ข้ามไปเนื้อหา
Update
 
 
Gold
 
USD/THB
 
สมาคมฯ
 
Gold965%
 
Gold9999
 
CrudeOil
 
USDX
 
Dowjones
 
GLD10US
 
HUI
 
SPDR(ton)
 
Silver
 
Silver/Oz
 
Silver/Baht
 
moddang

คู่มือ รับสถานการณ์น้ำท่วม :

โพสต์แนะนำ

"FLOOD_REST" ตัวช่วยประเมินความเสี่ยงน้ำท่วมด้วยตัวเอง

 

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 ตุลาคม 2554 06:24 น.

 

ท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วมที่ไหลหลากสร้างความเดือดร้อน และความเสียหายในหลาย ๆ จังหวัด และค่อย ๆ ทะลักเข้าท่วมแถบปริมณฑล บ้านเรือนในย่านปากเกร็ด บางบัวทอง จ.นนทบุรี หมู่บ้านในเขตคลองรังสิต จ.ปทุมธานี ได้รับผลกระทบสาหัส ขณะเดียวกัน น้ำก็รุกคืบเข้าบดขยี้ ไหลเข้าท่วมบางเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้หลาย ๆ ครอบครัวในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมอกสั่นขวัญแขวนและเครียดกับการตั้งรับวิกฤตครั้งนี้เป็นอย่างมาก

 

ไม่เพียงแต่วิกฤตน้ำท่วมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังเกิดวิกฤตสำลักข้อมูลข่าวสารที่สับสนปนเปเพราะได้รับข้อมูลเตือนภัยจากหลากหลายช่องทาง จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์ฯ ได้ทำการระดมผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาระบบและเครื่องมือสำหรับประชาชนได้ใช้ในยามฉุกเฉินออกมาเป็น "เครื่องมือช่วยประเมินความเสี่ยงภัยน้ำท่วมด้วยตัวเอง" เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ชีวิตตนเองและครอบครัว รวมทั้งลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สิน

 

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับ "เครื่องมือช่วยประเมินความเสี่ยงภัยน้ำท่วมด้วยตัวเอง" รศ.ชัยยุทธ สุขศรี อาจารย์จากภาควิชาวิศกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายให้ฟังว่า เป็นส่วนหนึ่งของระบบประเมินความเสี่ยงน้ำท่วมด้วยตนเอง (Flood Risk Evaluation System for Thailand มีชื่อย่อว่า FLOOD_REST) โดยระบบนี้พัฒนาขึ้นจากข้อมูลและฐานข้อมูลที่เกิดจากการศึกษาวิจัยของจุฬาฯ และจากข้อมูลที่มีใช้งานอยู่แล้วในส่วนราชการ โดยข้อมูลที่นำเข้าในระบบปัจจุบัน ได้แก่

 

1. ค่าระดับพื้นดินบางส่วนของเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร บางส่วนของอำเภอบางพลีและอำเภอเมืองสมุทรปราการ ข้อมูลจากโครงการศึกษาวิจัยการประยุกต์ใช้ไลดาร์สำหรับงานวิศวกรรม โครงการความร่วมมือระหว่างกรมทางหลวง กรมแผนที่ทหาร และแคนนาดา ข้อมูลบันทึกโดยเลเซอร์สแกนเนอร์ (ไลดาร์) ปี 2548

 

2. ค่าระดับของผิวถนนสายหลักของกรุงเทพมหานคร สำรวจเมื่อปี พ.ศ.2550

 

3. พื้นที่ปิดล้อมเพื่อการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร

 

นอกจากนี้ รศ.ชัยยุทธ กล่าวต่อไปว่า ระบบ FLOOD_REST เป็นแผนที่ออนไลน์ที่ทุกบ้านสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้รับรู้สภาพกายภาพที่ตั้งของที่อยู่อาศัย ทรัพย์สินของบุคคล และสถานประกอบการธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งเส้นทางน้ำ และระบบระบายน้ำ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลการป้องกัน (บรรเทา) และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยระบบพื้นที่ปิดล้อมของกรุงเทพมหานครได้

 

 

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นแผนที่ออนไลน์ ผู้ใช้แต่ละบ้านสามารถเข้าถึงได้สะดวกในรูปแบบโปรแกรมประยุกต์ที่แพร่หลายที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่ โปรแกรมกูเกิ้ลแมพ และกูเกิ้ลเอิร์ธ ที่เว็บไซต์ www.chula.ac.th/flood_rest/ ซึ่งมีขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงด้วยตัวเองง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

 

1. เข้าไปที่เว็บไซต์ www.chula.ac.th/flood_rest/ เลือกระบบการเข้าใช้เพื่อประเมินระดับน้ำท่วม ซึ่งมีให้เลือกทั้งดูบนมือถือ และคอมพิวเตอร์

 

2. คลิกเลือกระบบใดระบบหนึ่ง

 

3. หลังจากคลิกเข้าไปแล้ว จะปรากฎแผนที่ขึ้นมา ให้มองหาตำแหน่งที่อยู่อาศัยของคุณ

 

4. เมื่อหาเจอแล้ว ด้านบนขวามือสุดจะมีเครื่องหมายบวกเล็ก ๆ ให้คลิกเข้าไปแล้วเลือกเครื่องหมายถูกที่ Google Hybrid เพื่อให้สามารถเห็นตำแหน่งบ้านของท่านได้ชัดเจนขึ้น

 

 

554000014426702.JPEG

 

 

 

5. ขยายเข้าไปใกล้ ๆ บริเวณพื้นที่บ้านของท่านให้มากที่สุด

 

6. คลิกไปที่ตำแหน่งบริเวณใกล้ ๆ บ้าน ระบบจะปรากฎหน้าต่างแสดงค่าระดับพื้นผิวดินขึ้นมา จากนั้นป้อนค่าคาดการณ์ที่ทราบข่าวมา หรือจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ระบบก็จะแสดงตัวเลขของระดับน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการท่วมบ้านให้เตรียมการวางแผนในการตั้งรับต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ค่าระดับพื้นผิวดินอยู่ที่ 1 เมตร และค่าระดับน้ำคาดการณ์ว่าจะท่วมอยู่ที่ 2.50 เมตร ความสูงของระดับน้ำที่จะท่วมก็อยู่ที่ 1.50 เมตร

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สามารถใช้ระบบตรวจสอบได้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีความแม่นยำระดับบวก-ลบ 30 เซนติเมตร และในพื้นที่เขตประเวศ กทม.และจ.สมุทรปราการ มีความแม่นยำระดับบวก-ลบ 10 เซนติเมตร

 

"ประชาชนสามารถใช้ FLOOD_REST ประเมินระดับน้ำที่กำลังคุกคามและประเมินผลกระทบเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากระบบเป็นแผนที่ออนไลน์ เพียงแค่ป้อนค่าข้อมูลคาดการณ์ระดับน้ำท่วมซึ่งผู้ใช้สามารถเรียกดูจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ โดยผลต่างระหว่างค่าระดับน้ำคาดการณ์และค่าระดับพื้นผิวดินที่มีความละเอียดถูกต้องสูงระดับ "เดซิเมตร" เลยทีเดียว นั่นจะเป็นประโยชน์ให้แต่ละบ้านสามารถประเมินความเสี่ยงภัยน้ำท่วมเพื่อใช้ในการเตรียมตัว เช่น กำหนดระดับการยกของขึ้นที่สูง ตำแหน่งที่ดอนที่อาจย้ายรถไปจอด ตลอดจนถึงความจำเป็นในการเตรียมการและตัดสินใจอพยพ" รศ.ชัยยุทธสรุปทิ้งท้าย

 

///////////////////////

 

ข้อมูลประกอบข่าว

 

สำหรับการพิจารณาค่าคาดการณ์น้ำท่วมเพื่อประเมินความเสี่ยง แต่ละบ้านสามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมตามช่องทางดังต่อไปนี้

 

- ข้อมูลระดับตลิ่งคลอง หรือระดับน้ำในคลองในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครที่เว็บไซต์ dds.bangkok.go.th/Canal/

 

- ข้อมูลระดับน้ำที่ประตูน้ำ และสถานีสูบน้ำต่าง ๆ ภายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เว็บไซต์ dds.bangkok.go.th/Scada/

 

- ข้อมูลปริมาณน้ำท่วมบนถนน ณ เวลาปัจจุบัน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เว็บไซต์ dds.bangkok.go.th/Floodmon/

 

โดยข้อมูลส่วนนี้มีความจำเป็นต้องไปอ้างอิงกับระดับถนนที่อยู่ในโปรแกรม Flood_REST เพื่อให้สามารถเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) ได้

 

นอกจากนั้นแล้ว พื้นที่ที่อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาสายหลัก ยังสามารถพิจารณาข้อมูลระดับน้ำเจ้าพระยาประกอบการพิจารณาค่าคาดการณ์น้ำท่วม โดยข้อมูลระดับน้ำที่ตำแหน่งต่าง ๆ ตลอดลำน้ำเจ้าพระยา สามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์ของกรมชลประทาน www.rid.go.th ในรายงานการพยากรณ์สภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะส่วนที่ผ่านกรุงเทพมหานครอันได้แก่ สถานีปากเกร็ด (C.22A) สถานีสามเสน (C.12) สถานีสะพานพุทธ (C.4) และสถานีการท่าเรือ (C.53) ที่เว็บไซต์ water.rid.go.th/chao_scada/forecast

ถูกแก้ไข โดย moddang..

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

อามาฝากตามข้างต้น :excl:

 

สำหรับเพื่อนๆ ที่อาจโดนน้ำท่วม และใช้ internet จะมีใครเข้ามาใช้ใหมเอ่ย

 

:D

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เตือนบางกอกน้อย ภาษีเจริญ รับมือ - น้ำถึงหลักสี่ 26 ต.ค.นี้

 

 

เตือนบางพลัดจะท่วมเต็มพื้นที่ 1-2 วัน สูง 50 ซ.ม. น้ำจะไหลไปที่เขตบางกอกน้อย และภาษีเจริญ ส่วนคลองมหาสวัสดิ์คาดภายใน 3 วันจะมีปัญหารับน้ำมากระบายน้ำไม่ทัน ทางเหนือกทม.น้ำจะท่วมเต็มดอนเมืองอีก 2 วัน สูง 50 ซ.ม.จะไหลสู่เขตหลักสี่ 26 ต.ค.นี้ เขตสายไหมจะท่วมเต็มพื้นที่เช่นกัน

 

เมื่อเวลา 00.20 น. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ว่า สถานการณ์น้ำที่กรุงเทพฝั่งตะวันตกหลังจากเขื่อนกั้นน้ำที่บางพลัดพังลง ทำให้มีน้ำล้นเข้าพืนที่บางพลัดตอนนี้หนักมาก คาดว่าน้ำจะใช้เวลา 1- 2 วัน จะท่วมเขตบางพลัดทั้งหมด ระดับน้ำจะสูง 50 ซ.ม. จากนั้นน้ำจะไหลไปที่เขตบางกอกน้อย หลังจากนั้นไปที่เขตภาษีเจริญ ให้ประชาชนเตรียมรับสถานการณ์ ขนของขึ้นที่สูงเกิน 1 เมตร

 

สำหรับน้ำจาก อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ขณะนี้ท่วมเต็มอ.ลาดหลุมแก้ว และ อ.บางบัวทอง กำลังไหลลงมาข้ามคันคลองมหาสวัสดิ์แล้ว น้ำส่วนหนึ่งจะไหลลงคลองประปา และลงคลองนราภิรมย์หรือคลองทวีวัฒนา ถ้าน้ำล้นคลองนราภิรมย์ น้ำทุกส่วนจะไหลลงคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งมีปริมาณน้ำมามากต้องสูบลงแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ศักยภาพในการสูบน้ำไม่ทันกับปริมาณน้ำที่มาก ทำให้น้ำจะไหลเร็วมาก ประชาชนบริเวณใกล้เคียงควรจะพิจารณาอพยพ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน คลองมหาสวัสดิ์จะเริ่มมีปัญหา

 

ทางด้านเหนือของกรุงเทพมหานคร ถนนวิภาวดีรังสิต การสร้างคันกั้นน้ำที่ถนนไม่ได้ช่วยอะไรเลย การสร้างคันกั้นเพื่อต้องการให้ถนนแห้ง แต่ถนนก็ยังเปียกเหมือนเดิม ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นด้วย การสร้างคันกั้นน้ำจะทำให้น้ำเอ่อเหนือคัน น้ำจะอ้อมเข้าถนนวิภาวดีอยู่ดี อยากแนะนำให้ปล่อยน้ำไหลไปตามถนน ประกอบกับขณะนี้น้ำเหนือกำลังมา ตอนนี้เข้าเขตดอนเมือง ถ้ากั้นถนน น้ำจะสูงขึ้น ประชาชนต้องเตรียมรับสถานการณ์ ระดับน้ำท่วมจะสูงประมาณ 50 ซ.ม. คาดว่าเขตดอนเมืองน้ำจะท่วมเต็มภายในอีก 2 วัน โดยน้ำจะมาที่เขตหลักสี่ในวันพรุ่งนี้( 26 ต.ค.) หลังจากนั้นจะไหลเข้าเขตบางเขนต่อไป ส่วนที่เขตสายไหมพรุ่งนี้( 26 ต.ค.)ก็จะท่วมเต็มพื้นที่

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ปิดอุโมงค์บางพลัด หลังน้ำทะลักจรัญฯ 74 ท่วมสูงกว่าเมตรครึ่ง

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 ตุลาคม 2554 12:01 น.

 

 

554000014457101.JPEG

 

กระสอบทรายเอาไม่อยู่ น้ำเจ้าพระยาทะลักผ่านหลังใช้หนุนแทนคอนกรีตที่ยังสร้างไม่เสร็จยาวกว่า 40 ม. ทำซอยจรัญฯ 32-36 ท่วม 50 ซม. ด้านจรัญฯ 74 ท่วมกว่าเมตรครึ่ง ต้องปิดอุโมงค์บางพลัด ส่วน ปชช.เร่งอพยพ ผบ.ทบ.ดอดให้กำลังใจทหาร เตือนระวังกระแสไฟฟ้า และสัตว์มีพิษ

 

สถานการณ์น้ำท่วมในซอยจรัญสนิทวงศ์ 74/1 วันนี้ (26 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้ที่ทหารได้เร่งอุดกระสอบทรายแทนคันคอนกรีตที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ ซึ่งมีความยาวกว่า 40 เมตร ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาหนุนสูงอยู่ที่ระดับ 2.40 เมตร ทำให้กระแสน้ำแรง ส่งผลให้การทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งนี้ น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ไหลทะลักผ่านแนวคันกั้นน้ำ ส่งผลให้ระดับน้ำในซอยจรัญสนิทวงศ์ตั้งแต่ซอย 32-36 ในเขตบางกอกน้อย สูงถึง 50 เซนติเมตร รถเล็กสัญจรลำบาก

 

นอกจากนี้ ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 74 เขตบางพลัด น้ำได้ไหลเข้าท่วมสูงถึง 1 เมตรครึ่งแล้ว และได้เอ่อล้นออกถนนใหญ่สูง 50-60 เซนติเมตร ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปิดการจราจรที่อุโมงค์บางพลัด ที่จะมุ่งหน้าไปสะพานพระราม 7 เนื่องจากเจอจุดที่มีน้ำท่วมขังสูงบริเวณที่ปลายอุโมงค์ ซึ่งจะทำให้มีปัญหาการจราจร อีกทั้งรถเล็กอาจต้องจอดเสีย จึงต้องปิดเส้นทางดังกล่าว ทำให้การจราจรไม่สามารถใช้การได้

 

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ประสบภัยส่วนใหญ่ได้เริ่มทยอยอพยพออกจากพื้นที่แล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารช่วยเหลือ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้เดินทางมาให้กำลังใจทหารที่เร่งทำการซ่อมแซมแนวคันกั้นน้ำ โดยขอให้การทำงานลุล่วง และเตือนเจ้าหน้าที่ทหารทุกนายให้ระวังกระแสไฟฟ้ารั่ว และระวังสัตว์มีพิษ

ถูกแก้ไข โดย moddang..

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ผู้เชี่ยวชาญหวั่นท่วม กทม.นานนับเดือน จี้กรมชลฯ ผันน้ำฝั่งตะวันออกเต็มร้อย

 

 

ปชป.ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำฝ่าวิกฤตน้ำท่วมเมืองกรุง จี้รัฐสั่งกรมชลฯ ผันน้ำฝั่งตะวันออกเต็มร้อย บรรเทาเมืองหลวงจมบาดาล หวั่นท่วมขังนานนับเดือน บางกะปิ พระโขนง อาจจมน้ำ 2 เมตร

 

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 26 ต.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้เชิญนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานเพื่อสิ่งแวดล้อมนานาชาติ สิรนธร และนายธีรชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.มาหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาอุทกภัยกับคณะผู้บริหารของพรรค ก่อนที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเงา เพื่อกำหนดแนวทางแก้ปัญหาเสนอต่อรัฐบาล

 

นายเสรีเปิดเผยว่า ได้ชี้แจงต่อทางพรรคประชาธิปัตย์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมใน กทม.ว่า เลวร้ายที่สุดน้ำจะท่วมขังนานนับเดือน พื้นที่ที่น่าเป็นห่วง คือ บางกะปิ พระโขนง ซึ่งน้ำอาจท่วมสูงถึง 1.5-2 เมตร ประชาชนจะไม่สามารถดำรงชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีทางที่จะลดความเสียหายได้ โดยกรมชลประทานจะต้องเปิดประตูระบายน้ำและเดินเครื่องสูบน้ำไปยังฝั่งตะวันออกเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายไปแล้ว แต่การระบายน้ำยังไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้

 

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีต้องมีทีมงานของตัวเองไปตรวจสอบในพื้นที่ว่ากรมชลประทานดำเนินการตามนโยบายหรือไม่ อีกทั้งต้องรีบแก้ปัญหามวลชนต่อต้านด้วยการทำความเข้าใจกับประชาชนว่า หากกรุงเทพฯ เสียหายเท่ากับประเทศไทยไปหมดทั้งประเทศ เพราะกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางบัญชาการคลี่คลายสถานการณ์ หากรัฐบาลปกป้องกรุงเทพฯ ไม่ได้ ความเชื่อมั่นก็หมดลงทันที แต่ถ้าการระบายน้ำฝั่งตะวันออกทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่ากรุงเทพฯ จะไม่รอดจากการถูกน้ำท่วมแต่ระดับน้ำจะสูงไม่เกิน 50 เซนติเมตร แต่ถ้านายกรัฐมนตรียังไม่รีบตัดสินใจ น้ำจะท่วมสูงในหลายพื้นที่ จนกระทั่งการไฟฟ้าไม่สามารถจ่ายไฟได้ การประปามีปัญหา เท่ากับทุกอย่างปิดตาย ไม่จำเป็นต้องประเมินอีก

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายอภิสิทธิ์หารือกับนักวิชาการแล้ว ได้นำข้อสรุปเข้าที่ประชุม ครม.เงา เพื่อกำหนดมาตรการคลี่คลายสถานการณ์ลดความเสียหายในพื้นที่ กทม.ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อย่างเป็นระบบต่อไป

ถูกแก้ไข โดย moddang..

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

"ปู-ผบ.ทบ." ตรวจแนวกั้นน้ำศิริราช เตรียมวางแผนอพยพผู้ป่วยแล้ว

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 ตุลาคม 2554 16:26 น.

 

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9540000136705

 

 

 

“นายกฯ” พร้อม "ยุทธศักดิ์-ประยุทธ" ตรวจความพร้อมแนวคันกั้นน้ำเกาะรัตนโกสินทร์-โรงพยาบาลศิริราช คณบดีฯ ศิริราช เผยกักตุนยาไว้บ้างแล้ว แต่ใช้ได้ 1 เดือน วางแผนอพยพผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินทางน้ำไปยัง 4 โรงพยาบาลแล้ว "ยิ่งลักษณ์" ชมโมเดลศิริราชดูแลพื้นที่ดี จ่อใช้เป็นแผนเฝ้าระวังสถานที่ราชการ แต่ย้ำต้องเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง ลั่นปกป้องพื้นที่สีลมเขตเศรษฐกิจ ฝากประชาชนเฝ้าระวังคันกั้นน้ำ สั่งผบ.ทบ.นำเรือยางติดเครื่องยนต์ 3 พันลำช่วยผู้ประสบภัย หลังจากจีนบริจาคช่วย

 

เมื่อเวลา 14.10 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม และพล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา ผู้บัญชาการทหารบก ตรวจดูความพร้อมคันกั้นน้ำริมน้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าราชวรดิษฐ์ เพื่อรับฟังแผนการป้องกันน้ำในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเขตพระราชฐานต่างๆ จากนายรัตนาวุธ วัชโรทัย ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สำนักพระราชวัง และพ.อ.ธรรมนูญ วิถี ผู้อำนวยการกองยุทธการ กองทัพภาคที่ 1

 

โดยพ.อ.ธรรมนูญ กล่าวว่า ได้วางแนวทางการป้องกันพื้นที่โดยรอบเกาะรัตนโกสินทร์ 4 ขั้น คือ 1.การป้องกันพื้นที่ภายใน และภายนอกเขตพระราชฐาน โดยใช้กระสอบทรายจำนวน 4 หมื่นกระสอบ 2.การรับมือกรณีน้ำสูงเกิน 80 ซม. 3.แผนการอพยพประชาชนในพื้นที่ 4.การกอบกู้และฟื้นฟูหลังน้ำลด ซึ่งในขณะนี้แม่น้ำเจ้าพระยายังอยู่ในระดับต่ำว่าแนวกระสอบทรายประมาณ 1 เมตร

 

จากนั้นคณะของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางไปยังท่าน้ำศิริราช รพ.ศิริราช เพื่อตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ พร้อมรับฟังแผนการอพยพผู้ป่วยหากไม่สามารถรับมือกับปริมาณน้ำได้ และฟังบรรยายสรุปจากศ.นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณะบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล อย่างไรก็ตาม ระหว่างเดินพูดคุยกัน ศ.นพ.ธีรวัฒน์ ได้แจ้งนายกฯว่า รพ.ศิริราชได้กักตุนยาเวชภัณฑ์ไว้มากพอ แต่สามารถใช้ได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น จึงขอการสนับสนุนจากนายกฯเรื่องยา ทั้งนี้ทางรพ.ได้เตรียมแผนอพยพผู้ป่วยทางน้ำไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ได้แก่ รพ.สิริกิติ์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี, รพ.หัวหิน, รพ.ราชบุรี และ รพ.กาญจนบุรี ขณะที่รพ.ศิริราชได้เปิดหอพักเพื่อรองรับผู้ประสบภัยมาพักอาศัยได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวนกว่า 500 คน และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อฟังบรรยาสรุปเสร็จ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทาง กลับศปภ.ท่าอากาศยานดอนเมืองทันที

 

ต่อมาเวลา 16.00 น.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งที่ศปภ.ท่าอากาศยานดอนเมือง ว่า รพ.ศิริราช ค่อนข้างมีความพร้อมเพราะมีแผนตามลำดับอยู่แล้ว โดยเฉพาะแนววัดระดับน้ำถือว่าเป็นโมเดลที่ดีอาจจะนำไปประยุกต์ใช้กับส่วนอื่น ๆ ด้วย ถ้าดูจากแนวแล้วมีการป้องกันทั้งแนวข้างนอกประมาณ 3 เมตร และชั้นในกองทัพเรือได้สร้างแนวไว้ตามตึกที่สำคัญๆ อีก 3.5 เมตรก็น่าจะสบายใจ และจะไปดูและขยายผลในส่วนอื่น ๆ ว่าในแต่ละจุดมีการดูแลแข็งแรงหรือเปล่า ซึ่งสถานที่สำคัญของราชการจะพยายามให้แต่ละกระทรวงรักษาพื้นที่ของตัวเอง ถ้าต้องการความช่วยเหลืออะไรศปภ.จะให้ความร่วมมือไป แต่ที่ห่วงคือการดูแลประชาชน เพราะตามประตูน้ำต่างๆ ที่เป็นจุดหลักทั้งฝั่ง ริมน้ำเจ้าพระยา ใต้แนวคันพระราชดำริประตูจุฬาลงกรณ์ และเขตสายไหมที่ยังมีน้ำรั่วซึม แต่ตรวจสอบทุกพื้นที่แล้วยังพยายามที่จะป้องกันดูแลแนวคันกั้นน้ำนั้นอยู่

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ากทม.น้ำท่วมจุดหนักที่สุดจะเป็นจุดใด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า น่าจะเป็นฝั่งขวาทางตะวันออกของกทม.ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและน้ำจากรังสิตมี ปริมาณสูง แต่ถ้ากทม.ระดมสูบระบายน้ำได้ก็น่าจะบรรเทาทุเลาลงไปได้ แต่อยากให้ฟังข้อมูลดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.เทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ ได้ชี้แจงไป ส่วนพื้นที่เศรษฐกิจ อย่าง ย่านสีลมเราพยายามป้องกันทุกส่วน เราอยากให้สังเกตดูตามแนวกั้นน้ำว่าถ้าระดับน้ำทะเลสูงใกล้กับระดับแนวกั้น น้ำก็อาจจะมีปัญหา ขอความกรุณาประชาชนช่วยดูแลตรวจตราแนวพนังกั้นน้ำถ้าถูกดึง ส่วนใดส่วนหนึ่งรั่วอาจจะทำให้ทะลักได้

 

ต่อข้อถามว่า ในช่วงบ่ายระดับน้ำหน้าอาคารผู้โดยสารภายในประเทศที่ตั้งของศปภ.สูงขึ้น ถึงเวลาจะย้ายศูนย์บัญชาการศปภ.หรือยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ยังต้องขอดูอีกครั้ง เพราะอยากให้ย้ายศูนย์พักพิงไปก่อน ถ้าศปภ.ไปก่อนก็ยังเป็นห่วงประชาชนที่มาพักพิงอยู่ วันพรุ่งนี้(27 ต.ค.)น่าจะย้ายออกได้หมด อาจจะเหลือบางส่วนที่จำเป็น แต่จำนวนไม่มาก ศปภ.อยู่ชั้น 2 คงไม่มีปัญหา แต่อาจจะมีปัญหาของเจ้าหน้าที่เราอาจจะจัดที่พักไว้ให้ และเส้นทางคมนาคมเรายังใช้ทางด่วนโทลเวย์ได้ แต่หากจะย้ายจะมีเฉพาะอุปกรณ์ และระบบมากกว่าการเคลื่อนย้ายน่าจะใช้เวลาติดตั้งระบบ 1-2 วัน แต่ไม่ว่าปริมาณน้ำเข้ามาอย่างไรอาคารชั้น 2 ของศปภ.ทำงานได้อยู่ เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะเข้ามาลำบากเราอาจจะไปดูแลเรื่อง การรับ-ส่งเจ้าหน้าที่ โดยจะให้ไปจอดรถรวมกัน และที่เรามองอีกวิธีคือการวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จากแต่ละที่ก็ทำได้ การประสานงานยังทำได้เหมือนเดิมไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน แต่ว่าถ้านั่งรวมศูนย์การตัดสินใจจะเร็วขึ้นแทนที่จะใช้การโทรศัพท์ติดต่อกัน

 

เมื่อถามว่า เหตุผลที่ไม่ย้ายศปภ.เพราะอะไรเป็นเพราะกลัวเสียหน้าทางการเมืองหรือ ไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า "ไม่ค่ะ ไม่กลัว วันนี้ไม่มีเรื่องการเมืองที่จะมาเสียหน้า แต่ว่าเนื่องจากการย้ายเราต้องไปหาที่ย้ายและทำงานได้ และเป็นสถานที่ที่ทุกคนเข้าไปทำงานได้สะดวกด้วย"

 

ต่อข้อถามว่า ช่วงวันหยุดพิเศษ 27-31 ต.ค.นายกฯหวังให้ประชาชนเฝ้าระวังอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า คาดหวังว่าประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยากให้ไปใช้ชีวิตพักผ่อนช่วงวันหยุดที่ต่างจังหวัด ซึ่งจะทำให้การดูแลต่างๆปลอดภัย เพราะช่วงน้ำทะเลหนุนสูง แต่สำหรับประชาชนที่อยู่ในกทม.จะได้จัดการยกระดับของมีค่าต่างๆ นั้นขึ้นสู่ที่สูง แต่เราไม่แนะนำบ้านชั้นเดียวเพราะเมื่อน้ำเข้าระบบไฟฟ้าที่ตัดและเข้าไปดูแลลำบาก ถ้าบ้านสองชั้นจะอยู่ชั้นสองได้แต่การเดินทางอาจจะใช้ทางเรือ

 

เมื่อถามว่า ทางกทม.บอกว่าจะบีบให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่อาจจะมีน้ำท่วมสูงออกจากพื้นที่ โดยการตัดน้ำตัดไฟฟ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ เรื่องแผนอพยพต่างๆ กทม.เป็นหลักเราร่วมทำงานสนับสนุน เมื่อถามว่า วิธีตัดน้ำตัดไฟฟ้าให้คนอพยพออกจากบ้านเหมาะสมหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้แล้วแต่วิธีมันต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่ถ้าท่วมสูงประมาณ 1 เมตรกว่า โดยเฉพาะหากมีผู้สูงอายุอยู่ก็เป็นห่วง แต่ขึ้นอยู่กับการบริการดูแลประชาชน ข้อเท็จจริงในต่างจังหวัดมีประชาชนจำนวนมากก็ไม่ยอมออกจากพื้นที่ แต่ต่างกับกทม.เพราะต่างจังหวัดชินในการใช้เรือสัญจรไปมาถ้าเราดูแลเรื่อง เรือ น้ำดื่ม อาหารให้ก็อยู่ได้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ระหว่างที่นายกฯ เดินพูดคุยกับพล.อ.ประยุทธ ในระหว่างตรวจคันกั้นน้ำที่ท่านน้ำราชวรดิษฐ์ นายกฯ ได้ให้ผบ.ทบ.นำเรือยางติดเครื่องยนต์ ที่ได้รับการบริจาคจากประเทศจีนมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 3,000 ลำ

ถูกแก้ไข โดย moddang..

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

รพ.ศิริราชรับเฉพาะผู้ป่วยวิกฤติขั้นรุนแรงช่วงวิกฤตน้ำท่วม

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 ตุลาคม 2554 10:00 น.

 

 

รพ.ศิริราชประกาศราชรับเฉพาะผู้ป่วยวิกฤติขั้นรุนแรงช่วงวิกฤตน้ำท่วม เหตุเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ยา เวชภัณฑ์และอาหารมีจำกัด

 

ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แจ้งถึงผู้ป่วยที่จะมารับบริการที่โรงพยาบาลศิริราช สืบเนื่องจากภาวะน้ำท่วมทำให้โรงพยาบาลศิริราชมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ประกอบกับมีข้อจำกัดด้านปริมาณยา เวชภัณฑ์และอาหาร โรงพยาบาลศิริราชจะรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลเฉพาะกรณีที่เจ็บป่วยรุนแรงขั้นวิกฤตเท่านั้น ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จึงเรียนมาเพื่อทราบและขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

วัดหลักสี่น้ำท่วมสูงแล้ว 80 ซม. -ล้นท่วมรพ.ภูมิพล

 

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 ตุลาคม 2554 09:28 น.

 

 

สถานการณ์น้ำพื้นที่ถนนวิภาวดีรังสิต น้ำทะลักถึงหน้าวัดหลักสี่แล้ว สูง 80 ซม. ปิดการจราจรวิภาฯ ขาออก รถเล็กผ่านไม่ได้ ขณะที่ด้านฝั่งพหลโยธิน น้ำไหลล้นคันกั้น เข้าท่วม รพ.ภูมิพล ส่วนที่ท่าอากาศยานดอนเมืองที่ตั้งศปภ.พนังกั้นน้ำทางทิศเหนือแตก ระดับน้ำสูงจนเอ่อท่วมลานจอดรถ เจ้าหน้าที่เร่งตัดไฟ ยกหม้อแปลงหนี

วันนี้(27 ต.ค.) สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต เช้าวันนี้ น้ำได้ไหลมาถึงบริเวณวัดหลักสี่ ซึ่งมีปริมาณน้ำสูง 80 ซม.ห่างจากด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษหรือด่านโทลเวย์หลักสี่เพียง 200 เมตร ทำให้ต้องปิดเส้นทางการจราจรในถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก ตั้งแต่หน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษหลักสี่ เพราะมีน้ำท่วมสูงประมาณ 50 ซม. และรถเล็กไม่สามารถผ่านได้ ขณะที่ถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาเข้ามีการปิดเส้นทางการจราจรตั้งแต่หน้าห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต จนถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อวานนี้ปริมาณได้เพิ่มขึ้นมากและไม่มีทีท่าว่าจะลดระดับลงแต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ บริเวณถนนพหลโยธิน หน้าแยกกรมพลาธิการทหารอากาศหรือปากซอยพหลโยธิน 54/1 มวลน้ำจากฝั่งรังสิตและคลอง 2 ส่งผลให้ปริมาณน้ำยังคงท่วมสูงไปจนถึงหน้าห้างบิ๊กซี สะพานใหม่ ซอยพหลโยธิน 54 เขตบางเขนแล้ว ซึ่งจุดนี้น้ำเพิ่มปริมาณสูงขึ้นจากเมื่อวานเช่นกัน โดยได้มีการปิดการจราจรตั้งแต่แยกกรมพลาธิการทหารอากาศไปจนถึงแยกอนุสรณ์สถาน ขณะที่หน้าโรงพยาบาลภูมิพลได้มีน้ำไหลล้นคันกั้นน้ำเข้าท่วมพื้นที่บางส่วนของโรงพยาบาลแล้ว

ทางด้านศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ดอนเมือง เจ้าหน้าศปภ.ได้ประชาสัมพันธ์ ว่า พนังกั้นน้ำบริเวณทางทิศเหนือของท่าอากาศยานดอนเมืองแตก ทำให้น้ำทะลักท่วมลานจอดรถ และระดับน้ำได้เพิ่มความสูงจนเป็นอันตรายต่อหม้อแปลงไฟฟ้า ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องตัดไฟ เพื่อแก้ไขยกหม้อแปลงขึ้นก่อนจ่ายไฟฟ้าอีกครั้ง

 

สำหรับบรรยากาศทั่วไปที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ซึ่งขณะนี้ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ เริ่มทยอยเดินทางมาบ้างแล้ว แต่วันนี้ค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากท่าอากาศยานดอนเมือง มีน้ำท่วมขังสูง รถเล็กผ่านไปมาได้ไม่สะดวก

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

จับตาเย็นนี้น้ำทะเลหนุนสูง - จรัญฯ ปิดการจราจรแล้ว

 

 

 

ปิดการจราจร ถ.จรัญสนิทวงศ์ ช่วงซอย 72-84 และ 75/1-89 ปชช.ในพื้นที่เร่งอพยพออกนอกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงเย็นนี้

 

สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ วันนี้ (27 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้ปิดการจราจรถนนจรัญสนิทวงศ์ขาเข้า ตั้งแต่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 72-84 ด้านขาออกปิดการจราจรตั้งแต่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 75/1-89 โดยประชาชนเริ่มอพยพออกจากพื้นที่มากขึ้น ส่วนการจราจรบริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 ช่วงบางขุนนนท์ รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ และประชาชนเร่งทยอยออกจากพื้นที่แล้วเช่นกัน

 

ด้าน พ.ต.ท.ศรายุทธ จุณณวัตต์รอง ผกก.ฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ (บก.02) กองบังคับตำรวจจราจร เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการปิดจราจรเพิ่มเติมอีก 2 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ถนนอรุณอัมรินทร์ จากแยกอรุณอัมรินทร์ไปถึง รพ.ศิริราช และ 2.ถนนบรมราชชนนีขาเข้า ตั้งแต่แยกพุทธมณฑลสาย 4 ไปถึงถนนคลองขุด

 

นอกจากนี้ ที่ถนนสิรินธรช่วงแยกบางพลัด ซึ่งได้ปิดการจราจรไปตั้งแต่เมื่อวานนี้ ได้ขยายพื้นที่ปิดการจราจรเพิ่มเติมไปจนถึงหน้าห้างตั้งฮั้วเส็ง ยาวตลอดไปจนถึงก่อนขึ้นต่างระดับสิรินธร และจะมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมใต้เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าไปจนถึงสถานีขนส่งสายใต้เก่า ตั้งแต่ช่วงเย็นวันนี้ไปจนถึงเวลา 21.00 น. เนื่องจากเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง หากจุดใดน้ำลดและรถพอจะวิ่งไปได้ก็จะเปิดการสัญจรเป็นระยะ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ผอ.ศปภ.รับ กทม.ยากที่จะป้องกัน แย้งเจาะถนน เล็งอพยพคนไป 8 จว.

 

 

"ประชา" ยันไม่มีแผนย้าย ศปภ.พ้นดอนเมือง รับน้ำค่อยๆ เข้ากทม. ยากที่จะป้องกัน โยน "ธงทอง" แจงเขตไหนซวยหนักสุด รับเจาะถนนยังเห็นไม่ตรงกัน แฉชาวบ้านขวางทำคันกั้นน้ำทำล่าช้า ขอปรึกษานายกฯ ก่อนขยายวันหยุด ปัดเน้นแก้เฉพาะฝั่งธน อ้างน้ำมุดขึ้นท่อป้องกันไม่ได้ ยันมวลน้ำทัพหลวงยังไม่เข้าตีเมืองกรุง เผยมีแผนอพยพคนไป 8 จว. พร้อมคลังอาหารสำหรับคนไม่ทิ้งบ้าน โอ่ถ้าน้ำไม่ถึง 4 เมตรรถไฟฟ้าใต้ดินก็ไม่มีปัญหา

 

วันนี้ (27 ต.ค.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศปภ.กล่าวถึงการย้ายที่ทำการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง ว่า ยังไม่มีแผนนี้ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กำลังคืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ ทั้งทางบกและทางใต้ดิน ซึ่งทางบกนั้นเราพอที่จะกั้นได้ โดยใช้แนวคันกระสอบทราย แต่ทางมาทางท่อใต้ดิน หรือคันคลอง ก็จะขึ้นมาเรื่อยๆ ต้องยอมรับว่าพื้นที่กทม.เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ธรรมชาติของน้ำต้องเคลื่อนที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ซึ่งก็พยายามระบายน้ำไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ขณะเดียวกันกทม.ก็มีเครื่องสูบน้ำอย่างเต็มที่ เพื่อจะระบายน้ำออกแต่อาจไม่ทัน ก็เลยส่งผลให้เอ่อเข้ากทม.ได้ อีกทั้งน้ำยังล้นจากแนวคันกั้นน้ำของกทม.ด้วย ยากที่จะป้องกันได้ ส่วนพื้นที่กทม.ในเขตแนวคันกั้นน้ำพื้นที่ใดจะได้รับผลกระทบหนักสุดนั้น เรื่องนี้จะให้นายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะโฆษกศปภ.เป็นผู้ชี้แจงอีกครั้งว่าพื้นที่ใดเป็นเช่นไร

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางที่จะมีการเจาะถนนเพื่อระบายน้ำไปทางฝั่งตะวันออกของกทม.เป็นเช่นไร พล.ต.อ. ประชา กล่าวว่า ก็มีปัญหาอยู่มาก เนื่องจากความคิดทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน โดยฝ่ายที่อยากให้ระบายน้ำลงคูคลองก็อยากให้น้ำไหลตามระบบที่ทำไว้ แต่ฝ่ายที่ไม่อยากให้น้ำไหลลงไปก็กลัวว่าจะได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้ก็กำลังเร่งทำความเข้าใจได้บางส่วนแล้ว เพราะหากระบายน้ำลงได้ไม่เต็มที่ ก็ขอให้ช่วยสิ่งที่กีดขวางทางน้ำ โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ขณะที่แนวทางการเจาะแนวทางถนนตนยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน

 

เมื่อถามว่า โอกาสที่น้ำจะเข้าไปยังบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมีหรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ธรรมชาติของน้ำคงไม่เว้นที่ใดที่หนึ่ง หากพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ต่ำ น้ำก็คงต้องไหลไป ซึ่งขณะนี้เรากำลังชะลอน้ำในหลายๆจุด ประมาณ 10 จุด แต่กลับพบว่ามีประชาชนที่ไม่เข้าใจมาขัดขวางการทำคันกั้นน้ำ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการระบายน้ำ จึงทำให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างช้า

 

เมื่อถามว่า หากสถานการณ์น้ำท่วมยังไม่คลี่คลายจะพิจารณาขยายวันหยุดราชการอีกหรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า จะต้องปรึกษาน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีก่อน เมื่อถามว่า ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาของฝั่งธนบุรีมากกว่าฝั่งพระนคร พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ไม่ได้ครับ รัฐบาลให้ความสำคัญเท่ากันทุกพื้นที่ และทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้ง 21 จังหวัด โดยรัฐบาลพร้อมจะให้ความช่วยเหลือเต็มที่สุดความสามารถ

 

เมื่อถามว่า น้ำที่ไหลมาจากบางใหญ่ นนทบุรี ไปลงคลองมหาสวัสดิ์และเริ่มเอ่อเข้าพื้นที่ศาลายา จะส่งผลให้สถานการณ์มีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า เมื่อน้ำทะเลขึ้นหนุนสูงสุดก็จะดันให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงล้นคันกั้นน้ำของกทม. สำหรับพื้นที่ฝั่งธนบุรี คันกั้นน้ำเกือบจะไม่มีเลย เรื่องดังกล่าวนี้ไม่ใช่รัฐบาลไม่ให้ความห่วงใย แต่รัฐบาลมีความห่วงใยยิ่ง สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการคือจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดหรือให้หมดไปโดยเร็วอย่างไร เมื่อถามย้ำว่า ศปภ.ไม่สามารถป้องกันกทม.ได้แล้วหรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า จะระบุว่าศปภ.ไม่ได้ก็คงไม่ใช่ เพราะทางศปภ.ได้พยายามทำทุกวิถีทาง แต่ถ้าน้ำมุดทางใต้ดินขึ้นมาสู่ท่อ ศปภ.ก็คงไปป้องกันไม่ได้ เพราะน้ำคือน้ำ

 

เมื่อถามว่า ขณะนี้มวลน้ำก้อนใหญ่เดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพมหานครแล้วหรือยัง พ.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ยังไม่เดินทางมาถึง ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าน้ำจะเดินทางมาเมื่อใด แต่ขณะนี้น้ำได้ไหลเข้ามาในเขตของกทม.เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมวลน้ำได้ผ่านดอนเมืองไปแล้ว

เมื่อถามว่า ศปภ.เตรียมแผนอะไรเพิ่มขึ้นหรือไม่ นอกจากการอพยพประชาชน พ.ต.อ.ประชา กล่าวว่า เตรียมไว้แล้ว เราได้ทำแผนเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่เมื่อวานนี้ (26 ต.ค.) ทั้งแผนการเคลื่อนย้ายประชาชนไปยังศูนย์พักพิง เมื่อถามว่า จะเคลื่อนย้ายประชาชนไปยังศูนย์พักพิงที่ใดบ้าง พ.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ขณะนี้เตรียมศูนย์พักพิงไว้ใน 8 จังหวัดด้วยกัน เช่น ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง นครราชศรีมา กาญจนบุรี นครปฐม เป็นต้น ซึ่งสามารถรับจำนวนประชาชนผู้อพยพได้จำนวน 1 - 2 แสนคน ส่วนระยะเวลาที่จะแจ้งต่อประชาชนเพื่ออพยพนั้น เราก็จะแจ้งเตือนอีกครั้ง ซึ่งหน่วยงานที่จะลำเลียงคนไปยังศูนย์อพนั้น เราได้ประสานงานไปหลายหน่วยงาน ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของทหารเพียงอย่างเดียว ส่วนประชาชนที่ไม่อยากอพยพเราก็ได้เตรียมคลังอาหารไว้แล้ว เพื่อรองรับประชาชน

 

เมื่อถามว่า สถานการณ์ในวันนี้มั่นใจในระบบไฟฟ้าและประปาได้หรือไม่ พ.ต.อ.ประชา กล่าวว่า มั่นใจได้ แม้กระทั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน หากระดับน้ำไม่ถึง 4 เมตร ก็ไม่มีปัญหา ทุกอย่างเราตรวจสอบไว้หมดแล้ว ทั้งนี้จากการที่ตนได้รับรายงานจากการประปานครหลวงในส่วนของพื้นที่กทม.นั้น น้ำในคลองมหาสวัสดิ์ ได้ไหลลงมายังคลองประปาบางส่วน จึงทำให้น้ำประปาสีเพี้ยนและมีกลิ่นบ้าง แต่จะเป็นเฉพาะฝั่งธนบุรีเท่านั้น ซึ่งทางการประปาได้แนะนำให้ประชาชนต้มน้ำก่อนที่จะนำไปบริโภคแล้ว

 

พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า เราจะมีการเตรียมรถทหารไว้รับส่งเจ้าหน้าที่และสื่อมวลที่มาปฏิบัติหน้าที่ที่ศปภ.ดอนเมือง โดยจัดเตรียมไว้ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสจตุจักรขามา เวลา 7.30 น.และ 09.00 น. ทั้งนี้แม้น้ำท่วมสูงก็ไม่ย้ายศูนย์ ส่วนเย็นประมาณ 18.00 น.กับ 20.00 น. ส่วนจะเริ่มเมื่อไหร่นั้นต้องรอดูอีกครั้งหนึ่ง

 

เมื่อถามว่า ถึงการให้นายธงทอง มาช่วยโฆษกศูนย์ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า มาเสริมกัน และนายวิม ก็ยังทำหน้าที่เดิมที่เหมือนผู้จัดการใหญ่ในการบริหารจัดการสื่อ เป็นหัวหน้าทีมเหมือนเดิม

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ปิดถนนชัยพฤกษ์-นครอินทร์ ช่วงวงเวียนนครอินทร์-พระราม 5 ชี้น้ำสูง

 

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 ตุลาคม 2554 15:37 น.

 

 

 

 

กรมทางหลวงชนบท ประกาศปิดถนนชัยพฤกษ์-นครอินทร์ ช่วงวงเวียนนครอินทร์-พระราม 5 เหตุน้ำท่วมสูง เผยถนนหลวงชนบทเสียหายรวม 867 สาย สัญจรได้ 655 สัญจรไม่ได้ 212 สาย มูลค่ากว่า 6.4 พันล้านบาท

 

วันนี้ (27 ต.ค.) นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบทได้ปิดถนนชัยพฤกษ์ทั้งเส้น เนื่องจากมีน้ำท่วมสูง รถไม่สามารถวิ่งได้ นอกจากนั้น กรมทางหลวงชนบทยังได้ปิดถนนราชพฤกษ์ ช่วงตั้งแต่รัตนาธิเบศร์-ถนนทางหลวงสาย 345 เนื่องจากน้ำท่วมสูง ขณะเดียวกันยังได้ปิดถนนนครอินทร์ ช่วงวงเวียนนครอินทร์-พระราม 5 ด้วยเนื่องจากน้ำสูง ทำให้รถไม่สามารถวิ่ง และสัญจรผ่านได้

 

อธิบดีกรมทางหลวงชนบทยังกล่าวว่า จากปัญหาน้ำท่วมขณะนี้ได้ส่งผลให้ถนนทางหลวงชนบทเสียหายทั่วประเทศ รวมกว่า 867 สายทาง ซึ่งเป็นถนนเสียหาย แต่ประชาชนยังสามารถสัญจรผ่านไปมาได้ จำนวน 655 สายทาง และเป็นถนนเสียหาย ที่ประชาชนไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้เลยกว่า 212 สายทาง ซึ่งความเสียหายทั้งหมดในขณะนี้ พบว่าเสียหายรวมกว่า 6,450 ล้านบาท ส่วนถนนรอบปริมณฑลในขณะนี้ที่น้ำท่วมสูงจนทำให้รถไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้เลยเนื่องจากน้ำท่วมขังสูง และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

คำพ่อสอนเรื่อง การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ

 

 

 

เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย กับคณะข้าราชการกรมชลประทานว่า

 

ทุกฝ่ายทั้งผู้ใหญ่ทั้งผู้น้อยต้องสนใจว่า น้ำมันลงมาได้อย่างไร ต้องสนใจว่าประตูน้ำจะต้องเปิดปิดเมื่อไหร่ ถ้าสามารถเปิดปิดให้ตรงเวลา จะก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของทั้งระบบให้น้อยลง อาจมีผิดพลาดบ้าง น้ำท่วมบ้างแต่ก็น้อยมาก ต้องไปพิจารณาดูว่าจังหวะของการเปิดปิดประตูน้ำ เปิดก็สำคัญเท่ากับปิด ถ้าเปิดให้ถูกต้องแล้วน้ำก็ออกไป ถ้าเปิดปิดให้ถูกต้องก็ไม่ต้องใช้พลังงาน ประหยัดทั้งเงิน ประหยัดเวลา ถ้าเจ้าหน้าที่รู้จักเปิดปิดให้ถูกเวลา เขาก็ได้รับความชมเชยในการทำหน้าที่ ต้องเข้าใจว่าที่เปิดหรือปิดถูกเวลาถูกจังหวะเท่ากับเป็นงานที่ทำที่ถูกต้อง ที่ดี เพราะต้องเข้าใจว่าประตูน้ำไม่ได้มีหน้าที่ปิดอย่างเดียว ประตูน้ำมีหน้าที่ทั้งปิดและเปิด ต้องอธิบายให้ทราบทุกฝ่าย ทั้งพื้นที่ของภาคกลาง ภาคใต้ ภาคอีสานก็ต้องมีเวลาปิดเปิดให้ถูกต้อง ถ้าเปิดปิดถูกต้องจะช่วยประหยัดพลังงานและกำลังของเจ้าหน้าที่

 

พระองค์ ยังรับสั่งถึงการขยายผลการสร้างประตูระบายน้ำแบบคลองลัดโพธิ์ไปยังพื้นที่ อื่นๆ เนื่องจากสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ดีว่า เท่าที่อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชสังเกตได้ว่า ถ้าน้ำเจ้าพระยานี้ก็รับน้ำได้มากโดยเฉพาะโครงการคลองลัดโพธิ์ที่อยู่ใกล้ๆ แถวนี้ สามารถระบายน้ำให้ผ่านทางประตูน้ำได้ผลดี เห็นได้ชัดว่าเวลาฝนตกหนัก น้ำสูงขึ้นมากๆ แต่ก็สามารถระบายน้ำได้ดี เพราะการระบายน้ำลงไปลงทะเลได้ดี โครงการนี้ดีเห็นได้ชัดว่าทำได้ให้ลงทะเลโดยเร็ว เพราะว่าตัวที่ผันผ่านโครงการลัดโพธิ์มีระยะไม่กี่ร้อยเมตรแต่สามารถระบาย น้ำได้ดี หลายปีมาแล้วก็มีการทำโครงการนี้ก็สำเร็จผลขึ้นมาก น้ำลดลงไปจริงๆ ถ้าพัฒนาวิธีการนี้เพิ่มเติมให้ลงทะเลแล้วชาวบ้านก็รู้แล้ว ได้เห็นว่าประสิทธิภาพของโครงการลัดโพธิ์ว่าทำได้จริงๆ

วันที่ 12 ตุลาคม 2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายรายงานสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยต่อประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย เพราะ สถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้รุนแรงและเกิดความเสียหายต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก ทรงแนะนำให้เร่งระบายน้ำออกทางด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และขุดคลองเพื่อช่วยการระบายน้ำ

 

แผนการระบายน้ำออกทางด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เป็นพระราชดำริของในหลวงเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ทรงให้ข้อเสนอแนะต่อกรมชลประทานเรื่องการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก ผ่านคลองระพีพัฒน์ และคลอง 13 - 14 เพื่อลดปริมาณน้ำที่ผ่านกรุงเทพมหานครให้น้อยลง โดยระบายน้ำจากคลองระพีพัฒน์ผ่านคลอง 13-14 มาลงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ จากนั้นให้ปิดประตูน้ำคลองรังสิตฯช่วงคลอง 12 เพื่อกันไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับมาทางคลองต้นๆ และผลักดันนั้าไปตามคลองรังสิต ไปออกที่ประตูน้ำเสาวภาผ่องศรี ที่อยู่ปลายคลองรังสิตตรงองครักษ์ เพื่อดันน้ำลงสู่แม่น้ำนครนายก

 

อีกเส้นหนึ่งคือน้ำจากคลองรังสิตฯจะถูกส่งผ่านคลอง 13-16 ลำลูกกา ไปลงคลองหกวา ซึ่งสามารถจะระบายต่อไปยังคลองแสนแสบ น้ำในเส้นทางนี้สามารถไปออกแม่น้ำบางปะกงจากคลองหกวา และคลองแสนแสบได้ รวมทั้งยังมีคลองพระองค์ไชยานุชิตและคลองย่อยอื่นๆ ที่จะระบายไปออกทะเลที่สมุทรปราการ

 

เพื่อที่จะผลักดันน้ำได้สำเร็จจึงมีการพิจารณาความสูงต่ำของพื้นที่เพื่อดูความเป็นไปได้ที่น้ำจะไหลไปออกทางฝั่งตะวันออกได้ โดยพื้นที่ฝั่งบางปะกงจะมีความต่ำกว่าพื้นที่ฝั่งปทุมธานี ในส่วนไหนที่มีความสูงแตกต่างกันน้อยก็จะมีการสร้างประตูน้ำกันน้ำไหลย้อน และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อผลักดันน้ำให้ไปในทิศทางที่ต้องการ

 

กรมชลประทานรับสนองพระราชดำริ โดยการขุดลอกช่องทางระบายน้ำที่จะรับน้ำจากคลองระพีพัฒน์(แยกใต้) ผ่านคลอง 1 อ. คลองผักขวาง และ คลอง 14 ในเขตโครงการชลประทานรังสิตเหนือ พร้อมทั้งก่อสร้างอาคารบังคับน้ำเพิ่มเติม 4 แห่ง คือ ท่อระบายน้ำรับน้ำจากคลองระพีพัฒน์ แยกใต้ คลอง 1 อ. คลอง 2 อ. ประตูระบายน้ำในคลองระพีพัฒน์แยกใต้ และประตูควบคุมน้ำในคลองรังสิต เพื่อควบคุมน้ำมิให้ไหลเข้าสู่คลองรังสิตช่วงธัญญบุรี และจุฬาลงกรณ์ การก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อ ปี 2545

 

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ เป็นข้อพิสูจน์ถึงพระปรีชาสามารถ และสายพระเนตรที่มองการณ์ไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด โครงการพระราชดำริ ที่เกี่ยวกับการบรรเทาอุทกภัย ที่เราเคยแต่ได้ยินได้ฟังกันมาช้านาน มาบัดนี้ก็ได้สัมผัสด้วยประสบการณ์ตรงแล้วว่า โครงการเหล่านี้ มีความสำคัญในการป้องกันน้ำท่วมได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ การสร้างคันดินกันน้ำ การสร้างแก้มลิงรองรับน้ำ การขุดลอกคลองลัดน้ำ เพื่อย่นระยะทางและเวลาในการระบายน้ำลงสู่ทะเล

ถูกแก้ไข โดย moddang..

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

“สมุทรสาคร” ประกาศเตือนทั้ง 3 อำเภอ เตรียมพร้อมรับอุทกภัย

 

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 ตุลาคม 2554 13:58 น.

 

 

 

ผู้ว่าฯ สมุทรสาครเตือน 3 อำเภอของจังหวัดรับมือน้ำท่วม เหตุน้ำในแม่น้ำท่าจีนเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมวลน้ำจากพุทธมณฑล-นครชัยศรีเอ่อล้นเข้ามา คาดระดับน้ำสูง 50-80 ซม. แนะเก็บของขึ้นที่สูงไม่ต่ำกว่า 1 เมตร วอนอย่าตื่นตระหนกตกใจเพราะคาดกระแสน้ำกำลังอ่อนลง ขณะที่เมื่อช่วงเช้าวันนี้น้ำทะเลหนุนเข้าท่วมตลาดมหาชัย ทำประชาชนสัญจรลำบาก

 

วันนี้ (28 ต.ค.) นายจุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ออกประกาศจังหวัดสมุทรสาคร เรื่อง ขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย ระบุว่า ด้วยปัจจุบันได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในหลายจังหวัดของประเทศไทย ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก จากการติดตามสถานการณ์อุทกภัยดังกล่าว ของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดสมุทรสาคร พบว่าจังหวัดสมุทรสาครมีแนวโน้มที่จะเกิดสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของจังหวัด ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของประชาชน สถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ในการรับมือกับสถานการณ์อุทกภัย รวมทั้งเพื่อลดความสูญเสียจากอุทกภัย จึงขอให้ดำเนินการดังนี้

1. อำเภอกระทุ่มแบน สถานการณ์น้ำแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณมากขึ้น ประกอบกับมวลน้ำที่เอ่อล้นมาตามพื้นที่ลุ่มจากอำเภอพุทธมณฑล อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งคาดว่ามวลน้ำจะเอ่อล้นมาถึงเขตอำเภอกระทุ่มแบน จะมีความสูงประมาณ 50-80 เซนติเมตร จึงขอให้ประชาชน สถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ในเขตอำเภอกระทุ่มแบน เก็บของมีค่า เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่อาจเสียหายจากน้ำ รวมทั้งย้ายปลั๊กไฟ สวิทซ์ไฟฟ้า ให้อยู่ในระดับสูงไม่น้อยกว่า 1-1.5 เมตรจากพื้น ให้แล้วเสร็จในช่วง 2-3 วันนี้

 

2. อำเภอบ้านแพ้ว สถานการณ์ในพื้นที่รองรับน้ำจากคลองจินดา ผ่านคลองตาปลั่ง คลองเขื่อนขันธ์ และคลองเจ็ดริ้ว ลงสู่คลิองดำเนินสะดวก มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น และอาจจะล้นตลิ่งท่วมในพื้นที่ลุ่มได้ ระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร จึงขอให้ประชาชน ในเขตอำเภอบ้านแพ้ว ให้เก็บของมีค่า เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่อาจเสียหายจากน้ำ รวมทั้งย้ายปลั๊กไฟ สวิทซ์ไฟฟ้า ให้อยู่ในระดับสูงไม่น้อยกว่า 1 เมตรจากพื้น ให้แล้วเสร็จในช่วง 2-3 วันนี้

 

3. อำเภอเมืองสมุทรสาคร สถานการณ์ในแม่น้ำท่าจีน มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับน้ำที่เอ่อล้นมาตามพื้นที่ลุ่มจากอำเภอกระทุ่มแบน จะมีความสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร จึงขอให้ประชาชน ในเขตอำเภอบ้านแพ้ว ให้เก็บของมีค่า เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่อาจเสียหายจากน้ำ รวมทั้งย้ายปลั๊กไฟ สวิทซ์ไฟฟ้า ให้อยู่ในระดับสูงไม่น้อยกว่า 1 เมตรจากพื้น ให้แล้วเสร็จในช่วง 2-3 วันนี้

 

“ขอชี้แจงให้พ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดสมุทรสาครได้เข้าใจและทราบว่า ขณะนี้จังหวัดสมุทรสาครได้มีการเตรียมพร้อมในการรองรับสถานการณ์น้ำที่จะระบายมายังจังหวัดสมุทรสาครไว้เรียบร้อยแล้ว ขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกหรือตกใจ ซึ่งจังหวัดเราอาจมีผลกระทบจากกระแสน้ำบ้างในหลายพื้นที่ของจังหวัดสมุทรสาคร แต่ไม่รุนแรงเหมือนจังหวัดต่างๆ ของประเทสไทย เพราะกระแสน้ำกว่าจะมาถึงพื้นที่เรามีกำลังอ่อนลง ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท จังหวัดขอประกาศให้พ่อแม่พี่น้องได้เตรียมตัวให้พร้อม” นายจุลภัทรกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ผลจากการที่น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำจากแม่น้ำท่าจีนและคลองมหาชัยได้ไหลผ่านท่อระบายน้ำ และเขื่อนพนังป้องกันน้ำท่วมของกรมชลประทานที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ และถูกผู้รับเหมาทิ้งงานก่อนหน้านี้ เข้าท่วมพื้นที่ตลาดมหาชัย ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่ตลาดแม่พ่วง ถนนสุขาภิบาล ถึงทางรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ บริเวณสถานีรถไฟมหาชัย โดยระดับน้ำท่วมขังสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร ทำให้ประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของต่างเดินลุยน้ำด้วยความลำบาก ขณะที่เครื่องสูบน้ำจำนวน 15 เครื่องของเทศบาลนครสมุทรสาครกำลังเร่งสูบน้ำออกไปยังแม่น้ำท่าจีนอย่างต่อเนื่อง

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ประกาศ!! ปิดถนนใน กทม.ทั้งหมด 14 เส้นทาง

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 ตุลาคม 2554 12:07 น.

 

 

กองบังคับการตำรวจจราจร ประกาศปิดเส้นทางในกรุงเทพฯ เพิ่มเติม รวมทั้งสิ้น 14 เส้นทาง โดยเส้นทางที่ปิดเพิ่มอีก 4 เส้นทาง จากเดิมปิดแล้ว 10 เส้นทาง คือ ถนนเลียบคลองสอง ตั้งแต่แยกพลาธิการกองทัพอากาศ ถึงแยกสะพานปูน ทั้งขาเข้า-ออก ถนนจันทรุเบกษา ตั้งแต่แยกโรงเรียนนายเรืออากาศ ถึงแยกจันทรุเบกษา ทั้งขาเข้า-ออก ถนนอุทยาน ปิดตั้งแต่แยกอุทยานถึงแยกพุทธมณฑลสาย 3 ทั้งขาเข้า-ออก และถนนศาลาธรรมสพน์ ตลอดสาย

 

ส่วนเส้นทางที่ปิดไว้เดิม 10 เส้นทาง มีการขยายจุดปิดเนื่องจากน้ำเอ่อท่วมเพิ่มขึ้น ได้แก่ ถนนพหลโยธิน ปิดถึงหน้าห้างบิ๊กซีสะพานใหม่ ถนนกำแพงเพชร 6 ปิดถึงแยกเคหะทุ่งสองห้อง ถนนสงค์ประภา ตั้งแต่แยกศรีสมานถึงแยก กศบ. ถนนจรัญสนิทวงศ์ ตั้งแต่แยกบางพลัดถึงสะพานพระราม 7 ถนนบรมราชชนนี ตั้งแต่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าถึงต่างระดับสิรินธร และถนนบรมราชชนนี ตั้งแต่แยกพุทธมณฑลสาย 3 ถึงแยกพุทธมณฑลสาย 4

 

สำหรับเส้นทางที่ปิดเหมือนเดิม ได้แก่ ถนนวิภาวดีรังสิต ปิดตั้งแต่แยกหลักสี่ ถนนเวฬุวนาราม เชื่อมต่อซอยแจ้งวัฒนะ 14 ตลอดสาย ถนนสิรินธร ตั้งแต่แยกบางพลัดถึงต่างระดับสิรินธร และถนนอรุณอัมรินทร์ ตั้งแต่แยกอรุณอัมรินทร์ถึงโรงพยาบาลศิริราช

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Join the conversation

You can post now and register later. If you have an account, sign in now to post with your account.

ผู้มาเยือน
ตอบกลับกระทู้นี้...

×   วางข้อความแบบ rich text.   วางแบบข้อความธรรมดาแทน

  อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 75 อิโมติคอน.

×   ลิงก์ของคุณถูกฝังอัตโนมัติ.   แสดงเป็นลิงก์แทน

×   เนื้อหาเดิมของคุณได้ถูกเรียกกลับคืนมาแล้ว.   เคลียร์อิดิเตอร์

×   คุณไม่สามารถวางรูปภาพได้โดยตรง กรุณาอัปโหลดหรือแทรกภาพจาก URL

กำลังโหลด...

  • เข้ามาดูเมื่อเร็วๆนี้   0 สมาชิก

    ไม่มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนกำลังดูหน้านี้

×
×
  • สร้างใหม่...