ข้ามไปเนื้อหา
Update
 
 
Gold
 
USD/THB
 
สมาคมฯ
 
Gold965%
 
Gold9999
 
CrudeOil
 
USDX
 
Dowjones
 
GLD10US
 
HUI
 
SPDR(ton)
 
Silver
 
Silver/Oz
 
Silver/Baht
 
ToNy

In Focus: จับกระแสราคาทองคำ แร่ธาตุล้ำค่าที่ถูกตีตราว่าเป็น safe heaven

โพสต์แนะนำ

ปรากฏการณ์ "Gold Rush" หรือกระแสตื่นทอง กลับมาเป็นสปอตไลท์ของตลาดการเงินทั่วโลกอีกครั้ง นับตั้งแต่ราคาทองคำตลาดโลกพุ่งขึ้นทำนิวไฮในการซื้อขายวันแรกของปี 2554 ที่ระดับ 1,422.90 ดอลลาร์/ออนซ์ จากนั้นราคาทองก็ติดปีกทะยานสู่ช่วงขาขึ้นมาโดยตลอด กระทั่งเมื่อราคาพุ่งทะลุแนวต้านที่ 1,450 ดอลลาร์ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา กูรูในตลาดทองคำก็ออกมาพยากรณ์กันยกใหญ่ เห็นทีว่าโลกเราจะได้เห็นราคาโลหะมีค่าและงดงามเป็นอมตะชนิดนี้พุ่งขึ้นแตะแนวต้านเส้นสำคัญที่ 1,500 ดอลลาร์เป็นแน่แท้ ทำนายทายทักกันได้ไม่กี่วัน เราก็ได้เห็นราคาทอง COMEX เหิรฟ้าขึ้นไปทำนิวไฮครั้งใหม่ที่เหนือระดับ 1,500 ดอลลาร์/ออนซ์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะถึงวันหยุด Good Friday ในสหรัฐเพียงวันเดียว

 

วัฎจักร "upward trend" เช่นนี้ทำให้หลายคนนึกถึง จิม โรเจอร์ส กูรูคอมโมดิตี้ผู้โด่งดังที่ทำนายเอาไว้ตั้งแต่ปลายปี 2552 ว่า ราคาทองมีโอกาสพุ่งขึ้นแตะระดับ 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์สูงมาก เนื่องจากสถานการณ์เงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวและสงคราม การพยากรณ์ในครั้งนั้นท่านโรเจอร์สถูกถล่มอย่างหนักจากนักวิจารณ์ฝีปากกล้าทั้งหลาย เพราะต่างก็เกรงว่าจะเป็นการชี้นำนักเก็งกำไร และคนที่ "จัดหนัก" ที่สุดก็คงเป็นศาสตราจารย์ นูเรียล รูบินี นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กที่ใช้การประชุม "Inside Commodities Conference" ที่นิวยอร์กเป็นเวทีสับแหลกโรเจอร์ส จนนำไปสู่วาทะกรรมที่เจ็บแสบว่า "การออกมาคาดการณ์ว่าราคาทองจะพุ่งขึ้นไปแตะ 1,500 ดอลลาร์ หรือ 2,000 ดอลลาร์ ถือการคาดการณ์ที่ไร้สาระมาก" ...เมื่อเห็นราคาทองในเวลานี้แล้ว ผู้เขียนเองก็ไม่ทราบว่าอาจารย์รูบินีจะกลับไปขอโทษขอโพยท่านโรเจอร์สหรือเปล่า

 

* วิเคราะห์สาเหตุเบื้องหลังราคาทองทะยานแบบกู่ไม่กลับ

เป็นที่ทราบกันว่า ทองคำเป็น "safe heaven asset" หรือสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากที่สุดในยามที่เศรษฐกิจโลกยังเอาแน่ไม่ได้ นักวิเคราะห์ต่างก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาทองร้อนแรงจนถึงขณะนี้ มาจากปรากฏการณ์ "หนีเงิน ซื้อทอง" นั่นเป็นเพราะค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐอ่อนตัวลงแบบเรื้อรัง และไม่มีทีท่าว่าจะแข็งค่าขึ้นจนถึงขนาดที่จะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นได้ นอกจากนี้ สถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองทั่วโลก วิกฤตเงินเฟ้อ และพิษเศรษฐกิจที่พ่นใส่หลายประเทศซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยังเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนแห่ซื้อทองคำเก็บไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่า หากเศรษฐกิจล่มสลายหรือเกิดสงครามขึ้น ทองคำก็จะเป็นทางรอดในยามที่เงินขาดมือ และแล้วก็เกิดสถานการณ์ที่ถือเป็น "สปริงบอร์ด" ที่ส่งราคาทองขึ้นไปยืนเหนือระดับ 1,500 ดอลลาร์เร็วกว่าที่คาดไว้ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงและคลื่นสึนามิในญี่ปุ่น เหตุการณ์ที่ใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะบรรเทาลงเมื่อใด

 

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเป็นห่วงว่า การทะยานขึ้นของราคาทองคำกำลังสะท้อนถึงความรู้สึกไม่มั่นคงของนักลงทุนที่มีต่ออนาคตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรปที่กำลังดิ้นหลังชนฝากับปัญหาหนี้สาธารณะ และสหรัฐที่กำลังปวดหัวกับเงินคงคลังที่ร่อยหรอ จนทำให้ S&P ต้องออกโรงเตือนว่าอาจจะหั่นอันดับเครดิตสหรัฐในอีก 2 ปีข้างหน้า หากสถานการณ์การคลังไม่ดีขึ้น และที่ทำให้ตลาดเกิดอาการหวั่นไหวอย่างมากก็คือเสียงเตือนของโรเบิร์ต เซลลิก ประธานธนาคารโลกที่ว่า วิกฤตแบบระเบิดทำลายล้างสูงจะเกิดขึ้นแน่นอน หากเศรษฐกิจโลกมีอันต้องสะดุดแค่อีกครั้งเดียว หลังจากที่สะดุดไปพักใหญ่กับวิกฤตซับไพร์ม และหากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือย่ำแย่ลงกว่านี้ ความฝันที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวคงต้องพังทลาย ซึ่งเซลลิกบอกว่านี่ยังไม่รวมผลพวงของหายนะนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น

 

ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนแห่ซื้อทองคำ เพราะเมื่อเกิดเงินเฟ้อ สินทรัพย์ประเภทอื่นๆจะอ่อนแอและแปรปรวน แต่ทองคำยังมั่นคงอยู่ได้เพราะเป็น safe heaven asset ที่เป็นใครก็อยากถือครองไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยง สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนทุกวันนี้ก็คือการอัดฉีดเงินภาษีของประชาชนเข้าสู่ระบบการเงิน บนพื้นฐานของความพยายามที่จะกู้ซากเศรษฐกิจให้คืนชีพอีกครั้ง โดยเฉพาะมาตรการ QE2 ของสหรัฐที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นต้นตอของปัญหาเงินเฟ้อและการอ่อนยวบของเงินดอลลาร์ ภาวะแปรปรวนในตลาดเงินกระจายตัวออกไปเป็นความผันผวนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ จนกลายเป็นวงจรวิกฤตระลอกใหม่ที่ซึมลึกยาวนานจนยากที่จะหาทางออกที่เหมาะสมได้

 

* ย้อนรอยเส้นทางราคาทองคำโลก

ในขณะที่ตลาดหุ้นและตลาดการเงินมีขึ้นและลงคละเคล้ากันไปตามแต่ปัจจัยในขณะนั้น แต่ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ราคาทองคำตลาดโลกเคลื่อนไหวในช่วงขาขึ้นมาโดยตลอดนับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ประกาศยกเลิกการตรึงสกุลเงินดอลลาร์กับมาตรฐานทองคำในปีพ.ศ. 2514 ตามข้อตกลงแบรทตัน วูดส์ ..ต่อไปนี้เป็นเส้นทางราคาทองคำตลาดโลกที่จะพาท่านย้อนรอยหาสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการพุ่งขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ของราคาทอง

 

- ส.ค. 2514 : หลังจากอดีตประธานาธิบดีนิกสัน ประกาศยกเลิกการตรึงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐกับมาตรฐานทองคำแล้ว ราคาทองคำตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35 ดอลลาร์/ออนซ์

 

- ม.ค. 2523 : ราคาทองพุ่งทำนิวไฮที่ 850 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากสหภาพโซเวียตเข้าแทรกแซงอัฟกานิสถาน และผลกระทบจากการปฏิวัติอิหร่านทำให้นักลงทุนเข้าซื้อทอง ... หลังจากนั้นในปี 2546 ราคาทองพุ่งขึ้นโดยตลอดเนื่องจากสงครามอิรัก

 

- 13 มี.ค. 2551 : ราคาทองทะยานขึ้นเหนือ 1,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก

- 17 ก.ย. 2551 : ราคาทองพุ่งขึ้นเกือบ 90 ดอลลาร์/ออนซ์ภายในวันเดียว ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเกิดภาวะผันผวนในตลาดหุ้นและตลาดการเงิน ทำให้เกิดแรงซื้ออย่างท่วมท้นในตลาดทองคำ

 

- 1 ธ.ค. 2552 : ราคาทองพุ่งเหนือ 1,200 ดอลลาร์/ออนซ์เป็นครั้งแรก หลังจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง

 

- 3 ธ.ค. 2552 : ทองทะยานขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,226.10 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากปัจจัยเดิมคือดอลลาร์อ่อนค่า และกระแสคาดการณ์ธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มการถือครองทองคำ

 

- 11 พ.ค. 2553 : ราคาทองพุ่งทำสถิติครั้งใหม่ที่ 1,230 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ในยูโรโซน

 

- 16-22 ก.ย. 2553 : ราคาทองขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน โดยแตะจุดสูงสุดที่ 1,296.10 ดอลลาร์ หลังธนาคารกลางสหรัฐประกาศใช้มาตรการ QE2 ซึ่งจุดปะทุให้เกิดความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ

 

- 7 ต.ค. 2553 - ราคาพุ่งขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่เหนือ 1,360 ดอลลาร์/ออนซ์ จากกระแสคาดเฟดจะตรึงดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกนาน ซึ่งข่าวดังกล่าวฉุดค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงอย่างหนัก

 

- 7 ธ.ค. 2553 : ทองทะยานขึ้นทำสถิตินิวไฮครั้งใหม่ที่ 1,425 ดอลลาร์/ออนซ์ จากวิกฤติหนี้ยูโรโซน

 

- 24 มี.ค. 2554 : ราคาทองพุ่งชนนิวไฮครั้งใหม่ที่ 1,447 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น

 

- 25 เม.ย. 2554 : ทองคำทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,517.80 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากเหตุการณ์ไม่สงบในตะวันออกกลาง และการอ่อนค่าของดอลลาร์

 

* พลิกปูมตลาดทองคำโลก จับตาจีนผงาดเป็นเจ้าตลาดทองคำหน้าใหม่

ในศตวรรษที่ 17 และ 18 ทวีปอเมริกาใต้มีการผลิตทองคำมากที่สุดในโลก จากนั้นในปี 2366 รัสเซียได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการผลิตทองคำและคงความเป็นใหญ่ในการผลิตทองคำต่อไปอีก 14 ปี ก่อนที่จะเสียแชมป์ให้กับแอฟริกาใต้ในช่วงปลายทศวรรษที่ 20 แต่ในปัจจุบัน แอฟริกาใต้ได้สูญเสียตำแหน่งผู้ผลิตทองรายใหญ่ที่สุดของโลกให้กับจีนไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้แอฟริกาใต้หล่นมาอยู่อันดับสอง และที่ตามมาเป็นอันดับสามคือสหรัฐ

 

เดิมทีนั้น ตลาดทองคำที่สำคัญของโลก 5 แห่งด้วยกัน คือ นิวยอร์ก ลอนดอน ซูริก โตเกียว และฮ่องกง แต่สถานการณ์ในช่วงหลังๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เมื่อ จีน ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้เข้ามามีบทบาทในตลาดทองคำมากขึ้นเรื่อยๆ จีนมีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับทองคำมาช้านาน หลังจากจีนเริ่มเปิดตัวเองเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจโลก มีหลายเหตุการณ์ที่บ่งชี้ว่า จีนกำลังต้องการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาดทองคำ เริ่มจากการคลายกฏในปี 2554 ด้วยการเปิดตลาด Gold Futures ที่เซี่ยงไฮ้ การเพิ่มทุนสำรองทองคำจาก 600 ตันเป็น 1,054 ตัน การแนะนำให้ประชาชนซื้อทองคำสะสม

 

มาร์ค เพอร์แวน นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ของ ANZ ในออสเตรเลีย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีนเวลานี้คือ ทรัพย์สินจำนวนมากกำลังถูกโยกออกจากตลาดที่ดินไปยังตลาดทองคำ และจะทำให้ราคาทองคำสูงขึ้นอีก ในขณะที่นักวิเคราะห์อีกหลายคนได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า จีนจะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้ทองคำรายใหญ่สุดของโลกแทนอินเดีย

 

ข้อมูลของสภาทองคำโลกระบุว่า ปัจจุบัน จีนถือครองทองคำมากเป็นอันดับ 6 ของโลก แซงหน้าอินเดียและธนาคารกลางยุโรป ส่วนประเทศที่ถือครองทองคำมากที่สุดในโลกยังคงเป็น สหรัฐ รองลงมาคือ เยอรมนี และไอเอ็มเอฟ ส่วนประเทศไทยใครว่าไม่รวยจริง เพราะสภาทองคำโลกยืนยันว่า ประเทศไทยเราถือครองทองคำมากเป็นอันดับ 33 ของโลก แซงหน้าอินโดนีเซียและมาเลเซีย

 

วลีเก่าแก่ที่ว่า "มีเงินเขาเรียกว่าน้อง มีทองเขาเรียกว่าพี่" ยังคงใช้ได้ดีกับยุคนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าทองคำล้ำค่าอมตะยิ่งกว่าเพชรนิลจินดาชนิดใด และมีมูลค่าที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจสูงถึง 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ตามคำทำนายของจิม โรเจอร์ส และที่นักลงทุนในตลาดทองคำโลกให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนครั้งประวัติศาสตร์ของ เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด ในคืนวันนี้ตามเวลาประเทศไทย หากหัวเรือใหญ่ของเฟดยืนยันว่าจะปล่อยให้โครงการ QE2 หมดอายุลงในช่วงกลางปีและพร้อมที่จะคลอด QE3 ชนิดไม่แคร์สื่อ ก็จะยิ่งทำให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนยวบลงอีก และถึงเวลานั้น เราอาจจะได้เห็นราคาทองทะยานขึ้นไปสูงกว่าระดับ 2,000 ดอลลาร์ก็เป็นได้ ..--อินโฟเควสท์ โดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.02-2535000 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ก่อนหน้านี้ข่าวในลิเบียมีผลต่อราคาทองคำอย่างมาก

ไม่ทราบว่าตอนนี้ยังมีผลต่อราคาทองคำอยู่หรือป่าว

1.ยิ่งมีข่าวว่าลูกชานกัดดาฟีเสียชีวิต

2.ข่าวดังกล่าวเป็นสัญญาความสงบหรือความวุ่นวายครับ

3.กระแสในเยเมนยงสามารถดันราคาทองคำได้อีกหรือป่าวครับ

4.อยากทราบสาเหตุที่ทำให้น้องทองพุ่งทยานในช่วงเปิดตลาดจังครับ

5.สาเหตุที่ราคาโนทุบอย่างแรง

คือว่าผมนั้นพอดูกราฟเทคนิคเป็นบ้างเล็กน้อยมาก แต่เทคนิคทางกราฟนั้นผมว่าไม่เท่ากับปัจจับข่าวสารโลกที่กระทบต่อราคาทองคำแบบเต็ม

จึงอยากทราบถึงสาเหตุหนะครับ

เอาเไว้ประดับความรู้

หากเพ่ือนคนไหนพอทราบรบกวนบอกหน่อยนะครับ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

safe haven ครับ เป็นที่ปลอดภัยไว้จอดเรือหลบพายุ

 

ไม่ใช่ safe heaven สรวงสวรรค์อันปลอดภัย

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Join the conversation

You can post now and register later. If you have an account, sign in now to post with your account.

ผู้มาเยือน
ตอบกลับกระทู้นี้...

×   วางข้อความแบบ rich text.   วางแบบข้อความธรรมดาแทน

  อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 75 อิโมติคอน.

×   ลิงก์ของคุณถูกฝังอัตโนมัติ.   แสดงเป็นลิงก์แทน

×   เนื้อหาเดิมของคุณได้ถูกเรียกกลับคืนมาแล้ว.   เคลียร์อิดิเตอร์

×   คุณไม่สามารถวางรูปภาพได้โดยตรง กรุณาอัปโหลดหรือแทรกภาพจาก URL

กำลังโหลด...

  • เข้ามาดูเมื่อเร็วๆนี้   0 สมาชิก

    ไม่มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนกำลังดูหน้านี้

×
×
  • สร้างใหม่...