ข้ามไปเนื้อหา
Update
 
 
Gold
 
USD/THB
 
สมาคมฯ
 
Gold965%
 
Gold9999
 
CrudeOil
 
USDX
 
Dowjones
 
GLD10US
 
HUI
 
SPDR(ton)
 
Silver
 
Silver/Oz
 
Silver/Baht
 

โพสต์แนะนำ

หุ้นไทยภาคเช้าปิดเเด้งแรง 34.26 จุด ที่ 896.91 จุด รีบาวน์ตามตลาดต่างประเทศ รับข่าวยุโรปเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาหนี้กรีซ

 

บรร ยากาสการลงทุนตลาดหุ้นไทยเช้านี้ (6 ต.ค.) ดัชนีทะยานตัวในแดนบวกตามตลาดต่างประเทศ ขานรับข่าวยุโรปเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาหนี้กรีซ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาดี ขณะที่แรงเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาส 3 ของบริษัทจดทะเบียน และแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วง 4 วันที่ผ่านมา ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการลงทุนตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ โดยระหว่างชั่วโมงการซื้อขายดัชนีต่ำสุดที่ 884.75 จุด และสูงสุดที่ 897.30 จุด ก่อนปิดตลาดในภาคเช้าที่ 896.91 จุด บวก 34.26 จุด 3.97% มูลค่าการซื้อขาย 15,396.69 ล้านบาท

 

หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย

 

PTT ปิดที่ 268.00 บาท +18.00 (+7.20%)

 

KTB ปิดที่ 13.90 บาท +0.60 (+4.51%)

 

KBANK ปิดที่ 109.50 บาท +4.00 (+3.79%)

 

TOP ปิดที่ 55.00 บาท +3.00 (+5.77%)

 

BBL ปิดที่ 136.00 บาท +7.50 (+5.84%)

 

นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระพัฒนสิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้เปิดตลาดฯปรับตัวขึ้นแรง สอดคล้องกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเซีย รับปัจจัยบวกจากภายนอกประเทศ หลังทางฝั่งยุโรปยืนยันเตรียมให้ความช่วยเหลือกรีซต่อไป

 

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาระบุว่าพร้อมเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือทางการเงินรอบ 2 สำหรับกรีซ

 

รวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นแรงเมื่อคืนนี้กว่า 4 ดอลลาร์/บาร์เรล พร้อมให้แนวต้านวันนี้ถึง 900 จุด

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

หุ้นไทยปิดพุ่ง 51 จุด ดัชนียืนเหนือ 900 จุด ตามตลาดต่างประเทศ ขานรับยุโรปเร่งหามาตรการแก้ปัญหาหนี้กรีซ

 

บรรยากาศ การลงทุนตลาดหุ้นไทยวันนี้ (6 ต.ค.) ดัชนีทะยานตัวในแดนบวกตามตลาดหุ้นทั่วโลก ขานรับยุโรปเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาหนี้กรีซ เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกรามยุโรป โดยระหว่างชั่วโมงการซื้อขายดัชนีต่ำสุดที่ 884.75 จุด และสูงสุดที่ 914.19 จุด ก่อนปิดตลาดที่ 913.72 จุด บวก 51.07 จุด หรือ 5.92%

 

หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย

 

PTT ปิดที่ 275.00 บาท +25.00 (+10.00%)

 

KTB ปิดที่ 14.30 บาท +1.00 (+7.52%)

 

PTTCH ปิดที่ 98.50 บาท +7.75 (+8.54%)

 

KBANK ปิดที่ 112.50 บาท +7.00 (+6.64%)

 

BBL ปิดที่ 140.00 บาท +11.50 (+8.95%)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

บทความหน้าสนใจคับ

เป็นเจ้าของกิจการ ดีอย่างไร?

 

เทพ รุ่งธนาภิรมย์

 

เมื่อตอนเริ่มต้นใช้กลยุทธ์ หุ้นห่านทองคำ ผมได้มีโอกาสลองผิดลองถูกในการลงทุนซื้อหุ้น

 

 

ยอมรับครับ ว่าผมกลัวตลาดหุ้น เพราะคาดคะเนไม่ถูกว่าจะมีแนวโน้มการเคลื่อนไหวไปทางใด

 

ผมจึงถือหลัก ต้องพยายามปลอดภัยให้มากไว้ก่อน แต่ก็ทำใจยอมรับกับผลขาดทุนทางบัญชี ซึ่งเกิดจากการที่ราคาหุ้นร่วงต่ำกว่าต้นทุนที่ซื้อไว้ เพราะชอบความคิดของ Warren Buffett ที่บอกว่า ถ้าใครทนเห็นลงต่ำกว่า 50% ไม่ได้ ยังไม่ใช่นักลงทุน

 

แต่เพราะการใช้หลักปลอดภัย จึงทำให้ผมต้องทำการบ้าน ด้วยการพยายามประเมินมูลค่าหุ้นว่าควรจะออกมาเท่าใด โดยใหม่ๆจะตั้งเป้าผลตอบแทนจากปันผลไว้สูงก่อน คือ 10%

 

ถ้าหาซื้อไม่ได้เพราะตั้งราคาซื้อไว้ต่ำไป ก็ค่อยๆขยับขึ้นเป็น 9% บ้าง 8% บ้าง หรือบางทีต่ำกว่าก็ยังมีบ้าง

 

ทีนี้ พอซื้อหุ้นเข้าพอร์ตแล้ว ก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ คอยติดตามผลงานของบริษัทเป็นระยะๆ ที่ชอบมากคือ ทุกบริษัทเปิดโอกาสให้นักลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้น สามารถเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นอย่างน้อยปีละครั้ง

 

จากแต่เดิมที่เคยละเลย ไม่เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น ผมก็กลับมาขมีขมัน ศึกษารายการประจำปี(annual reports) อย่างขมักเขม้น พอเริ่มศึกษา ก็เริ่มเห็นบางประเด็นที่ไม่เข้าใจ เลยจดบันทึกไว้แล้วหยิบหยกมาถามในที่ประชุม

 

ปรากฏว่า ได้เห็นการทำงานของคณะกรรมการหลายๆชุด ซึ่งมีทั้งทำอย่างลวกๆและทำอย่างมืออาชีพ

 

พวกที่ทำอย่างลวกๆ กลับมา ผมก็ขายหุ้นทิ้ง เพราะถือว่า คณะกรรมการบริษัทไม่ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลดีพอ ถือว่าสอบตกด้าน CG (Corporate Governance) คือทางด้านธรรมาภิบาล

 

แต่พวกที่ทำอย่างมืออาชีพ ทำให้ผมเกิดความมั่นใจ โดยเฉพาะตัว CEO ซึ่งเวลาแถลงผลการดำเนินงาน จะว่าไปตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่พูดแต่ด้านดีอย่างเดียว จุดอ่อนหรือความเสี่ยงก็พูดด้วย

 

 

ที่สำคัญคือ รับฟังคำถามจากผู้ถือหุ้นอย่างตั้งใจ และตอบอย่างมีเหตุผล พร้อมทั้งบอกว่าทางบริษัทจะมีแนวทางการแก้ไขอย่างไร

 

ในการถาม ในการตอบ ผมจะจดบันทึกไว้ เพราะถือว่านี่เป็นบริษัทของผม การถือหุ้นแม้จะเพียงบางส่วน ก็ทำให้ผมกลายเป็นเจ้าของกิจการคนหนึ่งเหมือนกัน

 

บางบริษัทดีไปกว่านั้นอีก คือมีบริษัทหนึ่งทำเกี่ยวกับน้ำมันพืช ผมได้เสนอให้ทางบริษัทจัดการบรรยายความรู้เกี่ยวกับธุรกิจที่ทำให้กับผู้ถือหุ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ทางบริษัทก็จัดให้ทำ ให้พวกเราผู้ถือหุ้นเกิดความเข้าใจและมั่นใจมากขึ้น

 

คนภายนอก ไม่มีโอกาสเช่นนี้ พอเห็นงบการเงินออกมาไม่ดี ก็พากันเทขาย จนหุ้นบริษัทตกไปต่ำมาก Market Cap เหลือเพียง 3,500 ล้านบาท จากเคยสูงถึงกว่า 10,000 ล้านบาท

 

แต่พวกเราที่เข้าใจ ขอเน้นว่า ไม่ใช่ได้ข้อมูลแบบภายใน (inside information) เพราะบริษัทจัดให้กับผู้ถือหุ้นที่สนใจ ได้รับฟังข้อมูลอย่างพร้อมเพรียงกัน ก็กัดฟันทยอยซื้อเพิ่ม

 

ต่อมา เมื่อบริษัทได้มีการปรับกลยุทธการทำงาน ตามที่เคยเล่าให้ผู้ถือหุ้นฟัง ผลประกอบการก็ออกมาดีขึ้นๆ ราคาหุ้นก็ขึ้นจนทำให้ market cap ขึ้นมาจาก 3,500 ล้านบาท เป็น 13,000 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นอย่างพวกเราก็มีความสุขกันทั่วหน้า

 

ประเด็นที่ผมอยากจะพูดก็คือ การลงทุนในหุ้น ไม่ใช่กิจกรรมครั้งเดียวแล้วจบ แต่เป็นกิจกรรมที่ควรติดตามทำอย่างต่อเนื่อง

 

การได้ศึกษาธุรกิจและผลการดำเนินงานของบริษัท แล้วมีโอกาสได้สื่อสารกับคณะกรรมการและ CEO เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

 

เพราะเป็นโอกาสอันดี ที่เราจะได้สอบถามปัญหาสำคัญๆ ได้แสดงข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการบริษัท เพราะสิ่งที่พูดไว้ จะถูกจดบันทึกในรายการที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งเมื่อปีหน้ามาถึง เราสามารถจะสอบถามความก้าวหน้า ของเรื่องที่ได้พูดไว้แล้ว ถ้าบริษัทนำไปปฎิบัติจริง ก็ถือว่าใช้ได้ ไม่ใช่สักแต่พูด

 

แต่ถ้าไม่ทำเลย อย่างนี้สักครั้งสองครั้ง ก็คงต้องถอย ขายหุ้นทิ้ง เพราะกำลังเจอกับช้างเกเร ขืนคบต่ออนาคตไม่สดใสแน่

 

เสียดายอย่างเดียว การประชุมผู้ถือหุ้น มักจะมาใกล้กัน จึงต้องเลือกไป ไปแล้ว เสียเวลาบ้างนิดหน่อย แต่ทำให้เข้าใจภาพพจน์บริษัทชัดขึ้น ถือว่าคุ้ม

 

ซื้อหุ้นแล้วได้กลายเป็นเจ้าของกิจการ ดีอย่างนี้แหละครับ

 

เป็นเจ้าของกิจการ ดีอย่างไร?

 

หุ้นห่านทองคำ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ขอบคุณคุณmai_pppp ค่ะ. ได้มุมมองที่ดีในการลงทุนเลยค่ะ. เพิ่งเริ่มเล่นหุ้นเหมือนกันค่ะ ได้มาซักเดือนค่ะ ก่อนที่หุ้นจะเล่นเป็นเวฟเวียนหัวขนาดนี้

นำเอาเงินเก็บแบ่งมาลงทุน ส่วนหนึ่งเปนทองแท่งและหุ้น จากการอ่านหนังสือของทั้งดร.นิเวศน์ และคุณภาววิทย์.ค่ะ

การเลือก ซุปเปอร์สต๊อกนั้นหายากจังค่ะ. พยายามศึกษาปัจจัยพื้นฐานและข้อมูลอื่นๆค่ะ.

ส่วนตัวไม่ได้อยู่กทมค่ะ ได้อ่านบทความแล้วเห็นถึงความสำคัญของการไปประชุมผู้ถือหุ้น คงหาโอกาสไปได้ลำบาก

หากคุณmai_pppp มีคำแนะนำ ได้โปรดชี้แนะเป็นแนวทางบ้างนะคะ

 

ปล มีบริษัทน่าสนใจแนะนำรุ่นน้องหน่อยนะคะ :P

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

วันนี้หุ้นSIRIทำไมตกจัง..มีข่าว?หรือเปล่าคะ..ถ้าทราบช่วยส่งข่าวหน่อยนะคะ..ขอบคุณค่ะ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

บทความดีๆคับ

จะซื้อหรือจะขายหุ้น

 

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

 

ในช่วงที่ตลาดหุ้นตกลงมาอย่างหนักในช่วงเวลาสั้น ๆ คนที่ไม่ได้ถือหุ้นอยู่ หรือถือไว้น้อยมาก ก็มักจะถามว่า “ซื้อหุ้นได้หรือยัง?” คนกลุ่มนี้มักจะเป็นนักเล่นหุ้นสมัครเล่น และเป็นคนมีเงินที่พร้อมเข้าไปเสี่ยงเก็งกำไรจากตลาดหุ้นเป็นครั้งคราว กลยุทธ์ของเขาก็คือ ช้อนซื้อหุ้นในช่วงที่มันตกต่ำเพราะตลาดเกิด “แพนิค” นั่นคือ นักลงทุนตกใจจากภาวะน่ากลัวทางเศรษฐกิจและเทขายหุ้นอย่างหนัก ทำให้ดัชนีปรับตัวลงแรง ความเชื่อของพวกเขาก็คือ เมื่อหุ้นตกลงมาแรง มันก็มักจะ “กระเด้ง” กลับขึ้นไปอย่างแรงเช่นกัน ดังนั้น เขาอยากรู้ว่าดัชนีที่ตกต่ำลงมามากในระยะเวลาอันสั้นนั้น ถึง “พื้น” หรือยัง ถ้าผมตอบว่า “หุ้นมันก็ลงมามากน่าสนใจแล้ว—ถ้าถือไปซัก 2-3 ปี” เขาก็จะเข้าไป “ช้อน” ซื้อหุ้นทันที

 

เกณฑ์ที่ผมใช้ในการให้คำแนะนำที่ “จำเป็น” ต้องทำนี้ก็คือ ผมจะดูว่าดัชนีหุ้นได้ตกลงมามากน้อยแค่ไหน—จากต้นปี ผมเองไม่เคยจำดัชนีสูงสุดในระหว่างปีได้และก็ไม่สนใจดูด้วยเพราะผมชอบมองระยะยาวมากกว่า ถ้าผมพบว่าหุ้นได้ตกลงมามากพอสมควรนับจากต้นปี ผมก็คิดว่าความเสี่ยงในการเข้าไปลงทุนก็น่าจะน้อยลง อย่างไรก็ตาม นี่จะต้องประกอบกับการดูย้อนหลังไปอย่างน้อย 2-3 ปีด้วยว่า ดัชนีมีการปรับตัวขึ้นหรือลงมากน้อยแค่ไหน ถ้าหุ้นติดลบมาต่อเนื่องกัน ผมก็จะรู้สึกว่าความเสี่ยงในการเข้าไปซื้อหุ้นก็น่าจะลดลงไปอีก แต่ถ้า 2-3 ปีนั้น หุ้นได้ขึ้นมามากอย่างที่เป็นอยู่ ผมก็จะระวังมากขึ้น ลึก ๆ แล้วผมคิดว่าถ้าสิ้นปีนี้ ดัชนีต่ำกว่าสิ้นปีที่แล้วบ้าง ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น การที่ดัชนีหุ้นในช่วงนี้ต่ำกว่าเมื่อตอนต้นปีประมาณ 10% มันก็ไม่น่าจะบอกได้ว่าหุ้นในขณะนี้มีราคาต่ำมากมายอะไรนักแม้ว่ามันจะตกลงมากว่า 20% แล้วถ้านับจากกลางปี เหนือสิ่งอื่นใด สถิติหุ้นไทยนั้น ในเวลา 10 ปี หุ้นจะขึ้นประมาณ 6 ปี และหุ้นจะตกประมาณ 4 ปี

 

 

นอกจากเรื่องของผลตอบแทนที่ผ่านมาทั้งปีปัจจุบันและปีย้อนหลัง 2-3 ปีแล้ว ผมยังดูด้วยว่าดัชนีที่ตกลงมามากนั้น ทำให้ค่า PE ค่า PB และผลตอบแทนจากปันผลจะเป็นเท่าไร ถ้าค่า PE และค่าอื่น ๆ นั้นชี้ว่าหุ้นในตลาดโดยเฉลี่ยไม่แพง เช่น ค่า PE ต่ำกว่า 10 เท่ามาก ๆ ความเสี่ยงในการเข้าซื้อหุ้นก็ลดลง ตรงกันข้าม ถ้าค่า PE ยังสูงอยู่เกินกว่า 13-14 เท่า การซื้อหุ้นก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยังเสี่ยงอยู่แม้ว่าราคาหุ้นจะลดลงมาก แต่ถ้าค่า PE อยู่ที่ประมาณ 10 เท่าซึ่งเท่า ๆ กับค่าเฉลี่ยในอดีตของตลาดหุ้นไทยอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ผมก็จะถือว่าความน่าสนใจในการซื้อหุ้นน่าจะอยู่ในระดับกลาง ๆ

 

นอกจากเรื่องของผลตอบแทนของดัชนีตลาดในปีปัจจุบันและในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรื่องของค่าความถูกความแพงของตลาดที่วัดด้วย PE และค่าอื่น ๆ แล้ว ผมยังต้องดูสภาวะทางเศรษฐกิจการเงินของโลกและประเทศไทยด้วยว่าจะเป็นอย่างไรในช่วง 1-2 ปีที่จะมาถึง ถ้าสภาวะไม่ดีและมีความเสี่ยงสูงที่จะเลวร้ายลงมากโดยเฉพาะกับเศรษฐกิจไทย ความเสี่ยงของการลงทุนซื้อหุ้นก็จะสูงขึ้น แต่ถ้าผมมั่นใจว่าอย่างไรเสียเศรษฐกิจไทยก็น่าจะยังดีอยู่พอสมควรแม้ว่าเศรษฐกิจต่างประเทศอาจจะไม่ดีนัก แบบนี้ การที่หุ้นตกเพราะคนกลัวภาวะเศรษฐกิจโลกก็อาจจะเป็นโอกาสของการเข้าไปช้อนซื้อหุ้นได้

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นก็เป็นเรื่องของคนที่ไม่ค่อยมีหุ้นอยู่ในมือและก็มักจะไม่ใช่คนที่มุ่งมั่นหรือทุ่มเทกับการลงทุนมากนัก แต่สำหรับคนที่ถือหุ้นอยู่มากและเอาจริงเอาจังกับการลงทุนคำถามก็มักจะกลับกันว่าการที่หุ้นตกหนักมากนั้น เขาควรขายหุ้นหรือเปล่าเพื่อลดการสูญเสีย เขาควรรักษาเงินสดเอาไว้เพื่อรอกลับมาซื้อหุ้นที่จะตกต่ำและถูกลงไปอีกหรือไม่? พวกเขาคิดว่าสภาวการณ์เศรษฐกิจที่เลวร้ายในต่างประเทศอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยถดถอยลง และนั่นจะกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนและทำให้หุ้นตกลง ดังนั้น แม้ว่าค่า PE ตลาดในปัจจุบันอาจจะไม่สูง หุ้นราคาไม่แพง แต่ในอนาคตค่า PE ก็จะสูงขึ้นเพราะค่า E หรือกำไรจะลดลง ถ้าเป็นแบบนี้หุ้นก็จะตกลงไปอีก ดังนั้น ทางออกที่ดีกว่าก็คือ ขายหุ้นทิ้ง อย่างน้อยก็บางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงลง และเมื่อหุ้นตกต่ำถึง “พื้น”แล้วค่อยคิดซื้อหุ้นคืนภายหลัง

 

ประเด็นก็คือ เป็นเรื่องยากมากที่จะคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าหุ้นที่ได้ปรับตัวลงมาอย่างหนักแล้ว จะตกลงต่อไป ประสบการณ์ในทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ “วิกฤติ” และทำให้หุ้นตกลงมารุนแรงนั้น ก็จะมีช่วงเวลาที่หุ้นจะ “กระเด้ง” ขึ้นมารุนแรงเป็นช่วง ๆ และก็ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าหุ้นจะขึ้นไปเลยหรือจะตกลงไปใหม่อีก ที่ยิ่งยากไปกว่านั้นก็คือ หุ้นตัวที่เราถืออยู่อาจจะมีพฤติกรรมการขึ้นลงแตกต่างจากภาวะตลาดโดยรวมด้วย นั่นคือ หุ้นตัวที่ถืออยู่อาจจะแย่หรือดีกว่าตลาด ทำให้การวิเคราะห์ภาวะตลาดได้ถูกต้องนั้น ไม่มีประโยชน์ เช่น ดัชนีตลาดอาจจะลงต่อ แต่หุ้นที่เราถืออยู่บางตัวอาจจะปรับตัวขึ้นไปแล้ว ดังนั้น ถ้าเราขายหุ้นไปโดยหวังว่าหุ้นจะลงแล้วเราเข้าไปซื้อกลับมาก็จะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด

 

สุดท้าย สำหรับคนที่มีหุ้นจำนวนหนึ่งและก็มีเงินสดที่พร้อมจะลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มเติมได้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ เขาอาจจะอยากถามว่า เขาควรขายหุ้นที่มีอยู่หรือซื้อหุ้นเพิ่มดี? คำถามของเขาก็คงมาจากความคิดว่าหุ้นในขณะนั้น ถูกหรือแพง และคำตอบก็คือ เขาไม่มั่นใจ แต่ละวันที่ผ่านไปเขาอาจจะพยายามประเมินด้วยความกระสับกระส่ายเมื่อเห็นราคาหุ้นที่เคลื่อนไหวขึ้นลงอย่างรวดเร็ว วันหนึ่งเขาอาจจะนึกอยากขาย แต่อีกวันหนึ่งก็คิดว่าเขาควรจะซื้อเพิ่ม เขาอยากฟังคำแนะนำหรือความคิดเห็นของคนที่เขานับถือว่ามีความสามารถและเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์และลงทุนในตลาดหุ้นแต่ความเห็นของแต่ละคนก็ยังไม่สอดคล้องกัน สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจขายเพื่อ “ลดความเครียด” โดยการขายหุ้นทิ้ง

 

ความเห็นของผมสำหรับคนที่ยังคิดไม่ออกหรือตัดสินใจไม่ถูกว่าจะซื้อหรือขายหุ้นดี ก็คือ เราควรอยู่เฉย ๆ เพราะการที่เราคิดไม่ออกระหว่างการซื้อหรือขาย นั่นอาจจะแปลว่า ราคาหุ้นอาจจะ “ก้ำกึ่ง” มากระหว่าง “ถูกหรือแพง” นั่นแปลว่าหุ้นคงไม่มี Margin of Safety หรือส่วนต่างของความปลอดภัยในกรณีที่เราจะซื้อ ดังนั้น การซื้อคงไม่ใช่กลยุทธ์ที่ถูกต้อง เช่นเดียวกัน การขายในช่วงที่ตลาดกำลังแพนิคนั้น ตามประสบการณ์ของผม มักเป็นการขายที่แย่หรือได้ราคาที่ต่ำที่สุด เพราะถึงแม้ว่าตลาดยังมีแนวโน้มที่จะลงอยู่ แต่ในระยะสั้น ๆ บ่อยครั้งหุ้นมักกระเด้งกลับขึ้นมาให้เราได้ขายในราคาที่ดีกว่าวันที่หุ้นตกรุนแรงแบบคนตื่นตูม ดังนั้น มันจึงไม่ใช่เวลาที่ควรขาย สรุปแล้ว ถ้าเรายังคิดไม่ออกว่าเราควรขายหรือซื้อหุ้น เราก็ควรจะอยู่เฉย ๆ ในตลาดหุ้นนั้น ไม่มีใครบังคับให้เราต้องตัดสินใจ ยกเว้นในกรณีที่เราใช้มาร์จินในการซื้อหุ้นและหุ้นของเราถูกบังคับขายเพราะราคาตกลงมามาก ซึ่งในกรณีนั้น มันก็มักจะเป็นหายนะ และนี่ก็เป็นอีกคำแนะนำหนึ่งของผมว่า ในยามที่หุ้นมีความผันผวนและอาจจะมีโอกาสเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้น อย่าใช้มาร์จิน และถ้าเรามีเงินกู้มาร์จินอยู่ จงลดมาร์จินให้หมด

 

โลกในมุมมองของ Value Investor

 

8 ตุลาคม 54

 

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

!_087 !_087

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ผมเองก็หัดเล่นเหมือนกันคับแม้จะเล่นมาสักพักหนึ่งแต่ก็เป็นเม่าน้อยทุกที !10 !10 ผมเองก็ศึกษาทุกแนวทางเหมือนกันคับแต่ชอบจริงๆคือแนว VI นี้ล่ะผมมองว่ามันเป็นการลงทุนมากกว่าแล้วก็เล่นแล้วสบายใจกว่าแนวอื่นๆแนวอื่นเล่นแล้วเครียดมากกว่า !_09 !_09 แล้วเท่าที่ผมสังเกตูนะคับไม่ว่าจะเป็นแก็งกำไรแบบเสียยักษ์ หรือ แนว ปิเตอร์ ลินช์ หรือ จอห์ เนฟฟ์

ส่วนใหญ่ก็ถือกันนาน ไม่ใช่เล่นกันทุกวัน แล้วก็ดูหุ้นที่ดีๆทั้งนั้น ไม่ใช่หุ้นปั่น แล้วถึงประสบความสำเร็จ เอาใจช่วยทุกคนนะคับ (ผมก็จะพยายามเหมือนกัน) !Hi !Hi

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ขอบคุณมากค่ะสำหรับบทความของดร.นิเวศน์. ซื้อหนังสือมาอ่านค่ะ

แต่ไม่รู้ว่าสามารถอ่านบทความได้ที่ไหนอ่ะคะ. ถ้ายังไงรบกวนอัพเดทด้วยนะคะ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

หุ้นไทยปิดบวก 7.97 จุด ที่ 952.77 จุด ดัชนีแกว่งตัวผันผวนตามตลาดต่างประเทศ จับตาปัญหาหนี้ยุโรป-สถานการณ์น้ำท่วม

 

บรรยากาศ การลงทุนตลาดหุ้นไทยวันนี้ (12 ต.ค.) ดัชนีแกว่งตัวผันผวนสอดคล้องทิศทางตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเซีย โดยตลาดยังคงจับาปัญหาหนี้ยุโรป และสถานการณ์น้ำท่วม โดยระหว่างชั่วโมงการซื้อขายดัชนีต่ำสุดที่ 935.65 จุด และสูงสุดที่ 954.98 จุด ก่อนปิดตลาดที่ 952.77 จุด บวก 7.97 จุด หรือ 0.84%

 

หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย

 

PTT ปิดที่ 293.00 จุด +1.00 (+0.34%)

 

JAS ปิดที่ 1.78 จุด +0.26 (+17.11%)

 

SCC ปิดที่ 293.00 จุด +6.00 (+2.09%)

 

BBL ปิดที่ 147.00 จุด -1.00 (-0.68%)

 

KBANK ปิดที่ 118.00 จุด -2.00 (-1.67%)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เอามาฝากคับ

แล้วมันก็จะผ่านไป

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

 

เหตุการณ์ความรุนแรง ที่มีผลกระทบทางลบต่อตลาดหุ้น หรือที่คนคิดว่ามีผลกระทบทางลบต่อตลาดหุ้นอย่างรุนแรง เกิดขึ้นเป็นประจำ

 

พูดได้ว่าทุก 3-4 ปี หรือน้อยกว่านั้น ประเทศไทยหรือไม่ก็โลกจะต้องประสบกับ "วิกฤติ" บางอย่างที่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย "อย่างแรง" ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น นักลงทุนก็มักจะรู้สึกว่าเหตุการณ์ "ครั้งนี้" รุนแรงมากกว่าที่เคยผ่านมา "ถ้าแก้ไขไม่ได้ บ้านเมืองและเศรษฐกิจอาจจะล่มสลาย" แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องที่ "วิกฤติร้ายแรง" ก็ผ่านพ้นไปโดยที่บ้านเมืองไม่ได้ล่มสลาย เศรษฐกิจก็เติบโตต่อไป

 

เช่นเดียวกับตลาดหุ้นที่ยังอยู่ และดัชนีหุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น บางครั้งรุนแรง เพื่อที่จะตกกลับลงมาอย่างรุนแรงอีกครั้งเมื่อวิกฤติคราวหน้ามาถึง ตลาดหุ้นก็เป็นเช่นนี้ ลองมาดูเหตุการณ์ต่างๆ ที่ตลาดหุ้นไทยเผชิญมาและก็ผ่านมาได้ และเราอาจจะลืมไปแล้วว่าตอนนั้นเรา "กลัวแทบตาย"

 

ผมคงมองย้อนหลังไปถึงแค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อตลาดหุ้นไทยเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่หน่อย และผมเริ่มเข้ามาทำงานในตลาดการเงินแล้ว นั่นก็คือ เหตุการณ์ Black Monday หรือวันจันทร์ทมิฬ

 

นี่คือเหตุการณ์ที่น่าจะเรียกว่าเกิดจากปัญหา "ทางเทคนิค" เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก และกระทบมาถึงตลาดหุ้นไทย

 

เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดหุ้นกำลังบูมสุดๆ และไม่ได้มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไร ที่จะทำให้ตลาดหุ้นตกอย่างหนักยกเว้นแต่ว่าอาจจะมีนักลงทุน หรือผู้ดูแลภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่กลัวว่า ตลาดจะอยู่ในภาวะ "ฟองสบู่" จึงพยายามที่จะลดความร้อนแรง

 

ขณะเดียวกัน นักลงทุนที่ระมัดระวังกันอยู่แล้ว ก็มีการติดตั้งระบบการซื้อขายหุ้นแบบ "อัตโนมัติ" หรือที่เรียกว่า Program Trading ที่จะสั่งขายหุ้นได้ทันทีถ้าหุ้นตกถึงระดับหนึ่ง และเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลงถึงจุดนั้น ระบบก็เริ่มทำงานและการขายหุ้นก็เกิดขึ้นต่อเนื่องทำให้หุ้นตกลงมาเป็นประวัติการณ์ แต่ที่น่าแปลก ก็คือ ตลาดหุ้นไทยซึ่งยังไม่ได้เปิดเสรีให้กับนักลงทุนต่างประเทศและไม่ได้มี Program อะไรทั้งนั้น ก็ตกลงไปมหาศาลพอๆ กันด้วย นั่นคือเหตุการณ์ปี 2530

 

หลังจาก Black Monday ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นเร็ว และแรงมากเป็นเวลา 3 ปี จนถึงปี 2533 ก็เกิดเหตุการณ์ สงครามอ่าวเปอร์เซียที่อิรักบุกเข้ายึดคูเวต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ "ช็อกโลก" เพราะนี่คือแหล่งน้ำมัน ซึ่งเป็นพลังงานที่สำคัญที่สุดของโลก ตลาดหุ้น แน่นอน ตกลงมาอย่างหนัก แต่แล้วไม่กี่เดือนต่อมา สหรัฐอเมริกากับพันธมิตร ก็สามารถยึดคูเวตคืนมาได้หุ้นจึงปรับตัวขึ้นไปและเราก็ผ่าน "วิกฤติ" สงครามอ่าวมาได้ในเวลาอันสั้นเพื่อที่จะเผชิญกับ "สงคราม" ที่เกิดในประเทศไทยในอีก 2 ปีต่อมา

 

ในปี 2535 ผู้นำของกลุ่มทหารที่ทำการปฏิวัติที่เรียกว่า รสช. หรือถ้าผมจำไม่ผิดมาจากคำว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากมีการเลือกตั้ง เหตุการณ์นั้น ทำให้เกิดการประท้วงของประชาชนและทหารได้เข้าปราบปรามจนเกิดการเสียเลือดเนื้อ และชีวิตจำนวนมากที่ต่อมาเรียกว่า "เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ" แต่วิกฤติครั้งนี้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับคนไม่มากนัก และเกิดในเวลาอันสั้นจึงกระทบกับตลาดหุ้นไม่มากนัก

 

หลังจากที่เหตุการณ์ผ่านพ้นไป ตลาดหุ้นก็วิ่งขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจไทยเติบโตสุดขีดโตปีละกว่า 10% ติดต่อกันหลายปี ทำให้ดัชนีสูงถึง 1753 จุด ก่อนที่จะประสบกับวิกฤติรอบใหม่ คิดแล้วช่วงเวลาระหว่างวิกฤติรอบนี้กินเวลา 3 ปี ก่อนที่จะเกิดวิกฤติรอบใหม่

 

นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดจากการเงินของต่างประเทศที่เกิดขึ้นในปี 2538 ซึ่งมีสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกัน เหตุการณ์แรกคือ เรื่องของการลดค่าเงินเปโซลงมาเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจเม็กซิโก แต่เหตุการณ์ที่ประทับใจรุนแรงกว่า ก็คือ การล้มของแบริงซีเคียวริตี้ ที่เป็นสถาบันการเงินเก่าแก่ที่เคยรับใช้ราชวงศ์ของอังกฤษมาก่อน

 

ทั้งสองเรื่องประกอบกับการที่ดัชนีหุ้นไทยขึ้นไปสูงมาก เป็นฟองสบู่ทำให้หุ้นตกลงมาอย่างหนัก และทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนต้องตั้งกองทุนเพื่อพยุงราคาหุ้นไม่ให้ตกต่ำลงไปมากกว่านั้น แต่หุ้นก็ไม่สามารถยืนราคาอยู่ได้ หลังจากที่หุ้นปรับตัวขึ้นไปได้ไม่กี่เดือนมันก็เริ่มปรับตัวลงมาเรื่อยๆ เป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในปี 2540

 

วิกฤติปี 2540 นั้น ผมได้เคยพูดไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากปี 40 เป็นเวลา 4 ปีเราไม่ได้เห็นวิกฤติเป็นเรื่องเป็นราว แต่ถ้าจะพูดไป ช่วงเวลานั้นอาจจะพูดว่าเรายังอยู่ในภาวะวิกฤติตลอดเวลา เพราะว่าเศรษฐกิจ สถาบันการเงินหลักๆ ของประเทศ และบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจำนวนมาก ต่างก็ไม่รู้ว่าจะสามารถเอาตัวรอดจากภาวะเลวร้ายทางการเงินได้หรือไม่

 

จวบจนถึงปี 2544 เราหรือถ้าจะพูดให้ตรง ก็คือ โลกก็ต้อง "ช็อก" จากการถล่มตึกเวิลด์เทรดในนิวยอร์กของกลุ่มก่อการร้าย เหตุการณ์นี้ ทำให้เราต้องปิดตลาดหลักทรัพย์หนึ่งวัน แต่ข้อเท็จจริงที่ว่านี่เป็นเรื่องของการเมืองอเมริกันล้วนๆ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงๆ โดยเฉพาะของประเทศไทยมีน้อย

 

ดังนั้น ผลกระทบที่มีต่อตลาดหุ้นไทยจึงน้อยมาก และผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทำให้ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ และมาบูมสุดขีดในปี 2546 ที่ดัชนีปรับตัวขึ้นไปถึง 117% ภายในปีเดียว ก่อนที่จะประสบกับวิกฤติอีกครั้งหนึ่งในปี 2547

 

หลังจากเวิลด์เทรด ต่อมาอีก 3 ปีคือในปี 2547 วิกฤติของประเทศไทยน่าจะเรียกว่าเกิดหลายเรื่อง ไล่ตั้งแต่โรคซาร์ส ไข้หวัดนก สึนามิ เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ และราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนั้นว่าที่จริงก็ยังไม่อาจพูดได้ว่ามันผ่านไปแล้ว แต่เราก็ชินกับมันและดูเหมือนว่าจะไม่เป็นปัญหาเหมือนกับที่เกิดในช่วงแรก

 

อีก 2 ปีต่อมาในปี 2549 ประเทศไทยก็เกิดการปฏิวัติอีกแต่ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นวิกฤติเพราะไม่มีคนคัดค้านมากนัก และต่อมาอีก 2 ปี ก็คือ ในปีปัจจุบันที่เรากลับมาเจอวิกฤติอีกครั้งหนึ่ง ที่น่าจะเป็นครั้งที่เลวร้ายที่สุดอีกครั้งหนึ่งนับจากปี 2540 นั่นก็คือ เราเจอวิกฤติที่เป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก และเรายังเจอวิกฤติจากการที่มีการประท้วงปิดสนามบินหลักของประเทศ

 

นอกจากนั้น เรายังมีปัญหาความแตกแยกของคนในชาติที่รุนแรงที่ยังไม่จบลง แต่ในความคิดผมเองนั้น เหตุวิกฤติรุนแรงครั้งนี้ก็จะเป็นอย่างที่ เบน เกรแฮม เคยพูดไว้เป็นคำอมตะว่า "This Too, Shall Past" "นี่ก็จะต้องผ่านไปเหมือนกัน"

 

30 ธันวาคม 2551

 

คอลัมน์ โลกในมุมมองของ Value Investor ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

วันนี้สองบทความเลยคับ

คนแจวเรือ

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 

ผมเพิ่งกลับจากการท่องเที่ยวที่อิตาลีและอังกฤษ และก็เช่นเคย ผมมีข้อสังเกตจากสิ่งที่พบเห็น

 

 

เรื่องแรกก็คือ ผมเพิ่งตระหนักว่าพนักงานบริการ เช่น พนักงานเสิร์พอาหารตามภัตตาคารโดยเฉพาะในอิตาลีนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอายุประมาณ 30-40 ปี ที่เป็นผู้หญิงมีจำนวนน้อยมาก นี่ทำให้ผมรู้สึกแปลกใจ เพราะในบ้านเราหรือในประเทศแถบเอเชียผมมักจะเห็นผู้หญิงมากกว่ามาก นั่นทำให้ผมคิดไปว่า งานในประเทศอิตาลีหรืออาจจะเป็นในหลาย ๆ ประเทศในยุโรปคงจะหายากมายาวนาน งานเสิร์พอาหารคงเป็นงานที่มีรายได้ดีมีคนแย่งกันทำและทำให้ผู้ชายเข้ามาทำ กันมาก และไม่ใช่เป็นการทำงานชั่วคราวของเด็กวัยรุ่นเพื่อรองานอื่น แต่เป็นอาชีพที่ “พ่อบ้าน” ทำกันเป็นงานประจำ เรื่องนี้ทำให้ผมนึกต่อไปถึงประเทศญี่ปุ่นซึ่งเคยขาดแคลนแรงงานมายาวนาน ที่นั่น ผมเคยเห็นผู้ชายอายุมากทำงานเป็นคนนั่งเฝ้าดูแลสถานที่อาบน้ำร้อนของผู้หญิง

 

อุทาหรณ์เรื่องนี้ นั่นคือ กำลังแรงงานที่สำคัญถูกใช้ไปทำงานที่ไม่ได้มีการเพิ่มคุณค่ามากนักทาง เศรษฐกิจ น่าจะเป็นการบ่งบอกว่า ในระยะยาวแล้ว สังคมหรือประเทศก็อาจจะไปไม่ได้ไกลมากนักจากจุดที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า ผมเองก็ไม่รู้ว่าผู้หญิงอิตาลีหรือยุโรปนั้น ทำงานอะไรเป็นหลัก หรืออยู่มากในภาคไหนของเศรษฐกิจ

 

เรื่องที่สองที่ผมรู้สึกทึ่งเล็กน้อยก็คือ เรื่องของคนแจวเรือกอนโดลาที่เมืองเวนิสซึ่งเป็นเมืองที่จมลงในทะเล ถนนทุกแห่งกลายเป็นคลอง ทั้งเมืองไม่มีรถยนต์หรือมอเตอร์ไซต์หรือแม้แต่จักรยาน ทุกคนต้องเดินหรือใช้เรือเป็นพาหนะ เรือกอนโดลานั้นเป็นเรือโบราณที่นักท่องเที่ยวที่ไปเมืองเวนิสใช้นั่งชม เมือง เป็นเรือที่ใช้คนพาย และถ้าจะให้ครบสูตรจะต้องมีคนนั่งร้องเพลงโอเปร่าประกอบด้วย และนี่คือความ “โรแมนติก” สุดยอดของการท่องเที่ยวเมืองเวนิสที่นักท่องเที่ยวมักไม่ยอมพลาดและผมเองก็ เป็นคนหนึ่งในนั้น แต่สิ่งที่ผมทึ่งก็คือ ค่าจ้างของคนพายเรือ ในเวลาครึ่งชั่วโมงของการให้บริการนั้น คนพายเรือคิดค่าบริการตกเป็นเงินไทยประมาณ 4,000-5,000 บาท คร่าว ๆ ถ้าทำวันละ 4-5 เที่ยว โดยเฉลี่ยเขาก็จะได้เงินวันละ 20,000 บาท เดือนหนึ่งถ้าทำซัก 20 วัน ก็จะมีรายได้ถึงเดือนละ 4 แสนบาท ซึ่งถ้าเป็นคนไทยจะได้รายได้ขนาดนี้คงต้องเป็นคนระดับซีอีโอของบริษัทที เดียว อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีคนหน้าตาแบบคนต่างชาติเช่นคนเชื้อสายเอเซียเป็นคนแจวเรือ กอนโดลาเลย ดังนั้น ผมเชื่อว่าอาชีพนี้คงมีการสงวนไว้เฉพาะแต่คนท้องถิ่นเท่านั้นที่ทำได้

 

ความเชื่อของผมในเรื่องนี้ก็คือ รายได้ของคนแจวเรือกอนโดลาที่เมืองเวนิส ซึ่งผมดูแล้ว ไม่ได้มีความสามารถหรือทักษะพิเศษอะไร แต่ได้ผลตอบแทนสูงมากเมื่อเทียบกับคนที่ทำงานหนักเท่า ๆ กันในเมืองไทยหรือในประเทศแถบเอเซียส่วนใหญ่ ย่อมเป็นเครื่องแสดงว่าคนส่วนใหญ่ในเมืองนี้หรือในอิตาลีคงได้เงินเดือนที่ สูงมากเมื่อเทียบกับงานที่ทำ แต่ถ้าถามว่าทำไมนักท่องเที่ยวจึงยอมจ่าย คำตอบก็คือ เมืองเวนิสนั้น เป็นเมืองที่น่าจะเป็นสุดยอดของเมืองที่น่าเที่ยวเมืองหนึ่งของโลก ผมหรือคนจำนวนมากจึงยอมจ่ายเพื่อโอกาสอันพิเศษสุดนี้ ถ้าจะเปรียบไป คนเอเชียหรือคนเมืองอื่นที่มาเที่ยวเวนิส หรืออีกหลาย ๆ เมืองในอิตาลีหรือในยุโรปยอมทำงานหนักและงานที่ใช้ความสามารถสูงเพื่อที่จะ ผลิตสินค้ามาให้คนเวนิสใช้อย่างเต็มที่ โดยที่คนเวนิสอาจจะตอบแทนด้วยการให้คนเหล่านั้นมาพักและนั่งเรือกอนโดลาที่ พายโดยคนเวนิสปีละครั้ง ดูไปแล้วไม่ใคร่ยุติธรรม แต่ผมก็ไม่รู้ว่าการแลกเปลี่ยนแบบนี้จะดำรงอยู่ไปได้นานเท่าไร

 

 

เรื่องที่สามที่น่าแปลกใจก็คือ ในห้างสินค้าแบรนด์เนมหรูหลุยส์วิตตองในกรุงลอนดอน ผมพบว่าลูกค้าต้องเข้าคิวรอเข้าชมสินค้าในร้าน เพราะเขาจำกัดจำนวนลูกค้าให้เข้าชมและซื้อสินค้าเพื่อไม่ให้ร้านแน่นเกินไป นั่นไม่ใช่ประเด็น แต่สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ ประมาณ 80-90% ของคนที่อยู่ในร้านและรอคิวอยู่นั้น เป็นคนหน้าตาแบบเอเซียซึ่งผมเชื่อว่าเป็นนักท่องเที่ยว สินค้าของหลุยส์วิตตองนั้น เราทราบดีว่าราคาสูงกว่าต้นทุนมาก เรียกว่าทำกำไรให้กับเจ้าของมหาศาล สินค้าเหล่านั้น ผมเชื่อว่าผลิตในประเทศแถบเอเซียด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก และก็ขายให้คนเอเชียในราคาที่สูงมาก เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับว่า คนเอเซียคงต้องทำงานหนักมากเพื่อผลิตสินค้าให้คนยุโรปใช้ แล้วก็กลับไปขอแบ่งสินค้าบางส่วนกลับมาพร้อมกับความยินดีที่ได้สินค้ามีชื่อ ที่สามารถเอามาอวดเพื่อนที่บ้าน

 

พูดถึงเรื่องสินค้าแบรนด์เนม ในระหว่างที่อยู่อังกฤษผมได้ข่าวว่าบริษัทผู้ผลิตและขายสินค้าแบรนด์ดัง อย่างปราดาซึ่งเป็นเจ้าของยี่ห้อมิวมิวด้วยนั้น กำลังขายสินค้าดีระเบิดในเอเชีย หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าคนเอเชียนั้น เห่อซื้อสินค้าแบรนด์เนมดัง ๆ แบบเดียวกับที่คนอังกฤษเข้าห้างไพร์มมาร์คซึ่งเป็นห้างขายสินค้าแฟชั่นราคา ถูกคุณภาพดีกลางกรุงลอนดอน ผมฟังแล้วก็เกิดความรู้สึกว่า บางทีโลกเรากำลังเปลี่ยนแปลงไป คนอังกฤษและอาจจะรวมถึงคนยุโรปกำลังหันมาซื้อสินค้าราคาถูกคุณภาพใช้ได้แต่ ไม่มีแบรนด์จากเอเซีย ส่วนคนเอเชียนั้น ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นมากให้กับคนยุโรปเพื่อซื้อสินค้าแบรนด์เนมเพื่อ “หน้าตา” ของตน ผมเองก็ไม่รู้ว่าแนวทางธุรกิจแบบนี้จะดำเนินไปได้นานแค่ไหน แต่ถ้าให้เดาจากคิวของลูกค้าร้านหลุยส์วิตตองแล้ว ผมก็คิดว่าคงไม่เร็วนักที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้

 

จากเหตุการณ์ 3 เรื่องที่กล่าวมา ผมเองสรุปว่า ยุโรปในวันนี้ น่าจะเป็นยุโรปที่กำลัง “ตกดิน” มาตรฐานความเป็นอยู่ที่ยังสูงมากในวันนี้ ดูเหมือนว่ากำลังหยุดนิ่งและค่อย ๆ ลดต่ำลง คนทำงานน้อยลง คนจำนวนไม่น้อยไม่ได้ทำงานนั่นคือ ตกงาน และไม่ได้ทำงานที่ใช้ทักษะสูงมากมายอะไรนัก จำนวนมากทำงานบริการพื้น ๆ ที่คนเอเชียทำได้ดีไม่แพ้กัน สิ่งที่ทำให้ยุโรปยังดำรงความโดดเด่นอยู่ได้ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ ยุโรปนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานและยิ่งใหญ่น่าทึ่งน่าสนใจและมีโบราณสถานที่ ทำให้คนมาท่องเที่ยวและยอมจ่ายเงินในราคาที่แพงมาก นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว ยุโรปยัง “ผูกขาด” ในเรื่องของ “การเป็นผู้มีรสนิยมสูง” ผ่านสินค้าที่เป็นแบรนด์หรูหราระดับโลก สองสิ่งนี้ผมเชื่อว่ามีส่วนสำคัญที่ช่วยรักษาสถานะการเป็นประเทศที่มีรายได้ สูงของยุโรปไว้ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม การที่ยุโรปจะก้าวหน้าหรือโตต่อไปนั้น ดูแล้วน่าจะยากเหลือเกิน เหนือสิ่งอื่นใด พื้นฐานที่สำคัญจริง ๆ ของการที่จะมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่สูงได้จริง ๆ ในโลกที่เป็นโลกาภิวัฒน์นั้นก็คือ คุณต้องทำงานหนักและเป็นงานที่มีคุณค่าสูง

 

 

พูดมาเสียยาว ถ้าจะถามว่านี่จะมีอะไรที่เกี่ยวกับการลงทุนหรือเปล่า? คำตอบของผมก็คือ คงจะเกี่ยวอยู่บ้างในแง่ที่เราจะวิเคราะห์สถานการณ์ของยุโรปที่กำลังประสบ กับปัญหาทางการเงินและเศรษฐกิจรุนแรงในช่วงนี้ ในความคิดของผม คนยุโรปเองน่าจะใช้ชีวิตที่สูงกว่าความสามารถของตนมานานพอสมควรโดยผ่านการ กู้หนี้หรือก็คือ “ยืมอนาคตมาใช้” แต่อนาคตที่ว่านั้น ดูเหมือนว่าจะไม่มีอยู่จริง ดังนั้น ยุโรปจำเป็นที่จะต้องลดมาตรฐานความเป็นอยู่ลงและนี่คือสิ่งที่น่าจะต้องเกิด ขึ้น อาจจะผ่านสิ่งที่เรียกว่า “วิกฤติเศรษฐกิจ” ผมพูดแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าผมกำลังทำนายว่ากรีซจะ “ไปไม่รอด” หรืออิตาลีจะต้องประสบภาวะวิกฤติเร็ว ๆ นี้ บางทียุโรปอาจจะสามารถลดมาตรฐานการดำรงชีวิตลงอย่างช้า ๆ เทียบกับคนเอเชียได้โดยไม่ต้องผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่ายุโรปนั้น กำลังตกดินและจะไม่กลับมายิ่งใหญ่อีกในชั่วอายุของเรา

 

โลกในมุมมองของ Value Investor

 

1 ตุลาคม 2554 ดอกไม้

 

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

หุ้นไทยปิดลบ 15 จุด ผวาน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 3 แห่ง ไม่สามารถทานแรงน้ำไหว ทำเศรษฐกิจไทยทรุดหนัก

 

บรรยากาศ การลงทุนตลาดหุ้นไทยวันนี้ (13 ต.ค.) ดัชนีแกว่งตัวผันผวน โดยหลังเปิดตลาดภาคเช้าดัชนีรีบาวน์ตามตลาดต่างประเทศ หลังนักลงทุนเริ่มคลายกังวลปัญหาหนี้ยุโรป ดัชนีปรับตัวสูงสุดที่ 959.36 จุด ก่อนที่จะมีแรงขายออกมาอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลปัญหาน้ำท่วม หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางของประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติหนัก โดยเฉพาะล่าสุดนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 3 แห่งในจังหวัดอยุธยาไม่สามารถต้านทานแรงดันน้ำได้ ทำให้โรงงานหลายร้อยแห่งต้องจมน้ำ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งรถยนต์และอิเล็คทรอนิกส์ต้องหยุดชะงัก ลง ซึ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยใน วันนี้ ปิดตลาดดัชนีต่ำสุดที่ 936.82 จุด ลบ 15.95 หรือ 1.67%

 

หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย

 

PTT ปิดที่ 284.00 บาท -9.00 (-3.07%)

 

JAS ปิดที่ 1.66 บาท -0.12 (-6.74%)

 

SCC ปิดที่ 287.00 บาท -6.00 (-2.05%)

 

KBANK ปิดที่ 115.50 บาท -2.50 (-2.12%)

 

IVL ปิดที่ 31.50 บาท -1.25 (-3.82%)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Join the conversation

You can post now and register later. If you have an account, sign in now to post with your account.

ผู้มาเยือน
ตอบกลับกระทู้นี้...

×   วางข้อความแบบ rich text.   วางแบบข้อความธรรมดาแทน

  อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 75 อิโมติคอน.

×   ลิงก์ของคุณถูกฝังอัตโนมัติ.   แสดงเป็นลิงก์แทน

×   เนื้อหาเดิมของคุณได้ถูกเรียกกลับคืนมาแล้ว.   เคลียร์อิดิเตอร์

×   คุณไม่สามารถวางรูปภาพได้โดยตรง กรุณาอัปโหลดหรือแทรกภาพจาก URL

กำลังโหลด...

  • เข้ามาดูเมื่อเร็วๆนี้   0 สมาชิก

    ไม่มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนกำลังดูหน้านี้

×
×
  • สร้างใหม่...