ข้ามไปเนื้อหา
Update
 
 
Gold
 
USD/THB
 
สมาคมฯ
 
Gold965%
 
Gold9999
 
CrudeOil
 
USDX
 
Dowjones
 
GLD10US
 
HUI
 
SPDR(ton)
 
Silver
 
Silver/Oz
 
Silver/Baht
 
tt2518

ขอเดา(ราคาทอง)กับเขาบ้าง

โพสต์แนะนำ

วันที่ 27-31 พฤษภาคม 2556

 

ตลาดเงินระยะสั้นและตลาดตราสารหนี้

อัตราดอกเบี้ยตลาดเงินระยะสั้น

- อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นแกว่งตัวลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยธนาคารพาณิชย์มีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันอังคารและเข้าสู่ปักษ์ ใหม่ในวันพุธ อีกทั้งมีการนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำงวดสิ้นปี 2555 เข้าบัญชีภาครัฐ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทกู้ยืมข้ามคืน (Overnight) มีระดับหนาแน่นที่ 2.65-2.73% ก่อนปรับลดลงเป็น 2.40-2.48% สอดคล้องกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ขณะที่อัตราผลตอบแทนถัวเฉลี่ยที่ประมูลได้ของธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร แบบทวิภาคี (Bilateral Repo) ระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน ปรับลดจาก 2.75% เป็น 2.50% ในวันพุธ หลัง กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเช่นเดียวกัน

ในสัปดาห์ระหว่างวันที่ 3-7 มิ.ย. 2556 สภาพคล่องจากการเรียกเก็บเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลจะทยอยไหลกลับเข้าสู่ระบบ ธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นน่าจะยังทรงตัวใกล้ระดับ 2.50%

 

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยและสหรัฐฯ

- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี ปิดที่ระดับ 3.01% ในวันศุกร์ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 2.97% ในสัปดาห์ก่อน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยทรงตัวในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ โดยมีแรงขายจากต่างชาติ ท่ามกลางความกังวลว่าทางการอาจออกมาตรการดูแลค่าเงินบาท

- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี ปิดที่ระดับ 2.11% ในวันพฤหัสบดี เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 2.01% ในสัปดาห์ก่อน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลว่าเฟดอาจจะปรับลดขนาดการซื้อพันธบัตรลง ก่อนที่จะปรับลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อกลับจากนักลงทุน หลังราคาพันธบัตรปรับลดลงในช่วงก่อนหน้า

 

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

ค่าเงินบาท (Onshore)

- เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือนครั้งใหม่ หลังจากที่ขยับแข็งค่าเพียงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเงินบาทกลับมาทยอยอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์จากความต้องการเงิน ดอลลาร์ฯ ของกลุ่มผู้นำเข้า แรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ต่อเนื่องทั้งก่อนและหลังการประชุมกนง. (ซึ่งมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ร้อยละ 2.50) ตลอดจนสถานะขายสุทธิในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับสัญญาณของมาตรการดูแลความสมดุลของเงินทุนไหลเข้าและออก ของทางการไทย ก็เป็นปัจจัยลบของเงินบาทด้วยเช่นกัน

- ในวันศุกร์ (31 พ.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 30.25 เทียบกับระดับ 29.94 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (23 พ.ค.)

สำหรับแนวโน้มสัปดาห์ถัดไป (3-7 มิ.ย.) เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 30.00--30.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยคงต้องจับตาสัญญาณของทางการในการดูแลประเด็นค่าเงินบาท ขณะที่ ต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ดัชนี ISM ภาคการผลิต และภาคบริการเดือนพ.ค. ยอดสั่งซื้อของโรงงาน รายจ่ายด้านการก่อสร้าง ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ เดือนเม.ย. รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจหรือ Beige Book ของเฟด และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังน่าจะจับตาผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษในระหว่างสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

 

เงินยูโร และเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ

- เงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ เงินยูโรอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ หลังจากที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งเกินคาด (ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ค.ที่สูงสุดในรอบกว่า 5 ปี ขณะที่ ราคาบ้านเพิ่มขึ้นในเดือนมี.ค.) หนุนให้มีแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในวงกว้าง อย่างไรก็ดี เงินยูโรฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยได้แรงหนุนบางส่วนจากข้อมูลเงินเฟ้อของเยอรมนีที่เพิ่มขึ้นเกินคาด ซึ่งตรงกันข้ามกับเงินดอลลาร์ฯ ที่ถูกกดดันจากตัวเลขทบทวนจีดีพีไตรมาส 1/56 ของสหรัฐฯ

- เงินเยนฟื้นกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังจากที่อ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีเกินคาด สนับสนุนการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจใกล้จะชะลอมาตรการ QE ในการประชุมครั้งต่อๆ ไป อย่างไรก็ดี เงินเยนลดช่วงติดลบทั้งหมด และกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์จากข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เริ่มมี ทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่ ข้อมูลทบทวนของจีดีพีไตรมาส 1/56 ของสหรัฐฯ ทำให้ตลาดยังไม่มั่นใจกับจังหวะเวลาของการถอน QE ของเฟด

- ในวันศุกร์ (31 พ.ค.) เงินยูโรอยู่ที่ 1.2996 เทียบกับ 1.2929 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโรในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 พ.ค.) ส่วนเงินเยนอยู่ที่ 100.57 เทียบกับ 101.27 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า

 

ตลาดทุน

ตลาดหุ้นไทย

- ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงจากแรงขายของต่างชาติ ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,562.07 จุด ลดลง 2.82% จากสัปดาห์ก่อน ด้านมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 11.80% จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 58,815.27 ล้านบาทโดยนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 471.61 จุด ลดลง 2.20% จากสัปดาห์ก่อน

- ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในวันจันทร์ โดยแรงขายทำกำไร ท่ามกลางความกังวลว่าเฟดอาจปรับลดขนาดการซื้อพันธบัตรลง ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นในวันอังคารโดยมีแรงซื้อกลับจากนักลงทุน จากคาดการณ์ว่า กนง. น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จากนั้นตลาดหุ้นไทยปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงขายจากนักลงทุนท่ามกลางความกังวลว่าทางการไทยอาจออกมาตรการควบคุม เงินทุนไหลเข้า

- สำหรับแนวโน้มสัปดาห์ระหว่างวันที่ 3-7 มิ.ย. 2556 บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด และบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีโอกาสปรับลดลงก่อนจะฟื้นตัวในช่วงปลายสัปดาห์ โดยต้องติดตามท่าทีในการดำเนินนโยบายของเฟด และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ อาทิ เครื่องชี้ภาคการผลิต (ISM Manufacturing) รายงานสภาวะเศรษฐกิจของเฟด (Beige Book) และการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 1,537 และ 1,470 ขณะที่แนวต้านคาดว่า จะอยู่ที่ 1,598 และ 1,611 ตามลำดับ

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

- ดัชนี DJIA ทรงตัว โดยได้แรงหนุนจากข้อมูลภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาดี โดยเมื่อวันพฤหัสบดี ดัชนี DJIA ปิดที่ 15,324.53 จุด เพิ่มขึ้น 0.14% จากสัปดาห์ก่อน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นในวันอังคาร หลังจากหยุดทำการในวันจันทร์ โดยได้แรงหนุนจากดัชนีราคาบ้านในเดือนมีนาคมที่เพิ่มขึ้น 10.9% YoY ก่อนที่จะปรับลดลงในวันพุธ จากความกังวลว่าเฟดอาจจะลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตรเร็วกว่าที่คาด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นในวันพฤหัสบดี หลังจากข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1/56 (ครั้งที่ 2) ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ตลาดคาดว่าเฟดจะยังไม่ทำการปรับลดขนาดการซื้อพันธบัตรลงในเร็วๆนี้

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

- ดัชนี Nikkei ปรับลดลงต่อ จากแรงกดดันที่เฟดอาจปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตร โดยเมื่อวันศุกร์ ดัชนี Nikkei ปิดที่ 13,774.54 จุด ลดลง 5.73% จากสัปดาห์ก่อน ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับลดลงในวันจันทร์ โดยได้รับแรงกดดันจากการปรับสถานะการถือครองหุ้นของนักลงทุน ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ หลังเงินเยนอ่อนค่าลง ดัชนี Nikkei ปรับร่วงลงอีกครั้งในวันพฤหัสบดี จากความกังวลต่อประสิทธิผลของแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นของทางการ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้นในวันศุกร์ โดยมีแรงซื้อหุ้นกลับจากนักลงทุน หลังราคาปรับลดลง

 

ที่มา : ทันหุ้น(วันที่ 3 มิย.56)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ความเห็นกินขาดเช่นเดิม ขอบคุณครับป๋า

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

แนะรัฐ-เอกชนจับมือฝ่าเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัว การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น แบงก์เตือนวิกฤตการเงินจะเกิดถี่ขึ้น

 

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะไม่เห็นการเติบโตที่รวดเร็วตามที่คาดหวัง การบริโภค การลงทุนจะชะลอตัว ส่วนการส่งออกจะเติบโตอย่างเชื่องช้า แต่เสถียรภาพโดยรวมค่อนข้างดี เงินเฟ้อชะลอ การว่างงานต่ำ แม้เดือน เม.ย.จะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงขึ้น

 

ด้านนายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เชื่อว่าวิกฤตการณ์การเงินจะเกิดขึ้นอีกและจะถี่ขึ้น หลังจากปี 2540 เป็นวิกฤตการณ์การเงินที่ร้ายแรงที่สุด ฉะนั้นภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวเองให้อยู่รอด ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ถ้ายังคิดและทำแบบเดิมจะลำบาก

 

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย กล่าวว่า ไทยมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตในอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้าอยู่แล้ว จึงอยากให้มองอนาคตของไทยไปอีก 20-30 ปีข้างหน้านี้ และให้ความสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ที่เป็นจุดอ่อนของประเทศ เพราะภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญ โดยไทยมีงบด้านนี้เพียง 0.7% ของจีดีพี หรือ 2.1 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ขนาดเศรษฐกิจต้องใช้งบ 1 แสนล้านบาท หรือ 1% ของจีดีพี

 

2.การสร้างภาพลักษณ์ของประเทศให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรม ภาครัฐและเอกชนต้องขับเคลื่อนโดยชูสินค้าหรือบริการที่มีนวัตกรรม และ 3.การดำเนินธุรกิจต้องรับผิดชอบสังคม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร หากไทยให้ความสำคัญ 3 ด้าน จะพลิกจุดเปลี่ยนให้เป็นประเทศที่พร้อมก้าวสู่โลกแห่งอนาคต

 

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศใหม่ โดยเน้นการรวมตัวในรูปแบบคลัสเตอร์ การสร้างซัพพลายเชน การสร้างมูลค่าเพิ่มและการทำงานแบบรวมตัวกันแทนที่ผู้ประกอบการจะลุยเดี่ยว อย่างที่ผ่านมา เพื่อให้ขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้

 

ทั้งนี้ ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลืออุตสาหกรรมในการไปเปิดตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกฎระเบียบและโครงสร้างภาษี ซึ่งทำให้ไทยล่าช้ากว่าประเทศอื่นและเป็นอุปสรรคสำคัญ นอกเหนือไปจาก 5 ปัจจัยลบที่ผู้ประกอบการมีความกังวลอยู่แล้ว

 

สำหรับปัจจัยลบทั้ง 5 ข้อที่ ส.อ.ท.ได้รับฟังจากผู้ประกอบการทุกเดือน คือ 1.วิกฤตเศรษฐกิจโลก 2.วิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ 3.สถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งข้อนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญมากกว่าผู้ประกอบการ ประเทศอื่น 4.ราคาน้ำมันและวัตถุดิบ และ 5.อัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยที่ผันผวน

 

“การแข่งขันทุกวันนี้เข้มข้นขึ้น ต้องสู้กันที่สปีดและการทำงานที่เร็วขึ้น ไทยต้องเน้นไปที่ความแตกต่างอย่างมีคุณภาพ ต้องรวมตัวกันมากขึ้น ใช้ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่แบบผนึกกำลังกัน เชื่อว่าในอนาคตไทยจะสามารถติดท็อปเทนของโลกได้อย่างแน่นอน” นายพยุงศักดิ์ กล่าว

 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมไทยควรเลิกมองแค่ในประเทศ แต่ต้องคิดถึงภาพใหญ่กับอีก 9 ประเทศในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยใช้ความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าตลาดการค้าชายแดนให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าการค้าชายแดนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของจีดีพี

 

ที่มา : โพสต์ทูเดย์(วันที่ 3 มิย.56)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

**เงินบาทเปิดตลาด 30.36/38 แนวโน้มอ่อนค่า มองกรอบ 30.35-30.50

 

 

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 30.36/38 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากปิดตลาดเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 30.27/28 บาท/ดอลลาร์ และเมื่อเวลา 09.15 น.เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.44 บาท/ดอลลาร์ โดยมีแนวโน้มปรับตัวอ่อนค่า

 

"เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าจากปัจจัยในประเทศเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจ" นักบริหารเงิน กล่าว

 

นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ไว้ระหว่าง 30.35-30.50 บาท/ดอลลาร์

 

 

 

 

 

*ปัจจัยสำคัญ

 

- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 100.60/70 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 100.50 เยน/ดอลลาร์

- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3000 ดอลลาร๋/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.2970 ดอลลาร์/ยูโร

- อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.อยู่ที่ 30.1820 บาท/ดอลลาร์

- กระทรวงการคลังญี่ปุ่น เผยตัวเลขการใช้จ่ายด้านทุนของบริษัทญี่ปุ่นหดตัวลง 3.9% ในไตรมาสแรกปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการลงทุนด้านธุรกิจของบริษัทนอกภาคการเงินทั้งหมดในด้านต่างๆ เช่น การลงทุนสร้างโรงงานและการซื้ออุปกรณ์ใหม่หดตัวลง 3.9% ในไตรมาสแรกปีนี้มาอยู่ที่ระดับ 11.99 ล้านล้านเยน

- ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงเช้านี้เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจชะลอโครงการซื้อพันธบัตรหลังสหรัฐเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนี MSCI Asia Pacific ร่วงลง 0.6% แตะ 134.03 จุด เมื่อเวลา 10.14 น.ตามเวลาโตเกียว, ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 13,551.36 จุด ลดลง 223.18 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 2,300.21 จุด ลดลง 0.39 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 22,301.68 จุด ลดลง 90.48 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 8,177.97 จุด ลดลง 76.83 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 1,993.11 จุด ลดลง 7.94 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,287.10 จุด ลดลง 24.27 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 6,966.07 จุด ลดลง 55.88 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,771.55 จุด เพิ่มขึ้น 2.33 จุด และดัชนี S&P/ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลียเปิดวันนี้ที่ 4,919.80 จุด ลดลง 6.80 จุด

- สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน(CFLP) เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคบริการของจีนในเดือน พ.ค.ลดลงแตะ 54.3 จาก 54.5 ในเดือน เม.ย.

- ธนาคารกรุงไทย เล็งพิจารณาลดดอกเบี้ย ตามธปท. หวั่นลดผิดจังหวะเงินไหลออก หลังแบงก์เฉพาะกิจยังแข่งรุนแรง ขณะที่ความต้องการสินเชื่อยังแข็งแกร่ง ไตรมาสแรกโตเกินคาด 4.58% "ธปท." เกาะติดตลาดอสังหาฯ ใกล้ชิด รับอุปทานเริ่มชะลอลง

- บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ว่า ภาพการหดตัวของการใช้จ่ายในประเทศและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนแรกของไตรมาส 2/2556 สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงไตรมาส 2 ด้วยสถานการณ์ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องของการใช้จ่ายภายในประเทศ และการฟื้นตัวของการส่งออกที่ลดลง ทำให้คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2556 อาจชะลอลงมาเติบโตได้แค่ 4.3% จาก 5.3% ในไตรมาสแรก

- นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้ จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยโดยตรง โดยตลาดสำคัญอย่างสหรัฐและยุโรปยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยเฉพาะยุโรปที่นโยบายการแก้ปัญหายังเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและไม่เป็นเอกภาพ ทำให้แนวโน้มปัญหาเศรษฐกิจของยุโรปมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป อีกนาน

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

“ น้ำมันดิบผันผวนในกรอบเดิม จับตาความรุนแรงที่ทวีขึ้นในตะวันออกกลาง ”

 

 

“ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวในกรอบเดิม โดยเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 98-106 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 90-98 เหรียญฯ”

 

 

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน (3 – 7 มิ.ย. 56)

 

ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้คาดว่าจะผันผวนอยู่ในกรอบเดิม โดยตลาดจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป รวมถึงข่าวการปิดซ่อมบำรุงแหล่งน้ำมันดิบแถบทะเลเหนือ และเหตุการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางที่สร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนถึงความไม่แน่นอนของอุปทานน้ำมันดิบ เป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา โดยเฉพาะจีนและยูโรโซน ยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันต่อไป

 

ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

 

· การประชุมธนาคารกลางยุโรปที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ ที่ประชุมจะมีนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างไร โดยเฉพาะในด้านอัตราดอกเบี้ยที่ได้ปรับลดลงแล้วจาก 0.75 % มาอยู่ที่ 0.5% และล่าสุดทางธนาคารฯ ได้ออกมาให้ความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปเพื่อช่วยเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวดีขึ้น

 

· การซ่อมบำรุงแหล่งน้ำมันดิบแถบทะเลเหนือนาน 20 วันในเดือน มิ.ย.นี้ คาดว่าจะทำให้อุปทานน้ำมันดิบบางส่วนขาดหายไป และอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น

 

· ความไม่สงบในซีเรียทวีความรุนแรงขึ้น หลังรัฐบาลกับกลุ่มต่อต้านปะทะกันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดประเทศมหาอำนาจของโลกมีความเห็นแตกต่างกันในแนวทางการแก้ปัญหา จึงทำให้มีการจัดประชุมเพื่อสันติภาพขึ้น ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อให้นานาประเทศได้หารือร่วมกันถึงแนวทางการแก้ไข

 

· ความรุนแรงในอิรัก ทั้งความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 500 ศพในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอิรักกับเขตปกครองชาวเคิร์ดทางตอนเหนือที่มีข้อพิพาทในการแบ่งผลประโยชน์ด้านน้ำมันดิบ อาจส่งผลต่อความสามารถในการผลิตและส่งออกน้ำมันของอิรักได้

 

· การที่ซูดานประกาศจะปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบจากซูดานใต้อีกครั้ง ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระลอกใหม่ขึ้น ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายมีขึ้นโดยลำดับ นับตั้งแต่ซูดานใต้แยกตัวออกมาเป็นประเทศเอกราชเมื่อสองปีก่อน

 

· ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตและบริการของสหรัฐฯ จีน และยูโรโซน จีดีพีไตรมาส 1/56 (ครั้งที่ 2) ของยูโรโซน และดัชนีราคาผู้บริโภคจีน รวมถึงอัตราการว่างงาน การจ้างงานภาคเอกชน และการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 27 – 31 พ.ค. 56)

 

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาปิดที่ 91.97 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล และเบรนท์ปรับลดลง 2.25 เหรียญฯ ปิดที่ 100.39 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ดูไบปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.12 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 98.66 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง หลังได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก โดยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนรายงานโดย HSBC หดตัวครั้งแรกในรอบ 7 เดือน กอปรกับจีดีพีไตรมาส1/56 ของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาดที่ 2.4% ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังปรับลดคาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจีนปีนี้ลงจาก 8% มาอยู่ที่ 7.75% ด้วย อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงในซีเรียมีทีท่าว่าจะบานปลาย ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดแรงงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มดีขึ้น รวมไปถึงคำยืนยันจากธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารยุโรปว่าจะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างแท้จริง มีส่วนช่วยพยุงราคาน้ำมัน

http://www.thunhoon.com/highlight/131438/131438.html

 

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายประเทศฝั่งยุโรปตอนกลาง ทำให้บางประเทศต้องประกาศภาวะ

ฉุกเฉิน และเตือนให้ประชาชนอพยพโดยด่วน และมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 4 คน

 

ประชาชนทางตอนใต้ของเยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ ได้รับคำเตือน

ให้อพยพออกจากบ้านเรือน หลังจากฝนตกหนัก ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงจนอยู่ในระดับที่

เป็นอันตราย

 

ในสาธารณรัฐเช็ก รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ หลังเกิดน้ำท่วมชานกรุงปราก เมือง

หลวง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 รายจากบ้านพังถล่ม และมีผู้สูญหายอีก 4 คน ทางการต้องสั่งอพยพ

ประชาชนเกือบ 1,800 คน พร้อมกับระดมทหาร 1,000 นายเพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

และมีการเสริมคันกันน้ำด้วยการวางกระสอบทรายตามริมฝั่งแม่น้ำวิทาว่าเพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นทะลัก

เนื่องจากคาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในเช้าวันนี้ แต่เชื่อว่าระดับน้ำจะไม่สูงเท่าปี 2545

 

นอกจากนี้เยอรมนี และออสเตรีย สั่งระดมกำลังจากกองทัพเข้าช่วยเหลือประชาชนในหลายพื้นที่

อย่างเร่งด่วน และมีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 1 คนและสูญหาย 2 คนจากเหตุดินถล่มใกล้กับเมือง

ซัลสบูร์กในออสเตรีย นอกจากนี้ยังมีผู้สูญหาย 2 คนในเยอรมนี หลังฝนตกหนักติดต่อกัน 2 วัน

และทางการเยอรมนีประกาศภาวะฉุกเฉินในเมืองปาสเซา และโรเซนไฮม์ หลังจากแม่น้ำดานูบ

เอ่อล้นตลิ่ง

 

นอกจากนี้ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของโปแลนด์ เผชิญกับฝนตกหนักตั้งแต่วันเสาร์ และทำให้

เมืองกาเมียนน่า โกร่า ประสบน้ำท่วมหนัก และแม่น้ำเอ่อล้นตลิ่ง ประชาชนต้องอพยพออกจาก

พื้นที่บางส่วน และต้องประกาศเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าจับตาสะพานแห่ง

หนึ่งที่มีแนวโน้มว่าจะพังถล่มลงด้วย

 

อุทกภัยครั้งนี้ทำให้การจราจรหยุดชะงัก เช่น รถไฟที่วิ่งระหว่างเมืองมิวนิคของเยอรมนีและซัลสบูร์ก

ของออสเตรียต้องหยุดให้บริการเนื่องจากดินถล่มในซัลสบูร์ก และมอเตอร์เวย์สายหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์

ต้องปิดสัญจร

http://breakingnews.nationchannel.com/home/read.php?newsid=683856&lang=T&cat=

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

**ตลาดหุ้นยุโรปเปิดตลาดอ่อนตัว เหตุวิตกเฟดลดขนาด QE,PMI จีนอ่อนตัว

 

 

ตลาดหุ้นยุโรปมีแนวโน้มว่า จะเปิดตลาดอ่อนตัวลงในวันนี้ เนื่องจากความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจจะปรับลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตรลง ขณะที่มาตรวัดภาคการผลิตของจีนก็ร่วงลง

 

ดัชนี Euro Stoxx 50 อ่อนตัว 0.9% แตะ 2,750 เมื่อเวลา 7.11 น.ตามเวลาลอนดอน

 

หุ้นซาโนฟี อาจจะปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหุ้น SGS SA อาจจะปรับตัวขึ้นหลังจากที่ Exor SpA ได้ขายหุ้นในบริษัทวงเงิน 2 พันล้านยูโร หรือ 2.6 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่หุ้นริโอ ทินโต อาจจะปรับตัวขึ้น ภายหลังข่าวเรื่องการเดินหน้าขายหุ้นไอพีโอของธุรกิจอัญมณี

 

เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ เปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของจีนในเดือนพ.ค.ลดลงแตะ 49.2 จาก 50.4 ในเดือนเม.ย.

 

ดัชนีภาคการผลิตของจีนในเดือนพ.ค.อยู่ในภาวะหดตัว เนื่องจากดัชนีปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 หลังจากที่มีการขยายตัวในเดือนก่อนหน้า

--ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสเปิดวันนี้ที่ 3,931.18 จุด ลดลง 17.41 จุด, -0.44%

**ตลาดหุ้นเอเชียปรับลงบ่ายนี้ เหตุวิตกเฟดยุติ QE หลังข้อมูล ศก.สหรัฐดีขึ้น

 

 

ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงบ่ายวันนี้ เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาดีขึ้นทำให้เกิดความกังวลขึ้นมาในตลาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจจะลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตรลง ขณะที่ข้อมูลภาคการผลิตของจีนนั้นออกมาแตกต่างกันไป

 

 

ดัชนี MSCI Asia Pacific ร่วง 0.8% แตะ 133.76 เมื่อเวลา 13.22 น.ตามเวลากรุงโตเกียว

 

หุ้นนิสสัน มอเตอร์ ร่วง 3.3% ส่วนหุ้น Cochlear ร่วง 15% หลังจากที่ยอดขายลดลงในครึ่งปีหลัง ส่วนหุ้นไชน่า ฟู้ดส์ ร่วง 8.7% เนื่องจากบริษัทคาดว่าตัวเลขกำไรจากการดำเนินงานจะร่วงลง

 

สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีนในเดือนพ.ค.ลดลงแตะ 54.3 จาก 54.5 ในเดือนเม.ย. แต่ภาคบริการจีนยังคงมีการขยายตัว เนื่องจากดัชนียังสูงกว่าระดับ 50

 

ส่วนเอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ เปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของจีนในเดือนพ.ค.ลดลงแตะ 49.2 จาก 50.4 ในเดือนเม.ย. ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาวะหดตัว

 

 

 

ถูกแก้ไข โดย เด็กขายของ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ฝรั่งวิเคราะห์ยามบ่ายกล่าวไว้ว่า ราคาทองตกร่วงมาต่ำกว่า $1400 แต่ยังถูกรับไว้ได้ที่จุด $1385 ฝรั่งบอกนะว่า จังหวะขึ้นมี ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้ แต่ถ้าวันนี้ได้ดห็นตัวเลข $1377 ก็มีหนาว มีเสียว แต่ก็ลุ้นกันไปตามการเล่นรายวันดังนี้

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ตัวเลขรายงานออกมาดี ก็กดดอลล์ให้อ่อนค่า ทองคำก็ได้แรงมากระตุ้น แต่จะสามารถผ่าน $1400 หรือไม่นั้น ก็น่าคิดว่า " ไม่ผ่านง่ายๆ "

ถูกแก้ไข โดย เด็กขายของ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ฝรั่งวิเคราะห์ยามบ่ายกล่าวไว้ว่า ราคาทองตกร่วงมาต่ำกว่า $1400 แต่ยังถูกรับไว้ได้ที่จุด $1385 ฝรั่งบอกนะว่า จังหวะขึ้นมี ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้ แต่ถ้าวันนี้ได้ดห็นตัวเลข $1377 ก็มีหนาว มีเสียว แต่ก็ลุ้นกันไปตามการเล่นรายวันดังนี้

มิตรที่แสนดี สุดอดข่าวสารครับ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เขียวมาตลอดในรายงานยุโรป สร้างแรงกระตึ้นให้น้องทองพอสมควร แต่ก็ยังเจอแรงขายกดต่ำกว่า $1400

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ประเด็นหนึ่งที่มอง คือ อีเลียต เวฟ ของค่าเงินยูโรฯ ณ. ตอนนี้ ถึงจุดที่ต้องมาต่ำ จากการที่จะมีการพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ในอาทิตย์นี้ ถ้ามาจริง ราคาทองก็เดินตามค่าเงินยูโรฯ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ปี 2015 ประเทศไทยน่าจะมี Formular 1 วิ่งรอบในชั้นในกรุงเทพมหานคร

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Join the conversation

You can post now and register later. If you have an account, sign in now to post with your account.

ผู้มาเยือน
ตอบกลับกระทู้นี้...

×   วางข้อความแบบ rich text.   วางแบบข้อความธรรมดาแทน

  อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 75 อิโมติคอน.

×   ลิงก์ของคุณถูกฝังอัตโนมัติ.   แสดงเป็นลิงก์แทน

×   เนื้อหาเดิมของคุณได้ถูกเรียกกลับคืนมาแล้ว.   เคลียร์อิดิเตอร์

×   คุณไม่สามารถวางรูปภาพได้โดยตรง กรุณาอัปโหลดหรือแทรกภาพจาก URL

กำลังโหลด...

  • เข้ามาดูเมื่อเร็วๆนี้   0 สมาชิก

    ไม่มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนกำลังดูหน้านี้

×
×
  • สร้างใหม่...