ข้ามไปเนื้อหา
Update
 
 
Gold
 
USD/THB
 
สมาคมฯ
 
Gold965%
 
Gold9999
 
CrudeOil
 
USDX
 
Dowjones
 
GLD10US
 
HUI
 
SPDR(ton)
 
Silver
 
Silver/Oz
 
Silver/Baht
 

โพสต์แนะนำ

หุ้นไทยปิดพุ่ง 18.99 จุด ที่ 955.81 จุด รับข่าวญี่ปุ่นพร้อมให้ความช่วยเหลือยุโรปในการประชุม G20 ท่ามกลางแรงเก็งกำไรกลุ่มพลังงาน

 

บรรยากาศ การลงทุนตลาดหุ้นไทยวันนี้ (14 ต.ค.) ดัชนีแกว่งตัวผันผวนสอดคล้องทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยตลาดจับตาปัญหาหนี้ยุโรป และสถานการณ์น้ำท่วม โดยระหว่างชั่วโมงการซื้อขายดัชนีต่ำสุดที่ 933.81 จุด ก่อนที่จะมีแรงซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องหลังเปิดตลาดภาคบ่าย ตอบรับข่าวญี่ปุ่นพร้อมให้ความช่วยเหลือยุโรป ท่ามกลางแรงเก็งกำไรหนาแน่นในหุ้นกลุ่มพลังงาน ดันดัชนีปิดตลาดในระดับสูงสุดที่ 955.81 จุด บวก 18.99 จุด หรือ 2.03%

 

หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย

 

PTT ปิดที่ 292.00 บาท +8.00 (+2.82%)

 

JAS ปิดที่ 1.75 บาท +0.09 (+5.42%)

 

SCC ปิดที่ 294.00 บาท +7.00 (+2.44%)

 

PTTEP ปิดที่ 150.00 บาท +6.00 (+4.17%)

 

KBANK ปิดที่ 118.50 บาท +3.00 (+2.60%)

 

นายเตชธร ลาภอุดมสุข ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ตราสารอนุพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ให้ความเห็นว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงภาคบ่าย เนื่องจากมีข่าว ว่าญี่ปุ่นพร้อมให้ความช่วยเหลือยุโรปในการประชุม G20 หลังจากที่จีนปฏิเสธให้ความช่วยเหลือ

 

นอกจากนี้ ยังมีแรงซื้อเข้ามาในกลุ่มมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ อย่างกลุ่มพลังงานมากขึ้น หลังจากหุ้นกลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับผลกระทบมากจากสถานการณ์น้ำท่วม ประเด็นดังกล่าวจึงส่งผลบวกต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีฯ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เอามาฝากคับ

Dividend VS Value Stock : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

 

คนจำนวนมากในตลาดหุ้นมักจะเข้าใจผิดคิดว่า Value Stock หรือหุ้นคุณค่าก็คือหุ้นที่มีการจ่ายปันผลที่ดี ยิ่งปันผลสูงเมื่อเทียบกับราคาหุ้นมากเท่าไรหุ้นนั้นก็เป็นหุ้น Value มากขึ้นเท่านั้น บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่ภาวะตลาดไม่คึกคัก โบรกเกอร์และหนังสือพิมพ์ก็จะนำเสนอหุ้นที่จ่ายปันผลงามที่สุด 10-20 อันดับ และแนะนำว่า เป็นหุ้นที่น่าลงทุน

 

บางครั้งผมเองก็เคยพูดว่า “ปันผลเป็นคำตอบสุดท้าย” นั่นคือมีหุ้นที่จ่ายปันผลดีบางตัวน่าสนใจเข้าข่ายเป็น Value Stock และต่อมาก็พิสูจน์ว่าสิ่งนั้นเป็นจริงคือ หุ้นที่จ่ายปันผลดีเหล่านั้นทำกำไรให้กับคนที่ถืออย่างงดงาม

 

พูดไปพูดมามากๆเข้า คนจำนวนไม่น้อยก็เลยเข้าใจผิด คิดว่าหุ้น Value ก็คือหุ้นปันผล และคิดว่าผมในฐานะ Value Investor “พันธุ์แท้” ชอบลงทุนซื้อหุ้นที่จ่ายปันผลงาม และจะถือเก็บเพื่อกินปันผลเป็นหลักโดยไม่สนใจกำไรจากการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น

 

นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะคำว่า Value Stock นั้น ความหมายก็คือเป็นหุ้นที่มีคุณค่า(มูลค่า)สูงกว่าราคาหุ้นมาก โดยที่คุณค่านั้นคิดจากความสามารถในการทำกำไร และ / หรือ การสร้างกระแสเงินสดของบริษัทในอนาคตระยะยาว ส่วน “หุ้นปันผล” ที่พูดกันนั้น มักจะเป็นปันผลที่จ่ายในปีที่แล้วหรือปีที่กำลังถึงเมื่อเทียบกับราคาหุ้นในปัจจุบัน

 

ความแตกต่างระหว่าง หุ้นปันผล กับ Value Stock นั้นชัดเจนก็คือ ใน Value Stock เราพยายามหาความสามารถในการทำกำไรหรือเงินสดในระยะยาวของบริษัท ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆมากมายตั้งแต่เรื่องของภาวะอุตสาหกรรม การตลาด การผลิต การบริหารงาน และการเงินของบริษัท ความได้เปรียบเสียเปรียบของบริษัทเทียบกับคู่แข่ง และอื่นๆอีกมาก ในขณะที่ หุ้นปันผล ดูเฉพาะการจ่ายปันผลปีที่แล้วปีเดียวเทียบกับราคาหุ้นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นข้อมูลของอดีตที่ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรเลย

 

ในสายตาของ Value Investor แล้ว ปันผลเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งหรือเป็นคุณค่าของหุ้นที่นำมาพิจารณาประกอบกับองค์ประกอบอื่นอีกหลายๆอย่าง บางคนคิดว่าผลตอบแทนจากปันผลเป็นสิ่งที่สำคัญมาก บางคนก็เฉยๆ

 

ส่วนผมเองนั้น ผมคิดว่าปันผลเป็นเพียง “ ผลตอบแทนของการรอคอย ” นั่นก็คือ เวลาผมซื้อหุ้นที่เป็น Value Stock นั้น ผมซื้อเพราะผมเชื่อว่าเป็นกิจการที่ดีราคาถูก แต่ผมไม่รู้ว่าราคาหุ้นจะวิ่งขึ้นไปเมื่อไร บางครั้งผมต้อง “รอคอย” นานมาก ซึ่งถ้าในระหว่างนั้นผมไม่ได้อะไรตอบแทนเลยผมก็จะรู้สึกแย่มาก และก็ทำใจได้ยาก ดังนั้น หุ้นที่มีการจ่ายปันผลน้อยนิดเมื่อเทียบกับราคาหุ้นจึงเป็นหุ้นที่ผมไม่ชอบเลย

 

แต่ผมเองก็ไม่ชอบและมักจะไม่สนใจหุ้นที่จ่ายปันผลอย่างงดงามมากเมื่อเทียบกับราคาหุ้น เช่น จ่ายถึง 10% ของราคาหุ้นที่เรียกกันว่าหุ้นปันผล เหตุผลไม่ใช่เพราะผมรังเกียจปันผล หรือคิดว่านี่เป็นผลตอบแทนที่น้อยเทียบกับการขึ้นของราคาหุ้น แต่เป็นเพราะว่า “หุ้นปันผล” เหล่านั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นหุ้นที่จ่ายปันผลมาก “ชั่วคราว” นั่นก็คือ จ่ายมากเฉพาะปีที่ผ่านมา แต่อนาคตคงไม่สามารถที่จะจ่ายได้เท่าเดิม เนื่องจากกำไรของบริษัทในอนาคตจะลดลง เพราะฉะนั้น “หุ้นปันผล” ของวันนี้ อาจจะกลายเป็นหุ้นที่จ่ายปันผลน้อยในวันข้างหน้า

 

บริษัทบางแห่งทำกำไรปีที่แล้วได้ 8 บาทต่อหุ้น และจ่ายปันผล 8 บาทต่อหุ้นเหมือนกัน เพราะไม่มีความจำเป็นต้องเก็บกำไรเอาไว้ลงทุนต่อ ราคาหุ้นของบริษัทที่ซื้อขายในตลาดเท่ากับ 100 บาท ดังนั้น ผลตอบแทนปันผลเท่ากับ 8% คนพูดว่านี่คือหุ้นที่จ่ายปันผลดีมากเป็นหุ้นปันผล

 

อีกบริษัทหนึ่งกำไร 10 บาทต่อหุ้น ราคาหุ้นเท่ากับ 100 บาทเท่ากัน แต่จ่ายปันผลเพียง 3 บาท เพราะต้องนำกำไรส่วนที่เหลืออีก 7 บาทต่อหุ้นไปลงทุนขยายงานต่อ คำนวณดูแล้วผลตอบแทนปันผลเพียง 3%

 

แต่มองดูแล้วบริษัทนี้น่าจะดีกว่าบริษัทแรกและมีคุณค่ามากกว่า เพราะบริษัทน่าจะเติบโตมากกว่าเพราะมีการลงทุนขยายกิจการ และราคาหุ้นเมื่อคิดจากค่า PE ก็ถูกกว่า คือเท่ากับ 10 เท่า (100/10) ในขณะที่บริษัทแรกนั้นค่า PE เท่ากับ 12.5 (100/8)

 

หุ้นที่จ่ายผลตอบแทนปันผลสูงนั้นคงจะไม่เลวร้ายดังตัวอย่างข้างต้นเสมอไป แต่หุ้นหลายตัวก็มีลักษณะดังกล่าว ดังนั้น ก่อนที่จะซื้อหุ้น “ ปันผล ” ควรที่จะศึกษาตัวบริษัทอย่างถี่ถ้วนเสียก่อนว่าปันผลที่ได้รับนั้นจะไม่ลดลงในอนาคต ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง การได้ปันผลงามก็ไม่มีประโยชน์ เพราะในวันที่เราได้รับปันผล ราคาหุ้นกลับลดลงมากกว่า ปันผลดีกลายเป็นกับดัก และนี่ไม่ใช่หุ้น Value ที่เราเสาะแสวงหาเลย

!031 !031

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เอามาฝากคับ

ลงทุนแบบผู้หญิง โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

 

 

ความแตกต่างในการลงทุนระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง มีการพูดถึงกันอยู่เรื่อยๆ ในสังคมไทยดูเหมือนจะมีการยอมรับพอสมควรว่า ผู้ชายเป็นนักลงทุนที่ดีกว่า

 

โดยมีเหตุผลหลายๆ อย่างเช่น ผู้ชายตัดสินใจได้ “เด็ดขาด” กว่า ไม่ “ลังเล” แบบผู้หญิง ผู้ชายกล้าได้กล้าเสียกว่า ผู้ชายมีความมั่นใจในตนเองสูงกว่า ผู้ชายฟังคนอื่นน้อยกว่า และผู้ชายเก่งกว่าในด้านตัวเลข ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น ด้วยความคิดนี้ ประกอบกับการที่คนมองเห็น แต่ “เซียนหุ้น” ที่เป็นผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ “การลงทุนแบบผู้หญิง” เป็นวิธีการลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นการลงทุนที่พึงหลีกเลี่ยง ถ้าไม่อยากขาดทุน หรือไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุน ทั้งหมดที่พูดถึงนี้ เป็นความคิดของคนไทยที่โลกของการลงทุนยังถูกครอบงำโดยบุรุษเพศ

 

ในต่างประเทศมีการศึกษาเรื่องจิตวิทยาของผู้หญิงกับการลงทุนมากมาย พบว่า สิ่งที่คนไทยจำนวนมากอาจจะคิดนั้นไม่เป็นจริง การลงทุนแบบ “ผู้หญิง” เขาพบว่าเป็นวิธีการลงทุนที่เหนือกว่าการลงทุนแบบ “ผู้ชาย” และสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ชาย “แพ้” มีสาเหตุสำคัญหลายๆ อย่าง เรื่องหนึ่ง ก็คือ ผู้ชายมีความมั่นใจในตนเองสูงเกินไป และสำคัญตนเองผิดว่า ตนเองมีความเก่งเหนือกว่าคนอื่นโดยเฉลี่ย ทำให้ผมนึกถึงการศึกษาที่ให้คนจัดเกรดตนเองว่า ขับรถได้ดีแค่ไหน ซึ่งผู้ชายส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ตนเองขับรถได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งทางทฤษฎีแล้วเป็นไปไม่ได้ เพราะความเป็นจริง ก็คือ ต้องมีคนครึ่งหนึ่งที่ขับรถดีกว่าค่าเฉลี่ย และอีกครึ่งหนึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย มาลองดูกันว่าการศึกษาเรื่องการลงทุนระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายเป็นอย่างไร

 

การศึกษาในตลาดสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้หญิงซื้อขายหุ้นบ่อยน้อยกว่าผู้ชาย แปลว่าผู้หญิงถือหุ้นยาวกว่าผู้ชาย นี่คงเป็นเรื่องการตัดสินใจที่ผู้ชายมักจะทำเร็วและเด็ดขาดกว่า แต่การซื้อๆ ขายๆ หุ้นบ่อย ทำให้เกิดค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายสูง การ “ขาดทุน” จากส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายก็จะ “กินกำไร” ที่ควรจะได้ไปไม่น้อย ยิ่งในตลาดอเมริกาที่ต้องเสียภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นด้วย ยิ่งทำให้ผลตอบแทนของผู้ชายลดลงเมื่อเทียบกับผู้หญิง

 

 

คุณสมบัติข้อต่อมาของผู้หญิง ก็คือ มักกลัวความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย คนที่ลงทุนแบบผู้หญิงมักต้องการ Margin of Safety หรือส่วนต่างเผื่อความปลอดภัยสูงกว่า นี่ก็เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้การลงทุนแบบผู้หญิงเหนือกว่าการลงทุนแบบที่ “กล้าได้กล้าเสีย” แบบผู้ชาย จริงอยู่ การลงทุนแบบที่กล้าเสี่ยงมากๆ เช่น การลงทุนในหุ้นที่ผันผวนมาก หรือการใช้มาร์จินซื้อหุ้นเหล่านี้ อาจทำให้นักลงทุนแบบผู้ชาย “รวยไปเลย” แต่หลายคนที่ผิดพลาดก็ “จนไปเลย” มองในแง่ค่าเฉลี่ยระยะยาวแล้ว การลงทุนที่เน้นความปลอดภัยสูงน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

 

ผู้หญิงนั้นจะมองโลกในแง่ที่ดีน้อยกว่าผู้ชาย ผู้หญิงมองโลกในแง่ที่เป็นจริงมากกว่า เวลาที่ตลาดสดใสมาก ผู้หญิงก็จะไม่ “ฝันเฟื่อง” มากเท่าผู้ชาย เช่นเดียวกัน เวลาที่ตลาดเลวร้าย ผู้หญิงก็มักจะไม่ “หดหู่” เท่าผู้ชาย มองในแง่นี้ ผู้หญิงก็จะไม่เป็น “เหยื่ออารมณ์” ของ “นายตลาด” เท่าผู้ชาย พูดง่ายๆ ผู้หญิงจะไม่ซื้อขายตามภาวะตลาดมากเท่าผู้ชาย ซึ่งมักทำให้ผู้หญิงมีแนวโน้มน้อยกว่าผู้ชาย ที่จะซื้อตอนตลาดแพงและขายตอนตลาดถูก

 

ผู้หญิงมีความละเอียดลออมากกว่าผู้ชายในเรื่องของการศึกษาหาข้อมูลเพื่อการลงทุน การ “คิดแล้ว คิดอีก” “อ่านแล้ว อ่านอีก” จนมั่นใจว่าไม่พลาดแน่ เป็นวิธีการลงทุนระยะยาวที่ดีกว่าการรีบตัดสินใจซื้อขายโดยที่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างรอบคอบ ดังนั้น นิสัยผู้หญิงแบบนี้ จึงเป็นนิสัยการลงทุนที่น่าจะประสบความสำเร็จสูงกว่านิสัยแบบผู้ชายที่มักเอาเร็วเข้าว่า

 

สุดท้ายที่ผมจะพูดถึง ก็คือ ผู้หญิงมักจะเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อน หรืออยู่ใต้อิทธิพลของเพื่อน น้อยกว่าผู้ชาย พูดง่ายๆ ผู้ชายเวลาตัดสินใจอะไร ถ้ามีเพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานจับตาดูอยู่ เขาจะมี “แรงกดดัน” มากกว่าผู้หญิงที่ต้องทำตามแนวทางของกลุ่ม ตัวอย่างเช่น ถ้าเขารู้ว่าผลตอบแทนการลงทุนของเพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานกำลังโดดเด่นมาก เพราะพวกเขากำลังเล่น หรือลงทุนหุ้นบางกลุ่มในภาวะตลาดที่กำลังร้อนแรง ก็ยากที่ผู้ชายจะอยู่ “นิ่งเฉย” ไม่ยอมเปลี่ยนแนวทางการลงทุนของตนเอง และยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่า มองในแง่นี้ การลงทุนแบบผู้หญิงน่าจะมีหลักการที่มั่นคง และเป็นสิ่งที่ตนเองมีความชำนาญมากกว่า ผู้หญิงน่าจะตัดสินใจที่อิสระมากกว่าผู้ชาย

 

ผลการลงทุนของผู้หญิงโดยทั่วไปในอเมริกา เพราะซื้อขายหุ้นน้อยกว่า นั่นอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ผลตอบแทนดีกว่าผู้ชาย แต่ด้านของมืออาชีพที่บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ที่ต้องอาศัยฝีมือและอารมณ์ขั้นสูงสุด ก็พบว่า ผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์ที่เป็นผู้หญิง สามารถสร้างผลงานเฉลี่ยที่ดีกว่าผู้ชาย รวมถึงผลตอบแทนสม่ำเสมอกว่าผู้บริหารชาย ที่สำคัญ ในยามที่ตลาดเลวร้ายมาก ผลตอบแทนของผู้บริหารหญิง จะเลวร้ายน้อยกว่าของผู้บริหารชายมาก

 

หลายคนยังอาจจะสงสัยว่า ทำไมนักลงทุนเอกของโลก ที่สร้างผลตอบแทนระยะยาวได้สูงมากอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ปีเตอร์ ลินช์ และอีกหลายๆ คนจึงมีแต่ผู้ชาย แล้วจะบอกได้อย่างไรว่าการลงทุน “แบบผู้หญิง” มีประสิทธิภาพเหนือกว่า ประเด็นนี้ คำตอบน่าจะมีได้สองทาง ทางแรก คือ การลงทุนแบบผู้ชาย มีความผันผวนสูงมาก คนที่ทำได้ดีก็ดีมากๆ แต่คนที่ทำได้แย่ ผลงานก็ “ตกเหว” ไปเลย โดยค่าเฉลี่ยต่ำกว่าการลงทุนของผู้หญิง

 

คำอธิบายอีกทางหนึ่ง ก็คือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือเซียนหุ้นที่ประสบความสำเร็จระดับโลกที่เป็นผู้ชาย แท้ที่จริงแล้ว เขาใช้แนวทางการลงทุนแบบ “ผู้หญิง” ส่วนการที่ยังไม่มีผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็น “เซียนระดับโลก” อาจจะเป็นเรื่องของ “เวลา” ก็ได้

 

เหนือสิ่งอื่นใด ผู้หญิงเพิ่งจะก้าวเข้ามาในโลกของการลงทุนไม่นานนัก ในอนาคต อาจจะได้เห็นเซียนที่เป็นผู้หญิงก็ได้ นี่รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ผมคิดว่า ในที่สุดต้องมี “เซียนหุ้นหญิง” เหมือนกัน

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Perfect Storm – Perfect Stock : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

ข่าวร้ายในตลาดสำหรับคนเล่นหุ้นแล้ว มันคือเวลาของการขายหุ้น ยิ่งร้ายเท่าไรก็ต้องรีบขายเร็วเท่านั้น ผลของการขายทำให้ราคาหุ้นที่เจอกับข่าวร้ายตกลงมาอย่างหนัก หลายๆครั้งหนักเกินความเป็นจริง และนั่นคือโอกาสของนักลงทุนระยะยาวที่จะเข้ามาเก็บหุ้น

 

 

 

ประเด็นสำคัญก็คือ คุณจะต้องมั่นใจจริงๆว่า ข่าวร้ายนั้นเป็นเรื่องชั่วคราว มันไม่ได้ทำให้พื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนไปและไม่ช้าก็เร็วบริษัทก็จะสามารถกลับมาทำกำไรได้อย่างที่มันเคยเป็น และด้วยราคาหุ้นที่ตกลงมามาก การลงทุนจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะไม่เกิน 3-5 ปีข้างหน้า

 

ข่าวร้ายในตลาดที่ส่งผลต่อหุ้นอย่างแรงอาจจะแบ่งได้เป็น 3 แบบด้วยกันคือ

 

หนึ่ง ข่าวร้ายจากภาพรวมของเศรษฐกิจหรือตลาด ข่าวนี้ทำให้ตลาดเกิด Panic หรือตกใจ เกิดการขายหุ้นทั่วทั้งตลาด สิ่งนี้มักจะเกิดขึ้นจากภาวะการเงินหรือเศรษฐกิจที่ขาดความสมดุลอย่างแรง เช่น เกิดภาวะเงินตึงตัว เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูง หรือการที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างแรงอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

 

ข่าวร้ายประเภทนี้มักทำให้หุ้นเกือบทั้งหมดตกลง แม้ว่าหุ้นบางตัวหรือบางกลุ่มอาจจะไม่ได้รับผลกระทบจริงหรือถูกกระทบน้อย หน้าที่ของ Value Investor ก็คือ มองหาหุ้นที่ถูกกระทบน้อยแต่ราคาหุ้นตกลงมามากพอๆกับดัชนีตลาด

 

ข่าวร้ายแบบที่สองก็คือ ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ความตกต่ำหรือถดถอยของอุตสาหกรรมทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นในกลุ่มทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งหรืออ่อนแอ แต่เมื่อเวลาผ่านไป บริษัทที่แข็งแกร่งจะฟื้นตัวกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิมในขณะที่บริษัทที่อ่อนแอจะล้มหายตายจากหรือลดระดับของการดำเนินงานลง กระบวนการนี้อาจจะใช้เวลาบ้างขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรม

 

หน้าที่ของเราก็คือต้องวิเคราะห์ว่าอุตสาหกรรมจะใช้เวลาเท่าไรที่จะฟื้นตัว แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ต้องหาว่าบริษัทไหนจะถูกกระทบน้อยและกลับมายิ่งใหญ่และทำกำไรได้มากแค่ไหนเมื่ออุตสาหกรรมฟื้นตัว

 

ข่าวร้ายแบบสุดท้ายก็คือ ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นกับตัวบริษัทเอง นี่คือข่าวร้ายที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวบริษัทเองที่อาจจะทำอะไรบางอย่างผิดพลาดอย่างร้ายแรง หรือถูกกระทบโดยความโชคร้าย แต่ความผิดพลาดนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งเดียวและเป็นเรื่องชั่วคราวที่บริษัทน่าจะแก้ไขได้ เมื่อเกิดเรื่องขึ้น นักลงทุนมักจะเทขายหุ้นกันอย่างหนักทำให้ราคาหุ้นตกลงมามาก อย่างที่ “ไม่เคยปรากฏ” มาก่อน

 

หน้าที่ของ VI ก็คือ พิจารณาว่าเหตุการณ์นั้นไม่ได้กระทบกับธุรกิจหลักของบริษัทที่ยังสามารถทำกำไรได้อย่างแข็งแกร่งเมื่อเหตุการณ์ชั่วคราวนั้นผ่านพ้นไปหรือบริษัทได้แก้ไขไปแล้ว และราคาหุ้นที่ตกลงมานั้นจะทำให้การลงทุนของเราให้ผลตอบแทนสูงในช่วงเวลา 3-5 ปีข้างหน้า นั่นก็คือ อย่างน้อยถ้าเราซื้อหุ้นแล้วถือไว้ 5 ปี ราคาหุ้นน่าจะปรับขึ้นไปหนึ่งเท่าตัวจากราคาที่เราซื้อ

 

หุ้นที่เราจะซื้อนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด เราต้องมั่นใจว่ามันจะต้อง “ฝ่าวิกฤติ” ไปได้ไม่ว่าจะด้วยอะไร เช่น เป็นบริษัทที่มีฐานะทางการเงินดีมีเงินสดมากและมีหนี้น้อย เป็นกิจการที่จำเป็นและมีผู้ให้บริการที่จำกัด เป็นกิจการที่มีผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่งสนับสนุนอย่างหุ้นรัฐวิสาหกิจบางแห่ง หรือแม้แต่เป็นกิจการที่ “ใหญ่เกินไปที่จะล้ม” นี่จะเป็นเครื่องค้ำประกันว่า เหตุร้ายแรงที่อาจจะดำเนินไปหลายปีนั้นไม่ทำให้บริษัทต้องล้มละลายไปก่อนที่สถานการณ์จะฟื้นตัว

 

บางที สำหรับบางบริษัท ข่าวร้ายนั้นเกิดเป็นชุดอย่างต่อเนื่องพร้อมกัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่อย่างในปัจจุบันนั้น โอกาสที่บริษัทจะเจอ “2 เด้ง” คือภาวะตลาดแพนิคและภาวะอุตสาหกรรมตกต่ำเกิดขึ้นพร้อมกันมีสูง บางครั้งซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก บางบริษัทอาจจะเจอกับข่าวร้ายทั้งด้านของภาวะตลาดหุ้น ภาวะอุตสาหกรรม และบริษัทเองก็เจอกับข่าวร้ายเฉพาะตัวเกิดขึ้นพร้อมๆกัน ถ้าจะพูดให้เห็นภาพก็คือ บริษัทประสบกับ “Perfect Storm” ความร้ายแรงประดังกันเข้ามาอย่างที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญขนาดนั้น

 

หุ้นที่ประสบกับข่าวร้ายมากๆ หลายเรื่องหรือทุกเรื่องอย่างหุ้น Perfect Storm นั้น ราคาหุ้นจะตกลงไปมากจนแทบจะไม่เหลือค่าเมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจ หุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่น่าสนใจโดยเฉพาะถ้าเราไม่มั่นใจว่ามันจะไปรอดหรือไม่ หรือรอดได้แต่ก็ไม่กลับมาเป็นอย่างเดิม หรือรอดและกลับมาทำกำไรได้แต่ก็ต้องมีการเพิ่มทุนมหาศาลซึ่งทำลายมูลค่าหรือความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นเดิมไปหมด ถ้าเป็นแบบนั้น การลงทุนในหุ้น Perfect Storm ก็จะเป็นความเสี่ยงมหาศาล

 

ตรงกันข้าม ถ้าเราเจอหุ้น Perfect Storm และราคาหุ้นสะท้อนข่าวนั้นแล้วโดยที่ราคาตกลงไปต่ำกว่าที่เคยเป็นในภาวะปกติมาก ในขณะเดียวกัน พื้นฐานของกิจการของบริษัทไม่เปลี่ยนและเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งทางการตลาดมาก ประกอบกับความเชื่อมั่นว่าบริษัทจะไม่ล้มละลายและไม่ต้องเพิ่มทุนมหาศาล และสุดท้าย เราเชื่อว่า ข่าวร้ายทุกอย่างจะต้องหมดไปเมื่อเวลาผ่านไป 3-5 ปี และเมื่อนั้นกิจการของบริษัทก็จะกลับมาเหมือนเดิมก่อนที่ข่าวร้ายจะเกิดขึ้น

 

ในสถานการณ์แบบนี้ การลงทุนในหุ้น Perfect Storm ก็อาจจะเป็นโอกาสยิ่งใหญ่ที่จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าปกติและหุ้นนั้นกลายเป็น “Perfect Stock” หรือเป็นโอกาสทองของการลงทุนในหุ้นตัวนั้น

 

แน่นอน การลงทุนในหุ้นที่มีข่าวร้ายมากๆย่อมมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในระยะสั้นเพียงปีหรือสองปี คนที่สามารถลงทุนในหุ้นแบบนี้จะต้องมีจิตใจที่มั่นคงมาก นั่นคือ จะต้องทนดูหุ้นที่อาจจะตกลงไปต่ออีกมากได้ หรือต้องสามารถถือหุ้นที่อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนเป็นเวลานานพร้อมๆกับผลการดำเนินงานที่อาจจะไม่น่าประทับใจของบริษัท และถ้าทนไม่ไ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

หุ้นไทยปิดพุ่ง 15.82 จุด ที่ 971.63 จุด ตามตลาดในภูมิภาคเอเซีย คลายกังวลปัญหาหนี้ยุโรป-เศรษฐกิจสหรัฐ จับตาสถานการณ์น้ำท่วม

 

บรรยากาศ การลงทุนตลาดหุ้นไทยวันนี้ (17 ต.ค.) ดัชนีทะยานตามตลาดในภูมิภาคเอเซีย โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความคลายกังวลวิกฤติหนี้ยุโรป และเศรษฐกิจสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งล่าสุดไหลทะลักเข้าท่วมนิคมอุตสหกรรมนวนครแล้ว โดยระหว่างชั่วโมงการซื้อขายดัชนีต่ำสุดที่ 960.91 จุด และสูงสุดที่ 973.40 จุด ก่อนปิดตลาดที่ 971.63 จุด บวก 15.82 จุด หรือ 1.66%

 

หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย

 

PTT ปิดที่ 300.00 บาท +8.00 (+2.74%)

 

SCC ปิดที่ 306.00 บาท +12.00 (+4.08%)

 

CPF ปิดที่ 29.75 บาท +1.50 (+5.31%)

 

BANPU ปิดที่ 606.00 บาท +32.00 (+5.57%)

 

IVL ปิดที่ 35.25 บาท +2.50 (+7.63%)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

หุ้นไทยปิดลบ 18 จุด ตามตลาดต่างประเทศ กังวลปัญหาหนี้ยุโรป-น้ำท่วม

 

บรรยากาศ การลงทุนตลาดหุ้นไทยวันนี้ (18 ต.ค.) ดัชนีปรับตัวในแดนลบตามตลาดต่างประเทศ จากความกังวลปัญหาหนี้ยุโรป และสถานการณ์น้ำท่วม โดยระหว่างชั่วโมงการซื้อขายดัชนีปรับตัวต่ำสุดที่ 938.44 จุด ก่อนกระเตื้องขึ้นในช่วงท้ายตลาดปิดในระดับสูงสุดที่ 952.75 จุด ลบ 18.88 จุด หรือ 1.94%

 

หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย

 

IVL ปิดที่ 34.00 บาท -1.25 (-3.55%)

 

PTT ปิดที่ 293.00 บาท -7.00 (-2.33%)

 

SCC ปิดที่ 300.00 บาท -6.00 (-1.96%)

 

KBANK ปิดที่ 117.00 บาท -3.50 (-2.90%)

 

CPF ปิดที่ 29.25 บาท -0.50 (-1.68%)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

หุ้นไทยปิดลบ 14.56 จุด อยู่ที่ 938.19 จุด ห่วงน้ำท่วมขยายวงกว้างลามกรุงฯ-หนี้ยุโรปตามหลอน

 

บรรยากาศ การลงทุนตลาดหุ้นไทยวันนี้ (19 ต.ค.) ดัชนีแกว่งตัวผันผวนสวนทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ จากความกังวลปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศ ซึ่งขณะนี้เริ่มขยายวงกว้าง และอาจลุกลามเข้ากรุงเทพฯ ขณะเดียวกันยังคงต้องติดตามมาตรการแก้ปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรป โดยระหว่างชั่วโมงการซื้อขายดัชนีปรับตัวสูงสุดที่ 959.01 จุด และต่ำสุดที่ 933.39 จุด ก่อนปิดตลาดที่ 938.19 จุด ลบ 14.56 จุด หรือ 1.53% มูลค่าการซื้อขาย 19,474.62 ล้านบาทห

 

ลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย

 

KTB ปิดที่ 14.30 บาท -1.10 (-7.14%)

 

IVL ปิดที่ 33.50 บาท -0.50 (-1.47%)

 

SCC ปิดที่ 298.00 บาท -2.00 (-0.67%)

 

KBANK ปิดที่ 114.00 บาท -3.00 (-2.56%)

 

SCB ปิดที่ 105.00 บาท -5.50 (-4.98%)

 

นางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอสวิคเคอร์ส จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่ตลาดหุ้นไทยลดลงมาจากสถานการณ์น้ำท่วมประเทศในขณะนี้ขยายวงกว้าง ขณะที่คว่ามเสียหาย มีแนวโน้มมากว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ในก่อนหน้านี้

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เอามาฝากคับ

สุนทรพจน์ของ ลี ลู (ตอนที่ 1 )

 

วิบูลย์ พึงประเสริฐ

 

 

วอร์เรน บัฟเฟตกล่าวว่า เมื่อเขาเกษียณ มีบุคคล 3 คนที่เขาอยากจะให้บริหารเงินของเขา คนแรกคือ เซจ คาร์เมน (Seth Klarman) จาก Baupost Group คนต่อไปคือ เกรก เอล็กซานเดอร์ (Greg Alexander) และคนที่สามคือ ลี ลู (Li Lu) ปัจจุบันชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger) หุ้นส่วนของบัฟเฟตได้ให้ ลี ลู ทำการบริหารเงินของเขาทั้งหมด ภายในสี่ปี ลูสามารถทำผลตอบแทนเพิ่มสูงขึ้นถึง 400% ทำให้ลูเป็นนักลงทุนที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในยุคนี้ ลี ลู บรรยายเกี่ยวกับการลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในเดือนเมษายน ปี 2010 ต่อไปนี้เป็นสุนทรพจน์ของเขาที่กล่าวในงานนี้

 

“มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย คือสถานที่ที่ชีวิตทั้งหมดของผมในอเมริกาได้เริ่มต้นขึ้น ในขณะนั้นผมแทบจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย โคลัมเบียเป็นสถานที่ที่ผมมีชีวิตใหม่ มันเป็นการเรียนในวิชาการลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่ทำให้ผมเริ่มอาชีพในการเป็นนักลงทุน ในขณะนั้นผมค่อนข้างเป็นกังวลเกี่ยวกับเงินกู้เพื่อการศึกษา ในขณะที่เพื่อนผมคนหนึ่งบอกผมเกี่ยวกับวิชานี้ และกล่าวว่าผมจำเป็นต้องดูการบรรยายของวอร์เรน บัฟเฟต

 

สิ่งที่ผมได้ฟังในคืนนั้นเปลี่ยนแปลงชีวิตของผมไปอย่างสิ้นเชิง เขาได้กล่าวไว้ 3 ข้อ

 

1. หุ้นไม่ใช่แผ่นกระดาษ มันเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นเจ้าของในบริษัท

 

2. คุณต้องมีส่วนต่างเพื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) เพื่อที่ว่าถ้าคุณผิดพลาด คุณจะเสียหายไม่มาก

 

3. คนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นเป็นพวกเล่นระยะสั้น ดังนั้น การลงทุนแบบเน้นคุณค่าช่วยให้คุณมีกรอบในการจัดการกับความผันผวนในแต่ละวัน

 

นั่นคือ 3 แนวคิดที่ทรงพลังมาก ผมไม่เคยมองตลาดหุ้นแบบนั้นมาก่อนเลย ผมมองมันในแง่ลบว่าเป็นสถานที่ที่มีคนมาปั่นราคาด้วยเงินในกระเป๋า ผมจึงทุ่มเทศึกษาอย่างเข้มข้นในทุกสิ่งที่เกี่ยวกับบัฟเฟต เป็นระยะเวลา 2 ปี

 

2 ปีหลังจากที่ผมซื้อหุ้นตัวแรก หลังจากที่ผมเรียนจบและผมได้ทำงานที่ธนาคารเพื่อการลงทุน 1 ปี และตระหนักว่ามันเป็นความผิดพลาด ผมพยายามเริ่มตั้งกองทุนแต่ผมยังไม่มีประวัติผลงานให้ติดตาม ปีแรกที่ผมบริหารเงิน ผมขาดทุนไป 19%

 

การเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าหมายถึง คุณมองที่ด้านลบ (Downside) ก่อนที่จะมองด้านบวก (Upside) ก่อนที่คุณจะเป็นนักลงทุน คุณจำเป็นต้องรู้ว่าคุณจะพลาดได้อย่างไรในเกมนี้ มันมีหลายทางที่คุณจะพลาดได้ คุณจำเป็นต้องตรวจสอบว่าคุณเป็นใคร และดูว่าคุณสามารถทำในสิ่งนั้นได้ดีหรือไม่ ถ้าคุณเคยค้นหาบางสิ่งบางอย่างที่คุณสามารถทำได้ดีและชอบมันอย่างแท้จริง นั่นน่าจะเป็นการลงทุนที่ดีที่สุดของคุณ คุณจะทำได้ดีกว่าคู่แข่ง ถ้าคุณสามารถทำมันด้วยความหลงใหลอย่างแท้จริง นั่นจะเป็นการเพิ่มคุณค่าได้อย่างมหาศาลให้กับตัวคุณเองตลอดช่วงเวลานั้น

 

กลับมาสู่เกมในการลงทุน แนวความคิดของส่วนต่างเพื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) เป็นแนวคิดที่จำเป็นในการที่จะเป็นนักลงทุนที่ดี อนาคตเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ คุณมักจะต้องจัดการกับความไม่แน่นอนเสมอๆ ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ ส่วนใหญ่เป็นแบบหลัง คุณต้องอยู่ในสถานะที่ปลอดภัยเพื่อที่ว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คุณจะไม่เละเป็นโจ๊ก ถ้าคุณประสบความสำเร็จในการรู้ว่าคุณกำลังอยู่กับอะไร คุณจะสามารถผ่านมันไปได้อย่างสวยงาม คนส่วนใหญ่มีปัญหากับสิ่งที่เขาไม่รู้ โลกแบ่งคนออกเป็นคนที่รู้กับคนที่ไม่รู้ ถ้าคุณเป็นฝ่ายที่รู้จริง คุณจะไม่เหนี่ยวไกแบบนักค้าหุ้นที่วอลล์สตรีท ถ้าคุณซื่อสัตย์ในความรู้อย่างแท้จริง คุณจะไม่ทำสิ่งเหล่านั้น

 

ชั้นเรียนนี้สอนคุณว่า คุณกำลังเล่นอยู่กับอะไร โดยเฉพาะยอมรับว่าสิ่งไหนที่คุณไม่รู้ เกมการลงทุนเป็นการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง ทุกสิ่งทุกอย่างมีผลกระทบกับการลงทุน มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คุณไม่ได้ลงทุนในอดีต แต่คุณกำลังสะสมกระแสเงินสดในอนาคต คุณต้องมีความต้องการในการค้นหาสิ่งที่คุณรู้ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ มีหลายอย่างที่ผมไม่รู้แต่มันก็ไม่มีผลกับการซื้อ เพราะผมมีส่วนต่างเพื่อความปลอดภัยไว้มาก ผมกำลังซื้อเงิน 1 เหรียญด้วยเงิน 50 เซ็นต์

 

ฉะนั้น ถ้าสิ่งนั้นมันไม่เป็นไปตามที่คุณคิด คุณก็ยังรอด มันไม่ง่ายหรอก ธุรกิจนี้แข่งขันกันอย่างเหี้ยมโหด มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ทุกอย่างและรู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นแน่นอนในธุรกิจจากนี้ไป จนกว่าในที่สุดคุณต้องยอมรับจริงๆว่า อะไรที่คุณไม่รู้”

 

สุนทรพจน์ของ ลี ลู (1)

 

Value Way

 

วิบูลย์ พึงประเสริฐ

 

5 กรกฏาคม 2553

!031 !031

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

สุนทรพจน์ของลี ลู (ตอนที่ 2) : เข้าใจธุรกิจอย่างถ่องแท้

 

วิบูลย์ พึงประเสริฐ

 

 

ลี ลู บรรยายเกี่ยวกับการลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในเดือนเมษายน ปี 2553 ผู้บันทึกการบรรยายครั้งนี้คือ Tariq Ali เจ้าของ blog ชื่อ Street Capitalist : Even Driven Value Investments ส่วนคุณ Grandslam จากเว็บ Thaivi ถ่ายทอดเป็นภาษาไทย ต่อไปนี้เป็นสุนทรพจน์ของ ลี ลู ต่อจากฉบับที่แล้ว

 

“การค้นหาความเฉียบคมมาจากกรอบของความคิดที่ถูกต้อง และการศึกษาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี แต่เมื่อไหร่ที่คุณพบอย่างถ่องแท้ตลอดเส้นทางในการเรียนรู้ คุณต้องมีความกล้าที่จะไม่สนใจต่อความเห็นของคนอื่น การเป็นนักลงทุนที่ดีคุณต้องยืนหยัดได้ด้วยตัวคุณเอง คุณไม่เพียงแต่แค่ลอกการบ้านคนอื่น ไม่ช้าก็เร็วมันจะย้อนกลับมาทำร้ายคุณ ถ้าคุณไม่เข้าใจในตัวธุรกิจนั้น ถ้าราคาหุ้นตกลงมาจาก $100 เป็น $50 คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่ามันจะกลับเป็น $100 หรือ $200 หรือเปล่า

 

มันจึงเป็นอะไรที่ยากมาก แต่มองอีกแง่ มันก็ให้ผลตอบแทนที่มากเช่นกัน บัฟเฟตต์ กล่าวว่า ถ้าคุณลงทุนได้ดีเพียงแค่ 10 ครั้ง ตลอด 40 ปีในชีวิตการทำงาน คุณจะร่ำรวยมหาศาล มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ นี่คือสิ่งที่ทำให้การลงทุนแบบเน้นคุณค่าแตกต่างจากทุกสิ่ง

 

แล้วคุณจะเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ได้อย่างไร? เลือกธุรกิจที่คุณเข้าใจมันอย่างแท้จริงมาหนึ่งธุรกิจ ธุรกิจอะไรก็ได้ ขอให้เข้าใจมัน ผมบอกกับนักศึกษาฝึกงานว่า ลองจินตนาการตามผมว่า ถ้าญาติห่างๆของคุณได้เสียชีวิตลง และคุณได้รับมรดกตกทอดมาเป็นธุรกิจที่เค้าเป็นเจ้าของ 100% คุณจะจัดการกับมันอย่างไร? นี่คือสิ่งที่ต้องนึกเมื่อคุณมองดูธุรกิจใดๆ ผมแนะนำให้คุณเริ่มและทำความเข้าใจใน 1 ธุรกิจ จากภายในสู่ภายนอก

 

วิธีนี้ดีกว่าการอบรมใดๆทั้งสิ้น มันไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจที่สุดยอด เป็นธุรกิจอะไรก็ได้ คุณต้องมีความรู้สึกให้ได้ว่าถ้าคุณเป็นเจ้าของมัน 100% คุณจะทำอย่างไร ถ้าคุณสามารถทำได้ คุณจะสามารถยืนหยัดในการแข่งขันได้อย่างมาก คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้แนวคิดที่ถูกต้องตั้งแต่แรก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก คนส่วนใหญ่มองมันแค่แผ่นกระดาษและซื้อๆขายๆ เพียงเพราะว่ามันซื้อขายง่าย แต่ถ้ามันเป็นธุรกิจที่คุณสืบทอดมรดกมา คุณจะไม่ซื้อๆขายๆ คุณต้องเริ่มหาความรู้อย่างจริงจังว่า ธุรกิจนี้ควรดำเนินการอย่างไร มันทำงานอย่างไร ถ้าคุณเริ่มต้นด้วยวิธีนี้ ในที่สุดคุณก็จะรู้ว่าธุรกิจนั้นมีมูลค่ามากเท่าไหร่

 

เมื่อผมเริ่มต้นธุรกิจในปี 1997 มันเป็นช่วงเวลาท่ามกลางวิกฤตการเงินที่เอเชีย ไม่กี่ปีต่อมาเกิดฟองสบู่อินเทอร์เน็ต เมื่อ 2 ปีก่อนเกิดการล่มสลายรุนแรงในช่วงปี 2007-2008 เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นร้ายแรงในรอบศตวรรษ แต่เกิดห่างกันไม่กี่ปี ทุกครั้งที่เกิดมันส่งผลกระทบกับคุณ ทรัพย์สินสุทธิหรือมูลค่าการลงทุนของคุณอาจจะลดลง 50% นี่คือช่วงเวลาที่ความเข้าใจและอารมณ์เริ่มเข้ามามีส่วนร่วม ตามสัญชาตญาณ คุณต้องมั่นใจในการตัดสินใจของคุณระดับหนึ่ง และไม่โอนเอียงไปกับความคิดของคนอื่น มันไม่ง่ายหรอก แต่นี่แหละคือชีวิต มันคือสิ่งที่ให้เรามา มันเกิดขึ้นกับทุกคน อย่างน้อย 3 ครั้ง ที่ราคาหุ้นของบริษัทเบิร์กไชน์ได้ตกลงกว่า 50% มันเคยเกิดขึ้นกับ แอนดรู คาร์เนกี้ และ ร็อคกี้เฟลเลอร์ ด้วยเช่นกัน มันเกิดขึ้นกับทุกคน ถ้าคุณทำพลาด มันจะไม่หยุดที่ 50% แต่มันจะไปที่ 0 เลยทีเดียว

 

สิ่งนี้เกิดขึ้นไม่เว้นแต่บริษัทที่เข้มแข็ง ดูบริษัทในอเมริกา 50 อันดับแรกสิ ทุกๆ 10 ปี ตลอดเวลา 20-40 ปีย้อนหลัง 2/3 ของบริษัทเหล่านี้ได้หายไป ผ่านไปอีก 100 ปี มันอาจจะเหลือเพียงแค่ 2 บริษัท มันเป็นอย่างนี้แหละ ดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทที่เคยยิ่งใหญ่อย่าง เจนเนอรัล มอเตอร์ส สิ นี่คือสิ่งที่ทำไมผมถึงพูดว่า การลงทุนเป็นขั้นตอนการเรียนรู้อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น เพราะการลงทุนของคุณกำลังเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

 

ดังนั้น สำหรับคุณที่มีอารมณ์หุนหันพลันแล่น เกมนี้อาจจะไม่ค่อยเหมาะกับคุณ ระบบทุนนิยมให้รางวัลกับคนที่มีความสามารถในการจัดสรรเงิน ฉะนั้น ถ้าคุณมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ นี่เป็นเกมที่สุดยอดที่สุด ถ้าคุณไม่มีแล้วละก็ ผมแนะนำว่าอย่าเล่นให้หงุดหงิด นี่คือสิ่งที่พวกวอลล์สตรีททำ เขาไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาเลย เขาแค่เคลื่อนย้ายเงินทุน การปล่อยให้อุตสาหกรรมการเงินใหญ่โตเกินไป เป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับระบบเศรษฐกิจ มันเลวร้ายพอๆกับการเข้าบ่อนติดการพนัน ติดยา และสุรา มันเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ มันเป็นแค่การโยกย้ายความมั่งคั่งเท่านั้น นั่นคือสิ่งที่ผมคิดว่าได้เกิดขึ้นที่วอลล์สตรีทตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ดังนั้น จงหลีกเลี่ยงมันก่อนที่คุณจะเจ็บตัว

 

สุนทรพจน์ของลี ลู (2) เข้าใจธุรกิจอย่างถ่องแท้

 

Value Way ฉบับวันที่ 12 กรกฏาคม 2553

 

โดย วิบูลย์ พึงประเสริฐ

!031 !031

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ผวาน้ำท่วมกรุง-วิกฤติหนี้ยุโรป กดดันตลาดหุ้นไทยปิดลบ29 จุด ตามตลาดต่างประเทศ

 

บรรยากาศ การลงทุนตลาดหุ้นไทยวันนี้ (20 ต.ค.) ดัชนีปรับตัวในแดนลบตามตลาดต่างประเทศ จากความกังวลปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรป ซึ่งยังไร้มาตรการที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมที่เริ่มไหลทะลักเข้ากรุงเทพชั้นนำได้กดดันบรรยากาศ การลงทุนในช่วงนี้ โดยระหว่างชั่วโมงการซื้อขายดัชนีปรับตัวสูงสุดที่ 925.70 จุด และต่ำสุดที่ 902.63 จุด ก่อนปิดตลาดที่ 909.10 จุด ลบ 29.09 จุด หรือ 3.10%

 

หลักทรัพย์ทีมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย

 

PTT ปิดที่ 277.00 บาท -13.00 (-4.48%)

 

KTB ปิดที่ 13.60 บาท -0.70 (-4.90%)

 

KBANK ปิดที่ 111.00 บาท -3.00 (-2.63%)

 

BBL ปิดที่ 133.00 บาท -5.50 (-3.97%)

 

SCC ปิดที่ 288.00 บาท -10.00 (-3.36%)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ผลตอบแทน VS ความเสี่ยง

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

 

นักลงทุนผู้มุ่งมั่นนั้น จำเป็นที่จะต้องประเมินผลงานการลงทุนของตนเองอยู่ตลอดเวลา เหตุผลก็คือ ข้อแรก จะได้รู้ว่าผลตอบแทนที่ทำได้นั้นดีและน่าพอใจแค่ไหน ข้อสอง รู้ว่าเรามีความเสี่ยง หรือได้เข้าไปรับความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และข้อสาม เพื่อให้รู้ว่าผลตอบแทนที่ได้นั้น เกิดจากฝีมือหรือความบังเอิญ และมันคุ้มค่าไหมที่จะรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

 

การประเมินเรื่องผลตอบแทนการลงทุน ดูเหมือนจะง่ายที่สุด เพราะเราเพียงแต่คำนวณว่า เราได้กำไรเท่าไรรวมถึงเงินปันผลแล้ว ก็นำมาตั้งหารด้วยเงินลงทุนตอนต้นงวด หรือต้นปีก็จะได้ว่าเราได้กำไรกี่เปอร์เซ็นต์ต่องวดหรือต่อปี แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ถ้าเราลงทุนระยะยาวหลายๆปีอย่างที่เราทำอยู่ การคิดผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีนั้น ต้องคิดผลตอบแทนทบต้น ไม่ใช่ผลตอบแทนเฉลี่ยธรรมดา ซึ่งจะทำให้ตัวเลขของผลตอบแทนนั้นลดลง เช่น ถ้าผลตอบแทนเฉลี่ยธรรมดาอาจจะได้ 15% ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นอาจจะได้เพียง 12% ต่อปีเท่านั้น

 

ผลตอบแทนการลงทุนที่เราได้มาแต่ละปี จะบอกว่าดีหรือไม่จะต้องดูข้อมูลอย่างน้อยสองตัว นั่นก็คือ ผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสามารถคำนวณได้ โดยการนำดัชนีตลาดตอนปลายปี ลบด้วยดัชนีตอนต้นปีแล้วหารด้วยดัชนีตอนต้นปี จะได้กำไรจากการที่ดัชนีปรับตัวขึ้นไปคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เสร็จแล้ว จะต้องบวกด้วยผลตอบแทนจากปันผล หรือ Dividend Yield ของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-4% จะได้ผลตอบแทนรวมของตลาดต่อปี

 

การที่จะบอกว่าผลตอบแทนของเราดีหรือไม่ ก็ดูว่าผลตอบแทนของเราดีกว่า หรือแย่กว่าตลาด วอร์เรน บัฟเฟตต์ ในช่วงที่เริ่มลงทุนใหม่ๆนั้น เขาตั้งเป้าว่า ผลตอบแทนของเขาควรจะดีกว่าตลาดประมาณ 10% ต่อปี ซึ่งปรากฏว่าเขาทำได้ในช่วงเกือบ 50 ปีที่ผ่านมาและน่าจะเป็นสถิติที่ดีที่สุดในโลกคนหนึ่ง

 

การที่ผลตอบแทนดีกว่าตลาดนั้น ในความเห็นของผมก็ยังไม่พอ จะต้องมีข้อสอง นั่นก็คือ เราจะต้องไม่ขาดทุน การที่ผลงานการลงทุนของเราดีกว่าตลาดแต่ขาดทุนนั้น ถ้าดูแล้วก็ไม่มีประโยชน์และความมั่งคั่งของเราจะลดลง อย่าลืมว่า ตลาดหุ้นนั้นโดยเฉลี่ย 10 ปี จะขาดทุนประมาณ 4 ปี และกำไร 6 ปี ถ้าตลาดขาดทุนแล้ว เราทำได้ดีกว่าตลาด แต่ก็ขาดทุนเหมือนกัน

 

แบบนี้โอกาสที่พอร์ตของเราจะได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวก็น้อยลงไปมาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่มีความโดดเด่นมากนั้น ส่วนสำคัญที่คนอาจจะลืมไปก็คือ ในช่วงเกือบ 50 ปี ที่ลงทุนเขาน่าจะเคยขาดทุนไม่เกิน 3-4 ปี ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นผลงานที่ยิ่งกว่าเรื่องของผลตอบแทนที่เขาทำได้

 

เรื่องของความเสี่ยงในการลงทุน มองโดยภาพรวมจะบอกว่า เรารับความเสี่ยงสูงหรือไม่นั้น สามารถมองได้สองเรื่อง เรื่องแรกก็คือ เรากู้เงินหรือใช้มาร์จินในการซื้อขายหุ้นหรือไม่ ถ้าใช่และใช้มากด้วย นี่ก็เป็นการบอกว่าเราเสี่ยงสูง ถ้าไม่ใช้เลยแปลว่า ความเสี่ยงเราต่ำหรือเราไม่เสี่ยง

 

อีกจุดหนึ่งที่พอจะมองได้ ก็คือ ผลตอบแทนของพอร์ตของเราในอดีตที่ผ่านมา ถ้าผลตอบแทนที่ได้ปีต่อปีของเรานั้น มีการผันผวนสูงและเคยมีการ “ขาดทุนร้ายแรง เป็นครั้งคราว แบบนี้อาจจะมองได้ว่าที่เราทำมานั้น เรามีความเสี่ยงสูงถึงแม้ว่าโดยรวมเรายังมีผลตอบแทนที่ดี แต่ความเสี่ยงนั้นแปลว่า อาจจะมีวันในอนาคต ที่เราจะประสบกับความเสียหายหนัก หรือหายนะที่อันตรายได้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นั้นใช้เงินกู้น้อยมาก แต่นั่นก็อาจจะเป็นเพราะเขามีเงินที่ “ไม่มีดอกเบี้ย” จากเบี้ยประกันของบริษัทประกันภัยของเขามาใช้ลงทุนมากมาย

 

มองความเสี่ยงในภาพเล็กลงมาเรา อาจจะมองจากจำนวนและขนาดของหุ้นแต่ละตัว ที่เราถือหรือเคยถืออยู่ ถ้าเรามักถือหุ้นจำนวนน้อยมากเช่น ถือเพียงตัวเดียวหรือสองตัว หรือถือหลายตัวแต่ตัวที่ถือหนักๆมีเพียงตัวเดียว หรือสองตัว แบบนี้ ก็ต้องบอกว่าเรารับความเสี่ยงมากกว่า การที่จะถือหุ้นถึง 4-5 ตัวกระจายกันไปโดยไม่มีตัวที่มากขนาดเป็น 50% ของพอร์ต

 

บางคนอาจจะบอกว่าตนเอง “ไม่เสี่ยง” เพราะได้พิจารณาและวิเคราะห์เป็นอย่างดี ความเสี่ยงสำหรับเขา ก็คือ “ความไม่รู้ ถ้ารู้ก็ไม่เสี่ยง” นี่อาจจะเป็นเรื่องของความมั่นใจในความสามารถของตนเอง แต่คนเรานั้นย่อมไม่สามารถรู้อะไรทั้งหมด และหุ้นนั้นเป็นอะไร ที่จะถูกผลกระทบจากปัจจัยภายนอกได้มากมาย

 

ดังนั้น สำหรับผมแล้ว การถือหุ้นน้อยตัวเกินไป หรือหนักเกินไปในบางตัวนั้น เป็นความเสี่ยงเสมอ เช่นเดียวกับการถือหุ้นมากตัวเกินไปที่มีความเสี่ยงที่เกิดจากการที่เรา “ไม่รู้” เพราะศึกษาไม่ดีพอ บัฟเฟตต์ เองนั้น แม้จะเป็นคนที่ถือหุ้นน้อยตัว แต่แทบไม่เคยที่เขาจะลงทุนในหุ้นตัวเดียวถึง 50% ของพอร์ต ยกเว้นในช่วงสั้นๆที่เขาเคยถือหุ้นอเมริกันเอ็กซ์เพรสที่กำลังเกิดปัญหารุนแรงและราคาหุ้นถูกอย่างเหลือเชื่อ

 

ความเสี่ยงนั้น บางทีก็ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างที่พูดว่า “ถ้าไม่เข้าถ้ำเสือจะได้ลูกเสืออย่างไร” ดังนั้น Value Investor หลายๆคนจึงยอมเสี่ยงมากกว่าปกติ เช่น ใช้มาร์จินซื้อขายหุ้น ซื้อหุ้นลงทุนในแต่ละช่วงเพียงตัวเดียว หรือสองตัว หลายคนมีผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนขึ้นๆลงๆ ไม่ต่างกับนักเก็งกำไร ผลที่ออกมา หลายคนอาจจะน่าประทับใจมาก จนกลายเป็น Role Model หรือตัวอย่างให้คนทำตาม แต่หลายคนก็อาจจะขาดทุนผิดหวัง และเก็บตัวเงียบอยู่คนเดียวอย่างที่เรียกว่า “คนตายไม่ได้พูด”

 

ถ้าเช่นนั้น ในฐานะของ Value Investor เราควรรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่ พูดอีกอย่าง มันคุ้มไหมที่เสี่ยงเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น

 

คำตอบของผมก็คือ มันขึ้นอยู่กับแต่ละคน ถ้าเงินที่เราลงทุนในหุ้นเป็นเงินจำนวนไม่มากในแง่ของเรา หรือมันอาจจะมาก แต่เรายังมีทางหามาใหม่ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ถ้าหากว่ามันหมดหรือลดลงไปมาก ในลักษณะแบบนี้ เราสามารถที่จะเสี่ยงได้มาก แต่ถ้าเม็ดเงินที่มีอยู่มีจำนวนมาก และเราพอใจที่จะมีความมั่งคั่งในระดับนั้นมากอยู่แล้ว การเสี่ยงเพื่อให้พอร์ตโตเร็วขึ้นอีกก็อาจจะไม่คุ้ม

 

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เราต้องรู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นมีความเสี่ยงแค่ไหน และโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนเพิ่ม จะมีมากน้อยแค่ไหน บ่อยครั้งที่เราลงทุน เราอาจจะคิดว่าความเสี่ยงมีน้อยทั้งที่มันอาจจะมาก

 

การที่เราเคยทำแล้วประสบความสำเร็จนั้น ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงต่ำ เพียงแต่ว่าผลร้ายมันยังไม่เกิด ความสำเร็จที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งอาจทำให้เราชะล่าใจคิดว่าเราเก่งเราเข้าใจดี แต่อาจจะมีวันที่เราทุ่มลงทุนอย่างหนักด้วยความมั่นใจสูง แต่ผลอาจจะเป็นทางตรงกันข้ามและนั่นอาจจะหมายถึงหายนะ

 

พูดถึงเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึงกรณีบริษัทเงินทุน Fin One ของคุณปิ่น จักกะพาก ซึ่งครั้งหนึ่งประสบความสำเร็จสูงมาก จากการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในตอนนั้น คุณปิ่นเคยให้สัมภาษณ์ว่า Fin One ทำงานอย่างอนุรักษนิยมมาก และเน้นความปลอดภัยสูงสุด Fin One ไม่ “Take Risk” หรือรับความเสี่ยงสูง แต่แล้วก็อย่างที่ทราบกัน Fin One ล่มสลายในยามที่มันโตสุดขีด

 

บทเรียนเรื่องนี้สอนให้ผมตระหนักว่า หายนะอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และมันมักจะเกิดตอนที่เรามั่นใจสุดขีด

 

ผลตอบแทน VS ความเสี่ยง

 

โลกในมุมมอง Value Investor

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2551

 

!031 !031

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

แรงเก็งกำไรหุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ช่วงท้ายตลาด ดันดัชนีปิดบวก 7.24 จุด ที่ 916.34 จุด จับตาน้ำท่วม-หนี้ยุโรป

 

บรรยากาศ การลงทุนตลาดหุ้นไทยวันนี้ (21 ต.ค.) ดัชนีแกว่งตัวผันผวนสอดคล้องทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยนักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งยังคงไหลทะลักเข้าสู่กรุงเทพชั้นใน และปัญหาหนี้ยุโรป ซึ่งจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า เพื่อหามาตรการแก้ไข ระหว่างชั่วโมงการซื้อขายดัชนีต่ำสุดที่ 905.70 จุด ก่อนที่จะมีแรงเก็งกำไรในหุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ ในช่วงท้ายตลาด หลังจากที่ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ดัชนีปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวสูงสุดที่ 921.61 จุด มาปิดตลาดที่ 916.34 จุด บวก 7.24 จุด บวก 0.80%

 

หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย

 

PTTGC ปิดที่ 54.00 บาท

 

SCB ปิดที่ 102.00 บาท +1.50 (+1.49%)

 

PTT ปิดที่ 284.00 บาท +7.00 (+2.53%)

 

SCC ปิดที่ 289.00 บาท +1.00 (+0.35%)

 

KBANK ปิดที่ 115.00 บาท +4.00 (+3.60%)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

หุ้นไทยปิดพุ่ง 26.21 จุด ที่ 924.55 จุด เย้ยน้ำทะลักเข้ากรุงเทพชั้นใน คลายกังวลวิกฤติหนี้ยุโรป-เศรษฐกิจสหรัฐ

 

บรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยวันนี้ (25 ต.ค.) ดัชนีทะยานตัวในแดนบวก หลังนักลงทุนคลายกังวลวิกฤติหนี้ยุโรป ซึ่งคาดหวังว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป ในวันพุธที่ 26 ต.ค. น่าจะมีมาตรการที่ชัดเจนออกมา อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาดี ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้นว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสน้อยที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย แม้สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศ มวลน้ำเริ่มไหลทะลักเข้าสู่กรุงเทพฯชั้่นใน จนทำให้คณะรัฐมนตรีประกาสให้วันที่ 27-31 ต.ค.นี้ เป็นวันหยุดราชการ

 

โดยระหว่างชั่วโมงการซื้อขายดัชนีปรับตัวต่ำสุดที่ 923.98 จุด และสูงสุดที่ 943.89 จุด ก่อนปิดตลาดที่ 942.55 จุด บวก 26.21 จุด หรือ 2.86%

 

หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขาย 5 อันดับแรกประกอบด้วย

 

PTTGC ปิดที่ 62.00 จุด +8.00 (+14.81%)

 

PTT ปิดที่ 297.00 จุด +13.00 (+4.58%)

 

SCC ปิดที่ 306.00 จุด +17.00 (+5.88%)

 

KBANK ปิดที่ 121.00 จุด +6.00 (+5.22%)

 

KTB ปิดที่ 14.60 จุด +0.70 (+5.04%)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เอาบทความดีๆมาฝากคับ

เส้นทางความมั่งคั่งของ บัฟเฟตต์

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

 

ตำนานความมั่งคั่งของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น เป็นแรงบันดาลใจให้กับ Value Investor ทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในเมืองไทย จุดเด่นของบัฟเฟตต์นั้น นอกจากจำนวนเงินที่มหาศาลติดอันดับต้นๆของเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็นเพราะเขาไม่ได้เป็นคนที่มีฐานะทางบ้านที่ร่ำรวยมาก่อน หรือแต่งงานกับคนที่ร่ำรวย นอกจากนั้น เขาไม่ได้เป็นคนที่สร้างตัวจาก “ธุรกิจ” เขาเป็นแค่ “นักลงทุน” มาตลอดชีวิต ดังนั้น นักลงทุนหนุ่มๆจำนวนมากจึงอาจจะคิดว่า พวกเขาก็สามารถรวยมหาศาลได้เช่นกันโดยการยึด “อาชีพ” การเป็น “นักลงทุน” ตั้งแต่ยังอายุน้อย และด้วยเงินเริ่มต้นที่น้อยมากแบบเดียวกับบัฟเฟตต์

 

แต่นี่เป็นหนทางของ วอเร็น บัฟเฟตต์ จริงหรือ? ลองมาดูเส้นทางการสร้างความมั่งคั่งของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ดูว่าเขารวยจนมีเงินประมาณ 47,000 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ได้อย่างไร

 

พูดถึง “เงินเริ่มต้น” ของบัฟเฟตต์ก่อน ตาม “ตำนาน” นั้นบอกว่า บัฟเฟตต์ เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเพียง 100 เหรียญ หรือไม่กี่พันบาทไทย แต่ถ้ามีเงินเพียงแค่นี้และไม่มี “รายได้อื่น” เพิ่มเติมเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ ทำอย่างไรผมก็คิดว่าบัฟเฟตต์ไม่มีทางรวยได้ขนาดนี้ บางทีเขาอาจจะมีเงินในวันนี้สัก 50-60 ล้านเหรียญ และเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จัก

 

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ในช่วงต้นๆของชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้น รายได้จากการลงทุนด้วยเงินของตนเองนั้นน่าจะเป็น “รายได้ส่วนน้อย” รายได้สำคัญนั้นน่าจะเป็น “รายได้อื่น” ที่เกิดจากการทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรง นั่นก็คือ เป็นรายได้จากการ “รับจ้างลงทุน” ซึ่งก็คือ ส่วนแบ่ง 25 เปอร์เซ็นต์ของกำไรที่เกินกว่า 6% ที่บัฟเฟตต์คิดจากคนที่เอาเงินมาให้เขาบริหาร

 

รายได้ส่วนนี้ บัฟเฟตต์จะนำมาลงทุนทบต้นเข้าไปเรื่อยๆ และทำให้เงินในส่วนของตนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะเขาทำกำไรให้กับพอร์ตที่เขารับบริหารสูงมาก ผลตอบแทนของพอร์ตโตปีละ 40-50% ทำให้เงินของบัฟเฟตต์เพิ่มขึ้นมาเป็นเงินถึง 25 ล้านเหรียญ เมื่อเขาอายุ 38 ปี และนี่คือการจบ “บทที่หนึ่ง” ในชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์

 

บทเรียนของ “บทที่หนึ่ง” ก็คือ ในช่วงแรกๆที่คุณยังมีเงินน้อยมากนั้น คุณควรจะต้องทำงานหาเงิน ในเมืองไทยเองนั้น การรับบริหารพอร์ตเป็นเรื่องเป็นราวนั้นทำได้ยากเนื่องจากข้อจำกัดของกฏหมาย ยิ่งกว่านั้น การบริหารพอร์ตที่มีตลาดหรือมีคนสนใจให้บริหารนั้น มักจะเป็นเรื่องของการบริหารแบบเก็งกำไรที่คนทำจะต้องมีชื่อเสียงเป็น “เซียนหุ้น” ที่สามารถสร้างราคาหุ้นหรือมีอิทธิพลชี้นำราคาหุ้นได้ การบริหารการลงทุนแบบ Value Investment นั้น ช้าเกินไปและคงหาคนมาลงทุนแบบที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ทำได้ยาก ว่าที่จริง บัฟเฟตต์เองก็ได้เงินส่วนใหญ่มาจากญาติพี่น้องและคนที่รู้จักมักคุ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ

 

ดังนั้น ถ้าคุณยังไม่เก่งหรือดังพอที่จะรับจ้างลงทุน สิ่งที่ควรทำก็คือ ทำงานหาเงินมาเพิ่ม “พอร์ตเริ่มต้น” ให้มากพอจนกระทั่ง “เงินจากการลงทุน” จะมากกว่าเงินจากการทำงานมากๆ และเมื่อถึงเวลานั้นค่อยเริ่ม “บทที่สอง”

 

บทที่สองของ บัฟเฟตต์ ก็คือ การลงทุนเพียงอย่างเดียว นั่นก็คือ การใช้บริษัทเบิร์กไชร์เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ รวมถึงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และนั่นคือช่วงประมาณปี 1969 ที่บัฟเฟตต์ปิดกองทุนและคืนเงินให้คนที่มาให้บริหาร ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ขึ้นไปสูงสุดและกำลังจะตกลงมา กลายเป็นตลาดหมีในช่วง 10 ปี นับจากปี 1969 ถึง 1979 ที่บัฟเฟตต์เริ่มลงทุนเพียงอย่างเดียวจากเงินต้น 25 ล้านเหรียญนั้น ตลาดหลักทรัพย์อยู่ในภาวะที่ยากลำบากมาก เนื่องจากเกิดตลาดหมีที่รุนแรงถึงสองช่วงคือ ในปี 1969-71 และในช่วง 1973-74 ซึ่งเป็นวิกฤติตลาดหุ้นที่ร้ายแรง เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง ทำให้ผลตอบแทนของตลาดในช่วงสิบปีนั้นอยู่ที่ประมาณ 4.7% ต่อปีโดยเฉลี่ย

 

อย่างไรก็ตาม พอร์ตของบัฟเฟตต์คิดจากราคาหุ้นของเบิร์กไชร์นั้น กลับเพิ่มขึ้นถึง 22.5% เอาชนะดัชนีตลาดถึง 17.8% และนี่คือศิลปะแห่งการ “เอาตัวรอด” ในยามวิกฤติของบัฟเฟตต์

 

ช่วงสิบปีที่สอง ของการลงทุนเพียงอย่างเดียวของ บัฟเฟตต์ คือช่วงปี 1979-1989 นั้น เป็นช่วง “ฟื้นตัว” ของตลาดหุ้น ดัชนี S&P ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 12.5% แต่พอร์ตของบัฟเฟตต์ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 39.1% ชนะตลาดถึง 26.6% ทำให้บัฟเฟตต์กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีของอเมริกาโดยมีความมั่งคั่ง 3.4 พันล้านเหรียญ ในปี 1989

 

ช่วงสิบปีที่สาม คือปี 1989-1999 นั้น เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นอเมริกาบูมมากและถือเป็นทศวรรษของการลงทุน ดัชนี S&P ปรับเพิ่มขึ้นปีละ 15.4% โดยเฉลี่ย พอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้นก็ปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะไม่ดีเท่าช่วงสิบปีก่อนหน้านั้น ส่วนหนึ่งก็คือ ในช่วงสิบปีนี้เป็นช่วงของหุ้นไฮเท็คและหุ้นเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต ซึ่ง บัฟเฟตต์เองไม่ยอมลงทุน ดังนั้น ผลตอบแทนของบัฟเฟตต์จึงเท่ากับประมาณ 20.5% โดยเฉลี่ย และชนะดัชนีตลาดเพียง 5.1% ในปี 1998 บัฟเฟตต์ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นคนที่รวยที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ด้วยความมั่งคั่ง 33.6 พันล้านเหรียญ เขากลายเป็นสัญญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของนักลงทุนและบรรษัทของอเมริกา

 

ช่วงสิบปีสุดท้าย คือตั้งแต่ปี 1999 ถึง 2009 นั้น เป็นปีวิกฤติของตลาดหุ้น ทั้งวิกฤติจากหุ้นอินเตอร์เน็ตและวิกฤติซับไพร์ม ทำให้ช่วงสิบปีนี้ตลาดหุ้นไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยแต่กลับลดลงปีละ 2.7% โดยเฉลี่ย พอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้นยังโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 5.9% อานิสงค์จากการที่ไม่ได้ลงทุนในหุ้นไฮเท็ค จึงไม่ถูกกระทบมากนัก ผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดประมาณ 8.6% นั้นถึงแม้ว่าจะยังสูง แต่ก็ห่างจากที่เคยทำได้ในช่วง 20 ปีแรกของการลงทุน นี่อาจจะเป็นผลจากการที่พอร์ตของบัฟเฟตต์โตขึ้นมามาก จนการทำผลตอบแทนที่สูงมากนั้น ทำได้ยากขึ้นมาก

 

ตลอดช่วง 40 ปีของการลงทุนเพียงอย่างเดียวนั้น ผลตอบแทนต่อปีโดยเฉลี่ยแบบทบต้นของบัฟเฟตต์สูงถึง 21.43% เงินหนึ่งเหรียญจะกลายเป็น 2,362 เหรียญ ในขณะที่ผลตอบแทนของตลาดอยู่ที่ประมาณ 7.24% ต่อปี เงินหนึ่งเหรียญกลายเป็น 16.4 เหรียญ ผลต่าง 14.19% ต่อปีนั้น เป็นสถิติที่แทบจะหาคนเทียบไม่ได้โดยเฉพาะสำหรับเม็ดเงินมหาศาลอย่างของ บัฟเฟตต์

 

การ “เดินทาง” ของบัฟเฟตต์นั้น เป็นเส้นทางที่ “ขีดเขียน” ขึ้นด้วยฝีมือ และแน่นอน ด้วยดวงชะตา เส้นทางของ VI จำนวนไม่น้อยก็กำลังถูก “ขีดเขียน” ขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแรกๆของชีวิต ว่าที่จริง VI เกือบทั้งหมดในเมืองไทยนั้น เพิ่ง “เริ่มเดินทาง” หลายคนประสบความสำเร็จอย่างสูง บางคนสูงกว่าของบัฟเฟตต์ด้วยซ้ำ

 

แต่ความสำเร็จที่แท้จริงนั้น ต้องวัดด้วยระยะเวลาที่ยาวมาก และความยากนั้นอยู่ที่ช่วงเวลาที่พอร์ตใหญ่ขึ้นมากๆ ซึ่งทำให้ผลตอบแทนโตช้าลงมาก ไม่เว้นแม้แต่ในกรณีของบัฟเฟตต์

 

เส้นทางความมั่งคั่งของ บัฟเฟตต์

 

โลกในมุมมองของ Value Investor

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

20 มีนาคม 2553

!54 !54

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

บทความน่าอ่านคับ

Blog 8 : ปัจจัย 4 ในการลงทุน

 

 

เมื่อเดือนก่อน ผมได้โพสตอบกะทู้ โดยเนื้อหาที่โพสคือ ปัจจัยสำคัญในการลงทุน (ในมุมมองของผมเอง)

 

พอดีเห็นว่าน่าจะนำมาเขียนขยายความต่อได้ ประกอบกับนานๆจะได้อัพ blog ซักทีนึง ฮ่าๆๆ เลยถือโอกาสนี้เขียนขยายความเรื่องเดิมครับ

 

(กะทู้ที่ว่าคือ : มือใหม่อยากลงทุนหุ้นแนว VI ต้องอ่านหนังสืออะไรบ้างมาดูกันครับ)

 

ปัจจัยหลักๆที่สำคัญในการลงทุนในมุมมองของผม ก็คือ หลักการ, ความรู้, EQ และ ประสบการณ์ ผมว่าปัจจัย 4 อันนี้มีความสำคัญเท่าๆกันหมด จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ (แต่สามารถมีมากกว่า 4อย่างได้)

 

ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จในการลงทุน เราต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้ และต้องพัฒนาไปทุกๆด้านครับ

 

1. หลักการ : อยู่ที่ว่าคุณเล่นหุ้นแนวไหน ก็ให้นำหลักการของสายนั้นมาใช้ ดูกราฟก็เชื่อกราฟ ดูพื้นฐานก็เชื่อพื้นฐานครับ หรือจะเป็นแนวผสมก็ได้ ผมสังเกตุว่าเดี๋ยวนี้คนเล่นแนวผสมมีเยอะมากครับ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือประหลาดอะไร

 

ใครถนัดใช้เครื่องมืออะไรก็ใช้ไปครับ แต่ขอให้คุณลงทุนอย่างมีความสุข และได้กำไรก็เพียงพอแล้วครับ ที่สำคัญคืออย่าขาดทุนนะครับ

 

แต่ทั้งนี้ ทุกคนควรจะมีหลักการลงทุนเป็นของตัวเองนะครับ สไตล์ใครสไตล์มัน ซึ่งของแบบนี้ผมว่าเลียนแบบกันไม่ได้

 

เมื่อถึงจุดนึงผมเชื่อว่า ทุกคนจะมีแนวทางการลงทุนเป็นของตัวเองครับ ถึงแม้จะยึดหลักการเดียวกันก็ตาม

 

2. ความรู้ : เมื่อมีหลักการแล้ว ก็ต้องมีความรู้จริงในหลักการที่เราใช้นะครับ หรือ เข้าถึงแก่นแท้ของหลักการนั่นเอง บางคนรู้อย่างผิดๆ ใช้อย่างผิดทาง พอขาดทุนก็มาโทษหลักการซะงั้น

 

รวมไปถึงมีความรู้รอบตัว และควรจะรู้เรื่องธุรกิจ-เศรษฐกิจ, เศรษฐศาสตร์ เอาไว้บ้าง เพราะเราจะสามารถนำความรู้เหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ต่างๆได้ครับ เพราะในตลาดหุ้นมักเกิดสถานการณ์พิเศษที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนอยู่เสมอๆ

 

3. EQ : จิตใจต้องหนักแน่น มั่นคงในหลักการที่เราเลือกใช้(ถ้าไม่เชื่อในหลักการ แล้วเราจะเลือกใช้ไปทำไม)

 

นอกจากนั้น สิ่งสำคัญคือ คุณต้องไม่หวั่นไหวไปตามกระแสฝูงชน(ไม่แห่ตามโดยไม่มีเหตุผล) มีความคิดที่เป็นอิสระ และเป็นตัวของตัวเองครับ

 

นักลงทุนหลายๆท่านที่ประสบความสำเร็จ ก็เพราะมี EQ ที่สุดยอดนี่ละครับ

 

4. ประสบการณ์ : ยิ่งลงทุนนาน ประสบการณ์ก็ยิ่งมากตามครับ เริ่มลงทุนก่อน เริ่มลงทุนเร็ว ได้เปรียบเห็นๆครับข้อนี้

 

ผมว่าเรื่องจำนวนเงินเริ่มต้นไม่สำคัญเท่าประสบการณ์นะครับ หลายคนชอบเกี่ยงว่าไม่มีเงินจะมาเล่นหุ้น เพราะเงินน้อย รอมีเงินมากๆก่อนค่อยมาลงทุน

 

แต่ผมมองแบบนี้นะครับ สมมติ มีเรากับเพื่อน เริ่มแรกเงินเราน้อยมาก แต่เราเริ่มลงทุนเลย ไม่สนว่าเงินน้อยเงินมาก ในขณะที่เพื่อนบอก ขอรอมีเงินเยอะๆก่อนค่อยมาสนใจด้านนี้(ด้านการลงทุน) เพราะเห็นว่าเงินทุนน้อย เวลาได้กำไรก็ได้น้อย(คนส่วนใหญ่จะคิดกำไรเป็นตัวเงิน ไม่ได้คิดผลตอบแทนเป็น % แล้วเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ เช่น เงินฝาก)

 

เวลาผ่านไปซัก 5 – 10 ปี ถ้าเราลงทุนอย่างถูกวิธี มีหลักการที่ดี ก็ควรจะได้เงินมามากพอสมควร(ตามผลตอบแทนที่ทำได้) ในขณะที่เพื่อนเราเพิ่งเริ่มมีเงินก้อน แล้วเริ่มคิดมาลงทุนบ้าง

 

ถามว่า ในเวลานั้นใครได้เปรียบครับ เทียบกับเราที่ประสบการณ์เริ่มโชกโชน แน่นอนว่าเราได้เปรียบเห็นๆ เพราะต่อให้คุณมีเงินทุนเริ่มต้นมากขนาดไหน ยังไงทุกคนก็ต้องลองผิดลองถูกไปอีกซักระยะครับ บางคนอาจจะเสียเวลา เสียเงินไปมากด้วยกับช่วงแรกๆ กว่าที่จะเริ่มลงทุนได้เก่ง หรือเริ่มจับทางได้แล้ว

 

4 ข้อด้านบนนั้น ผมว่าเป็นปัจจัย 4 ที่สำคัญ ที่นักลงทุนทุกคนควรจะมีติดตัวครับ ขาดข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้ เหมือนปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการในการดำรงชีวิต

 

ทั้งนี้ บางคนอาจจะเสริมปัจจัยที่ 5 หรือ 6 หรือมากกว่านั้น เข้ามาเสริมตัวเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุน เช่น คุณมีปัจจัย 4 ครบถ้วนแล้ว คุณก็เพิ่มปัจจัย 5 และ 6 คือ คุณมีเงินลงทุนเยอะมาก หรือ คุณมี connection ที่ดี กว้างขวาง คนรู้จักเยอะ คุณก็เหมือนติดปีกเลยนะครับ เปรียบเหมือนกับที่คนเราเสริมความสบายด้วย รถยนต์ หรือ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ที่ทำให้ชีวิตของเราง่ายและสะดวกมากขึ้นครับ

 

การเพิ่มปัจจัยที่ 5 6 และอื่นๆเพิ่มมา ก็จะทำให้การลงทุนของคุณง่ายขึ้น รวมไปถึงมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นด้วยครับ

 

แต่สุดท้ายแล้วผมเชื่อว่า ขอแค่คุณมีปัจจัย 4 ให้ครบ และมีพัฒนาการไปเรื่อยๆ คุณก็จะสามารถใช้ชีวิตในโลกการลงทุนได้สบายๆแล้วละครับ

 

ปัจจัย 4 ในการลงทุน

 

i_sarut

!031 !031

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Join the conversation

You can post now and register later. If you have an account, sign in now to post with your account.

ผู้มาเยือน
ตอบกลับกระทู้นี้...

×   วางข้อความแบบ rich text.   วางแบบข้อความธรรมดาแทน

  อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 75 อิโมติคอน.

×   ลิงก์ของคุณถูกฝังอัตโนมัติ.   แสดงเป็นลิงก์แทน

×   เนื้อหาเดิมของคุณได้ถูกเรียกกลับคืนมาแล้ว.   เคลียร์อิดิเตอร์

×   คุณไม่สามารถวางรูปภาพได้โดยตรง กรุณาอัปโหลดหรือแทรกภาพจาก URL

กำลังโหลด...

  • เข้ามาดูเมื่อเร็วๆนี้   0 สมาชิก

    ไม่มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนกำลังดูหน้านี้

×
×
  • สร้างใหม่...