ข้ามไปเนื้อหา
Update
 
 
Gold
 
USD/THB
 
สมาคมฯ
 
Gold965%
 
Gold9999
 
CrudeOil
 
USDX
 
Dowjones
 
GLD10US
 
HUI
 
SPDR(ton)
 
Silver
 
Silver/Oz
 
Silver/Baht
 

โพสต์แนะนำ

:) อยากรู้เหมือนกันว่า ระหว่างซื้อ ทองแท่ง กับซื้อ กองทุน K-Gold อะไรจะให้ผลตอบแทนดีกว่า ใครมีข้อมูลแนะนำหน่อยนะคะ

ขอบคุณล่วงหน้าคะ !57 !01

กองทุน K-Gold ให้ผลตอบแทนดีกว่าทองแท่งครับ ไม่โดนสมาคมกั๊กราคาทั้งขาขึ้นขาลง และไม่ถูกกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ราคาSpotขึ้น มูลค่าหน่วยลงทุนก็ขึ้นตาม :P

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

กองทุน K-Gold ให้ผลตอบแทนดีกว่าทองแท่งครับ ไม่โดนสมาคมกั๊กราคาทั้งขาขึ้นขาลง และไม่ถูกกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ราคาSpotขึ้น มูลค่าหน่วยลงทุนก็ขึ้นตาม :P

 

:) ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะ คุณ Wifi !gd !01

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ยังอยากได้อยู่ครับ.. แต่แล้วแต่พี่สะดวกนะครับ

ผมเห็นพี่เหมือนเล่นกองทุนเป็นหลัก ที่อยากรู้จริงๆคือแนวทางอ่ะคับ จะได้ปรับใช้กับตัวเอง

ตัวผมเองเก็บยาวเป็นเงินบำนาญตัวเอง เลยไม่ค่อยชอบกับการที่ K-Gold ปันผลบ่อยๆ

ต้องเสียภาษีไปกับเงินที่ตัวเองไม่อยากได้

 

ขอบคุณล่วงหน้าครับ :)

 

การเสียภาษีจากการปันผลกำไรของK-Goldผลลบสู้ผลบวก เมื่อเทียบกับราคากั๊กของสมาคม+การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ครับ(+กว่ามากครับ) แต่ที่ผมห่วงจริงๆคือถ้าวิกฤตโลกระเบิดครั้งที่จะตามมา(เดาว่าน่าจะเกิดปี2012ครับ เดานะครับ) การระเบิดครั้งนี้จะรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมาอย่างมาก ผมกลัวว่ากองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ถ้าบริษัทหลักมีการล้มหายตายจากเพราะผมเชื่อต้องมีบริษัทใหญ่ล้มไปจำนวนมากกกก จะตามเงินกันได้มั้ยอันนี้มองภาพไม่ออกเลยครับ ทางที่ดีผมว่าลงไว้ทั้ง2แบบจะดีครับทั้งทองแท่งและกองทุน(ใครมีความเห็นเรื่องนี้อย่างไรช่วยเสริมมุมมองด้วยครับ พี่ปุณณ์ครับถ้าสถาบันหลักของกองทุนล้ม พี่มองว่าจะตามเงินกลับมาได้มั้ยขอมุมมองพี่หน่อยครับ)

ถูกแก้ไข โดย ส้มโอมือ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

กุญแจสู่การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนแดนซากุระ "แทรกแซงค่าเงิน" หรือ "ยกเครื่องเศรษฐกิจ" ?

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4246

 

หลังจากรีรอมาระยะหนึ่ง ในที่สุดทางการญี่ปุ่นได้ ตัดสินใจเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี เมื่อวันที่ 15 กันยายน ทำให้เงินเยนที่แข็งค่าสุดใน รอบ 15 ปีที่ระดับ 82.87 เยนต่อดอลลาร์ กลับอ่อนค่าลงมาทรงตัวที่ 85 เยนกว่า ๆ ต่อดอลลาร์ และแม้ว่าทางการจะไม่เปิดเผยวงเงินที่ใช้ครั้งนี้ แต่นิกเคอิประเมินว่าทางการญี่ปุ่นใช้เม็ดเงินกว่า 2 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 23.4 พันล้านดอลลาร์ในการแทรกแซงครั้งนี้ อีกทั้งยังมีท่าทีจะเข้าแทรกแซงในอนาคต หากจำเป็น

หากย้อนกลับไปที่การแทรกแซงค่าเงินเมื่อ 6 ปีก่อน ญี่ปุ่นต้องแทรกแซงค่าเงินเป็นเวลานานถึง 15 เดือนนับถึงเดือนมีนาคม 2547 โดยเทเม็ดเงินมหาศาลถึง 35 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 320 พันล้านดอลลาร์ ตามอัตราแลกเปลี่ยนของปี 2546 และผลลัพธ์สุดท้ายในครั้งนั้นคือ ค่าเงินเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยเท่านั้น

 

สำหรับการแข็งค่าของเงินเยนรอบนี้ ก่อนรัฐบาลญี่ปุ่นจะตัดสินใจเข้าแทรกแซงพบว่า ที่ผ่านมาค่าเงินเยนเริ่มแข็งค่าขึ้น อย่างมาก นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 โดยแข็งค่าขึ้น 50% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ อีกทั้งยังแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ของโลก หลังวิกฤตการเงินโลกในปี 2550 โดยนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 เยนแข็งค่าขึ้น 58% เทียบกับยูโร และ แข็งค่าขึ้น 50% เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเกาหลีใต้

 

แม้ว่าการแทรกแซงค่าเงินครั้งนี้จะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากบรรดาผู้ส่งออกของญี่ปุ่น แต่กลุ่มค่ายรถยนต์ก็ยังมองว่าแม้จะแทรกแซงแล้วแต่ค่าเงินเยนที่ระดับ 85 เยนต่อดอลลาร์ก็ยังแข็งเกินไป และต้องการให้เงินเยนอ่อนค่าลงอีก

 

ขณะที่อีกหลายกระแสเสียงกลับเห็นว่ามาตรการของญี่ปุ่นครั้งนี้จะส่งผลกดค่าเงินเยนในเวลาสั้น ๆ เท่านั้น และที่สุดแล้วเงินเยนก็จะกลับมาแข็งค่าอีก โดยต้องจับตามองสัญญาณต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อการแข็งค่าของเยน ไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลการค้ามหาศาลเหนือความคาดหมายของญี่ปุ่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในสหรัฐและยุโรป ซึ่งหมายความว่าตลาดคาดหวังจะเห็นอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นในเขตเศรษฐกิจดังกล่าว ตลอดจนข่าวความพยายามของจีนที่ตั้งใจเข้าซื้อเยน และความตึงเครียดระลอกใหม่ในตลาดเงินโลก ซึ่งจะทำให้เยนน่าดึงดูดใจในฐานะแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยอีกครั้ง

 

โทโมโกะ ฟูจิ นักยุทธศาสตร์สกุลเงินของแบงก์ ออฟ อเมริกา-เมอร์ริล ลินช์มองว่า ในระยะกลางญี่ปุ่นจะประสบ ความสำเร็จในการทำให้เยนอ่อนค่าลง แต่เตือนว่าการอัดฉีดเงินรอบใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐน่าจะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงอีกครั้งเมื่อเทียบกับเยน ขณะที่ สุมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น คาดว่าเยนจะแข็งค่าทำสถิติที่ 79.75 เยนต่อดอลลาร์ภายในปีนี้

 

นอกจากนี้ หลายฝ่ายมองว่าการเข้าแทรกแซงค่าเงินเพียง ฝ่ายเดียวของญี่ปุ่นเป็นความสูญเปล่า แต่รัฐบาลญี่ปุ่นควรกดดัน ให้คู่ค้ารายใหญ่สุดเข้ามาช่วย โดยที่ผ่านมาในปีนี้จีนได้ใช้ทุนสำรองเข้ามาซื้อพันธบัตรญี่ปุ่นและหลักทรัพย์อื่น ๆ มูลค่าถึง 27 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่หนุนให้เยนแข็งค่าขึ้น

ทั้งนี้ ฌอน คัลโล นักยุทธศาสตร์สกุลเงินของเวสต์แพคในซิดนีย์วิเคราะห์ว่า หลักการแทรกแซงค่าเงินเปลี่ยนแปลงไปในโลกตลาดเสรีและตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราก็มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ปัจจุบันจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากกว่าเดิมเพื่อทำให้สกุลเงินหลักสกุลหนึ่งมีความเคลื่อนไหว

 

ข้อมูลของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศระบุว่า ทุกวันนี้ การซื้อขายในตลาดเงินดอลลาร์-เยนมีมูลค่า 568 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงที่ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2547 ราว 73% ขณะที่ตลาดเงินทั่วโลกมีมูลค่าซื้อขายวันละประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ไมเคิล ชูแมน วิเคราะห์ในบล็อกของไทมส์ว่า การแทรกแซงค่าเงินเยนเมื่อวันพุธเป็นสัญญาณว่า ญี่ปุ่นต้องการ ส่งออกสินค้าไม่ใช่นำเข้า เพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ ทั้งนี้หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ผุดขึ้นจากยุคเกรธ ดีเพรสชั่น คือ ทุกประเทศรวมทั้งสหรัฐต่างต้องการส่งออกเพื่อหนุนการฟื้นตัว ขณะที่ "จีน" ถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องว่าควบคุมค่าหยวนให้ต่ำเกินจริง เพื่อทำให้สินค้าส่งออกของตนแข่งขันได้ดีในตลาดโลก และตอนนี้ "ญี่ปุ่น" ได้เข้ามาร่วมวงด้วยการแทรกแซงตลาดเงิน เพื่อให้ภาคส่งออกของประเทศยังแข่งขันได้เช่นกัน

 

และหากประเทศอื่น ๆ เดินตามรอยของญี่ปุ่น ก็จะสร้างกระแสแข่งขันกันกดค่าเงินรอบใหม่ที่อันตรายอย่างยิ่งตามมา อย่างไรก็ตามความเป็นจริงก็คือ ใช่ว่าทุกประเทศจะสามารถอาศัยภาค ส่งออกเพื่อช่วยให้หลุดจากภาวะถดถอย หรือเดินหน้าเศรษฐกิจโดยมีการเกินดุลมหาศาลตลอด และใช่ว่าสกุลเงินจะอ่อนค่าลงได้ ทุกสกุล นอกจากนี้ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ใช่ว่า ผู้กำหนดนโยบายของทุกประเทศจะสามารถหวังพึ่งพาความต้องการบริโภคภายนอกเพื่อกระตุ้นการเติบโตภายในประเทศได้ ดังนั้นการหวังพึ่งพา "ส่งออก" เพียงอย่างเดียวจึงไม่ใช่ยุทธศาสตร์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีนัก และประเทศอย่างญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี ที่ต่างมีการค้าเกินดุลมหาศาล จำเป็นต้องเร่งปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศเพื่อสร้างความสมดุลและหนุนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต

 

 

 

อีกด้านของเหรียญ "เยนแข็งค่า"

 

นาทีทองบริษัทญี่ปุ่นช็อปนอกบ้าน

 

ถึงแม้ค่าเงินเยนที่แข็งค่าส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก แต่ในอีกด้านหนึ่ง ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเท่ากับเพิ่มอำนาจซื้อของญี่ปุ่นในต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้บริษัทญี่ปุ่นหันมาช็อปธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อให้กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในเวทีระดับโลกแทนที่จะติดอยู่กับเศรษฐกิจที่ซบเซาในบ้านตัวเอง

 

นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า ในปีนี้ธุรกิจญี่ปุ่นใช้จ่ายเงิน 27 พันล้านดอลลาร์ในการซื้อกิจการของบริษัทต่างชาติ ซึ่งมากกว่าตัวเลขในปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างดีลของยักษ์เทเลคอม "เอ็นทีที" ที่ตกลงจ่าย 3.24 พันล้านดอลลาร์ซื้อบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายในแอฟริกาใต้ "ไดเมนชั่น ดาต้า" และสัปดาห์ก่อน "เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิ้งส์" เจ้าของเชนร้านสะดวกซื้อ "เซเว่นอีเลฟเว่น" ประกาศทุ่ม 2 พันล้านดอลลาร์ซื้อคู่แข่งรายเล็กกว่า "เคซีย์"ส เจเนอรัล สโตร์" (Casey"s General Stores) ในตลาดสหรัฐ ส่วน "ซอฟต์แบงก์" ผู้ให้บริการมือถือและอินเทอร์เน็ตก็เพิ่มการลงทุนในบริษัทน้องใหม่อนาคตไกลในซิลิคอนวัลเลย์ อาทิ ทวิตเตอร์ และยูสตรีม

 

ความต้องการที่จะบุกตลาดนอกบ้านไม่เพียงเกิดขึ้นกับบริษัทรายใหญ่ของญี่ปุ่น แต่ยังรวมถึงบริษัทอีคอมเมิร์ซอย่าง "ราคุเทน" ซึ่งเพิ่งซื้อธุรกิจค้าปลีกออนไลน์สัญชาติอเมริกัน "Buy.com" คิดเป็นวงเงิน 250 ล้านดอลลาร์ และซื้อเว็บช็อปปิ้งของยุโรป "ไพรซ์มินิสเตอร์" (PriceMinister)

 

ฮิโรชิ มิคิทานิ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารราคุเทนกล่าวว่า นี่เป็นโอกาสที่หายากสำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่จะบุกไปซื้อบริษัทต่างชาติ บริษัทญี่ปุ่นมีเงินสด สามารถบริหารการเงินได้ จึงควรซื้อกิจการนอกบ้านและสร้างผลงานในระดับโลก

 

ถึงแม้ค่าเงินเยนที่แข็งค่าส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก และทำให้บริษัทผู้ผลิตอย่างโตโยต้าและโซนี่ต้องกัดฟันมองคู่แข่งจากต่างชาติที่สามารถสู้เรื่องราคาได้ แต่บริษัทอย่างราคุเทนกลับมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อีกด้าน โดยใช้การแข็งค่าของเงินเยนออกไปช็อปปิ้งกิจการนอกบ้าน

 

"คาซูกิ โอฮาระ" ที่ปรึกษาอาวุโสของโนมูระ รีเสิร์ช อินสติติวต์มองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่ออุ้มชูธุรกิจใหม่ ๆ มันดูน่าละอายสำหรับญี่ปุ่นที่จะรับมือกับการแข็งค่าของเงินเยนด้วยการพยายามทำให้เยนอ่อนค่าลงเหมือนที่ทำกันมาตลอด

 

แต่แทนที่จะมัวกังวลว่า การแข็งค่าของเยนกระทบต่อขีดการแข่งขันของญี่ปุ่น และรอให้รัฐบาลยื่นมือมาช่วยแก้ปัญหาให้ นักวิเคราะห์แนะว่า ญี่ปุ่นต้องปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม อาทิ ภาคบริการ และเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งหาที่ยืนใหม่ ๆ ให้ธุรกิจเหล่านี้ในระดับโลกเช่นเดียวกับที่ราคุเทนทำอยู่

 

นอกเหนือจากประโยชน์ในแง่การควบรวมกิจการ (M&A) แล้ว ค่าเงินเยนยังช่วยอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของญี่ปุ่นด้วย อาทิ สายการบิน ซึ่งได้ประโยชน์จากต้นทุนค่าพลังงานและค่าธรรมเนียมในสนามบินต่างประเทศที่ลดลง แต่เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นก็ทำให้ คนญี่ปุ่นเดินทางไปเที่ยวนอกบ้านมากขึ้นเช่นกัน

 

การแข็งค่าของเยนยังช่วยญี่ปุ่นให้ออกไปนอกบ้านเพื่อหาแหล่งทรัพยากรและพัฒนาสาธารณูปโภค ยกตัวอย่าง บริษัท "มิตซุย" ที่ประกาศลงทุนในธุรกิจน้ำร่วมกับบริษัทสิงคโปร์ เพื่อเข้าไปทำธุรกิจบำบัดน้ำและโครงสร้างพื้นฐานในจีน

 

แคธี มัตสุอิ ประธานฝ่ายกลยุทธ์ของโกลด์แมน แซกส์ ญี่ปุ่น ระบุว่า กิจกรรม M&A ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลดีกับญี่ปุ่นโดยรวม เพราะจะทำให้มีศักยภาพในการเติบโตมากขึ้น และส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่น ได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (economies of scale) ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ญี่ปุ่นในตลาดโลก

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ค่าเงินบาท

ส่องกล้องเศรษฐกิจ : ดร.อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

 

ข่าวร้อนแรงทางเศรษฐกิจในช่วงนี้มีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ คือ เรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และเรื่องการประมูลโทรศัพท์ระบบ 3.9จี ในวันนี้จึงอยากที่จะขอร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยว่า การเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทด้วยวิธีการต่างๆ นั้น ต่างก็มีต้นทุนทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่าจะได้มาฟรีๆ ประเด็นแรกที่สุด คือ ค่าเงินบาทในช่วงเดือนกันยายนนี้แข็งค่าขึ้นมาประมาณเกือบร้อยละ 1.73 มาอยู่ที่ระดับ 30.73 บาทต่อดอลลาร์ ในปัจจุบันนี้ แต่ถ้าหากจะนับตั้งแต่ต้นปีแล้วค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นประมาณ 7.9% ซึ่งเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากเป็นลำดับที่สามของภูมิภาคนี้รองมาจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทนั้นมาจากปัจจัย 3 ประการคือ (1) ประเทศไทยมีการเกินดุลการค้าและดุลบริการมาอย่างต่อเนื่อง (เช่นเดียวกันกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย) จึงทำให้มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ สะสมมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่ง ณ ปัจจุบันมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ประมาณ 150,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 7 เดือน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีเงินดอลลาร์ มากกว่าความต้องการใช้ ดังนั้นค่าเงินบาทจึงควรที่จะแข็งค่าขึ้น (2) มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมามูลค่านับแสนล้านบาท

 

และ (3) ค่าเงินสกุลดอลลาร์ เงินยูโร และเงินปอนด์ อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาเนื่องจากการใช้นโยบายการเงินผ่อนปรนแบบพิเศษ (quantitative easing) ที่บางกรณีเป็นการพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อการกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบมาจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2551 และนอกจากนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้มีปัญหาหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงในระดับที่เป็นอันตราย จากพื้นฐานทางเศรษฐกิจข้างต้นจึงกดดันให้ค่าของเงินกลุ่มภูมิภาคเอเชียแข็งค่าขึ้น

 

ประเด็นที่สอง ผลกระทบของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนี้มีทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์และเสียผลประโยชน์ ซึ่งผู้ที่เสียผลประโยชน์คือกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าหรือธุรกิจท่องเที่ยวที่มีรายได้เป็นเงินสกุลต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์ หรือเงินยูโร ซึ่งหากแลกกลับมาเป็นเงินบาทแล้วจะได้รับเงินน้อยลง ซึ่งก็เป็นความจริงโดยเฉพาะผู้ผลิตเพื่อการส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ แต่หากเป็นผู้ผลิตที่ใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศแล้วต้นทุนการผลิตก็จะลดลงด้วยเช่นกัน ทั้งนี้สำหรับกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท คือ กลุ่มผู้นำเข้า ซึ่งสินค้านำเข้าที่สำคัญและจำเป็นหลายรายการที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ เช่นน้ำมันดิบ ปุ๋ยเคมี เวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ยา และเครื่องจักรต่างๆ ซึ่งการที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าทุก 1 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลงได้ 20-30 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งหมายถึงต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของประชาชนส่วนหนึ่งดีขึ้นอันเนื่องมาจากการแข็งค่าของเงินบาท

 

ดังนั้นรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนทั้งประเทศจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ส่งออกเป็นประเด็นที่ควรรับฟัง และให้การช่วยเหลือ ซึ่งอาจจะทำได้โดยช่วยให้ผู้ส่งออกรายย่อยสามารถทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ (currency hedging) หรือการช่วยลดต้นทุนการผลิตอื่นๆ ลง แต่ไม่ควรใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในการแข่งขันเพื่อการส่งออก เพราะจะไม่ยั่งยืน ควรที่จะเพิ่มขีดความความสามารถด้วยวิธีอื่นๆ แทนที่จะแข่งขันด้วยการทำให้ค่าเงินอ่อนลง

 

ประเด็นที่สาม ประสิทธิภาพของการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทในลักษณะที่เข้าไปบิดเบือนกลไกของตลาด ซึ่งดูเหมือนจะง่ายโดยการให้ธนาคารกลางเข้าไปแทรกแซงด้วยการเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์ หมายถึงการขายเงินบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ (เป็นการสร้างความต้องการเงินดอลลาร์จอมปลอมที่เรียกว่าความต้องการเทียม) จะทำให้มีปริมาณเงินบาทในระบบอยู่สูงเกินกว่าความเป็นจริงและจูงใจให้ประชาชนใช้จ่ายมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อไปยังกดดันให้เกิดเงินเฟ้อ ในขณะเดียวกันทางด้านธนาคารกลางเองเงินดอลลาร์ที่ซื้อเข้ามาก็จะมีค่าลดลง (เพราะไม่สามารถต้านทานต่อกลไกของตลาดที่เงินทุนทั่วโลกมีมากกว่าทุนสำรองของประเทศอยู่มาก) และก่อให้เกิดการขาดทุน (ของอัตราแลกเปลี่ยน) ในงบดุลของธนาคารแห่งประเทศไทย และที่สำคัญกว่าก็คือการเข้าแทรกแซงนี้จะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลและจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ตัวอย่างคือ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางของญี่ปุ่นได้ใช้เงินจำนวนประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์เข้าแทรกแซงค่าเงินเยน (ประเทศญี่ปุ่นมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ 1 ล้านล้านดอลลาร์หรือมากกว่าประเทศไทยอยู่ถึงประมาณ 7 เท่า) ซึ่งแม้มีผลทำให้เงินเย็นอ่อนค่าลงจาก 83 เยนต่อดอลลาร์มาเป็น 85 เยนต่อดอลลาร์ ในวันนั้น และต่อมาอีก 2 วันค่าเงินเยนก็กลับมาอยู่ที่ 83 เยนต่อดอลลาร์ อีก

 

ดังนั้น พึงต้องคำนึงด้วยว่าค่าเงินบาทที่มีอยู่เพียงจำนวนน้อยนั้นจะต้านทานกลไกของตลาดได้ การแทรกแซงค่าเงินจึงเป็นเรื่องที่พึงพิจารณาอย่างรอบคอบครบถ้วนไม่ตามใจเฉพาะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ถ้ารัฐบาลไทยแทกแซงค่าเงินโดยการซื้อทองคำแท่งมาเก็บ คงกำไรไปเยอะแล้ว สมัยที่ผมเริ่มซื้องทอง บาทละ400+เหรียญเอง

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ขอบคุณครับคุณส้มโอมือ

เคยคิดเหมือนกันครับว่า พอมีข่าวไทยแทรกแซงค่าเงินตัวเอง ต้องซื้อดอลล์หรือพันธบัตรสหรัฐ แทนที่จะซื้อทอง

..แต่บาทละ 400 $ หรือ 400 บาทครับคุณส้มโอมือ 400$เนี่ย 25บาท/$ ก็ 10000.- เลยนะครับ (ไม่ได้จับผิดนะครับ ..ล้อเล่น :D )

ว่าแต่บาทละ400เนี่ยมันกี่ปีมาแล้วครับ :blink: ???

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

!thk ขอบคุณ คุณส้มโอมือ มีข่าวมาเสริฟให้ทุกวันไม่มีตกข่าวเลย ยกให้เป็นเหยี่ยวข่าวประจำกระทู้ไปเลย !thk !gd

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ให้ข้อมูลผิดครับ ตอนที่ผมซื้อทองแท่งออนซ์ละ400+เหรียญครับ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

แคลคอมพ์ยอดขายก.ย.ตก15%

08 ตุลาคม 2553 เวลา 11:47 น. | เปิดอ่าน 180 | ความคิดเห็น 0

นักวิเคราะห์ เผย แคลคอมพ์ยอดขายก.ย.ตก15%

 

ธุรกิจอิเลกทรอนิกส์ของไทยมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบจากแข็งค่าของเงินบาทโดยตรง และล่าสุดบริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือCCET เปิดเผยตัวเลขยอดขายประจำเดือนก.ย. ลดลงจากเดือนส.ค.ประมาณ 15%

 

นายคงสิทธิ์ โจวกิจเจริญ กรรมการผู้จัดการ CCET เปิดเผยว่า บริษัทมียอดขายในเดือน ก.ย. อยู่ที่ 10,685 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10,995 ล้านเหรียญไต้หวัน ลดลง 15% จากยอดขายเดือน ส.ค. ที่มียอดขาย 12,598 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 12,963 ล้านเหรียญไต้หวัน แต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10%

 

ทั้งนี้ ยอดขายรวม9 เดือนแรกปีนี้ มีทั้งสิ้น 89,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันในปี 2552

 

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ได้ปรับลดประมาณการกำไรของบริษัท แคล-คอมพ์ ,บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)หรือ DELTA และ บริษัทฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส( HANA) ปี 2554 ลงเฉลี่ย 5% จากการเปลี่ยนมาใช้สมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนปี2553 และ 2554 ที่ระดับ 31.9 และ 30.4 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยแข็งค่าจากสมมติฐานครั้งก่อน 2% และ 9% ตามลำดับ ส่วนปี 2553 แทบไม่ได้รับผลกระทบ

 

"CCET ได้รับการปรับลดประมาณการกำไรปี2554 ลงมากสุด โดยปรับลดลง 8% จากสมมติฐานเดิม"นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็งระบุ

 

ล่าสุด ราคาหุ้นในกล่มอเล็กทรอนิกส์เคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

วิกฤติน้ำ จีน-อินเดีย กับ ความตึงเครียดทางการเมือง (1)

ดร. พงษ์ศักดิ์ ฮุ่นตระกูล สถาบันบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพ , สมยศ อรรคฮาดสี กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

 

เมื่อกล่าวถึง “น้ำ” สิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ เราพบว่าวิกฤติการขาดแคลนน้ำ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ได้ยินบ่อยขึ้น และมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกปี แม้แต่ในประเทศไทยที่เคยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเกษตรกรรมของโลกก็ตาม มีคนกล่าวว่า น้ำเปรียบได้กับน้ำมันชนิดหนึ่ง เป็นทรัพยากรที่มีแนวโน้มราคาเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากความต้องการบริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่แหล่งน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำใต้ดิน ธารน้ำแข็ง แหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ อาทิเช่น เขื่อน มีปริมาณน้ำลดลง ส่งผลให้ราคาสูงขึ้นตามกลไกตลาด

 

ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก (climate change) เป็นผลให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำยิ่งเลวร้ายลง หากเหตุการณ์ดำเนินเช่นนี้โดยไม่ได้รับการแก้ไข ความขัดแย้งอันมีสาเหตุจากทรัพยากรน้ำจะเริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและพบเห็นได้บ่อยขึ้น จนอาจนำไปสู่สงครามได้ในอนาคต เพราะว่านโยบายด้านทรัพยากรน้ำมีส่วนสำคัญต่อการวางแผนทางการเกษตรกรรมหรือนโยบายทางอาหารของประเทศนั้น ที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศโดยตรง เกือบ 70% ของปริมาณน้ำทั้งหมดในโลกถูกใช้ในภาคเกษตรกรรม ตรงกับตัวเลขการใช้น้ำในภาคเกษตรกรรมของจีน ขณะที่อินเดียใช้มากถึง 90% ของปริมาณน้ำทั้งหมดในประเทศ

 

ความต้องการปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นของเกษตรกรไม่ได้มีสาเหตุเพียงแค่ต้องการเพิ่มผลผลิต เพื่อเลี้ยงจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่ต้องการอาหารที่มีรสชาติ และคุณภาพอาหารที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับชนชั้นกลาง ดังตัวอย่างการปลูกถั่วเหลืองหนึ่งกิโลกรัมใช้ปริมาณน้ำเป็นสองเท่าของการปลูกถั่วชนิดอื่นหนึ่งกิโลกรัม การผลิตเนื้อวัวหนึ่งกิโลกรัมใช้น้ำเป็นสี่เท่าของการผลิตเนื้อไก่หนึ่งกิโลกรัม การผลิตน้ำส้มหนึ่งแก้วใช้น้ำห้าเท่าของการผลิตชาหนึ่งถ้วย การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางที่มีจำนวน 2 พันล้านคนทั่วโลก และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเทศจีน และอินเดีย อันเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา จะส่งผลต่อปัญหาความต้องการใช้น้ำในภาคเกษตรกรรมที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของคนชั้นกลางกลุ่มดังกล่าวในอนาคต

 

สำหรับในส่วนภาคอุตสาหกรรม ที่ในปัจจุบันมีการใช้น้ำอยู่ที่ 22% ของปริมาณน้ำทั่วโลก อีก 8% เป็นการใช้ในด้านกิจกรรมอื่นในประเทศ เช่น การขนส่ง การผลิตพลังงาน อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำในสองประเภทดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษที่ 20 เช่นเดียวกับความต้องการน้ำในภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มเป็น 2 เท่า แสดงให้เห็นถึงความต้องการใช้น้ำที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นในทุกด้าน

 

การที่จะรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการใช้น้ำอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุดเป็นเรื่องยาก เนื่องจากทรัพยากรน้ำมีจำนวนจำกัด น้ำบนพื้นผิวโลกมากกว่า 97% เป็นน้ำทะเล ขณะที่ 2.5% เป็นน้ำจืด แต่ 70% ของน้ำจืดเหล่านี้ อยู่ในรูปของน้ำแข็งที่อยู่ที่ขั้วโลก ธารน้ำแข็ง ดังนั้น น้ำจืดที่สามารถนำมาใช้ได้จึงอยู่ที่ 0.75% ของปริมาณน้ำทั้งหมดทั่วโลก และส่วนใหญ่เป็นน้ำใต้ดินที่อยู่ในธารน้ำใต้ดิน หรือลักษณะที่ใกล้เคียง นอกนั้นอยู่ในทะเลสาบ แม่น้ำ และแหล่งกักเก็บต่างๆ ที่มีการระเหย และหมุนเวียนตลอดเวลา

 

คุณค่าของทรัพยากรน้ำขึ้นอยู่กับที่ตั้งแหล่งน้ำ วัตถุประสงค์การนำมาใช้ และการหมุนเวียน ผู้ที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ มักเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการใช้แหล่งน้ำดังกล่าว ทำให้การกระจายทรัพยากรน้ำไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเท่าเทียมกัน จีนและอินเดียที่มีประชากรมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลก แต่มีทรัพยากรน้ำน้อยกว่า 10% ของทรัพยากรน้ำทั่วโลก ประชากรจีนมีน้ำให้บริโภคได้เฉลี่ยอยู่ที่ 2,117 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เทียบกับอินเดียที่ 1,614 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 9,943 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าน้ำจำนวน 80% ที่เกษตรกรของอินเดียใช้อยู่จะหมดไป หากว่ายังคงมีการใช้น้ำในระดับที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากทรัพยากรน้ำมีปัญหาในเรื่องการเคลื่อนย้าย เพราะค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการเคลื่อนย้ายจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งต้องใช้การสูบน้ำรวมถึงระบบชลประทาน อันมีผลให้น้ำมีการเปลี่ยนทิศทางเข้าสู่แหล่งอื่น ทำให้ผู้ที่อยู่ต้นน้ำได้รับประโยชน์จากแหล่งน้ำมากกว่าผู้ที่อยู่ปลายน้ำ

 

ทรัพยากรน้ำที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ไม่เพียงเป็นแหล่งก่อให้เกิดอาหาร แต่ยังรวมถึงสินค้าทุกอย่างล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับน้ำ ตั้งแต่ไมโครชิพจนถึงเหล็กกล้า รวมถึงภาคอุตสาหกรรมในประเทศพัฒนาที่มีการใช้น้ำมากถึง 60% ของปริมาณน้ำทั้งหมด ขณะที่คนต้องการน้ำอย่างน้อยวันละสองลิตร เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ น้ำจึงจัดเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต และทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าน้ำเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ อันหมายถึง มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการใช้น้ำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ ความเชื่อดังกล่าวส่งผลที่สำคัญประการแรกได้แก่ การประกาศอย่างเป็นทางการโดยจักรพรรดิจัสติเนียน แห่งอาณาจักรไบแซนไทน์ ที่ได้ทรงประกาศไว้เมื่อศตวรรษที่หกว่า อากาศ น้ำ ทะเล และชายฝั่ง เป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน ความเชื่อในลักษณะดังกล่าวปรากฏในที่ต่างๆ รวมถึงเอเชียและแอฟริกา ผลประการที่สอง คือ การที่ถือว่าน้ำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าประทานให้กับมนุษย์ ทำให้ทุกคนมีสิทธิในการใช้น้ำ ด้วยความเชื่อดังกล่าวประกอบกับการที่น้ำเข้าไปมีส่วนกับกิจกรรมชีวิตมนุษย์อยู่ตลอดเวลา ทำให้น้ำที่เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดอย่างหนึ่งในโลกที่สามารถใช้กันได้ โดยส่วนใหญ่มิได้มีการกำหนดราคาแต่อย่างใด

 

แหล่งน้ำโดยธรรมชาติแล้วมีจำนวนจำกัด ขณะที่ความต้องการในการใช้น้ำมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนประชากรของโลก ทำให้ความต้องการน้ำที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรเพิ่มสูงขึ้น การนำแหล่งน้ำใต้ดินมาใช้เพื่อการเกษตรโดยเกษตรกรมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น จนเกิดภาวการณ์นำมาใช้สูงเกินกว่าน้ำที่ไหลชดเชย (overload) อันมีผลให้แหล่งน้ำใต้ดินมีจำนวนลดลง โดยเฉพาะกับจีนและอินเดีย การลดลงของแหล่งน้ำใต้ดินดังกล่าว ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของพื้นดินที่ใช้ในการเพาะปลูก โดยเฉพาะใน จีน และอินเดีย ปัญหาการขาดแคลนน้ำในประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะกับจีน หรือ อินเดีย กำลังส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่เพิ่มสูงขึ้น ดังจะได้กล่าวต่อไป

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

มองแนวโน้มเศรษฐกิจ ในระยะกลาง (3-5 ปีข้างหน้า)

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย เพสซิมิสต์ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4247

 

เศรษฐกิจโลกโดยรวมกำลังฟื้นตัวในปี 2010 แต่การฟื้นตัวดังกล่าวมีความแตกต่างกันคือประเทศกำลังพัฒนาฟื้นตัวในอัตราที่สูงกว่า ขณะที่เศรษฐกิจประเทศสหรัฐกลุ่มสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นฟื้นตัวอย่างเชื่องช้ากว่าและกำลังแผ่วตัวลงในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และมีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่องในไตรมาส 4 อย่างไรก็ดี ฝ่ายต่าง ๆ ยังคาดการณ์ว่าประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐจะสามารถหลีกเลี่ยงการกลับเข้าสู่ภาวะตกต่ำอีกครั้งได้

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางคนเตือนว่าความเสี่ยงของความตกต่ำทางเศรษฐกิจยังมีอยู่ เพราะที่ผ่านมา การคาดการณ์ของทางการสหรัฐ เช่นผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐ คือ นายเบน เบอร์นันเก้ นั้น ไม่ได้แม่นยำและผิดพลาดในทางที่มองโลกในแง่ดีหลายครั้ง เช่นเคยบอกว่าหนี้ต่ำกว่ามาตรฐาน (subprime) มีมูลค่าไม่มากและจะไม่สร้างปัญหาให้กับสถาบันการเงิน ต่อมาก็พูดว่า การนำเอาหนี้สินดังกล่าวมาแปลงเป็นตราสารหนี้ (securitization) ประเภทซีดีโอ (Collateralized debt obligation) เป็นกระบวนการกระจายความเสี่ยงและจะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและสถาบันการเงิน

 

ต่อมาก็บอกว่า การล่มสลายของวาณิชธนกิจของสหรัฐ คือแบร์ สเติร์น จะไม่สร้างปัญหาต่อเนื่อง จนในที่สุดวาณิชธนกิจอีกแห่ง คือเลห์แมน บราเธอร์ (มูลค่าสินทรัพย์เกือบ 7 แสนล้านเหรียญ หรือกว่า 2 เท่าจีดีพีประเทศไทย) ล่มสลายเมื่อเดือนกันยายน 2008 เป็นตัวจุดวิกฤตทางการเงินของโลก ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำอย่างรุนแรงในปี 2009 โดยที่นายเบน เบอร์นันเก้ ไม่เคยกล่าวเตือนให้ทราบเลยว่า ปัญหากำลังก่อตัว และเศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงอย่างมาก ซึ่งในที่สุดก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความตกต่ำได้ แม้จะเป็นผู้ที่รับผิดชอบดูแลสถาบันการเงินและเป็นผู้ที่มีข้อมูลครบถ้วนและรอบรู้มากที่สุดคนหนึ่ง

 

จึงพูดได้ว่า แม้เราจะได้รับคำยืนยันว่าเศรษฐกิจจะไม่ตกต่ำลงไปอีก แต่ก็ไม่สามารถจะไว้วางใจได้เต็ม 100% (ผมคิดว่าควรเชื่อได้ประมาณ 50-60% เท่านั้น) เพราะเศรษฐกิจสหรัฐและญี่ปุ่นกำลังชะลอตัวลง และในไตรมาส 4 เศรษฐกิจยุโรปก็จะต้องชะลอลงตาม ซึ่งเศรษฐกิจหลักทั้ง 3 นี้มีขนาดจีดีพีรวมกันเท่ากับ 60% ของจีดีพีของโลก ดังนั้น หากเศรษฐกิจของกลุ่ม G 3 ดังกล่าวฟุบตัวลง ก็ยากที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2011-2012

 

หากจะสามารถก้าวข้ามความอ่อนแอทางเศรษฐกิจดังกล่าวไปได้ในครึ่งแรกของปี 2011 ก็ยังต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของกลุ่ม G 3 น่าจะฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าอย่าง ต่อเนื่อง คือเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 2-3% ด้วยเหตุผลดังนี้

 

1.ความซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐยังต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีในการจะสะสางปัญหาการตกต่ำของราคาและจำนวนบ้านที่รอการขาย กล่าวคือตอนนี้ สต๊อกบ้านรอการขายมีมากถึง 10 เดือน แม้ราคาบ้านจะปรับลงมาแล้ว 30% จาก จุดสูงสุด ที่สำคัญคือประมาณ 20% ของประชาชนที่กู้เงินมาซื้อบ้านขณะนี้มีหนี้ท่วมตัว คือราคาบ้านต่ำกว่ายอดเงินกู้ (negative equity) แปลว่ายังจะมีการปรับเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ต่อไป นอกจากนั้น อสังหาริมทรัพย์ใน ภาคการพาณิชย์ (commercial real estate) ก็ยังตกต่ำย่ำแย่อย่างมาก

 

2.อัตราการว่างงานในสหรัฐอยู่ที่ระดับสูงถึง 9.6% ในเดือนสิงหาคม และเชื่อได้ว่าอัตราการว่างงานจะปรับเพิ่มขึ้นกลับไปสู่ 10% อีกในสหรัฐในปีหน้า เพราะปัจจุบันภาคเอกชนจ้างงานน้อยเกินไป คือจ้างงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 50,000-60,000 ตำแหน่ง ในขณะที่การจะทำให้อัตราการว่างงานทรงตัว (ไม่เพิ่มขึ้น) นั้นจะต้องจ้างงานเพิ่มขึ้นเดือนละ 150,000 ตำแหน่งในทำนองเดียวกัน อัตราการว่างงานในยุโรปและญี่ปุ่นก็ยังอยู่ที่ระดับสูงมาก เช่นในกรณีของสเปนนั้น อัตราการว่างงานสูงถึง 20%

 

3.นโยบายการคลังของประธานาธิบดี โอบามาไม่ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เช่นงบประมาณพิเศษ มูลค่า 800,000 ล้านเหรียญ ที่รัฐสภาสหรัฐอนุมัติให้กระตุ้นเศรษฐกิจใน ปี 2009 ช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 5% ในไตรมาส 4 ของปี 2009 แต่การขยายตัวก็ชะลอลงมาในไตรมาส 1 ปี 2010 เหลือ 3.7% และไตรมาส 2 เหลือเพียง 1.6% ผลที่ตามมาคือการว่างงานในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น (เป็น 9.6% ดังกล่าวข้างต้น) แทนที่จะลดลงเหลือต่ำกว่า 8% ตามที่รัฐบาลโอบามาได้เคยคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ประธานาธิบดีโอบามาสูญเสีย ความนิยมอย่างรวดเร็ว และในเชิงการเมืองไม่น่าจะสามารถผลักดันให้รัฐสภาอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซ้ำร้ายยังมีโอกาสสูงที่จะทำให้พรรคเดโมแครตแพ้การเลือกตั้งในปลายปี 2010 ทำให้พรรคเดโมแครตกลายเป็นพรรคเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าจะยังสามารถรักษาเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้ แต่ก็จะทำให้การผลักดันนโยบายต่าง ๆ ของประธานาธิบดีโอบามาทำได้ยากยิ่งขึ้นใน 2 ปีข้างหน้า เพราะจะถูกฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรคัดค้านอย่างรุนแรง เพื่อให้ประธานาธิบดีโอบามาไม่มีผลงาน และส่งผลกระทบต่อการหาเสียงเลือกตั้งในสมัยต่อไปในปี 2012-2013

 

4.ประเทศพัฒนาแล้วทุกประเทศมีระดับหนี้สาธารณะสูงประมาณ 100% ของจีดีพี และยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกใน 2-3 ปีข้างหน้า เพราะยังขาดดุลงบประมาณ 5-8% ต่อปี ทำให้หนี้สาธารณะเป็นภาระอย่างใหญ่หลวงได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า หากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ตรงนี้เป็นจุดที่สามารถพลิกผันได้อย่างมาก เช่นหากรัฐบาลสร้างหนี้ แต่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ดี ก็จะทำให้หนี้ต่อจีดีพีลดลง เพราะจีดีพีโตขึ้นมาก ปัญหาหนี้สาธารณะจะไม่มี แต่หากไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ หนี้ต่อ จีดีพีจะเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาโดยกการลดรายจ่าย และ/หรือเพิ่มภาษี ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ นอกจากนั้น หากเกิดความกลัวว่ารัฐบาลจะใช้หนี้คืนไม่ได้ ก็จะทำให้ดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอีกทางหนึ่ง

 

5.วิกฤตที่ผ่านมาในปี 2008-2009 นั้นเกิดจากการที่ธนาคารสหรัฐและยุโรปปล่อยกู้มากเกินไปและหละหลวมเกินไป จึงทำให้มีความจำเป็นต้องเพิ่มกฎเกณฑ์และกฎหมายควบคุมการปล่อยกู้ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ และเป็นสิ่งที่ถูกต้องในระยะยาว แต่ในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ค่อยฟื้นตัวนั้น มีความเสี่ยงว่าธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ จะปล่อยกู้เพิ่มขึ้นอย่างจำกัดและระมัดระวังอย่างมาก ผลคือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อมจะไม่สามารถ เข้าถึงสินเชื่อได้อย่างเต็มที่

 

เงื่อนไข 5 เงื่อนไขที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น แปลว่าเครื่องมือในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวเศรษฐกิจของกลุ่ม G 3 นั้นจำกัดอยู่ที่นโยบายการเงินที่กดดอกเบี้ยให้ต่ำผิดปกติไปอีกนาน ตรงนี้เป็นสิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งไทยต้องเข้าใจ และเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก เพราะหากประเทศใหญ่กดดอกเบี้ยลงต่ำ ก็จะทำให้เราไม่สามารถปรับดอกเบี้ยของเราให้สูงขึ้นได้ เพราะ ดอกเบี้ยที่สูง จะทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศไทย ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า หากเรายอมให้เงินบาทแข็ง ปัญหาเงินเฟ้อก็จะลดลง แต่จะทำให้ปริมาณการส่งออกลดลงได้ ซึ่งผู้ส่งออกต้องปรับตัวและแข่งขันให้ได้กับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น (เช่นที่ 28 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์) นอกจากนั้น ก็จะเป็นแรงจูงใจให้นำเข้าสินค้าและบริการ ซึ่งหากใช้โอกาสนี้นำเข้าสินค้าทุนเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศมาสร้างความแข็งแกร่งภายในประเทศแทนการผลิตเพื่อการส่งออก และเพื่อเพิ่มความสามารถในการ แข่งขันโดยรวม (เช่นพัฒนาระบบขนส่ง ของไทยให้ลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบ) ก็จะเป็นประโยชน์ในอนาคต

 

ที่สำคัญที่สุดคือดอกเบี้ยที่อยู่ที่ระดับต่ำนาน 2-3 ปีนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้เร่งขยายการลงทุน เพราะต้นทุนทางการเงินถูกลง ทำให้โครงการต่าง ๆ จะดูน่าลงทุนไปหมด ซึ่งอาจทำให้ลงทุนมากเกินตัว จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพึงระวังอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาความคุ้มค่า เพราะเป็นไปได้ว่าปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศพัฒนาแล้ว หากเกิดขึ้นใน 4-5 ปีข้างหน้าจะสร้างความปั่นป่วน โดยการดันให้ดอกเบี้ยโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งเป็นความเสี่ยงของธุรกิจที่กู้เงินเกินตัว หรือสร้างกำลัง การผลิตมากเกินไป

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

--เอาข้อมูลของสต็อตอาหารมาฝาก เคยรวบรวมข้อมูลเมื่อต้นปีที่แล้ว เพื่อนหลายคนที่มาใหม่อาจยังไม่เคยอ่าน

 

ผลผลิตต่อไร่ของชาวนาไทย400กิโลกรัมต่อไร่ ของเวียดนามผลผลิตต่อไร่ของเขาคือ700กิโลกรัมต่อไร่ซึ่งใกล้เคียงกับผลผลิตของจีน ปี2550ประเทศไทยส่งข้าวออกมูลค่าสูงถึง123,700ล้านบาท

---ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งประเทศประมาณ518,370ตรกิโลเมตรหรือ321ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ60ล้านไร่

--สต็อคข้าวทั่วโลกลดลงจาก140ล้านตันเมื่อปี2544เหลือ60ล้านตันในปี2550 ประเทศจีนมีสต็อคข้าวลดลงจาก97ล้านตันเมื่อปี2544เหลือ30ล้านตันในปี2550 ประเทศจีนเป็นประเทศที่ผลิตข้าวได้เป็นอันดับ1ของโลกคือประมาณ110ล้านตันแต่บริโภคภายในประเทศเกือบหมดเหลือส่งออกน้อยมาก ประเทศไทยผลิตข้าวได้เป็นอันดับประมาณ5หรือ6หรือ7ของโลก(จำอันดับไม่ได้แล้ว) แต่ประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ1ของโลก ปี2550ไทยผลิตข้าวได้19ล้านตันส่งออก9ล้านตัน เวียดนามผลิตข้าวได้มากกว่าเราแต่ประชาชากรเขามากกว่าไทยเยอะ ดังนั้นจำนวนข้าวที่เหลือจากการบริโภคภายในประเทศของเขาถึงน้อยกว่าไทยเรา

---ปี2550ข้าวหอมมะลิราคาเฉลี่ยเกวียนละ8,388บาท ช่วงเดือนมีนาคม ปี2551เกิดวิกฤตราคาอาหาร ราคาข้าวหอมมะลิอยู่ที่13,000 บาท

 

สาเหตุที่จะทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร

--ภาวะโลกร้อนทำให้อากาศแปรปรวนทำให้มีแนวโน้มผลผลิตทางการเกษตรลดลงเรื่อยๆ ภาวะโลกร้อนจะทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายกลายเป็นน้ำเยอะมาก จะทำให้พื้นที่จมน้ำมีมากขึ้น ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรน้อยลงไปอีก

--จากข้อมูลข้างบนจะเห็นว่าปริมาณสต็อคข้าวซึ่งพอจะเป็นตัวแทนสินค้าเกษตรได้นั้น มีปริมาณลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นถ้าปีใดเกิดมีปัญหาในการผลิต(ทำให้ผลผลิตของทั้งโลกลดลง) ราคาจะขยับขึ้นพอสมควร

--ถ้าเกิดภาวะเงินเฟ้อสินค้าที่มีความจำเป็นจริงต่อชีวิตน่าจะขยับขึ้นพอสมควร

--จำนวนประชากรโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละ50ล้านคน(ปัจจุบันจากประชากรโลกทั้งสิ้น 6,900 ล้านคน มีการคาดการณ์ว่าโลกจะมีประชากร 9,000 ล้านคนในปี2050 ผมเอาตัวเลขนี้มาเฉลี่ยคร่าวๆก็จะเพิ่มปีละ50ล้านคน แต่ปีแรกๆน่าจะเพิ่มมากกว่า50ล้านคน พอสมควรเลย)

--พื้นที่การเกษตรที่มีแนวโน้มจะลดลงไปเรื่อยๆ อย่างเช่นในจีนห้าเดือนแรกของปีนี้พื้นที่การเกษตรของจีนหายไปถึง2ล้านไร่(ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งประเทศ321 ล้านไร่) จากการสร้างถนนสร้างทางรถไฟ ทำให้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆตามถนนที่เกิดขึ้นมา ตอนนี้พื้นที่การเกษตรของจีนเหลือใกล้750 ล้านไร่แล้ว จีนเคยตั้งนโยบายไว้นานแล้วว่า พื้นที่การเกษตรของจีนไม่

ควรต่ำกว่า750ล้านไร่ ซึ่งดูแล้วตัวเลข750ล้านไร่คงคุมไม่ได้แน่ ถ้ารัฐบาลยังอยากพัฒนาประเทศต่อไปอีกมาก

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Join the conversation

You can post now and register later. If you have an account, sign in now to post with your account.

ผู้มาเยือน
ตอบกลับกระทู้นี้...

×   วางข้อความแบบ rich text.   วางแบบข้อความธรรมดาแทน

  อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 75 อิโมติคอน.

×   ลิงก์ของคุณถูกฝังอัตโนมัติ.   แสดงเป็นลิงก์แทน

×   เนื้อหาเดิมของคุณได้ถูกเรียกกลับคืนมาแล้ว.   เคลียร์อิดิเตอร์

×   คุณไม่สามารถวางรูปภาพได้โดยตรง กรุณาอัปโหลดหรือแทรกภาพจาก URL

กำลังโหลด...

  • เข้ามาดูเมื่อเร็วๆนี้   0 สมาชิก

    ไม่มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนกำลังดูหน้านี้

×
×
  • สร้างใหม่...