ข้ามไปเนื้อหา
Update
 
 
Gold
 
USD/THB
 
สมาคมฯ
 
Gold965%
 
Gold9999
 
CrudeOil
 
USDX
 
Dowjones
 
GLD10US
 
HUI
 
SPDR(ton)
 
Silver
 
Silver/Oz
 
Silver/Baht
 
tt2518

ขอเดา(ราคาทอง)กับเขาบ้าง

โพสต์แนะนำ

วันนี้ (21 ส.ค.) วันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจีนโบราณ เป็นวันสารทจีน วันสำคัญที่ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยพิธีเซ่นไหว้ และยังถือเป็นเดือนที่ภพภูมิอื่นเปิดให้วิญญาณทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้ค่ะ ดูเกร็ดเรื่องวันสารทจีน คลิก http://hilight.kapook.com/view/14

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ต้องอ่านมุมมองทั้ง 3 ฝ่าย แล้วเมื่อถึงวันเวลานั้นมา จะรู้ว่า ใครโกหก ? .... ส่วนตัวเรา ก็ต้องไม่ประมาท เตรียมรับมือในสิ่งที่จะเกิดขึ้น

 

“โต้ง” แจงที่ประชุมมาตรการกระตุ้นดันครึ่งปีหลังฟื้น

 

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ว่า ที่ประชุมได้รับรายงานจาก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยยืนยันว่า กระแสข่าวที่ทางสำนักข่าว BBC ของทางอังกฤษ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นเรื่องจริง โดยการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ไม่มีความน่าเป็นห่วงและเข้าสู่ภาวะถดถอย ตามที่หลายฝ่ายกังวลและเป็นข่าว เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรกของปี 2555 ที่ผ่านมา และขอให้ประชาชนมั่นใจว่าทางภาครัฐจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่

 

นอกจากนี้ ยังเหลือเวลาในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจตามมาตรการของรัฐบาล เพื่อให้อัตราการเติบโตเป็นไปตามเป้าหมาย และขึ้นอยู่กับมาตรการทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ และการกระตุ้นการส่งออกของประเทศ

 

“ย้ำว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าตื่นตระหนก” รองโฆษกฯ กล่าว

 

นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ จะมีการหารือกับกรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณางบประมาณส่วนราชการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ผ่านการพิจารณาของสภาฯ ได้ในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐมีการใช้จ่ายมีเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้า โดยในงบประมาณปี 57 จะเร่งรัดในช่วงไตรมาส 1 (ต.ค.-ธ.ค.) โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจทันที เพื่อทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย

 

ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3/56 ไม่น่าจะติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/56 และแม้ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มการชะลอตัวตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะยังไปได้ตามที่ประมาณการไว้ แม้จะไม่ได้ขยายตัวสูงมากนัก

 

ส่วนการเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ธปท.ของนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี แม้จะนั่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ด้วยนั้น นายประสาร กล่าวว่า ตามกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ และในการประชุม กนง.วันพรุ่งนี้นายอำพนก็สามารถเข้าร่วมประชุมตามปกติ

 

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในการสัมมนาวิชาการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค หัวข้อ “หนี้ครัวเรือนน่ากลัว ว่า สศค.ประเมินทิศทางความเสี่ยงหนี้สินภาคครัวเรือนในระยะต่อไปน่าจะลดลง เนื่องจากสถานการณ์สินเชื่อมีแนวโน้มแผ่วลงแล้ว และน่าจะกลับสู่ภาวะปกติ เช่นเดียวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ในปีก่อนมีการขยายตัวในระดับสูง และล่าสุดในปีนี้เศรษฐกิจไทยก็เริ่มกลับเข้าสู่การเติบโตอย่างปกติ ซึ่งก็ไม่ถือเป็นสถานการณ์ที่น่ากลัว โดยภาวะสินเชื่อจะเป็นไปในลักษณะสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

 

ทั้งนี้ สศค.ประเมินว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาจาก 2 สาเหตุหลักๆ ประกอบด้วย 1.สถานการณ์หลังจากเกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 54 ธนาคารพาณิชย์เร่งในการปล่อยสินเชื่ออุปโภคบริโภค เห็นได้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภค ในปี 54 ขยายตัว 5.8% ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดน้ำท่วม แต่หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในปี 55 สินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัว 21.6% ล่าสุดในไตรมาสแรกปี 56 ขยายตัว 20% และไตรมาสสอง ขยายตัว 18.2% และ 2.นโยบายและมาตรการของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการรถคันแรก ทำให้สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว และทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น เห็นได้จากสินเชื่อรวมเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี ขณะที่ไตรมาสแรก สินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัวที่ 20% หากไม่นับรวมสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จะโต 15% ส่วนไตรมาสสอง สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ขยายตัว 14.2% หากไม่นับรวมสินเชื่อรถและรถจักรยานยนต์ จะเหลือ 11.2%

 

นอกจากนั้น สศค.ยืนยันว่า สถาบันการเงินของไทยมีความแข็งแกร่งและมั่นคงมากพอที่จะรองรับกับสถานการณ์ต่างๆ โดยสัดส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อคงค้างรวมของธนาคารพาณิชย์ อยู่ในระดับต่ำเพียง 0.51% ของสินเชื่อคงค้างรวม ขณะที่ธนาคารของรัฐ ก็อยู่ระดับต่ำเช่นกัน ที่ 2.2% ของสินเชื่อคงค้างรวม ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตนั้น ในไตรมาสสอง ขยายตัวที่ 14.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมียอดค้างสินเชื่อเกิน 3 เดือนขึ้นไปต่อสินเชื่อบัตรเครดิตก็อยู่ในระดับต่ำที่ 2.3%

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง (วันที่ 21 สิงหาคม 2556)

ถูกแก้ไข โดย เด็กขายของ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ข่าววิ่ง - ข่าววิ่ง

บีบีซี สื่อชื่อดังระดับโลกของอังกฤษ ชี้ไทยดิ่งลงสู่ภาวะถดถอย หลังเศรษฐกิจหดตัวอย่างไม่คาดฝันในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ อ้างนักวิเคราะห์ชี้ปัญหาพื้นฐานไม่ใช่แค่การส่งออก แต่ยังรวมไปถึงอุปสงค์ภายในที่อ่อนแอ

 

บีบีซีรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ระหว่างเดือนเมษายน ถึง มิถุนายน 2013 ของไทย หดดตัวลงอีกร้อยละ 0.3 หลังจากก่อนหน้านี้ในช่วงไตรมาสแรกของปี ก็หดตัวลงร้อยละ 1.7

 

ในรายงานของบีบีซีบอกว่า ภาวะเศรษฐกิจหดตัวของไทยเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน หลังจากก่อนหน้านี้เศรษฐกิจของไทยยังแข็งแกร่งและเติบโตแซงหน้าชาติอื่นๆในภูมิภาค ด้วยระหว่างปี 2012 มีการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 6 ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนแสดงความกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยอาจจะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกพักใหญ่

 

ซันเจย์ มาเธอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจของอาร์บีเอส ให้ทัศนะกับบีบีซีว่า ภาวะถดถอยของไทย มีต้นตอจากปัญหาพื้นฐานต่างๆนานา ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการส่งออกและอุปสงค์ภายในที่อ่อนแอ รวมถึงความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดน้อยถอยลง

 

"ปัญหาพื้นฐานของที่นี่คือ มันไม่ใช่แค่การส่งออก แต่มันยังเกี่ยวข้องกับอุปสงค์ภายในประเทศด้วย มันควรจะเติบโตราวๆร้อยละ 3.5" เขากล่าว "ในช่วงต้นของปี มีการคาดหมายกันว่าไทยจะร้อนแรงเหนือเศรษฐกิจชาติเอเชียอื่นๆ ดังนั้นมันจึงเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่"

 

ในรายงานของบีบีซีอ้างว่า ปัญหาสะดุดในโครงการลงทุนด้านจัดการบริหารน้ำตามหลังต้องประสบอุทกภัยใหญ่ในช่วงปลายปี 2011 ของรัฐบาลไทยคือต้นตอของการบริโภคภายในที่ตกต่ำ ขณะที่การบริโภคภายในประเทศคิดเป็นร้อยละ50 ของผลผลิตทางเศรษฐกิจของไทยเลยทีเดียว

 

รายงานของบีบีซียังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แม้ในช่วงปลายปี 2012 เศรษฐกิจของไทยจะเติบโตมากกว่าที่คาดหมาย ด้วยจีดีพี ระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม พุ่งขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 18.9 แต่ขณะเดียวกันหนี้ภาคครัวเรือนและราคาสินค้าก็พุ่งขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้เองได้ก่อความกังวล จนนำมาซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคม และในการประชุมหนล่าสุดของธนาคารกลางแห่งประเทศไทย ก็คงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิมที่ร้อยละ 2.5

 

ที่่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ (วันที่ 20 สิงหาคม 2556)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

สวัสดีตอนเช้าครับ

 

ลุ้นวันบาทอ่อน ขอบคุณป๋านะครับ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ข่าววิ่ง - ข่าววิ่ง

นายกรณ์ จาติกวนิช อดีต รมว.คลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Korn Chatikavanij แสดงความเห็นว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย(Recession)ครั้งแรกตั้งแต่เกิดวิกฤติในปี 51-52 โดยได้ชี้ให้เห็นว่า วันนี้ถือว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)เปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สร้างความตกใจให้กับนักลงทุนพอสมควร คือไตรมาส 2/56 เศรษฐกิจไทยขยายตัวติดลบ 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/56 และไตรมาส 1/56 ติดลบ 1.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/55 ถือว่าเป็นการเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งแรกตั้งแต่ช่วงวิกฤติปี 51-52

 

"ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ วิธีวัดทางเทคนิคคือการเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของ GDP ในแต่ละไตรมาสเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านั้น และถือว่าเข้าสู่ภาวะถดถอยถ้าการเปรียบเทียบเช่นนี้ติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน"นายกรณ์ ระบุ

 

ทั้งนี้ นายกรณ์ ชี้แจงว่า หากมองว่าเทียบกับปีที่แล้ว ภาพโดยรวมเศรษฐกิจยังเติบโตอยู่ เพียงแต่อัตราการขยายตัวชะลอลงอย่างมาก และที่เป็นเช่นนั้นเพราะตัวขับเคลื่อนทุกตัวชะลอตัวหมด ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภค การลงทุน การส่งออก หรือ การลงทุนโดยรัฐ

 

สถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดผลกระทบมาก โดยอันดับแรก ธุรกิจต่างๆซบเซาทำให้เงินฝืดขาดความคล่องตัว รายได้ทุกคนลดลง มนุษย์เงินเดือนขาดโอที ขาดโบนัส และเลวร้ายกว่านั้นก็คืออาจถูกลดเงินเดือนหรือถูกปลดออกจากตำแหน่ง นักศึกษาจบมาใหม่ก็จะหางานยากขึ้น ประชาชนจำนวนมากวันนี้รับภาระหนี้อยู่หนักอึ้งอยู่แล้วก็จะลำบากมากขึ้นเพราะภาระหนี้ยังคงอยู่แต่รายได้ลดลง

 

ส่วนในแง่ของภาครัฐ รายได้ภาษีก็จะลดลง นอกจากจะรีดภาษีหนักมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ไปลดภาษีกำไรให้ผู้ประกอบการไปแล้วปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท นอกจากนั้นจะขาดดุลมากขึ้นก็คือต้องกู้มากขึ้น และเมื่อ GDP โตช้า ฐานคำนวนหนี้สาธารณะก็จะเล็กลง ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะเพิ่มขึ้น มีผลต่อเครดิตของประเทศและระดับความเชื่อมั่น ต้นทุนการกู้ยืมของประเทศจะสูงขึ้น และขีดความสามารถในการแข่งขันก็จะลดลง

 

นายกรณ์ ยืนยันว่า ทั้งหมดฝ่ายค้านไม่ได้มองในแง่ลบเกินไป แต่เป็นข้อเท็จจริงตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นแน่หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าที่น่าแปลกใจคือประเทศไทยเข้าสู่สภาวะนี้ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีวิกฤติอะไรมาเป็นตัวฉุด ประกอบกับ ยังไม่ได้เห็นผลจากการถอนเงินทุนโดยต่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นถ้าสหรัฐฯ ส่งสัญญานยกเลิกการกระตุ้นด้วยนโยบายการเงิน(QE)

 

"ที่ปฏิเสธไม่ได้อีกก็คือนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ประชานิยมที่เงินไม่ถึงมือชาวบ้าน ซ้ำร้ายกลายเป็นการเพิ่มภาระหนี้และเป็นภาระมหาศาลต่องบประมาณแผ่นดิน"

 

นายกรณ์ ยังได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาว่าต้องหาวิธีเพิ่มรายได้และต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดการกินหัวคิว เพิ่มราคาพืชผลการเกษตร พัฒนาทักษะแรงงานไทยทุกระดับ ลดภาระหนี้ของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณโดยภาครัฐ และลดเงื่อนไขขัดแย้งทางการเมืองที่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม

 

ที่มา : มติชนออนไลน์ (วันที่ 21 สิงหาคม 2556)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

น้ำมันนิวยอร์กลงแรงสุดรอบ2เดือน หุ้นสหรัฐฯ-ทองคำขยับขึ้น

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 21 สิงหาคม 2556 04:33 น.

556000010937401.JPEG

เอพี/เอเอฟพี - ราคาน้ำมันนิวยอร์กวานนี้(20)ขยับลงแรงสุดในรอบ 2 เดือน นักลงทุนจับตาที่ประชุมเฟด ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดผสมผสาน แม้มีปัจจัยหนุนจากรายงานผลประกอบการเหล่าบริษัทค้าปลีก ขณะที่ทองคำ ปรับขึ้นเล็กน้อย หลังดอลลาร์อ่อนค่าลง

 

สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนกันยายน ลดลง 2.14 ดอลลาร์ ปิดที่ 104.96 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้น 25 เซนต์ ปิดที่ 110.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันตลาดนิวยอร์ก เป็นผลจากแนวโน้มที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นำมาซึ่งข่าวลือว่าธนาคารกลางอเมริกา(เฟด) จะลดระดับโครงการเข้าซื้อพันธบัตรเดือนละ 8,500 ล้านดอลลาร์ อย่างเร็วที่สุดในเดือนกันยายน

 

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบลอนดอน ยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสถานการณ์ความไม่สงบในอียิปต์ ด้วยแม้ดินแดนแห่งนี้ จะไม่ใช่ผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่ก็มีข้อวิตกว่าเหตุการณ์ปะทะระหว่างฝ่ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี กับกองทัพ อาจลุกลามสู่ชาติเพื่อนบ้านหรือไม่ก็ก่อความยุ่งเหยิงแก่คลองสุเอซ เส้นทางเดินเรือลำเลียงเชื้อเพลิงอันสำคัญ นอกจากนี้นักลงทุนยังกังวลต่อกำลังผลิตที่ลดลงในลิเบียด้วย

 

ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯวานนี้(20) ส่วนใหญ่แล้วปิดบวก จากแรงหนุนของรายงานผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกรายใหญ่

 

ดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 5.91 จุด (0.04 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 15,004.83 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 6.51 จุด (0.40 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,652.57 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 24.50 จุด (0.68 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 3,613.59 จุด

 

ดัชนีทั้ง 3 ตัวขยับลงต่อเนื่องมาในช่วง 4 วันของการซื้อขายหลังสุด แต่ความเคลื่อนไหวแดนบวกในวันอังคาร(20) นักวิเคราะห์มองว่าได่แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของโฮม ดีพอต, เบสต์บายและบริษัทค้าปลีกอื่นๆ

 

ส่วนราคาทองคำวานนี้(20) ขยับขึ้นเล็กน้อย จากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง โดยราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 6.90 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,372.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000104121

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ข่าววิ่ง - ข่าววิ่ง

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.8% ว่า ต่ำกว่าที่สศค.ประมาณการไว้ที่ 3% และหากจะมองทางเทคนิคก็จะถือว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะชะลอตัวต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส แต่หากมองทางปัจจัยพื้นฐานแล้ว จะเห็นว่ามาจากฐานที่สูงในปีก่อนและไตรมาสที่ 2 ยังมีเรื่องก๊าซในพม่าที่ปิดโรงงานไป 10 วันในเดือนเมษายน ซึ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมพอสมควร อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากฐานที่ต่ำเช่นกัน

 

“สศค.กำลังนำตัวเลขจริงที่สภาพัฒน์ประกาศมาใส่เข้าไปแบบจำลอง เพื่อปรับประมาณการเศรษฐกิจตัวเลขทั้งปีใหม่ในเดือนกันยายน ซึ่งกำลังรอดูตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคมด้วยเช่นกันว่า ตัวเลขเบื้องต้นจะเป็นอย่างไร รวมถึงรอตัวเลขของสัญญาณต่างๆที่สศค.มองว่า เริ่มส่อแว่วว่าจะดีขึ้น หรือ Green shoot เช่น ยอดการส่งออกสินค้าไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV หรือกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม รวมถึงการค้าขายกันเองในกลุ่ม TIP หรือ ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและการท่องเที่ยวว่า ตัวเลขออกมาดีตามคาดหรือไม่”นายเอกนิติกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม สศค.ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 มาตรการของรัฐบาล เพื่อเร่งการทำงานให้มีผลปฏิบัติโดยเร็ว เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะปัจจุบันที่ไม่สามารถอาศัยการกระตุ้นการบริโภคได้ เนื่องจากมีข้อจำกัด จึงจะหันมาเน้นการลงทุนแทน แต่ต้องใช้เวลานาน จะไม่ทันกับช่วงที่เศรษฐกิจจะชะลอลงได้ ดังนั้นจึงต้องเร่งหาทางกระตุ้นการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2556 ที่ยังค้างจ่ายประมาณ 1.7 แสนล้านบาทให้มีการเร่งการเบิกจ่าย มีการหารือกับกองทุนต่างๆ เพื่อให้เกิดการลงทุนทั้งกองทุนสตรีหรือกองทุนตั้งตัวได้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยโดยมีข้อบ่งชี้จากตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจที่ร่วงลงอย่างเหนือความคาดหมายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายนหดตัวลง 0.3% หลังจากร่วงลงไปก่อนหน้านี้ในไตรมาสแรกของปี 1.7% ขณะที่ก่อนหน้าตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเข้มแข็ง แซงหน้าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ด้วยตัวเลขการเติบโตถึง 6% ในปี 2555 ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดหวังว่าแนวโน้มที่ดีดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อเนื่องต่อไป

 

ที่มา : มติชนออนไลน์ (วันที่ 21 สิงหาคม 2556)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ข่าววิ่ง - ข่าววิ่ง

เตือนคลัง-แบงก์ชาติรับมือโจทย์ท้าท้ายในช่วง 2 ปีข้างหน้า "เงินไหลออก" หลังดอกเบี้ยสหรัฐปรับตัวสูง ชี้นโยบายการเงินไม่ใช่คำตอบในขณะนี้

 

นายตีรณ พงศมฆพัฒน์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นผ่านรายการ Morning News "กรุงเทพธุรกิจทีวี" ในช่วงเช้าของวันนี้ (21 ส.ค.) ว่า กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ควรประมาทในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีข้างหน้า ถ้าหากเอเชียมีปัญหาเงินทุนไหลออก จากแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหา

 

ส่วนเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวในขณะนี้ นายตีรณ กล่าวว่า เป็นเพียงการชะลอตัวช่วงสั้น

 

"คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และกระทรวงการคลัง ไม่ควรประมาทในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และควรกลับมาประเมินนโยบยว่ามันถูกต้องตามสมมุติฐานโลกหรือไม่"

 

นายตีรณ กล่าวว่า การใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะนี้เชื่อว่าอาจเป็นอันตราย และคงไม่ใช่คำตอบ คงต้องอาศัยนโยบายการคลัง ที่ไม่มองเฉพาะการลดรายจ่ายภาครัฐ หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง แต่ต้องมองถึงช่องทางการหารายได้ให้มากขึ้น

 

อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวอีกว่า การประชุมกนง.วันนี้ ต้องดูเรื่องหลักอีกเรื่องว่า ทำอย่างไร ให้ตลาดเงินมีเสถียรภาพ ถ้าลดดอกเบี้ย แล้วขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ตลาดผิดปกติ ถ้าลดดอกเบี้ยแล้ว เงินทุนเริ่มไหลออกจากเอเชีย ดอกเบี้ยสหรัฐที่เพิ่มขึ้นจะทำให้สร้างปัญหาและนำไปสู่วิกฤติ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (วันที่ 21 สิงหาคม 2556)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ดอลลาร์อ่อน หนุนทองคำปิดบวก $ 6.9

วันพุธ, 21 สิงหาคม 2556 08:22 | อัพเดตล่าสุดเมือ วันพุธ, 21 สิงหาคม 2556 08:22

 

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ธ.ค.เพิ่มขึ้น 6.9 ดอลลาร์ หรือ 0.51% ปิดที่ 1,372.6 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (20 ส.ค.) เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาทองคำ

 

โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นมาตรวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับ 10 สกุลเงินหลักๆ ปรับตัวลดลง 0.4% เมื่อวานนี้ ทำสถิติลดลงครั้งแรกในรอบ 3 วันทำการ

 

นักลงทุนจับตาดูรายงานการประชุมประจำวันที่ 30-31 ก.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ในช่วงเช้าวันพฤหัสบดีตามเวลาไทย รวมทั้งการประชุมของเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐที่เมืองแจ็คสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค.นี้ เพื่อหารือสถานการณ์เศรษฐกิจและนโยบายการเงิน

 

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูยอดนำเข้าทองคำของอินเดีย ในช่วงเทศกาลของฮินดู ซึ่งโดยปกติแล้วอินเดียจะนำเข้าทองคำเป็นจำนวนมากสำหรับเทศกาลนี้

 

ขณะที่สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย.ลดลง 9.5 เซนต์ ปิดที่ 23.071ดอลลาร์/ออนซ์

 

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค.เพิ่มขึ้น 16.50 ดอลลาร์ ปิดที่ 1525.50 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 3.25 ดอลลาร์ ปิดที่ 749.65 ดอลลาร์/ออนซ์

 

 

http://www.moneychannel.co.th/index.php/2012-06-30-12-32-53/18438-t33.html

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เริ่มต้นรอบสัปดาห์ด้วยข่าวที่ไม่สู้ดีนักหลายระลอก ไล่เรียงตั้งแต่ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียซึ่งร่วงอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี ตามด้วยสกุลเงินรูปีของอินเดียที่ทุบสถิติต่ำสุดในรอบ 2 ปี และตบท้ายที่ค่าเงินบาทไทยที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 1 ปี พ่วงด้วยสัญญาณเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังการเติบโตหดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ไตรมาส

 

บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์หลายสำนักต่างออกโรงแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น คือ ภาพสะท้อนที่อธิบายสถานการณ์ความเปราะบางและขาดสมดุลของเศรษฐกิจหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในฐานะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ดาวรุ่งพุ่งแรงได้เป็นอย่างดี

 

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ การเติบโตของหลายประเทศในแถบนี้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้รับอิทธิพลอย่างมหาศาลจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและดอกเบี้ยต่ำของชาติตะวันตกอย่างสหรัฐ ที่ทำให้เกิดปริมาณทุนต่างชาติไหลเข้าในภูมิภาคมากมาย มากกว่าจะเติบโตจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของตนเอง

 

ดังนั้น เมื่อมีแนวโน้มว่านโยบายข้างต้นจะสิ้นสุดและอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐจะปรับตัวสู่ระดับปกติอีกครั้ง แรงเทขายถอนทุนโยกไปยังฝั่งตะวันตกจึงเกิดขึ้นและเป็นประเทศนั้นๆ เองที่จะล้มทั้งยืนชนิดไม่ทันตั้งตัว

 

ทั้งนี้ วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานโดยอ้างความเห็นจากนักวิเคราะห์หลายสำนักที่ระบุตรงกันว่า สถานการณ์ข้างต้นจะไม่เกิดขึ้นแน่นอนว่า หากว่าเศรษฐกิจพื้นฐานภายในประเทศนั้นๆ แข็งแกร่งเพียงพอ ทว่าหลายประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และไทย กำลังได้รับผลจากความประมาทและความอ่อนแอของตนเอง

 

เพราะนอกจากจะประสบกับทุนต่างชาติไหลออกแล้ว การที่มัวแต่พึ่งภาคการส่งออกมากเกินไป จนเมื่อมีการชะลอตัวเพราะประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีนที่เริ่มลดปริมาณนำเข้า ตามด้วยความต้องการบริโภคสินค้าภายในประเทศที่ลดลง จึงกลายเป็นอุปสรรคกีดขวางสำคัญที่ทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ ไม่สามารถขยับเขยื้อนเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อชดเชยทุนต่างชาติที่หายไปได้อย่างเต็มที่

 

และที่เลวร้ายไปกว่านั้น สถานการณ์ดังกล่าวยังสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจเผชิญหน้ากับความยากลำบากมากขึ้นไปอีก โดยนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งระบุชัดว่าหลายประเทศในเอเชียกำลังติดบ่วงนโยบายกระตุ้นของตนเองจนไม่สามารถขยับเขยื้อนได้อีกต่อไป

 

เหตุผลสืบเนื่องมาจากในระหว่างที่มุ่งหน้าส่งเสริมการลงทุนผ่านการระดมทุนจากตลาดได้โดยง่าย วิธีการเดียวกันนั้นได้ก่อร่างสร้างหนี้ให้เพิ่มพูนมากขึ้นอย่างไม่รู้ตัว โดย ซู เซียนลิม นักเศรษฐศาสตร์จากเอชเอสบีซี ระบุว่า การก่อหนี้ข้างต้นจะไม่เป็นปัญหาแน่นอนหากว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังสามารถขยับเติบโตต่อไปข้างหน้าได้ แต่สถานการณ์ของหลายประเทศในปัจจุบันกำลังแสดงให้เห็นว่า การเติบโตของแต่ละประเทศกำลังชะลอตัว

 

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของ อินโดนีเซีย เริ่มปรับตัวลดลง เหตุเพราะคู่ค้ารายใหญ่คนสำคัญอย่างจีนนำเข้าสินค้าของอินโดนีเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์จำพวกแร่เหล็กและถ่านหินลดลง ส่งผลให้ภาคการส่งออกของอินโดนีเซียเติบโตต่ำกว่า 6% ในปีนี้ ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี

 

ขณะเดียวกันตัวเลขขาดดุลการค้าที่ขยายวงกว้างขึ้นจาก 5,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาสแรกของปีนี้มาอยู่ที่ 9,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาส 2 ได้ช่วยตอกย้ำความเลวร้ายจนเกินแรงเทขายในตลาดหุ้นมหาศาล ทำให้ดัชนีจาการ์ตา คอมโพสิต ของตลาดหลักทรัพย์ร่วงลงแล้ว 5.6% และค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี ที่ 10,520 รูเปียห์ต่อเหรียญสหรัฐ

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับไทย ที่เพิ่งจะเปิดเผยข้อมูลการเติบโตพบว่าจีดีพีในไตรมาส 2 ปีนี้หดตัวเพิ่มอีก 0.3% ต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่มีการหดตัวลง 1.7% และ อินเดีย ที่เศรษฐกิจดำดิ่งจนฉุดค่าเงินรูปีของประเทศให้อ่อนค่าลงอยู่ที่ 62.35 รูปีต่อเหรียญสหรัฐ ดิ่งแซงระดับต่ำสุดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 62.03 รูปีต่อเหรียญสหรัฐ

 

นอกจากนี้ เมื่อหันกลับมามองปริมาณหนี้ที่แต่ละประเทศถืออยู่ นักลงทุนพบว่ารัฐบาลในประเทศอินเดียและอินโดนีเซียมีหนี้ในระดับสูงจนน่าหวั่นใจ ขณะที่สำหรับไทยแม้หนี้ภาครัฐจะยังเบาใจได้ แต่หนี้ครัวเรือนและบริษัทเอกชนกลับพุ่งสูงขึ้นถึง 80% ต่อจีดีพี จาก 55% ในปี 5552

 

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าเงื่อนไขของหนี้ที่มีมากจากการสั่งสมในช่วงดอกเบี้ยถูกและนโยบายกระตุ้นการบริโภคมากเกินพอดีของภาครัฐ ทำให้ธนาคารกลางมีท่าทีลังเลที่จะปรับหรือลดอัตราดอกเบี้ยจากระดับในปัจจุบัน

 

เหตุผลเพราะหากปรับขึ้นเพื่อคุมเงินไหลออกย่อมเป็นผลเสียต่อการขยายตัวเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่หากปรับลดลงก็อาจต้องเสี่ยงกับภาวะเงินเฟ้อที่จะบั่นทอนความเชื่อมั่นในการบริโภคใช้จ่ายของประชาชนซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจ จนกลายเป็นภาระให้ภาครัฐต้องมีมาตรการอุดหนุนชดเชยต่างๆ และทำให้หนี้รัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นได้ง่าย

 

ยิ่งไปกว่านั้น ท่าทีที่แก้ไม่ตกที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติจนเลือกเทขายแห่ทิ้งสินทรัพย์ เช่น หุ้น หรือค่าเงินของประเทศเหล่านี้มากขึ้น จนซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลงมากกว่าเดิม

 

ค่าเงินที่ลดลงนี้อาจส่งผลดีต่อภาคการส่งออก แต่จะกระทบต่อการนำเข้าอย่างที่สุด โดยเฉพาะประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานมหาศาลอย่างอินเดีย ซึ่งหากพลังงานแพงขึ้น นักวิเคราะห์จากแบงก์ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ คาดการณ์ว่าการขาดดุลการคลังของอินเดียจะเพิ่มสูงขึ้นเพราะรัฐบาลต้องใช้เงินอุดหนุนราคาพลังงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการจุดชนวนความไม่พอใจในหมู่ประชาชน

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดหวังว่าเงาทะมึนของปัญหาที่ปกคลุมหลายประเทศในเอเชียขณะนี้จะไม่ก่อให้เกิดวิกฤตหายนะร้ายแรงเหมือนในอดีตช่วงปี 2540-2541 เหตุผลสืบเนื่องมาจากเหล่ารัฐบาลและบรรดาบริษัทในภูมิภาคแห่งนี้ มีภาระหนี้น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับวิกฤตการเงินครั้งก่อน และมีปริมาณทุนสำรองต่างชาติเพียงพอที่จะเผชิญรับปัญหานี้

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ค่อนข้างมั่นใจว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคแห่งนี้ที่ถอยก็ไม่ได้ เดินหน้าต่อก็กลายเป็นฝืนดันทุรังเกินไปนี้ จะไม่คลี่คลายแรงกดดันดังกล่าวที่มีต่อเศรษฐกิจประเทศภายในเร็ววันนี้แน่นอน

 

ถือเป็นภาระความรับผิดชอบสำคัญของรัฐบาลที่จะต้องหาทางขวนขวายผลักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ แม้ว่าในท้ายที่สุดจะให้ผลลัพธ์เพียงเล็กน้อยก็ตาม เพราะอย่างน้อยก็ยังดีกว่านิ่งเฉยโดยไม่ลงมือทำอันใดเลย

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ (วันที่ 21 สิงหาคม 2556)

 

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

USประชุมสภาความมั่นคงทบทวนช่วยอียิปต์

ข่าวต่างประเทศ วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2556 8:51น.

 

สหรัฐ ประชุมสภาความมั่นคง ทบทวนการช่วยเหลือสนับสนุนอียิปต์ ยันยังไม่ตัดการช่วยเหลือ ด้านอียิปต์ มั่นใจไม่กระทบเศรษฐกิจ

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า บารัก โอบามา ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ ได้เรียกประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อพิจารณา การตัดเงินช่วยเหลือแก่อียิปต์ หลังกองทัพปราบปรามผู้ประท้วงจนเกิดการนองเลือด

 

ในเวลาต่อมา จอช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาว ได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว โดยระบุว่าข่าวการระงับความช่วยเหลืออียิปต์ เป็นข้อมูลที่ผิดพลาด โดยโครงการช่วยเหลือทั้งทางทหารและเศรษฐกิจยังอยู่ในขั้นตอนของการทบทวนเท่านั้น

 

ด้านอียิปต์ โดย นายอาเหม็ด กาลัล รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอียิปต์ ได้แถลงว่า เศรษฐกิจอียิปต์ ไม่ได้รับความเสียหาย หากสหรัฐฯ และยุโรป ตัดสินใจตัดความช่วยเหลือ จากการปฏิบัติการปราบปรามผู้ประท้วงที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้วเกือบ 900 คน และบาดเจ็บอีกหลายพันคน อียิปต์ไม่ได้กังวลจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้บอกว่าไม่สนใจเรื่องดังกล่าว และยืนยันว่า อียิปต์ ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศทั้งในตะวันตก และประเทศในอ่าวเปอร์เซีย

 

ทั้งนี้ นายกาลัล กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า อียิปต์ ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจำนวน 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากกลุ่มประเทศอาหรับ ที่ได้แสดงความยินดีต่อการโค่นอำนาจอดีตประธนาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ของกองทัพ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

 

http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=473879

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

อังกฤษส่งออกทองแท่ง 10 เท่า "จีน-อินเดีย"เป็นลูกค้ารายใหญ่

 

วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 22:03:15 น.

 

13769959841377008415l.jpg

 

ไฟแนนเชียลไทม์สรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป หรือยูโรสแตท ได้เผยข้อมูลการค้าทองคำแท่งในอังกฤษ ศูนย์กลางการค้าทองคำที่มีทองคำแท่งเก็บไว้ทั้งสิ้นราว 10,000 ตัน ทั้งในภาคเอกชนและธนาคารกลางของอังกฤษ ว่าพุ่งขึ้นเป็น 10 เท่าของปริมาณส่งออกทองคำเมื่อ 6 เดือนแรกของปีที่แล้ว และจากที่มีการส่งออกเพียง 83 ตัน เป็น 798 ตัน ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ หรือเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตทองคำแท่งทั้งหมดในโลก

 

 

ยูโรสแตทเผยด้วยว่า ปริมาณส่งออกทองคำแท่งดังกล่าว คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นราว 29,000 ล้านยูโร โดยมีจีนและอินเดียเป็นลูกค้ารายใหญ่ โดยเฉพาะจีนนั้นนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก 54 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณนำเข้าช่วง 6 เดือนแรกเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่นักลงทุนพากันเทขายจนราคาทองคำแท่งตกลงไปถึง 26 เปอร์เซ็นต์ เหลือทรอยออนซ์ละ 1,180 เหรียญสหรัฐ ต่ำสุดในรอบ 3 ปีเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก่อนกระเตื้องขึ้นเป็น 1,384 เหรียญสหรัฐต่อทรอยออนซ์ เมื่อวันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม

 

 

นักค้าทองที่กรุงลอนดอนระบุว่า การเทขายทองแท่งจากตลาดทองของอังกฤษ เป็นผลจากการที่นักลงทุนของยุโรปเริ่มสร่างซาความนิยมถือครองไว้ ในขณะที่จีนและอินเดียเป็นผู้บริโภคทองรูปพรรณรายใหญ่

 

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1376995984&grpid=&catid=06&subcatid=0600

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ที่มาของวันสารทจีน icon0001.gif

วันสารทจีน (鬼节/中元节)

172211-3.jpg

พี่จิ๋วเชื่อว่าน่าจะมีน้อง ๆ หลายคนสงสัยว่า "วันสารทจีน" ภาษาจีนกลางเรียกว่าอะไรกันแน่น่ะ แล้วมีที่มาที่ไปอย่างไร วันนี้พี่จิ๋วมีข้อมูลให้น้อง ๆ ได้คลายข้อสงสัยกันค่ะ

ตามปฎิทินจีนโบราณ ทุกวันที่ 15 เดือน 7 เป็นวันหรือเทศกาลสำคัญที่ตกทอดกันมาชาวไทยอย่างเราจะรู้จักกันว่า "วันสารทจีน" ซึ่งชาวจีนลัทธิเต๋าเรียกกันว่า " 中元节 จงเอวียน เจี๋ย" หากเป็นชาวจีนที่นับถือพุทธจะเรียกว่า “盂兰盆节 อวี๋หลัน เผินเจี๋ย" และชาวบ้านชาวจีนจะเรียกกันติดปากว่าวัน "鬼节 กุ่ย เจี๋ย (วันผี)"

วันนี้(15/08/2008)ด้วยความสงสัยว่าในปัจจุบันชาวจีนเรียกวัน "สารทจีน"กันติดปากว่าอะไรกันบ้างน่ะ จึงได้สอบถามเพื่อนชาวจีนจำนวน 10 คนว่าวันนี้ (วันสารทจีน)ชาวจีนเรียกว่าอะไร คำตอบที่พบทำให้ต้องตกใจหงายหลังเพราะดันมีคำตอบที่มากกว่าที่กล่าวไว้ในข้างต้นค่ะ บางคนเค้าก็บอกกันว่าเป็นวัน "七月节 ชีเอวี้ย เจี๋ย " บางคนก็บอกว่าเป็นวัน "七姐诞 ชี เจี่ยต้าน" บ้างก็ว่า "七月半鬼节 ชี เอวี้ยป้านกุ่ยเจี๋ย" ในที่สุดจึงได้ข้อสรุปมาว่า ส่วนใหญ่ชาวจีนจะเรียกวันสารทจีนโดยรู้กันทั่วประเทศว่า "鬼节 กุ่ย เจี๋ย (วันผี)" ซึ่งกล่าวกันได้ว่าเป็นภาษาพูด หากเป็นทางการจะเรียกว่าวัน" 中元节 จงเอวียน เจี๋ย" แต่ที่มีคำเรียกกันอย่างมากมายอาจเนื่องจากแต่ละเมืองอาจมีภาษาเรียกในท้องถิ่นที่แตกต่างหรือมีเรื่องเล่าที่สืบทอดต่อกันมาแตกต่างกันไปนั้นเอง

วันสารทจีน ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษโดยพิธีเซ่นไหว้ โดยหญิงที่แต่งงานแล้วไม่สามารถที่จะกลับมาไหว้บรรพบุรุษของตนเองนอกเสียจากมีพ่อหรือแม่ของตนเสียชีวิตไปแล้วจึงสามารถกลับมาบ้านตนเองเพื่อกราบไหว้ได้ แต่หากพ่อหรือแม่ของฝ่ายหญิงที่แต่งงานแล้วยังไม่เสียชีวิต ฝ่ายหญิงก็ต้องไหว้บรรพบุรุษของบ้านสามีนั้นเอง (ข้อมูลตรงนี้ต้องขอขอบคุณเพื่อนชาวจีนของพี่จิ๋วชื่อสวี อ้ายจวี๋ ที่ให้ข้อมูลแนะนำมา)

แหล่งที่มาจากบางที่กล่าวไว้ว่า เรื่องวันสารทจีนนี้ได้ไปปะปนกับเรื่องของพระโมคคัลลานะ ที่ช่วยมารดาให้พ้นจากนรก จึงมีความเชื่อว่าเป็นเวลาที่ประตูนรกนั้นได้ถูกเปิด เพื่อให้บรรดาภูตผีออกเร่ร่อนตามสถานที่ต่างๆ ชาวจีนจะมีการเซ่นไหว้เพิ่มขึ้นมาอีกพิธีหนึ่ง คือ ในตอนเช้าจะเซ่นไหว้เจ้าที่ และเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ตอนบ่ายจะเซ่นไหว้ผีไม่มีญาติ หรือบรรพบุรุษต้นตระกูลของชาวจีน ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ไม่มีลูกหลานสืบสกุล แต่ในบางแห่งก็นิยมไหว้ในตอนเช้าด้วยเช่นกัน ประเพณีนี้ได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน

ในรอบหนึ่งปีชาวจีนจะมีไหว้เจ้าใหญ่ 8 ครั้ง การไหว้สารทจีนเป็นการไหว้ครั้งที่ 5 ตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ซึ่งถือกันว่าเป็นเดือนผี เป็นเดือนที่ประตูนรกปิดเปิด ให้ผีทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้

 

 

การไหว้

การไหว้ในเทศกาลสารทจีนต่างจากการไหว้ในเทศกาลอื่นๆ ตรงที่แบ่งการไหว้ออกเป็น 3 ชุด

ชุดแรก สำหรับไหว้เจ้าที่

จะไหว้ในตอนเช้า มีอาหารคาวหวาน ขนมไหว้ก็ใช้ ถ้วยฟู กุ้ยไช่ ซึ่งต้องมีสีแดงแต้มเป็นจุดเอาไว้ ส่วนขนมไหว้พิเศษที่ต้องมี ซึ่งเป็นประเพณีของสารทจีน คือ ขนมเข่ง ขนมเทียน นอกจากนั้นก็มีผลไม้ น้ำชา หรือเหล้าจีน และกระดาษเงิน กระดาษทอง

 

ชุดที่สอง สำหรับไหว้บรรพบุรุษ

คล้ายของไหว้เจ้าที่ พร้อมด้วยกับข้าวที่ บรรพบุรุษชอบ ตามธรรมเนียมต้องมีน้ำแกง หรือขนมน้ำใสๆ วางข้างชามข้าวสวย และน้ำชา จัดชุดตามจำนวนของบรรพบุรุษ ถ้าเป็นคนมีฐานะก็นิยมไหว้โหงวแซ คือมี เป็ด ไก่ หมู ตับ ปลา พร้อมด้วยกับข้าวอีกหลายอย่าง แล้วแต่ว่าจะจัดที่บรรพบุรุษชอบ หรือจะจัดแบบที่ลูกหลานคนที่ได้กินจริงชอบ

 

แต่ตามธรรมเนียมการไหว้บรรพบุรุษ ต้องมีของน้ำสำหรับซดให้คล่องคอ จะเป็นน้ำแกงก็ได้ หรือเป็นขนม น้ำใส ๆ เช่น อี๊ (คือขนมบัวลอย) ก็ได้ วางเคียงกับชามข้าวสวยและน้ำชา ของหวานก็มี ขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้ และกระดาษเงินกระดาษทอง ที่ขาดไม่ได้ก็คือ ขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้ และกระดาษเงินกระดาษทอง

 

ชุดที่สาม สำหรับไหว้วิญญาณพเนจร

ผีไม่มีญาติ ซึ่งไม่มีลูกหลานกราบไหว้ เรียกว่า ไป๊ฮ้อเฮียตี๋ หรือบางแห่งเรียกว่า ฮ้อเฮียตี๋

 

จะต้องไหว้นอกบ้าน ของไหว้มีทั้งของคาวหวาน กับผลไม้ตามต้องการ และที่พิเศษคือ มีข้าวหอมแบบจีนโบราณ คอปึ่ง เผือกนึ่งผ่าซีกเป็นเสี้ยวใส่ถาด เส้นหมี่ห่อใหญ่ เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทองแบบเฉพาะ ที่เรียกว่า อ่วงแซจิว จัดทุกอย่างวางอยู่ด้วยกันสำหรับเซ่นไหว้

 

พิธีไหว้

การไหว้เจ้าที่ จะไหว้ก่อนในตอนเช้า เผากระดาษเงินกระดาษทองจนเรียบร้อย สายๆ จึงตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษและไหว้ฮ้อเฮียตี๋ บางบ้านนิยมไหว้ตอนบ่าย ถ้าไหว้พร้อมกัน ให้ตั้งโต๊ะแยกจากกัน แต่เผากระดาษเงินกระดาษทองร่วมกันได้ สำหรับการไหว้ขนมเข่งขนมเทียนในเทศกาลสารทจีนนี้ ที่เมืองจีนไม่มี ขนมที่ใช้ไหว้ที่เมืองจีนจะเป็นขนม 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวเปี้ย” หรือ เรียกชื่อเป็นชุดว่า ปัง เปี้ย หมี่ มั่ว กี

 

ปัง คือ ขนมทึงปัง เป็นขนมที่ทำจากน้ำตาล

เปี้ย คือ ขนมหนึงเปี้ย คล้ายขนมไข่

หมี่ คือ ขนมหมี่เท้า ทำจากแป้งข้าวเจ้า ข้างในไส้เต้าซา

มั่ว คือ ขนมทึกกี่ เป็นขนมข้าวพองสีแดง ตรงกลางมีไส้เป็นแผ่นบาง

กี คือ ขนมทึงกี ทำเป็นชิ้นใหญ่ยาว เวลาจะกินต้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆ

 

เนื่องจากที่เมืองไทยหาส่วนผสมที่ใช้ทำขนมทั้งห้านี้ไม่ได้ครบถ้วน จึงงดไป แล้วเปลี่ยนมาเป็นการไหว้ขนมเข่ง ขนมเทียน ในการไหว้เทศกาลสารทจีนแทน

ปัจจุบันชาวจีนแผ่นดินใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับวันสารทจีน เนื่องจากเป็นวันที่แสดงถึงความเคารพและความกตัญญูต่อบรรพบุรุษไม่มีวันเสื่อมคลาย**

 

จิรวรรณ จิรันธร

 

แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติมจาก http://zhidao.baidu.com

http://www.decha.com/main/showTopic.php?id=1107

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ไทยพาณิชย์ ประเมินเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 4% การกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ของประชาชนที่สูงขึ้น ทำให้บริโภคภายในชะลอ

 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2556 หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 2 ปี 2013 ขยายตัว 2.8%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) ชะลอลงจาก 5.4%YOY ในไตรมาสที่ผ่านมา หรือหดตัว 0.3% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

 

ทั้งนี้ การที่ GDP หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน หลังจากที่ไตรมาสแรกหดตัว 1.7% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มีสาเหตุหลักมาจากการใช้จ่ายของครัวเรือนและการส่งออกสินค้าและบริการที่ลดลงต่อเนื่อง

 

เมื่อมาดูอุปสงค์ในประเทศ ก็ชะลอตัวลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 โดยสามารถขยายตัวได้เพียง 3.4%YOY ชะลอลงจาก 4.6%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนชะลอตัวลงเหลือ 2.4%YOY จาก 4.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการบริโภคในกลุ่มสินค้าคงทนประเภทยานยนต์ หลังจากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกทยอยหมดลง ขณะที่การลงทุนขยายตัวราว 4.5%YOY ชะลอลงจาก 5.8% ในไตรมาสก่อนหน้าตามการชะลอตัวลงของการก่อสร้างในส่วนของภาครัฐที่ขยายตัวได้เพียง 2.4%YOY จาก 13.4%YOY ในไตรมาสแรก นอกจากนี้ การลงทุนของภาคเอกชนชะลอลงเล็กน้อยทั้งในส่วนของการก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องจักร

 

เช่นเดียวกับ การส่งออกสินค้าหดตัว แต่รายรับด้านบริการยังขยายตัวสูง การส่งออกหดตัว 1.5% ในไตรมาสสอง โดยการส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวลงตามปริมาณผลผลิตกุ้ง เนื่องจากเกษตรกรชะลอกการเลี้ยงกุ้งรอบใหม่หลังจากที่ต้องประสบกับปัญหาจากโรค Early Mortality Syndrome หรือ EMS ในกุ้งในช่วงที่ผ่านมา และการส่งออกข้าวที่ลดลงจากการชะลอการนำเข้าของประเทศผู้นำเข้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ ในขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักอย่างสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นหดตัวตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี รายรับที่ได้จากการบริการขยายตัวได้ดีต่อเนื่องโดยเฉพาะจากการ ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังขยายตัวสูงต่อเนื่อง

 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า แนวโน้มการใช้จ่ายในประเทศที่ชะลอตัวลงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวในปีนี้ แม้ว่ารายได้เกษตรกรจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำจะส่งสัญญาณที่ดีต่อทิศทางการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในระยะต่อไป แต่การก่อหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคในช่วงก่อนหน้านี้ทำให้ประชาชนเริ่มมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ภาคเอกชนยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องลงทุนเพิ่มเติมเนื่องจากได้มีการลงทุนเพื่อชดเชยความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมได้ไม่นานรวมถึงยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ อีกทั้งแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐในครึ่งปีหลังยังถูกชะลอออกไป ทำให้แรงส่งจากการใช้จ่ายภายในประเทศมีโอกาสที่จะหายไปบ้างในช่วงที่เหลือของปี

 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2013 น่าจะขยายตัวที่ราว 4% การส่งออกในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของประเทศกลุ่ม G-3 รวมถึงประเทศจีนที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังมีอุปสรรคจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้ไม่ง่ายนักในภาวะที่ภาคครัวเรือนเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายเนื่องจากภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ (วันที่ 21 สิงหาคม 2556)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ธปท.รับแบงก์ไทยกู้สั้นจาก ตปท.เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ฐานะการเงินแกร่งพร้อมรองรับดอกเบี้ยโลกขาขึ้น ธ.กรุงไทยชี้กู้ยืมเงินตราต่างประเทศให้ลูกค้ากู้ พร้อมทำเฮดจิ้งปิดความเสี่ยงแล้ว ด้านเคแบงก์ยันตัวเลขไม่สูงกว่าปกติ

 

นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า จากการสำรวจเบื้องต้นพบการกู้ยืมระยะสั้นจากต่างประเทศของแบงก์พาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมาจาก 2 สาเหตุ คือ 1) กู้เพื่อปรับสถานะทางบัญชีของสถาบันการเงิน เพื่อให้บัญชีเงินฝากและเงินกู้มีความสมดุล 2) กู้มาให้ลูกค้าในประเทศที่มีความต้องการลงทุนในต่างประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม หากในระยะข้างหน้า ดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นหลังจากสหรัฐลดคิวอี นายอานุภาพเห็นว่า เรื่องนี้จะไม่เป็นอุปสรรคต่อต้นทุนแบงก์ เพราะแบงก์กู้โดยใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ และเงินกู้ระยะสั้นจากต่างประเทศยังมีสัดส่วนต่อเงินฝากในระบบของแบงก์น้อยมาก

 

"ภาพรวมของแบงก์ทั้งระบบ ค่อนข้างแข็งแกร่ง และบริหารความเสี่ยงทางการเงินเป็นอย่างดี ดังนั้นโอกาสที่แบงก์จะประสบปัญหาเหมือนช่วงวิกฤตปี 2540 จึงเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก" นายอานุภาพกล่าว

 

ทั้งนี้ รายงานจาก ธปท.ระบุว่า ในครึ่งแรกของปี 2556 มีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ 11,422 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากช่วงเดียวกันปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 9,428 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และแบงก์พาณิชย์เงินกู้ยืมจากต่างประเทศในเดือน มิ.ย. 2556 มียอดคงค้าง 160,266 ล้านบาท

 

นางกิตติยา โตธนะเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงานบริหารการเงิน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การกู้เงินจากต่างประเทศนั้น ธนาคารจะกู้เพื่อมารองรับดีลของลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ที่มีความจำเป็นต้องการใช้เงินสกุลต่างประเทศอยู่แล้ว และธุรกิจก็มักจะต้องมีรายได้กลับมาเป็นเงินสกุลนั้น ซึ่งจะปิดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไปโดยอัตโนมัติ

 

ส่วนความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย แม้จะมีอยู่บ้าง แต่น่าจะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ขึ้นอย่างก้าวกระโดด และในการปล่อยกู้ธนาคารก็จะต้องบวกส่วนต่างเผื่อเข้าไปอยู่แล้ว จึงมั่นใจว่าน่าจะเพียงพอรองรับสถานการณ์ลักษณะดังกล่าวได้

 

"สถานการณ์ตอนนี้ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่กู้เงินต่างประเทศแล้วมาแลกเป็นเงินบาท แต่วันนี้ลูกค้ามีความจำเป็นใช้เงินสกุลต่างประเทศ ถ้าไม่มีดีลเหล่านี้เราก็ไม่กู้เข้ามา แล้วถึงมีปริมาณเงินกู้ต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ยังนับเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 10% เมื่อเทียบกับสภาพคล่องของระบบธนาคารไทยที่ส่วนใหญ่มาจากแหล่งเงินในประเทศ" นางกิตติยากล่าว

 

นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณเสี่ยงจากการกู้ระยะสั้นในต่างประเทศ แต่ภาพรวมปัจจุบันการกู้ระยะสั้นของแบงก์เมื่อเทียบกับขนาดของสินทรัพย์ของธนาคารยังไม่น่ามีปัญหา และในช่วงที่ผ่านมากสิกรไทยก็ไม่ได้กู้เงินระยะสั้นจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

 

"ปัจจุบันก็ยังไม่เห็นแบงก์ไหนมีการกู้ระยะสั้นสูงเกินไป หรือสูงกว่าปกติ ส่วนจะทำป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแต่ละแบงก์ ส่วนกสิกรไทย เรามีการปรับสมดุลของบัญชีให้บาลานซ์กันอยู่แล้ว" นายธีรนันท์กล่าว

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (วันที่ 21 สิงหาคม 2556)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Join the conversation

You can post now and register later. If you have an account, sign in now to post with your account.

ผู้มาเยือน
ตอบกลับกระทู้นี้...

×   วางข้อความแบบ rich text.   วางแบบข้อความธรรมดาแทน

  อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 75 อิโมติคอน.

×   ลิงก์ของคุณถูกฝังอัตโนมัติ.   แสดงเป็นลิงก์แทน

×   เนื้อหาเดิมของคุณได้ถูกเรียกกลับคืนมาแล้ว.   เคลียร์อิดิเตอร์

×   คุณไม่สามารถวางรูปภาพได้โดยตรง กรุณาอัปโหลดหรือแทรกภาพจาก URL

กำลังโหลด...

  • เข้ามาดูเมื่อเร็วๆนี้   0 สมาชิก

    ไม่มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนกำลังดูหน้านี้

×
×
  • สร้างใหม่...