะไม่มีเงินสำหรับจ่ายเงินเดือนและเงินบำนาญข้าราชการเดือนตุลาคมนี้ทีเดียว

 

รัฐมนตรีช่วยว่าการคลัง ปันเตลิส โออิโคโนโมอู แถลงในตอนเช้าวันจันทร์(3) ว่า คณะทรอยกา ได้ทำการตรวจสอบและเจรจากับเอเธนส์เสร็จสิ้นแล้ว อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวรายหนึ่งที่คุ้นเคยกับการทำงานของทรอยกา บอกกับรอยเตอร์ว่า อันที่จริงแล้วการเจรจายังคงไม่ยุติ และทรอยกายังคงทำการตรวจสอบทั้งตัวเลขงบประมาณ และการปฏิรูปอื่นๆ ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขให้กรีซต้องกระทำ เพื่อให้ได้รับเงินกู้งวดต่อไป

 

ในการหารือวานนี้ บรรดารัฐมนตรีคลัง 17 ชาติสมาชิกยูโรโซน จะยังไม่ตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ดังกล่าวแก่กรีซ เนื่องจากต้องรอรายงานของทรอยกาก่อน โดยที่พวกเขาได้กำหนดจัดการประชุมนัดพิเศษขึ้นในวันที่ 13 เดือนนี้ เพื่อตัดสินใจเรื่องนี้กันต่อไป

 

การออกมายอมรับของรัฐบาลกรีซว่าไม่สามารถทำตามเป้าหมายลดการขาดดุลในปีนี้ได้ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แถบเอเชียวานนี้พากันไหลรูด โดยที่ฮ่องกงดิ่งลงถึง 4.38% ส่วนโตเกียวติดลบ 1.78% นอกจากนั้นยังทำให้ช่วงเปิดตลาดแถบยุโรปร่วงเป็นแถวเช่นกัน เป็นต้นว่าแฟรงเฟิร์ตหล่นลงมาราว 3% ส่วนลอนดอน และปารีส ติดลบระดับ 2%

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หุ้นของพวกธนาคารในยุโรปดำดิ่งสาหัสเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความวิตกกันว่า แบงก์เหล่านี้ซึ่งเป็นพวกที่เข้าไปซื้อพันธบัตรกรีซเอาไว้มาก อาจถูกบีบบังคับให้ต้องยอมรับการขาดทุนหนักหน่วงยิ่งขึ้นกว่าแผนการช่วยเหลือกรีซก้อนที่ 2 ซึ่งอียูได้เคยตกลงในหลักการกันเอาไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม

 

ในแผนการคราวนั้น ภาคเอกชนที่ถือพันธบัตรกรีซ ในทางปฏิบัติแล้วได้ยินยอมที่จะลดหนี้ให้เอเธนส์ประมาณ 21% อย่างไรก็ตาม เวลานี้เมื่อเศรษฐกิจของกรีซย่ำแย่กว่าที่เคยคาดหมายกันไว้ และอียู/ไอเอ็มเอฟอาจต้องเพิ่มยอดความช่วยเหลือตามแผน 2 ก็มีเสียงเรียกร้องว่า ภาคเอกชนที่เป็นเจ้าหนี้พันธบัตรกรีซ ควรจะต้องยอมลดหนี้มากขึ้นอีก อาจจะสูงถึง 50% ทีเดียว

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองคำพุ่ง $35.4 เหตุวิตกหนี้กรีซหนุนแรงซื้อทอง

 

 

 

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- อังคารที่ 4 ตุลาคม 2554 06:36:48 น.

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแข็งแกร่งเมื่อคืนนี้ (3 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนแห่เข้าซื้อทองคำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน หลังจากกระทรวงการคลังกรีซยอมรับว่า กรีซอาจจะพลาดเป้าหมายการลดยอดขาดดุลงบประมาณทั้งในปีนี้และปีหน้า

 

 

 

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.พุ่งขึ้น 35.4 ดอลลาร์ หรือ 2.2% ปิดที่ 1,657.7 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 1,620.00-1,667.00 ดอลลาร์

 

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค.พุ่งขึ้น 71.20 เซนต์ ปิดที่ 30.795 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาทองแดงส่งมอบเดือนธ.ค.ลดลง 0.15 เซนต์ ปิดที่ 3.1505 ดอลลาร์/ปอนด์

 

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค.ร่วงลง 6.50 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,517.10 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค.ร่วงลง 20.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 593.75 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นักลงทุนแห่เข้าซื้อทองคำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน หลังจากนายจอร์จ ปาปันเดรอู นายกรัฐมนตรีกรีซยอมรับว่า กรีซอาจจะไม่สามารถลดยอดขาดดุลงบประมาณลงมาอยู่ที่ระดับ 7.6% ของจีดีพีได้ในปี 2554-2555 ตามที่ได้ตกลงไว้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไอเอ็มเอฟ/อียูกำหนดว่ากรีซจะต้องทำให้ได้ก่อนที่จะได้รับเงินช่วยเหลือรอบสอง

 

เทรดเดอร์กล่าวว่า การที่กรีซยอมรับว่าอาจจะพลาดเป้าหมายการลดยอดขาดดุลในปีนี้และปีหน้าได้จุดปะทุให้นักลงทุนกระหน่ำขายสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงหุ้น และหันเข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยอย่างทองคำ นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำด้วยเหตุผลที่ว่า การผิดนัดชำระหนี้ของกรีซอาจจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบการเงินทั่วโลก

 

นักลงทุนบางกลุ่มเข้าซื้อทองคำเพราะเชื่อว่า ทองคำมีมูลค่าสูงกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นๆในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังเผชิญกับความผันผวน นอกจากนี้ การที่สัญญาทองคำเข้าสู่ระยะพักฐานในช่วงเวลาที่ผ่านมา ยังกระตุ้นให้นักลงทุนกลับเข้ามาช้อนซื้อเก็งกำไรด้วย

 

--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรร่วงหนัก จากข่าวกรีซพลาดเป้าลดขาดดุลงบประมาณ

 

 

 

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- อังคารที่ 4 ตุลาคม 2554 06:51:05 น.

สกุลเงินยูโรร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 8 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่ากรีซอาจจะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้และอาจจะไม่ได้รับเงินกู้เบิกจ่ายงวดต่อไป หลังจากกระทรวงการคลังกรีซออกแถลงการณ์ยอมรับว่า กรีซมีแนวโน้มที่จะพลาดเป้าหมายการลดยอดขาดดุลงบประมาณทั้งในปีนี้และปีหน้า ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการร่วงลงของตลาดหุ้นและการวิกฤตหนี้ยุโรปได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์เพื่อความปลอดภัย

 

 

 

ค่าเงินยูโรร่วงลง 1.52% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.3181 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.3384 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ร่วงลง 0.90% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.5442 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5582 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐดิ่งลง 0.51% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 76.650 เยน จากระดับ 77.040 เยน แต่พุ่งขึ้น 1.38% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9204 ฟรังค์ จากระดับ 0.9079 ฟรังค์

 

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 1.38% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.9525 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.9658 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 1.00% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7527 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7603 ดอลลาร์สหรัฐ

 

สกุลเงินยูโรดิ่งลงอย่างหนักหลังจากรัฐบาลกรีซยอมรับว่าอาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดยอดขาดดุลงบประมาณ 2554-2555 ตามที่ได้ตกลงไว้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสหภาพยุโรป (อียู) โดยคาดว่ายอดขาดดุลงบประมาณในปี 2554 จะอยู่ที่ 8.5% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 7.6% ของจีดีพี และแม้ว่ายอดขาดดุลงบประมาณปี 2555 มีแนวโน้มจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 6.8% ของจีดีพี แต่ก็ยังสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 6.5% ของจีดีพี และสวนทางกับที่คาดการณ์ไว้ว่ารัฐบาลจะมียอดเกินดุลงบประมาณ 1.5% ของจีดีพี

 

นักลงทุนกังวลว่ากรีซอาจจะผิดนัดชำระหนี้และอาจจะไม่ได้รับเงินกู้เบิกจ่ายงวดที่ 6 จากไอเอ็มเอฟและอียู เนื่องจากไอเอ็มเอฟ/อียูกำหนดว่ากรีซจะต้องลดยอดขาดดุลงบประมาณลงเหลือ 7.6% ของจีดีพีทั้งปีนี้และปีหน้า จึงจะสามารถรับเงินช่วยเหลือรอบที่สอง

 

สกุลเงินยูโรได้รับแรงกดดันมากขึ้นเมื่อมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิสประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารเด็กเซีย ซึ่งเป็นธนาคารสัญชาติฝรั่งเศส-เบลเยี่ยม โดยมีแนวโน้มปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ อันเนื่องมาจากความวิตกเกี่ยวกับฐานะสภาพคล่องของธนาคารเด็กเซีย

 

นักวิเคราะห์กังวลว่า การผิดนัดชำระหนี้ของกรีซอาจจะสร้างความเสียหายต่อระบบการเงินทั่วโลก และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งใหม่ โดยคาดว่าภาคธนาคารทั้งในฝรั่งเศสและเยอรมนีจะได้รับผลกระทบหนักสุด เนื่องจากธนาคารของทั้งสองประเทศถือครองพันธบัตรของรัฐบาลกรีซอยู่เป็นจำนวนมาก

 

ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการร่วงลงของตลาดหุ้นและการวิกฤตหนี้ยุโรปได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์เพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ความกังวลในเรื่องดังกล่าวยังทำให้นักลงทุนเข้าถือครองพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเช่นกัน แม้สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐเมื่อไม่นานมานี้ก็ตาม

 

นอกจากนี้ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ รวมถึงดัชนีภาคการผลิตเดือนก.ย.ซึ่งขยายตัวที่ระดับ 51.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค.ที่ระดับ 50.6 จุด และยอดการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนส.ค.ของสหรัฐ พุ่งขึ้น 1.4% สู่ระดับ 7.9915 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี

 

ทางการสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ รวมถึงยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนส.ค., ตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนในสหรัฐเดือนก.ย., ดัชนีภาคบริการเดือนก.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ย.

 

--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

คอลัมน์: จับประเด็น: แม่ทองสุกมองทองโลกไม่หลุด1,500เหรียญฯ

 

ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- อังคารที่ 4 ตุลาคม 2554 00:00:03 น.

นายแพทย์กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการ เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาทองคำโลกในระยะนี้จะไม่หลุด 1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เนื่องจากมีความต้องการทองคำในโลกจำนวนมาก ขณะที่ปริมาณทองคำมีไม่เพียงพอ ซึ่งเห็นได้จากการยืดเวลาส่งมอบนานขึ้นเป็น 7 วัน ทั้งนี้ประเมินราคาทองคำในตลาดโลกสิ้นปี 2554 อยู่ที่ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ในปี 2555 จากเดิมมองว่าราคาดังกล่าวจะเกิดขึ้นในปีนี้

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

1670 แล้ว เย้

 

เยี่ยมจริงๆ คุณเด็กขายของ ตลาดจีนปิดมันขึ้นจริงๆ แต่คุณเด็กขายของแบบว่ายังไม่ค่อยเข้าใจว่าทําไมมันต้องดันขึ้นช่วงนี้ มันกะมาให้จีนมาซื้อแพงเหรอ รบกวนหน่อยค่ะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณเลียงผา

เขียนมาแบบนี้ แสดงว่า ยังถือครองทองคำแท่งตัวเป็นๆ อยู่ในมือ ไม่ยอมขายทิ้งแบบขาดทุน เพียงเพื่อให้ได้เงินคืนมา

เพื่อ " เสี่ยงเข้า " รอบใหม่

ในความเห็นของคุณเลียงผา " มันกะมาให้จีนซื้อแพง " ก็ใช่ครับ แต่เราต้องไม่ลืมว่า เมื่อวานเป็นวันแรกของเปิดไตรมาส 4

ของธุรกิจต่างๆ และที่สำคัญมากๆๆๆๆ คือ ของกองทุนสารพัดกองทุน ที่ลงทุนในทองคำไม่ว่าจะกองไหนในโลกก็ตาม ถือ

เป็นวันเริ่มทำการไตรมาส 4 ตัวเลขการลงทุน + ผลตอบแทน + กำไรต่อหน่วย ขาดเหลือจากการบริหารงานและยังไม่ถึง

เป้าหมาย ผู้จัดการกองทุนฯ ต่างๆ จะต้องมาเร่งในตอนนี้ คือ 3 เดือนสุดท้ายของปี แล้วอะไรต่อล่ะ

 

" ใครเริ่มก่อนก็ได้เปรียบ ได้ของหรือทรัพย์สิน หรือ สินทรัพย์ ที่มีราคาที่ได้เปรียบจากคนอื่น " ถือว่า เป็นไม้ 1 ในการ

ลงทุน รอต่อไปที่ ไม้ 1 2 3 4 5 ตามลำดับ ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ก็จะต้องเพิ่มมูลค่าขึ้นไป โดยมีข้ออ้าง จากเทศกาล

ต่างๆ ที่จะเริ่มเข้ามา วันชาติจีน เทศกาลอินเดีย ครืสต์มาส ปืดเทอม สารพัด

 

แต่กล่าวไว้ก่อนว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง ที่ขึ้นแรงเกินไป เราต้องหลบออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย คือ เงินสด ก่อน อย่าลืมนะครับ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ถอดสถิติ 36 ปี ตลาดหุ้นไทยจากยุค ศุกรีย์ แก้วเจริญ ถึงยุค จรัมพร โชติกเสถียร ชี้ชัดหลัง SET Index 'บูมสุดขีด' ดัชนีมีโอกาสพักตัวนาน 1-2 ปี

 

 

เหตุการณ์ Black Monday วันจันทร์ที่ 26 กันยายน 2554 นับเป็นอีกครั้งที่นักลงทุนต้องจดจำ การซื้อขายระหว่างวันดัชนีทรุดตัวลงอย่างรุนแรงถึง 90.22 จุด หรือ 9.41% ก่อนจะปิดลบ 54.10 จุด ลดลง 5.98% (ตลาด mai ลดลง 7.05%) เพียงวันเดียวมาร์เก็ตแคป (ความมั่งคั่ง) ของ SET หายไป 4.42 แสนล้านบาท

 

การปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงภายหลัง SET Index ทะยานขึ้นไปทำจุดสูงสุดในรอบ 15 ปี ที่ระดับ 1,148 จุด เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554 สอดคล้องกับ "สถิติ" ในรอบ 36 ปี (2518-2554) "ขาขึ้นใหญ่" ดัชนีจะไปได้ไกลสุดประมาณ "2 ปีครึ่ง" (บวก-ลบ) ถ้าวัดจาก 380 จุด ขึ้นไป 1,148 จุด ใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 32 เดือน (2 ปี 8 เดือน) ตอนนี้ถือว่า SET น่าจะ "จบรอบขาขึ้น" อย่างสมบูรณ์แล้ว

 

ตามสถิติหลังจากนี้ดัชนีจะขึ้นลงเป็น "ฟันปลา" อีกประมาณ "ปีครึ่ง-2 ปี" ถ้าเชื่อว่าสถิติจะ "ซ้ำรอยเดิม" ดัชนีสูงสุดที่ทำไว้ 1,148 จุด จะเป็น "จุดพีค" ของปี 2554-2555 และประมาณ "ครึ่งหลังปี 2556" เป็นต้นไปอาจจะเกิด "จุดหักเห" สำคัญ ถ้าไม่เกิด "กระทิงยักษ์" ก็ต้องเจอ "หมียักษ์"

 

บทสรุปของตลาดหุ้นในรอบ 36 ปี นับตั้งแต่เปิดซื้อขายครั้งแรกวันที่ 30 เมษายน 2518 ผู้จัดการคนแรก ศุกรีย์ แก้วเจริญ ถึงปัจจุบัน จรัมพร โชติกเสถียร SET ผ่าน "ช่วงเศร้า" (ตลาดหมี และตลาดไซด์เวย์) มากกว่าผ่าน "ช่วงสุข" (ตลาดกระทิง)

 

ช่วงปี 2520-2521 ตลาดหุ้นเข้าสู่ "ภาวะกระทิง" เป็นครั้งแรก ภาวะเศรษฐกิจช่วงนั้นขยายตัวสูง บริษัทต่างๆ แห่เข้าจดทะเบียนเป็นจำนวนมาก ถึงสิ้นปี 2521 มีหลักทรัพย์จดทะเบียน 71 บริษัท วอลุ่มการซื้อขายในปี 2521 ทะยานขึ้นมาสูงถึง 57,272 ล้านบาท เทียบกับปี 2519 ทั้งปีมีวอลุ่มซื้อขายเพียง 1,681 ล้านบาท มีหุ้นจดทะเบียน 32 บริษัท เพียง 2 ปี SET เพิ่มขึ้นจาก 82 จุด ขึ้นไป 266 จุดในเดือนพฤศจิกายน 2521 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 220%

 

หลังผ่านช่วงดื่มด่ำกับเงินทองที่ไหลมาเทมายังกับสายน้ำ ตลาดหุ้นก็ตกต่ำยาวนานถึง "3 ปีครึ่ง" (ปี 2522-กลางปี 2525) เกิดวิกฤติราคาน้ำมัน เงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถีบตัวสูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนซบเซา ทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอ ในที่สุดรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตัดสินใจลดค่าเงินบาท 9% เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2524 ช่วงนั้นเกิดสงครามเวียดนาม และตามมาด้วยวิกฤติราชาเงินทุน

 

ดัชนีตกจาก 266 จุด ในเดือนพฤศจิกายน 2521 ลงไปต่ำสุด 102 จุดในเดือนเมษายน 2525 ตกต่ำยาวนานถึง "3 ปีครึ่ง" SET เริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2525 ถึงครึ่งแรกของปี 2529 ช่วงนี้ตลาดหุ้น "ไซด์เวย์" ยาวนานถึง "3 ปี" (2526-2529) มีช่วงขาขึ้น 40-50% เพียงช่วงสั้นๆ เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปี 2525-2526

 

ตลาดหุ้นกลับมาบูมอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังปี 2529 ถึงเดือนตุลาคม 2530 ผลพวงจากการลดค่าเงินบาท เศรษฐกิจกลับมาเฟื่องฟูในปลายสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดัชนีขึ้นจาก 127 จุด ขึ้นไปสูงสุด 472 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 270% เป็นช่วงที่นักลงทุนต่างร่ำรวยและฟู่ฟ่า หลังสุขใหญ่..ทุกข์ใหญ่ก็ตามมาติดๆ เกิดเหตุการณ์ Black Monday ในวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2530 ตลาดหุ้นไทยดิ่งจาก 472 จุด ลงไปต่ำสุด 243 จุด ดัชนีลดลง 48% ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน

 

สรุปว่าหลังตลาดหุ้นบูมช่วงปี 2520-2521 (หุ้นขึ้น 220%) กลับมาบูมอีกครั้งช่วงปี 2529-2530 (หุ้นขึ้น 270%) ทิ้งช่วงห่างยาวนาน "7 ปีครึ่ง" เท่ากับว่าในรอบ 12 ปีแรก (2518-2530) มีช่วงสุขประมาณ 4-5 ปี มีช่วงเศร้ายาวนาน 7-8 ปี

 

หลังเหตุการณ์ Black Monday ปี 2530 หุ้นไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จาก 243 จุดในเดือนธันวาคม 2530 ทะยานขึ้นไปสูงสุด 1,143 จุด ในเดือนกรกฎาคม 2533 เป็นขาขึ้นยาวนาน "2 ปีครึ่ง" (รอบนี้ SET ก็สูงสุด 1,148 จุด วันที่ 1 สิงหาคม 2554 คล้ายกันเด๊ะ! ตลาดหุ้นขึ้นมาประมาณ 2 ปีครึ่งเหมือนกันอีก) ขณะนั้นไทยฝันจะเป็น "เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย" ต้อนรับ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของไทย

 

ปี 2533 ช่วงที่พล.อ.ชาติชาย "เรืองอำนาจ" ช่วงนั้นธุรกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังเริ่มเติบโต มีเหตุการณ์ปลดฟ้าผ่า กำจร สถิรกุล ออกจากผู้ว่าแบงก์ชาติ เดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อสังหาริมทรัพย์บูมสุดขีด แต่ปีนั้นก็เกิดเหตุการณ์ "อิรักบุกคูเวต" ถือเป็น "จุดจบ" ของตลาดหุ้น (ครั้งนี้จุดจบตลาดหุ้นเกิดวิกฤติหนี้ยุโรป-เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอ)

 

หุ้นดิ่งจาก 1,143 จุด ลงไปต่ำสุด 536 จุด ภายในระยะเวลาเพียง 4 เดือน ลดลงถึง 53% หลังจากนั้น 5 เดือนต่อมาก็ทะยานขึ้นไปสูงสุด 911 จุด รีบาวด์ 70% แต่ก็ไม่สามารถขึ้นไปถึงจุดสูงสุดเดิมที่ 1,143 จุดได้ ตลาดหุ้น "ไซด์เวย์" เป็นฟันปลายาวนานถึง "ปีครึ่ง" (2534-ครึ่งปีแรก 2535) ก่อนจะทะยานขึ้นไปได้อย่างบ้าเลือดขึ้นไป 1,789 จุด ภายในระยะเวลาเพียง "ปีครึ่ง" (มิถุนายน 2535-มกราคม 2537)

 

ในระหว่างปี 2534-2535 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะ รสช. "ปฏิวัติ" ล้มรัฐบาล "บุฟเฟ่ต์คาบิเนต" ของ พล.อ.ชาติชาย ตั้งข้อกล่าวหารัฐบาล "เผด็จการ" และ "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" แต่คณะรสช.ก็ไปได้รอดเมื่อตั้ง พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นมา "สืบทอดอำนาจ" จนนำไปสู่เหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ในปี 2535 อานันท์ ปันยารชุน กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

 

ต่อมาในปี 2536 พรรคประชาธิปัตย์ได้กลับมาเป็นรัฐบาล ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงนั้น GDP ไทยเติบโต 7-8% SET ทำลายจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1,789 จุด ในวันที่ 4 มกราคม 2537 แต่อะไรที่บูมสุดขีดก็ตกอย่างน่าใจหายได้เช่นกัน ตลาดหุ้น "ไซด์เวย์" นานถึง "2 ปีเต็ม" (2537-2538) ก่อนจะแปรสภาพเป็น "ขาลงใหญ่" ในปี 2539 หลัง บรรหาร ศิลปอาชา เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี

 

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่นานก็เกิดวิกฤติ "ต้มยำกุ้ง" ปี 2540 แต่ตลาดหุ้นเริ่มเป็น "ขาลงล่วงหน้า" มาตั้งแต้ต้นปี 2539 แล้ว และลงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน "2 ปีครึ่ง" (2539-กลางปี 2541)

 

สรุปก็คือตลาดหุ้นในช่วงปี 2530-2540 เป็นขาขึ้น "2 ปีครึ่ง" (2531-กลางปี 2533) หุ้นขึ้นประมาณ 370% (243-1,143 จุด) พักตัว "ปีครึ่ง" แล้วเป็นขาขึ้นต่ออีก "2 ปี" (2535-2536) ขึ้นอีกประมาณ 170% หลังจากนั้นตลาดก็ "ไซด์เวย์" อีก 2 ปี (2537-2538) แล้วก็เกิด "หมียักษ์" ในปี 2539-2540 นักลงทุนสิ้นเนื้อประดาตัวจำนวนมาก เท่ากับว่าช่วง 10 ปีนี้ "สุข" 4 ปีครึ่ง "เศร้า" อีก 5 ปีครึ่ง

 

หลังปี 2540-2554 หรือในรอบ 14 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยมีช่วง "กระทิง" เพียง 4 รอบเท่านั้น รอบแรกคือช่วงปี 2541 สมัยรัฐบาล ชวน 2 เป็นช่วง "ฟื้นตัวชั่วคราวจากวิกฤติ" ดัชนีขึ้นจาก 204 จุด (กันยายน 2541) ขึ้นไป 551 จุด (มิถุนายน 2542) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 170%

 

รอบที่สองคือ ช่วงตุลาคม 2535-ธันวาคม 2536 หลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศเป็นปีที่สาม นโยบายประชานิยมกำลังเบ่งบาน มีการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงจนสามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้หมดแล้ว ดัชนีขึ้นจาก 323 จุด ขึ้นไป 802 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 148% แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไปไม่รอดถูก "ปฏิวัติยึดอำนาจ" คล้ายรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

 

รอบที่สามคือ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังเกิดเหตุการณ์หุ้นตกใหญ่ 108 จุด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประกาศมาตรการสำรอง 30% สกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในเดือนธันวาคม 2549 ตอนนั้นหุ้นตกลงไปจาก 748 จุด เหลือ 587 จุด ลดลง 21% หลังหุ้นตกใหญ่พอข้ามปีในปี 2550 ตลาดหุ้นเกิด "ภาวะกระทิงย่อมๆ" ทะยานจาก 587 จุด ขึ้นไปสูงสุด 924 จุด เพิ่มขึ้น 57%

 

ก่อนที่ตลาดหุ้นจะกลับมา "บูม" ใน "ยุคสุดท้าย" (รอบที่สี่) หลัง SET "ล่มสลาย" จากวิกฤติซับไพร์มหุ้นตกหนักจาก 924 จุด ลงมาต่ำสุด 380 จุด ลดลง 58% ก่อนจะทะยานจาก 380 จุด ขึ้นไปสูงสุด 1,148 จุด เพิ่มขึ้น 202% ในระยะเวลาประมาณ "2 ปี 8 เดือน" (ธันวาคม 2551-กรกฎาคม 2554)

 

ในรอบ 14 ปี นับจากปี 2540-2554 ตลาดหุ้นไทยมีช่วง "สุข" (ขาขึ้น) 4 รอบใหญ่ รวมระยะเวลาสั้นมากเพียง 5-6 ปี เท่านั้น ส่วนที่เหลือ 8-9 ปีเป็นช่วงที่ตลาด "ไซด์เวย์" และเป็น "ขาลง"

 

หากประเมินจาก "ภาพใหญ่" ของเศรษฐกิจโลกที่มี "ความเสี่ยงสูง" (มาก) ในขณะนี้ นำมาเทียบเคียงกับสถิติของ SET Index ในอดีต พอจะสรุปได้ว่า จุดสูงสุดของดัชนีที่ระดับ 1,148 จุด ที่ทำไว้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554 อาจจะเป็น "จุดพีค" ของตลาดหุ้นไทยไปแล้วในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้ก็เป็นไปได้

 

บทสรุปก็คือ ดีที่สุดถ้า SET ไม่เป็น "ขาลง" ทำจุด "ต่ำสุดใหม่" ตลาดก็จะ "ไซด์เวย์" ออกด้านข้าง แต่ขึ้นไม่น่าจะถึง 1,150 จุด เพราะฉะนั้นกลยุทธ์การลงทุนที่ดีที่สุดในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า "ขึ้นขาย-ลงซื้อ" เป็นตลาดของการ "เล่นรอบ" เหมาะกว่า "ลงทุนระยะยาว"

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Join the conversation

You can post now and register later. If you have an account, sign in now to post with your account.

ผู้มาเยือน
ตอบกลับกระทู้นี้...

×   วางข้อความแบบ rich text.   วางแบบข้อความธรรมดาแทน

  อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 75 อิโมติคอน.

×   ลิงก์ของคุณถูกฝังอัตโนมัติ.   แสดงเป็นลิงก์แทน

×   เนื้อหาเดิมของคุณได้ถูกเรียกกลับคืนมาแล้ว.   เคลียร์อิดิเตอร์

×   คุณไม่สามารถวางรูปภาพได้โดยตรง กรุณาอัปโหลดหรือแทรกภาพจาก URL

กำลังโหลด...

  • เข้ามาดูเมื่อเร็วๆนี้   0 สมาชิก

    ไม่มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนกำลังดูหน้านี้

×
×
  • สร้างใหม่...