ข้ามไปเนื้อหา
Update
 
 
Gold
 
USD/THB
 
สมาคมฯ
 
Gold965%
 
Gold9999
 
CrudeOil
 
USDX
 
Dowjones
 
GLD10US
 
HUI
 
SPDR(ton)
 
Silver
 
Silver/Oz
 
Silver/Baht
 
tt2518

ขอเดา(ราคาทอง)กับเขาบ้าง

โพสต์แนะนำ

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐทะยานขึ้นแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (20 มิ.ย.) หลังจากนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าเฟดอาจเริ่มลดขนาดการซื้อพันธบัตรในปลายปีนี้ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากรายงานยอดขายบ้านมือสองที่พุ่งขึ้นเกินคาดของสหรัฐ

 

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อเทียบเงินเยนที่ระดับ 97.24 เยน จากระดับของวันพุธที่ระดับ 96.41 เยน แต่ขยับลงเล็กน้อยเมื่อเทียบฟรังค์สวิสที่ 0.9278 ฟรังค์ จากระดับ 0.9299 ฟรังค์

 

ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.3196 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.3274 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.5478 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5486 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงแตะระดับ 0.9175 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.9344 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นหลังจากเบอร์นันเก้ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมระยะเวลา 2 วันเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า เฟดจะเริ่มชะลอโครงการซื้อพันธบัตร หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปลายปีนี้ หากเศรษฐกิจฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้

 

เบอร์นันเก้กล่าวว่า หากข้อมูลเศรษฐกิจที่เฟดจะได้รับในวันข้างหน้านั้นบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ ก็เป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะชะลอโครงการซื้อพันธบัตร หรือชะลอกการทำ QE ภายในปีนี้ และหากข้อมูลเศรษฐกิจยังคงออกมาสอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ เฟดก็จะยังคงลดขนาดวงเงินซื้อพันธบัตรไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปีหน้า และจะสิ้นสุดโครงการซื้อพันธบัตรประมาณกลางปีหน้า

 

ทั้งนี้ เบอร์นันเก้ได้แถลงมุมมองดังกล่าว แม้ว่าคณะกรรมการเฟดระบุว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าโครงการซื้อสินทรัพย์ในวงเงินปัจจุบันที่ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ตาม

 

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนหลังจากสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) รายงานว่า ยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ค.พุ่งขึ้น 4.2% แตะระดับ 5.18 ล้านยูนิตต่อปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง ขณะที่ราคากลางของบ้านมือสองทะยานขึ้น 15.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะระดับ 208,000 ดอลลร์ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งสุดนับตั้งแต่ปี 2548 สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานเริ่มฟื้นตัวขึ้น และมีแนวโน้มที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวแข็งแกร่งในปีนี้ด้วย

 

ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (วันที่ 21 มิถุนายน 2556)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (20 มิ.ย.) เพราะได้รับแรงกดดันจากการที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณหลังการประชุมเมื่อวานนี้ว่า เฟดอาจจะลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตรในปีนี้ นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้รับปัจจัยลบจากจำนวนคนว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาด

 

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.ร่วงลง 87.8 ดอลลาร์ หรือ 6.39% ปิดที่ 1,286.2 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ขณะที่สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค.ปิดที่ 19.823 ดอลลาร์/ออนซ์ ร่วงลง 1.800 ดอลลาร์ ส่วนสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนก.ค.ลดลง 7.9 เซนต์ ปิดที่ 3.062 ดอลลาร์/ปอนด์

 

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค.ปิดที่ 1363.80 ดอลลาร์/ออนซ์ ดิ่งลง 60.10 ดอลลาร์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย.ปิดที่ 665.10 ดอลลาร์/ออนซ์ ร่วงลง 31.30 ดอลลาร์

 

สัญญาทองคำร่วงลงอย่างหนักหลังจากเบอร์นันเก้ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมระยะเวลา 2 วันเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า เฟดจะเริ่มชะลอโครงการซื้อพันธบัตร หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปลายปีนี้ หากเศรษฐกิจฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้

 

เบอร์นันเก้กล่าวว่า หากข้อมูลเศรษฐกิจที่เฟดจะได้รับในวันข้างหน้านั้นบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ ก็เป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะชะลอโครงการซื้อพันธบัตร หรือชะลอกการทำ QE ภายในปีนี้ และหากข้อมูลเศรษฐกิจยังคงออกมาสอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ เฟดก็จะยังคงลดขนาดวงเงินซื้อพันธบัตรไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปีหน้า และจะสิ้นสุดโครงการซื้อพันธบัตรประมาณกลางปีหน้า

 

นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้รับแรงกดดันหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานขั้นต้นในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 15 มิ.ย.เพิ่มขึ้น 18,000 ราย สู่ระดับ 354,000 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นสู่ระดับ 340,000 ราย

 

นักวิเคราะห์ของยูบีเอส เอจี ในกรุงลอนดอน คาดการณ์ว่า ราคาทองคำอาจจะร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 1,250 ดอลลาร์/ออนซ์ จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าราคาทองจะยืนอยู่ที่ระดับ 1,425 ดอลลาร์/ออนซ์ นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังได้ปรับลดคาดการณ์ราคาทองคำในระยะเวลา 3 เดือน ลงมาอยู่ที่ระดับ 1,350 ดอลลาร์/ออนซ์ จากระดับ 1,500 ดอลลาร์/ออนซ์ และยังได้ปรับลดคาดการณ์ราคาทองคำในปี 2556 ลงสู่ระดับ 1,440 ดอลลาร์/ออนซ์ จากระดับ 1,600 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (วันที่ 21 มิถุนายน 2556)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

อรุณสวัสดิ์ค่ะทุกคน

เห็นราคาร่วงขนาดนี้ไม่รู้ว่าจะดีใจหรือเสียใจดี

 

ปล

เห็นด้วยว่าป๋าคิกขุขึ้นเพราะรูปprofileใหม่

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ประเด็นสำคัญ

 

§ มติการประชุมเฟดที่คงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่ร้อยละ 0.0-0.25 และวงเงินซื้อพันธบัตรภายใต้มาตรการ QE ที่ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน สอดคล้องกับที่ตลาดคาด แต่สิ่งที่ผิดคาด ก็คือ ถ้อยแถลงหลังการประชุมจากประธานเฟด ที่สะท้อนถึงช่วงเวลาที่ชัดเจนของจุดเริ่มชะลอการเข้าซื้อพันธบัตรภายใต้มาตรการ QE ในช่วงปลายปี 2556 นี้ และจุดสิ้นสุดของมาตรการ QE ภายในช่วงกลางปี 2557

§ มองไปข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดแนวทางการดำเนินการของเฟด ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาสอดคล้อง และ/หรือดีกว่าที่เฟดได้ประเมินไว้แล้ว ก็คาดว่า เฟดน่าจะเดินหน้าชะลอมาตรการ QE ตามกรอบเวลาที่วางไว้ในการประชุมรอบนี้ แต่หากสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความอ่อนแอ เฟดก็คงต้องปรับแผนการถอยมาตรการ QE ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

§ สำหรับไทยแล้ว คงต้องเตรียมรับมือกับทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุน และสภาพแวดล้อมทางการเงินที่คงจะทยอยเปลี่ยนแปลงไป

แม้ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อวันที่ 18-19 มิ.ย. 2556 ออกมาสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด โดยเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่กรอบร้อยละ 0.00-0.25 และวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือมาตรการ Quantitative Easing (QE) ไว้ที่ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนตามเดิม[1] อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผิดจากที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ ก็คือ ถ้อยแถลงหลังการประชุมจากนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด ที่สะท้อนถึงช่วงเวลาที่ชัดเจนของการถอยออกจากมาตรการ QE ...

 

 

 

สัญญาณจากผลการประชุมเฟด...ภาพการถอยมาตรการ QE ชัดเจนมากขึ้น

 

 

 

§ แม้ตลาดจะเตรียมระวังสัญญาณชะลอมาตรการ QE แต่ถ้อยแถลงของประธานเฟดก็ตอกย้ำภาพให้ชัดเจนมากขึ้น โดยประธานเฟด กล่าวว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งเพียงพอและสอดคล้องกับที่ได้ประเมินไว้ เฟดก็อาจจะเริ่มทยอยลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรภายใต้มาตรการ QE ในช่วงปลายปี 2556 นี้ และจะดำเนินการต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2557 โดยอาจสามารถยุติมาตรการ QE ได้ประมาณในช่วงกลางปี 2557 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาที่อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ลดต่ำลงจนเข้าใกล้ร้อยละ 7.0 จากร้อยละ 7.6 ในปัจจุบัน แต่กระนั้น เฟดก็ยังคงกล่าวย้ำว่า การคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds จะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ จะปรับตัวลงไปที่ร้อยละ 6.5 หรือต่ำกว่า ขณะที่ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 2.5

 

ทั้งนี้ มุมมองและประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของเฟดในการประชุมรอบนี้ มีภาพที่เป็นเชิงบวกมากขึ้น โดยเฟดคาดว่า อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ จะปรับตัวลงไปมีค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 6.5-6.8 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 และจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่องไปที่ร้อยละ 5.8-6.2 ในช่วงไตรมาส 4/2558 ขณะที่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0-3.5 ในปี 2557 และร้อยละ 2.9-3.6 ในปี 2558 ซึ่งเป็นทิศทางที่สะท้อนการฟื้นตัวจากปี 2556 ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.3-3.6

 

§ เฟดยังคงย้ำว่า การชะลอซื้อพันธบัตรไม่ใช่การส่งสัญญาณคุมเข้ม และอาจมีการปรับเปลี่ยนแนวทางสำหรับมาตรการ QE ได้ในระยะข้างหน้า โดยเฟดกล่าว หากพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแอว่าที่คาด เฟดก็อาจจะพิจารณาหยุดกระบวนการถอยออกจากมาตรการ QE โดยอาจจะพักช่วงเวลาการลดวงเงินซื้อพันธบัตรต่อเดือน หรืออาจจะกลับมาเพิ่มวงเงินซื้อพันธบัตรภายใต้มาตรการ QE อีกครั้ง ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าว สะท้อนว่า เฟดก็น่าจะยังคงประเมินพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงหลายเดือนข้างหน้าอย่างระมัดระวังต่อไป

 

 

 

 

 

โดยสรุป สัญญาณเกี่ยวกับการชะลอมาตรการ QE ในช่วงปลายปี 2556 (และน่าจะมีจุดสิ้นสุดในช่วงกลางปี 2557) ที่ค่อนข้างชัดเจนข้างต้น เมื่อผนวกเข้ากับสัญญาณอ่อนแอเพิ่มเติมของเศรษฐกิจจีน (ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นสำหรับเดือนมิ.ย.2556 ที่ร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนที่ 48.3 จาก 49.2 ในเดือนพ.ค. ตอกย้ำภาพถดถอยของกิจกรรมในภาคการผลิตเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน) ก็ส่งผลทำให้ตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลกเคลื่อนไหวในกรอบที่รุนแรงมากขึ้น โดยตลาดหุ้นเอเชียเผชิญแรงเทขายอย่างหนัก ตามหลังการดิ่งลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ช่วงหลังการประชุมเฟด ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ทะยานแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย (ดัชนีเงินดอลลาร์ฯ ดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์) โดยในส่วนของเงินบาทนั้น อ่อนค่ากลับมาทดสอบระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ฯ อีกครั้ง นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ก็ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน สวนทางทิศทางราคาน้ำมันและทองคำในตลาดโลกที่ร่วงลงอย่างหนัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้สัญญาณจากเฟดจะสะท้อน “ช่วงเวลา” ของการชะลอมาตรการ QE ที่ค่อนข้างชัด อย่างไรก็ดี สิ่งที่ตลาดจะต้องรอความชัดเจนและประเมินต่อไป ก็คือ “ระดับของการลดวงเงิน” เข้าซื้อพันธบัตรต่อเดือน ซึ่งยังคงขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า ดังนั้น แม้กระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับการถอนมาตรการ QE จะกระตุ้นให้ตลาดเงิน-ตลาดทุนตอบสนองข่าวในช่วงแรก ด้วยการกลับเข้าซื้อเงินดอลลาร์ฯ พร้อมๆ กับเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สินทรัพย์เสี่ยง ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ แต่ก็คงต้องยอมรับว่า การปรับตัวของตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลก ยังอาจต้องเผชิญกับความผันผวนตามกระแสความคาดหวังของตลาดที่ย่อมต้องการรายละเอียดของการถอนมาตรการ QE ที่ชัดเจนมากขึ้นจากเฟด

มองไปข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดแนวทางการดำเนินการของเฟด ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาสอดคล้อง และ/หรือดีกว่าที่เฟดได้ประเมินไว้แล้ว ก็คาดว่า เฟดน่าจะเดินหน้าชะลอมาตรการ QE ตามกรอบเวลาที่วางไว้ในการประชุมรอบนี้ แต่หากสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความอ่อนแอ เฟดก็คงต้องปรับแผนการถอยมาตรการ QE ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก็น่าจะมีกรอบที่ผันผวนมากขึ้น

 

ซึ่งสำหรับหลายๆ ประเทศในเอเชีย รวมถึงประเทศไทยแล้ว โจทย์ที่ต้องเตรียมรับมือในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า ก็คือ ทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกระบวนการถอย QE ของเฟดดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพราะสถานการณ์ดังกล่าว จะมีผลเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงิน และระดับสภาพคล่อง (รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล) ในประเทศ ซึ่งย่อมเพิ่มความซับซ้อนให้กับการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. ขณะที่ สำหรับภาคเอกชนแล้ว (ทั้งผู้ที่ต้องการระดมทุนใหม่ และ/หรือต้องการ Rollover หนี้ก้อนเดิม) ก็คงต้องเตรียมวางแผนการระดมทุนให้สอดคล้องกับสภาพตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากตลาดเริ่มหาคำตอบเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการคุมเข้มทางการเงินของสหรัฐฯ ด้วยการปรับลดขนาดงบดุลของเฟด และ/หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds (หลังจากยืนที่ระดับใกล้ศูนย์มาตั้งแต่ปลายปี 2551) แม้ว่า ระดับความเพียงพอของสภาพคล่องในระบบการเงินไทย จะยังไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลมากนักในช่วงใกล้ๆ นี้ก็ตาม

 

ประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ

 

ที่มา : ทันหุ้น(วันที่ 21 มิย.56)

 

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เอาอีกแล้ว ค่ายนี้ ราคาทองลง 1-2 วัน ก็ออกมา ฟันธง ก็แล้วแต่ ใครจะเชื่อ ของแบบนี้ต้องฟังหูไว้หู

 

 

นายณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ ฟิวเจอร์ส บอกว่า ราคาทองคำเข้าสู่ช่วงขาลงโดยสมบรูณ์แบบแล้ว หลังจากราคาปรับตัวลงหลุดทุกแนวรับ ทั้งสั้น กลาง ยาวแล้ว โดยนักลงทุนควรขายทองคำออกมา หรือ ทำกำไรจากช่วงขาลง(Short) ไม่ควรเข้าซื้อ และควรและวางจุดตัดขาดทุนทุกครั้ง

 

ทั้งนี้แนวรับแรกคาดว่าจะอยู่ระดับ 1,250 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ แต่หากหลุดจะอยู่ที่ 1,200 ดอลลาร์ต่อทรอยออนช์

 

ที่มา : money channel (วันที่ 21 มิย.56)

 

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

"กิตติรัตน์" เชื่อ เฟดส่งสัญญาณลดคิวดี ไม่กระทบไทย ขอ ธปท. ดูแลใกล้ชิด หวั่นค่าบาทผันผวน

 

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การตัดสินใจทยอยลดการซื้อสินทรัพย์ในปลายปีนี้และยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิวอี) ในปลายปีหน้า ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยมากนัก เพราะมีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ และสภาพคล่องเงินบาทในประเทศสูง เพียงพอรองรับการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมา เงินที่ผ่านเข้ามาในประเทศทั้งหมด เป็นเงินเก็งกำไรและไม่ควรเข้ามาตั้งแต่ต้น หากจะมีการไหลกลับเข้ามาก็จะไม่เสียหายอะไร

 

อย่างไรก็ตาม มอบหมายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ให้เตรียมรองรับความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน และดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุนไม่ให้กระทบเงินบาท โดยเครื่องมือและกลไกของ ธปท.ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถรองรับได้ โดยรูปแบบการดูแลไม่จำเป็นต้องเข้าแทรกแซงตลาด และไม่จำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเหมือนในอดีต แต่อาจประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งจะช่วยให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างวันไม่ผันผวนมากเกินไป

 

สำหรับผลกระทบการลงทุนใตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าการตัดสินใจของเฟดจะผลออกมาอย่างไร ก็จะมีผลกระทบอยู่แล้ว เพราะนักลงทุนต่างชาติจะเก็งกำไรกับข่าวนี้ พร้อมแนะนักลงทุนไม่ใช้เงินกู้ในการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยง

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ (วันที่ 21 มิถุนายน 2556)

 

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

วิตกเฟดถอนคิวอี ทอง-น้ำมันปิดลบ ดาวโจนส์ร่วงแรง 353 จุด

21/06/2013 , 08:01

257.jpg

 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 14,758.32 จุด ดิ่งลง 353.87 จุด หรือ -2.34% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,588.19 จุด ร่วงลง 40.74 จุด หรือ -2.50% และดัชนี NASDAQ ปิดที่ 3,364.64 จุด ดิ่งลง 78.56 จุด หรือ -2.28%

 

ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงติดต่อกัน 2 วันทำการ หลังจากเบอร์นันเก้ได้ออกมาส่งสัญญาณในด้านลบต่อตลาด ด้วยการแถลงต่อผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมว่า เฟดจะเริ่มชะลอโครงการซื้อพันธบัตร หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปลายปีนี้ หากเศรษฐกิจฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้

 

นอกจากนี้ยังกดดัน ด้าน สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI)ส่งมอบเดือนก.ค.ร่วงลง 2.84 ดอลลาร์ ปิดที่ 95.4 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค.ที่ตลาดลอนดอน ดิ่งลง 3.97 ดอลลาร์ ปิดที่ 102.15 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

ด้าน ราคาทองคำตลาดนิวยอร์ก ดิ่งลงอย่างหนักถึง 87.80 ดอลลาร์ หรือ -6.39เปอร์เซ็นต์ ปิดที่ 1286.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีครึ่ง —ISN 02

 

http://www.isnhotnews.com/

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

จับตา"ตลาดหุ้นไทย-ตลาดทองคำ"ในปท.เช้านี้ หลังตลาดหุ้นสหรัฐ-ทองคำตลาดโลกดิ่งเหว

 

วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556 เวลา 07:44:02 น.

 

21 มิ.ย.2556 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อคืนที่ผ่านมา(20มิ.ย.) ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปรับลดลงแรง ซึ่งเป็นผลมาจากถ้อยแถลงของนายเบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดที่ส่งสัญญาณว่า เฟดจะเริ่มชะลอโครงการซื้อพันธบัตร หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE3) ในปลายปีนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้

 

หลังปิดตลาดดาวโจนส์ ดิ่งลงถึง 353.87 จุด หรือ ลดลง 2.34% ปิดตลาดที่ระดับ 14,758.32 จุด ดัชนี เอสแอนด์พี 500 ปิดที่ระดับ 1,588.19 จุด ลดลง 40.74 จุด หรือ 2.50% และดัชนี แนสแดคปิดที่ระดับ 3,364.64 จุด ลดลง 78.56 จุด หรือ คิดเป็น2.28%

 

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI)ส่งมอบเดือนก.ค.ก็ปรับลดลง 2.84 ดอลลาร์ ปิดตลาดที่ระดับ 95.4 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนส.ค.ลดลง 3.97 ดอลลาร์ ปิดตลาดที่ระดับ 102.15 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

ด้านราคาทองคำดิ่งเหวเกือบ 88 ดอลลาร์ แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีครึ่งวานนี้(20) หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ส่งสัญญาณจะลดระดับโครงการเข้าซื้อพันธบัตรในปีหน้าและข้อมูลเศรษฐกิจอันอ่อนแอของจีน โดยราคาทองคำที่ตลาดนิวยอร์ก(COMEX)ของสหรัฐฯเมื่อคืนที่่ผ่านมา (20มิ.ย.) ขยับลง 4 วันติด ล่าสุดเมื่อคืนทีผ่านมา ลดลงแรงถึง 87.80 ดอลลาร์หรือร้อยละ 6.39 ปิดตลาดที่ระดับ 1,286.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แตะระดับต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ปีครึ่ง และเป็นการปรับลดวันเดียวรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ดิ่งลงกว่าร้อยละ 15 ในช่วงกลางเดือนเมษายน

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับลดลงแรงของตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดทองคำที่นิวยอร์กคาดว่าจะส่งผลต่อการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย และตลาดซื้อขายทองคำในประเทศเช้านี้ไม่มากก็น้อย

 

วานนี้(20 มิ.ย.2556) ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงแรงถึง35.51จุด มีมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 70,113.46 ล้านบาท

 

และนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ 6,354.35 ล้านบาท

 

 

เช่นเดียวกับราคาทองในประเทศวานนี้ผันผวนตลอดทั้งวัน โดยราคาทองปรับขึ้น-ลงรวม15ครั้ง และทั้งวันปรับลดลงถึงบาทละ800บาท (ตามตาราง) ส่งผลให้ราคาทองแท่งรับซื้อล่าสุดอยู่ที่บาทละ 19,050บาท ราคาใกล้หลุดจากบาทละ19,000 ซึ่งคาดว่าวันนี้ราคาน่าจะลงไปแตะที่ระดับบาทละ18,000บาท

 

http://www.matichon.co.th/n

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เผยสาเหตุ "ทองคำ" ปั่นป่วน เจอพิษ "คิวอี" แถมโดนกองทุนต่างชาติทุบราคา

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 มิถุนายน 2556 22:28 น.

556000007868401.JPEG

 

"จิตติ" ชี้ ทองปั่นป่วน เกิดจากการทุบราคาของกองทุนต่างชาติ ทองคำโลกหลุด 1,300 ดอลล์/ออนซ์ กระทบราคาในประเทศผันผวน ต้องปรับราคาถึง 15 รอบ ราคาลดไปบาทละ 800 บาท แนะชะลอซื้อขาย ด้านศูนย์วิจัยทองฯ ระบุ เกิดจาก "เฟด" ส่งสัญญาณลดขนาด "คิวอี" ฉุดทองคำโลกร่วงแรง เตือนราคาทองอาจลงได้อีก

 

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. สมาคมค้าทองคำได้ประกาศปรับราคาขายทองคำถึง 15 ครั้ง โดยปรับครั้งล่าสุดเมื่อเวลา 16.57 น. ทองคำแท่งขาย 19,150 บาท ทองรูปพรรณ ขาย 19,550 บาท ราคาลดลงถึง 800 บาท จากเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา

 

นายจิตติ มองว่า สาเหตุที่ราคาทองคำที่ผันผวนและปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วดังกล่าว น่าจะเกิดจากการทุบราคาของกองทุนต่างชาติ โดยราคาทองคำในตลาดโลกวันนี้ทำสถิติต่ำสุดหลุดระดับ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลงมาที่ 1,290 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ทำให้ราคาทองคำในประเทศร่วงลงตาม แต่เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาเคลื่อนไหวที่ 31.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จึงช่วยให้ราคาทองคำไม่ลดลงมาก

 

ด้านนายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ ระบุว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำและมาตรการผ่อนปรนทางการเงิน (QE) และส่งสัญญาณชะลอ QE ในอนาคต ส่งผลราคาทองคำตลาดโลกปรับลดลงอย่างหนักมาแตะ 1,293 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์

 

ทั้งนี้ การส่งสัญญาณชะลอ QE มีผลมากพอที่จะทำให้ตลาดตอบรับในเชิงลบ จะเห็นว่าราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลดลง ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ทองคำ ราคาน้ำมัน ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นทันทีกว่า 6.5% สะท้อนนักลงทุนตอบสนองต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่ศูนย์ฯ ประเมินว่าสัญญาณราคาทองคำจะเห็นชัดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี หรืออย่างช้าช่วงไตรมาสแรกปี 2557

 

http://manager.co.th/iBizchannel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000075008

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ขวัญกระเจิง!ข่าวเฟดเลิกQEปีหน้า ทุบทองคำลงเหว$88 หุ้นมะกัน-น้ำมันดิ่งหนัก

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 21 มิถุนายน 2556 04:36 น.

 

556000007873701.JPEG

 

เอเอฟพี/เอเจนซี - ราคาทองคำดิ่งเหวเกือบ 88 ดอลลาร์ แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีครึ่งวานนี้(20) หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ส่งสัญญาณจะลดระดับโครงการเข้าซื้อพันธบัตรในปีหน้าและข้อมูลเศรษฐกิจอันอ่อนแอของจีน ปัจจัยนี้เองก็ฉุดให้วอลล์สตีท ทรุดหนักกว่าร้อยละ 2 และน้ำมันลอนดอนลงเฉียด 4 ดอลลาร์

ทองคำตลาดโคเมกซ์ของสหรัฐฯวานนี้(20) ขยับลง 4 วันติด ลดลง 87.80 ดอลลาร์หรือร้อยละ 6.39 ปิดที่ 1,286.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แตะระดับต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ปีครึ่งและเป็นการปรับลดวันเดียวรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ดิ่งลงกว่าร้อยละ 15 ในช่วงกลางเดือนเมษายน

 

ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯวานนี้(20) ซวนเซหนักตามตลาดทุนอื่นๆทั่วโลก อันมีชนวนมาจากแผนปรับลดปริมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟด แถมยังถูกซ้ำเติมด้วยข่าวร้ายเกี่ยวกับข้อมูลการผลิตจีน

 

ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ ลดลง 353.87 จุด (2.34 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 14,758.32 จุด แนสแดก ลดลง 78.57 จุด (2.28 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 3,364.63 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 40.74 จุด (2.50 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,588.19 จุด

 

วอลล์สตรีทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นเอเชียและยุโรป อันมีต้นตอจากถ้อยแถลงของเบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ระบุเมื่อวันพุธ(19) ว่าเฟดจะค่อยชะลอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอันฉีดเม็ดเงินผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์ ปลายปีนี้และอาจยกเลิกกลางปีหน้า

 

ขณะเดียวกันตลาดยังถูกว้ำเติมจากรายงานภาวะเศรษฐกิจที่น่ากังวลของจีน โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้นประจำเดือนมิถุนายนของจีนที่จัดทำโดยเอชเอสบีซี ลดลงอยู่ที่ระดับ 48.3 จาก 49.2 ในเดือนพฤษภาคม และเป็นการเน้นย้ำความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจชะลอลงมากกว่าที่คาดหมายกัน รวมทั้งเพิ่มความกดดันต่อธนาคารกลางแดนมังกรให้ผ่อนคลายนโยบายการเงิน

 

ปัจจัยข้างต้นส่งผลให้ราคาน้ำมันวานนี้(20) ดิ่งลงอย่างหนัก โดยทั้งตลาดนิวยอร์กและลอนดอน ปรับลงหนึ่งวันหนักหน่วงที่สุดในรอบหลายเดือน

 

สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม ปิดที่ 95.40 ดอลลาร์ ลดลง 2.84 ดอลลาร์หรือร้อยละ 2.9 ถือเป็นการขยับลงคิดเป็นเปอร์เซนต์แรงสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายนหรือก่อนหน้าวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

ส่วนเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 3.79 ดอลลาร์ ปิดที่ 102.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปิดลบหนักหน่วงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายนเช่นกัน

 

http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000075070

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

หุ้น -35 จุด ทองคำร่วง 800 บาท หลังเฟดจ่อถอน QE

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 มิถุนายน 2556 19:04 น.

556000007860001.JPEG

ตามคาดเฟดชะลอมาตรการ QE ช่วงสิ้นปี และเตรียมยุติในกลางปีหน้า กดหุ้นรูด 35 จุด วอลุ่มเทรด 7 หมื่นล้าน ต่างชาติโกยต้นทุน-กำไรออกไปอีก 6.3 พันล้านบาท โบรกฯ มองมีโอกาสรีบาวนด์หลังปรับตัวลงต่อเนื่องมานาน เหตุนักลงทุนรับรู้มาระยะหนึ่งแล้ว ด้าน “จรัมพร” ระบุช่วยเห็นภาพชัดเจนขึ้น ยอมรับระยะสั้นยังเป็นปัจจัยลบกดดันตลาด แนะปรับเกมรับมือบาทอ่อนค่า ด้านทองคำราคาวูบ 800 บาท

 

ภาวะหุ้นไทยวันนี้ (20 มิ.ย) ปิดที่ระดับ 1,402.19 จุด ลบไป35.51 จุด หรือ 2.47% ราคาสูงสุดอยู่ที่ 1,413.39 และต่ำสุดอยู่ที่ 1,390.33 จุด มูลค่าการซื้อขาย 70,113.46 ล้านบาท ปัจจัยมาจากถ้อยคำแถลงของเฟดที่ประกาศจะชะลอจำนวนวงเงินในการทำ QE และเตรียมยกเลิกมาตรการดังกล่าวในช่วงกลางปีหน้า ส่งผลให้เกิดแรงเทขายในทุกตลาดหุ้นทั่วโลก

 

โดยมูลค่าการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุน โดยนักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ 6,354.35 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ 483.31 ล้านบาท นักลงทุนทั่วไปในประเทศ ซื้อสุทธิ 5,233.58 ล้านบาท สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1,604.07 ล้านบาท

 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นในภูมิภาค ดัชนีเวทเต็ด ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 108.48 จุด หรือ 1.39% ปิดที่ 7,898.91 จุด, ดัชนีนิกเกอิ ตลาดหุ้นโตเกียวปิดลดลง 230.64 จุด หรือ 1.74% แตะที่ 13,014.58 จุด, ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต ตลาดหุ้นจีน ลดลง 59.43 จุด หรือ 2.77% ปิดที่ 2,084.02 จุด, ดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหุ้นฮ่องกงลดลง 604.02 จุด หรือ 2.88% ปิดที่ 20,382.87 จุด

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินทิศทางการลงทุนวันพรุ่งนี้ (21 มิ.ย.) ว่า แรงเทขายน่าจะลดลง ทำให้โดยรวมดัชนีน่าจะเคลื่อนไหวในลักษณะทรงตัว หรือมีโอกาสรีบาวนด์ขึ้นมาบ้างหลังจากปรับตัวลงไปมาก เหตุผลหนึ่งมาจากนักลงทุนรับรู้การยุติ QE ของเฟดมาแล้วในระดับหนึ่ง จากการเทขายอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการอ่อนค่าของค่าเงินบาท โดยกลยุทธ์ลงทุนช่วงนี้แนะนำเข้าทยอยลงทุน

 

ตลท.เชื่อไม่เกิด Panic Sell

 

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า การที่ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงนั้นสอดคล้องกับตลาดหุ้นภูมิภาค และตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอบรับผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ระบุว่าจะมีการชะลอมาตรการ QE ในช่วงสิ้นปีนี้ และอาจจะยุติลงในช่วงกลางปีหน้า ซึ่งในแง่หนึ่งก็เห็นว่าสร้างความชัดเจนแล้ว หลังจากตลาดคาดการณ์กันมาระยะหนึ่ง แม้ขณะนี้จะมีเงินที่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยไปกว่า 5 หมื่นล้านบาท แต่ยังมองว่าเป็นส่วนน้อย หากเทียบกับมูลค่าตามมาร์เกตแคป 13 ล้านล้านบาท ซึ่งนักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 37% และส่วนมากเป็นการลงทุนระยะยาวในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่

 

“โดยรวมเชื่อว่าจะไม่ทำให้เกิดการ panic sell ตามมา ปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยยังดี และเชื่อว่าบริษัทจดทะเบียนของไทยยังสามารถทำกำไรท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนได้ ตอนนี้ความอึมครึมหายไป ในที่สุดความกังวลก็จบลง ช่วงสั้นคงผลกระทบบ้าง แต่ทุกคนก็สามารถวางแผนการในอนาคตได้ ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าก็เป็นจังหวะที่ภาคธุรกิจส่งออกจะวางกลยุทธ์แผนธุรกิจเพื่อเดินหน้าต่อไปได้ เราควรมองว่าวิกฤตช่วงนี้เป็นโอกาส”

 

ด้าน ม.ล.ทองมกุฎ ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นทั่วโลก ถือเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่จะเข้าลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดี แต่ราคาถูก เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังดี กำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ยังขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 10 ซึ่ง บล.ไทยพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายดัชนีปลายปีนี้ที่ระดับ 1,550 จุด แต่ควรติดตามปัจจัยทางการเมืองที่ยังเป็นกดดันต่อตลาดหุ้นไทยในระยะต่อไป

 

“แรงขายของนักลงทุนต่างชาติคาดว่ายังมีต่อเนื่อง หลังจากที่ต่างชาติปรับพอร์ตลดความเสี่ยง เพราะได้กำไรจากราคาหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เชื่อว่าต่างชาติจะไม่ขายออกหมดทั้ง 100%”

 

เงินบาทปิด 31.12 บาท คาดอ่อนค่าต่อ

 

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดวานนี้ (20 มิ.ย.) อยู่ที่ระดับ 31.12/15 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 31.03/05 บาท/ดอลลาร์ ปัจจัยหลักมาจากกรณีถ้อยแถลงของประธานเฟด ที่ออกมาส่งสัญญาณทยอยลดมาตรการ QE ภายในสิ้นปีนี้หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ และคาดว่าวันพรุ่งนี้ (21 มิ.ย.) เงินบาทก็ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อได้ เพราะดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่องโดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.90-31.38 บาท/ดอลลาร์

 

ทองคำวูบ 800 บาท

 

ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงจากความชัดเจนในเรื่องมาตรการ QE ของเฟดแล้ว พบว่าราคาทองคำ ก็เป็นอีกสินทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงมากเช่นกัน โดยวันนี้ (20 มิ.ย.) สมาคมค้าทองคำ ได้ปรับลดราคาทองคำลงมาถึง 8 ครั้ง มาอยู่ที่ ทองคำแท่ง รับซื้อ 19,050 บาท ขายออก 19,150 บาท ทองคำรูปพรรณ รับซื้อ18,768 บาท ขายออก 19,550 บาท ลดลง 800 บาท และหากคำนวณจากวันก่อน (19 มิ.ย.) พบว่า ราคาทองคำปรับมาแล้ว 950 บาท

 

http://manager.co.th/iBizchannel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000074935

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Market Pulse Archives

 

June 20, 2013, 8:45 p.m. EDT

CME raises initial margins on gold futures by 25%

 

By V. Phani Kumar

 

HONG KONG (MarketWatch) -- The CME Group Inc. on Thursday raised the initial margins on trading in gold futures by as much as 25%, according to reports. The initial margin required to trade Comex 100 gold futures now stands at $8,800 per contract, compared with $7,040 earlier, according to Reuters. The CME's decision came after August gold futures GCQ3 +0.37% plunged $87.80, or more than 6%, to end at $1,286.20 an ounce on Thursday, the futures' lowest closing level since September 2010.

 

http://www.marketwatch.com/story/cme-raises-initial-margins-on-gold-futures-by-25-2013-06-20

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงเช้านี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตร ขณะเดียวกันก็กังวลว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงอีก

 

ดัชนี MSCI Asia Pacific ร่วงลง 1.3% แตะ 125.98 จุด เมื่อเวลา 9.37 น.ตามเวลาโตเกียว

 

ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 12,787.87 จุด ลดลง 226.71 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 2,058.98 จุด ลดลง 25.04 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 19,969.98 จุด ลดลง 412.89 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 7,778.84 จุด ลดลง 120.07 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 1,806.40 จุด ลดลง 44.09 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,081.50 จุด ลดลง 51.76 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เปิดวันนี้ที่ 6,315.10 จุด ลดลง 11.57 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,746.74 จุด ลดลง 15.60 จุด และดัชนี S&P/ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลียเปิดวันนี้ที่ 4,758.10 จุด ลดลง 0.30 จุด

 

หุ้นบีเอชพี บิลลิตัน ลดลง 1.8% หุ้นนิวเครสต์ ไมนิ่ง ร่วงลง 6.8% และหุ้นมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป หดตัว 2.9%

 

นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด กล่าวว่า หากข้อมูลเศรษฐกิจที่เฟดจะได้รับในวันข้างหน้านั้นบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ ก็เป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะชะลอโครงการซื้อพันธบัตร หรือชะลอกการทำ QE ภายในปีนี้ และหากข้อมูลเศรษฐกิจยังคงออกมาสอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ เฟดก็จะยังคงลดขนาดวงเงินซื้อพันธบัตรไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปีหน้า และจะสิ้นสุดโครงการซื้อพันธบัตรประมาณกลางปีหน้า

 

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นเอเชียยังได้รับแรงกดดันหลังจากเอชเอสบีซี โฮลดิงส์เผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนในเดือนมิ.ย.ลดลงแตะ 48.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน และต่ำกว่าดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายในเดือนพ.ค.ที่ 49.2

 

ดัชนีที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมภาคการผลิตทั่วประเทศของจีนหดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า

 

ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (วันที่ 21 มิถุนายน 2556)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ถ้อยแถลงของ เบน เบอร์แนนคี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ที่ระบุว่าอาจเริ่มต้นลดการใช้มาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) ที่เดือนละ 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปลายปีนี้ และจะยุติคิวอีในกลางปี 2014 หากการฟื้นตัวเศรษฐกิจและภาวะการจ้างงานดีขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนระดับ 8 ริกเตอร์ต่อตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียของวันที่ 20 มิ.ย. ให้ดิ่งลงอย่างหนัก

 

ดัชนีตลาดหุ้นตลาดเกิดใหม่เอ็มเอสซีไอ ร่วงลง 3.2% ไปอยู่ที่ 916.57 จุด โดยถือเป็นจุดที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 เดือน ขณะที่ดัชนีตลาดฮั่งเส็งปรับตัวลดลง 2.8% หรือลดลง 604.02 จุด ที่ 20,382 จุด นิกเกอิของญี่ปุ่น ลดลง 1.74% หรือลดลง 230.64 จุด ปิดที่ 13,014 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปก็ตกอยู่ในภาวะย่ำแย่ไม่แพ้กัน โดย ฟุตซี100 ของอังกฤษ เปิดมาร่วงลง 2.39% หรือลดลง 152.84 จุด ที่ 6,195 จุด ขณะที่เด็กซ์เยอรมนี ร่วงลง 2.75% หรือลดลง 225.63 จุด ที่ 7,971 จุด

 

ส่วนราคาพันธบัตรหลายประเทศเอเชียก็เกิดการเทขายอย่างหนัก จนส่งผลทำให้ผลตอบแทนพุ่งขึ้น โดยพันธบัตรอายุ 5 ปี ของเกาหลีใต้พุ่งขึ้น 0.23% อยู่ที่ 3.22% (มากสุดในรอบเกือบ 1 ปี) ขณะที่พันธบัตรฟิลิปปินส์กำหนดไถ่ถอนปี 2037 พุ่งขึ้น 0.5% อยู่ที่ 5.5% (สูงสุดในรอบ 5 เดือน) ด้านค่าเงินริงกิตมาเลเซียอ่อนค่าลง 1.6% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ (อ่อนสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2011) ขณะที่รูปีอินเดียอ่อนค่าลง 1.9% (อ่อนสุดตั้งแต่ ก.ย. 2011)

 

อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะดังกล่าวจะเป็นผลมาจากความแตกตื่นว่าเฟดจะลดการใช้มาตรการอัดฉีดเงิน เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปลายปีนี้ และสิ้นสุดลงในกลางปีหน้า แต่หากมองในความเป็นจริงแล้วต้องยอมรับว่านักลงทุนทั่วโลกตกอยู่ในภาวะ กระต่ายตื่นตูมกับข่าวดังกล่าวมากเกินไป และกำลังสั่นคลอนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไปด้วย ดังเห็นได้จากผลตอบแทนพันธบัตรที่พุ่งขึ้นมากสุดในรอบหลายเดือน ขณะที่ค่าเงินหลายประเทศเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐก็อ่อนยวบลงอย่างหนัก

 

เพราะถึงแม้ตัวเบอร์แนนคีจะออกมาป่าวประกาศเองว่าจะลดปริมาณการใช้คิวอี ในปลายปีนี้ จนส่งผลให้เกิดความหวั่นเกรงในหมู่นักลงทุนว่า เฟดอาจลดการใช้คิวอีเร็วกว่าที่ประกาศไว้

 

แต่ต้องไม่ลืมว่าหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ เบอร์แนนคี ตั้งเอาไว้อย่างชัดเจนนั่นคือ ภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราการจ้างงาน ซึ่งเป็นปัจจัยชี้วัดความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญจะต้องแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งเสียก่อน

 

ตามภาวะคาดการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด มองว่าในสิ้นปีนี้อัตราการว่างงานเมืองลุงแซมจะลดลงมาเหลือที่ 7.2% และลงมาเหลือที่ 6.5–6.8% จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 7.6% ขณะที่อัตราการเติบโตของจีดีพีก็คาดว่าในสิ้นปีนี้จะโตได้ที่ 2.32.6% และจะเพิ่มขึ้นไปที่ 3–3.5% ในปี 2014

 

“เบอร์แนนคีส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะคงการกระตุ้นไว้ ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ดีพอ โดยเฉพาะการเน้นย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดควรจะต่ำต่อไป ตราบเท่าที่การว่างงานยังอยู่สูงกว่า 6.5%” จิม คีแนน ผู้จัดการกองทุนพันธบัตรแบล็กร็อก ระบุ

 

ขณะที่ พอล อีเดลสเตน นักเศรษฐศาสตร์จากไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ ระบุว่า การประเมินภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจในแดนพญาอินทรีจะขยายตัวอย่างกร้าวแกร่ง ขึ้นในปีนี้และปีหน้า จนสามารถลดและถอนการใช้คิวอีได้นั้น อาจถือเป็นการมองโลกที่ดีเกินไปของเฟด และเป็นการประเมินที่ดีเกินความเป็นจริง

 

เนื่องจากในปัจจุบันสหรัฐกำลังเผชิญทั้งการตัดลดงบประมาณอัตโนมัติ (ซีเควสเตชัน) และภาวะการชะลอตัวของยุโรปและจีน ดังนั้นการที่เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวได้ในเวลาอันรวดเร็วราวปลายปีนี้ตามที่ เฟดคาดการณ์จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะตัวเลขการว่างงานสหรัฐอยู่ที่ 7.6% ในปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ ด้วยภาวะเงินเฟ้อที่เป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงภาวะระดับราคาสินค้าและการซื้อการ ขายในตลาดของสหรัฐที่ยังถือว่าต่ำกว่าที่เฟดคาดหมายเอาไว้มาก โดยในเดือน พ.ค. อยู่ที่ 1.4% เท่านั้น ขณะที่เป้าหมายที่เฟดต้องการคือ 2% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะกลายเป็นตัวผูกมัดให้เฟดยังต้องคงการใช้มาตรการคิวอี เอาไว้ต่อไป

 

ดังนั้น นี่จึงถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนต่อนักลงทุนทั่วโลกให้ได้สบายใจลงชั่วขณะหนึ่ง ว่า ภาวะช็อกทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการลด หรือยุติการใช้คิวอีอย่างกะทันหัน จนอาจส่งผลให้เกิดภาวะการดึงเงินทุนไหลออกอย่างมหาศาล และทำให้ค่าเงินของหลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียอ่อน ยวบอย่างหนัก จะยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน

 

ไม่เพียงเท่านั้น หากทุกอย่างเป็นไปตามที่เฟดคาดการณ์เอาไว้จริง การลดการใช้มาตรการคิวอีในเวลานั้น ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐและทั่วโลก โดยเฉพาะการทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐต้องสะดุดลง เพราะถึงเมื่อนั้นภาวะเศรษฐกิจแดนมะกันได้ก้าวเดินมาสู่ในจุดที่แข็งแกร่งจน สามารถดูแลตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งยาวิเศษยี่ห้อ “คิวอี” หรือการใช้คงดอกเบี้ยต่ำจากเฟดแล้ว

 

ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมืองลุงแซม ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกดังกล่าว ก็น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการค้าการลงทุนทั่วโลกให้เพิ่มมากขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะเอเชีย เนื่องจากภาวะการเติบโต และการบริโภคของสหรัฐจะเข้ามากระตุ้นการส่งออกของเอเชียให้มากขึ้น ซึ่งนั่นจะเข้ามาทดแทนกระแสเงินทุนร้อนที่หลั่งไหลออกไปจากเอเชีย อีกทั้งจากการที่ค่าเงินเอเชียอ่อนลง ก็จะช่วยเกื้อหนุนการส่งออกของเอเชียให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

 

ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ภาวะดังกล่าวจะสร้างความอุ่นใจต่อนักลงทุนทั่วโลกมากพอสมควร แต่ก็ใช่ว่าเหล่าบรรดานักลงทุน รวมไปถึงผู้กำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ จะวางใจกับการส่งสัญญาณครั้งล่าสุดของ เบอร์แนนคี มากจนเกินไป

 

เนื่องจากทุกฝ่ายควรหันมาทบทวนกับมาตรการตั้งรับกับผลกระทบจากการถอน หรือลดมาตรการคิวอีของเฟดให้เกิดความชัดเจน และมีการรองรับอย่างเป็นระบบให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาแม้หลายประเทศจะเริ่มหันมาออกมาตรการรองรับกับปัญหาเงินทุน ไหลออก ไปจนถึงค่าเงินที่อาจกลับมาอ่อนค่าลงอย่างหนักอีกครั้ง แต่ต้องบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าทิศทางการรับมือในปัจจุบันยังค่อนข้างสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่แน่ใจว่าเฟดจะลดคิวอีจริงหรือไม่

 

ดังนั้น การส่งสัญญาณของเฟดในครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนแล้วว่า ทุกประเทศควรจะต้องคิดหาวิธีรับมือได้แล้ว เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นมาจะมาอ้างว่าเตรียมการรับมือไม่ทันไม่ได้อีกต่อไป แล้ว

 

นอกเหนือจากผลกระทบจากเงินทุนร้อนไหลออกจากเอเชียที่จะเกิดขึ้นแล้ว ปัญหาหนึ่งที่ผู้กำหนดนโยบายหลายฝ่ายต้องรับมืออีกอย่างนั่นคือ ภาวะการชะลอตัวของจีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และถือเป็นคู่ค้าหลักของหลายประเทศในเอเชีย เนื่องจากตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจของแดนมังกรหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขจีดีพี ดัชนีภาคการผลิต ตัวเลขเงินเฟ้อ การลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) ต่างสะท้อนว่ากำลังชะลอตัวลงอย่างชัดเจน

 

ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลจีนจะมีกระสุนสำรองทางการเงินการคลังมากพอที่จะใช้นโยบาย กระตุ้น เพื่อให้รอดพ้นจากภาวะชะลอตัวอยู่ แต่แนวทางดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะรัฐบาลภายใต้การนำของผู้นำรุ่นที่ 5 ได้ส่งสัญญาณชัดแล้วว่า จะไม่เดินหน้ากระตุ้นเหมือนที่ผ่านมา และหันมาปฎิรูปแทน เนื่องจากกังวลว่าจะไปกระตุ้นภาวะฟองสบู่และหนี้เสียเพิ่มขึ้น ซึ่งภาวะดังกล่าวเคยเป็นบทเรียนที่หลอกหลอนจีนมาโดยตลอด นับตั้งแต่การใช้มาตรการกระตุ้นอย่างมหาศาลในปี 2008

 

ดังนั้น นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจทั่วโลก รวมไปถึงนักลงทุนจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับทิศทางความเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย การเงินของสหรัฐที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของแดนมังกรด้วย

 

เพราะหากรับมือไม่ดี หรือขาดการวางแผนที่ชัดเจน อาจกลายเป็นตัวบั่นทอนแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่สดใส โดยเฉพาะเอเชียให้ดับลงได้เลยทีเดียว

 

ที่มา : โพสต์ทูเดย์(วันที่ 21 มิย.56)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ป๋าใช้รูปน่ารัก

 

ขอบคุณป๋า และ เพื่อนสมาชิก ที่มา update ข่าวสารเสมอ ๆ ครับ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Join the conversation

You can post now and register later. If you have an account, sign in now to post with your account.

ผู้มาเยือน
ตอบกลับกระทู้นี้...

×   วางข้อความแบบ rich text.   วางแบบข้อความธรรมดาแทน

  อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 75 อิโมติคอน.

×   ลิงก์ของคุณถูกฝังอัตโนมัติ.   แสดงเป็นลิงก์แทน

×   เนื้อหาเดิมของคุณได้ถูกเรียกกลับคืนมาแล้ว.   เคลียร์อิดิเตอร์

×   คุณไม่สามารถวางรูปภาพได้โดยตรง กรุณาอัปโหลดหรือแทรกภาพจาก URL

กำลังโหลด...

  • เข้ามาดูเมื่อเร็วๆนี้   0 สมาชิก

    ไม่มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนกำลังดูหน้านี้

×
×
  • สร้างใหม่...