ข้ามไปเนื้อหา
Update
 
 
Gold
 
USD/THB
 
สมาคมฯ
 
Gold965%
 
Gold9999
 
CrudeOil
 
USDX
 
Dowjones
 
GLD10US
 
HUI
 
SPDR(ton)
 
Silver
 
Silver/Oz
 
Silver/Baht
 

โพสต์แนะนำ

คำสาปของผู้ชนะ

โลกในมุมมองของ Value Investor : ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

 

"ข่าวดี" ในแวดวงของนักเล่นหุ้นที่พบมากที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือ การที่บริษัท "ชนะ" อะไรบางอย่าง เช่น การประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการ ที่ถูกควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น กิจการโทรคมนาคม การชนะประมูลก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ และการชนะประมูลหรือแข่งขันซื้อกิจการของบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น เพราะทุกครั้งที่มี "ข่าวดี" ดังกล่าว นักเล่นหุ้นต่างก็จะเข้าซื้อหุ้นไล่ราคาจนขึ้นไปสูง คนคิดว่าการที่บริษัทชนะการประมูล จะทำให้ผลประกอบการในอนาคตของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

แต่ความเป็นจริง ก็คือ การชนะประมูลนั้น ไม่ได้แปลว่าบริษัทจะต้องมีกำไรเพิ่มในอนาคต การชนะการประมูลนั้น หมายความเพียงว่า บริษัทจะมีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น มีธุรกิจมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า บริษัทจะต้องมีกำไรเพิ่มขึ้น หรือบริษัทจะมีกำไรเพิ่มขึ้นคุ้มค่ากับเงินที่จะต้องลงทุนเพิ่ม

 

นักวิเคราะห์หุ้นของบริษัทโบรกเกอร์ ก็มักจะมีหลักคิดที่อิงอยู่กับความเชื่อ ที่มี "หลักการอ้างอิง" และเป็น "ประโยชน์" ต่อโบรกเกอร์เองในการกระตุ้นให้คนซื้อขายหุ้น ดังนั้น นักวิเคราะห์ส่วนมาก ก็จะคาดการณ์ผลประกอบการที่จะเพิ่มขึ้นอย่างคนมองโลกในแง่ดี นั่นคือ คาดว่าบริษัทจะมีกำไรเพิ่มขึ้นคุ้มค่า หรือเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น ไม่มีใครบอกว่า การ "ชนะ" การประมูลหรือแข่งขันดังกล่าวเป็นสิ่งที่เลวร้าย และจะทำให้บริษัทขาดทุน หรือจะเป็น "หายนะ" ของบริษัทในอนาคต เหนือสิ่งอื่นใด การที่ "หุ้นวิ่ง" ขึ้นไปทันที จะให้อธิบายได้อย่างไรว่าบริษัทกำลังจะเผชิญกับ "ภัยพิบัติ" จากการชนะประมูล

 

แต่สำหรับผมเอง การที่บริษัทชนะประมูลหรือชนะในการซื้อกิจการแข่งกับคนอื่น ผมไม่ได้ถือว่ามันเป็นข่าวดีเสมอไป ว่าที่จริงหลายครั้งผมคิดว่ามันเป็น "ข่าวร้าย" ของบริษัท เพราะ "ราคา" ที่บริษัทเสนอที่จะจ่ายให้กับผู้ให้ใบอนุญาต หรือผู้จ้างหรือผู้ขาย "แพงเกินไป" และถ้าเป็นอย่างนั้น การ "ชนะ" และทำให้รายได้ของบริษัทในอนาคตเพิ่มขึ้นก็ไม่เป็นประโยชน์ แต่กลับเป็นโทษเพราะทำให้กำไรต่อหุ้นของบริษัทลดลง หรือในบางครั้งทำให้บริษัทขาดทุน และกลายเป็นหายนะได้ ปรากฏการณ์ที่บริษัท "ชนะ" แต่กลับ "พ่ายแพ้" และเสียหายในภายหลัง เนื่องจากการ "จ่าย" หรือ "ต้นทุน" ที่แพงเกินไปนี้เรียกกันว่า "Winner’s Curse" หรือ "คำสาปของผู้ชนะ"

 

ผู้ชนะต้อง "คำสาป" ได้อย่างไร สถานการณ์อย่างไรที่มักทำให้ผู้ชนะ "ถูกสาป" ลองมาดูเหตุการณ์สมมติว่ามีกิจการหนึ่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต และมีศักยภาพในการทำกำไรดีแต่การประเมินผลประกอบการในอนาคตก็ไม่แน่นอน ได้ประกาศขายและเปิดให้คนมาประมูลซื้อ ผู้เข้าประมูลมีจำนวนหลายราย แต่ละคนก็ประเมินมูลค่าของกิจการเพื่อเสนอราคาซื้อ และถึงแม้ว่าต่างก็ได้รับข้อมูลเท่าๆ กัน แต่มุมมองและการวิเคราะห์ก็ต่างกัน

 

ดังนั้น บางคนก็จะให้มูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง แต่บางคนและน่าจะเป็นส่วนมาก ก็มองโลกในแง่ดีและให้มูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง ในที่สุด คนที่เสนอราคาสูงที่สุดก็ชนะ และได้กิจการไปพร้อมกับ "คำสาป" นั่นก็คือ เขาจะเสียหายและประสบกับภัยพิบัติในภายหลังเนื่องจากเขาจ่ายแพงเกินไป ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเขาประเมินรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสูงเกินไปและ/หรือประมาณการต้นทุนต่ำเกินไป เป็นต้น

 

ลักษณะของ ผู้ชนะที่จะ "ถูกสาป" นั้น มักเกิดขึ้นกับกิจการที่เปิดขายหรือเปิดประมูลดังนี้ คือ ข้อแรก เป็นกิจการที่มีจำนวนจำกัดแต่มีคนต้องการมาก ข้อสอง กิจการมีความไม่แน่นอนในอนาคตสูงซึ่งทำให้การประเมินผลการดำเนินงานทำได้ยากและไม่แน่นอน ข้อสาม ถ้าการขายเป็นดีลที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวและผู้ขายกับผู้ซื้อไม่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่อง และ สุดท้าย ก็คือ ความ "อยากได้" ของผู้ซื้อหรือผู้เข้าประมูลมีมาก เนื่องจากเหตุผลบางอย่างที่ไม่ใช่เรื่องของธุรกิจล้วนๆ มีสูงกว่าปกติ

 

ลักษณะทั้งหมดนี้ มักจะทำให้ผู้ชนะ ก็คือ ผู้ที่จ่ายราคาสูงเกินความเป็นจริงไปมาก เพราะเขาอาจจะประเมินราคาผิดพลาด เนื่องจากการมองโลกในแง่ดี หรือมีแรงจูงใจที่อยากจะชนะสูงที่สุด

 

ข้อสังเกตเพิ่มเติมของผม ก็คือ เนื่องจากการ "ชนะ" ประมูลหรือชนะในการซื้อกิจการ เป็น "ข่าวดี" ที่สำคัญของหุ้นในตลาด ดังนั้น หลายบริษัทโดยเฉพาะที่ผู้บริหาร "เล่น" หุ้นของตนเองด้วย จึงมักมีความโน้มเอียงที่จะเอาชนะในการประมูลหรือซื้อกิจการ เพราะนั่นหมายความว่า หุ้นจะขึ้นและเขาอาจจะได้ประโยชน์ในระยะเวลาอันสั้น และนั่นก็จะนำมาซึ่ง "คำสาป" ที่จะตามมา ซึ่ง Value Investor จะต้องเข้าใจ

 

ก่อนที่จะจบผมอยากจะย้ำให้เห็นถึงประสบการณ์ Winner’s Curse ว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วมากมายในตลาดหุ้นไทย ทั้งที่ย้อนหลังไปนับสิบๆ ปี และที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ตัวอย่างที่ชัดเจนน่าจะเป็นเรื่องของกิจการโทรคมนาคม ที่บางบริษัทได้ใบอนุญาตทำกิจการซึ่งในช่วงแรกถือเป็นข่าวดี และทำให้หุ้นมีราคาสูงขึ้นไปมาก แต่ในระยะยาวแล้ว กลับมีผลประกอบการที่ย่ำแย่ขาดทุนจนราคาหุ้นตกต่ำลงไปมาก แม้แต่ในเรื่องของการชนะประมูลงานก่อสร้างขนาดใหญ่ของทางราชการเองนั้น หลายครั้งก็ไม่ได้สร้างกำไรให้กับบริษัท

 

ทั้งๆ ที่ในช่วงประมูลได้นั้น หุ้นก็วิ่งตาม "ข่าวดี" เช่นกัน ประสบการณ์ของการชนะในการซื้อกิจการก็คล้ายๆ กัน ในวันที่บริษัทซื้อกิจการสำเร็จนั้น หุ้นก็วิ่งแรง แต่ภายหลังเมื่อบริหารกิจการนั้นกลับพบว่า กำไรไม่ได้มาตามที่คาด ผลก็คือ หุ้นก็หงอยลง คนที่ซื้อหุ้นในช่วงที่มีข่าวดี และถือยาวในที่สุดก็ขาดทุนย่อยยับ

 

ดังนั้น สำหรับผมเองที่เน้นการลงทุนระยะยาวแล้ว การที่บริษัท "ชนะ" ในการประมูล หรือการซื้อกิจการนั้น ผมจะต้องวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งว่านั่นเป็นการชนะที่ดี หรือจะเป็นการชนะที่ "ต้องคำสาป" หากว่ามีโอกาสสูงที่จะเป็นอย่างหลัง ผมก็จะไม่ดีใจและอาจจะขายหุ้นโดยเฉพาะถ้าหุ้นขึ้นไปเพราะ "ข่าวดี" ที่เกิดขึ้นในช่วงสั้น

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เกจิชี้ “จีน” จำกัดโควตา “แรร์เอิร์ธ” ยุทธศาสตร์พัฒนาเทคโนฯตนเอง

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 ตุลาคม 2553 19:42 น.

 

 

 

 

 

เอเอฟพี - นโยบายจำกัดโควตาส่งออกแร่แรร์เอิร์ธของจีน ถูกทั่วโลกมองว่าเป็นของเล่นชิ้นใหม่สำหรับปักกิ่งในการใช้ตอบโต้ประเทศต่างๆ ที่ไม่ว่านอนสอนง่าย ทว่า อันที่จริงแล้ว พญามังกรเหนือเมฆไปกว่านั้น โดยมองข้ามช็อตไปที่การเก็บทรัพยากรสำคัญเหล่านี้ไว้พัฒนาเทคโลโลยีขั้นสูงของตนเอง ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในภายภาคหน้าต่างหาก อีกทั้งยังเป็นการบีบให้ชาติอื่นๆ เข้ามารับภาระบทบาทการเป็นผู้ผลิตบ้าง หลังจากจีนต้องแบกรับต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมหาศาลแต่เพียงผู้เดียว ทั้งในด้านมลภาวะและการร่อยหรอของทรัพยากรหายากเหล่านี้ เกจิผู้คล่ำหวอดหลายคนมองไว้อย่างนั้น

 

ปัจจุบันจีนครองสัดส่วนมากที่สุดในโลกในการผลิตและส่งออกสินแร่หายาก 17 ชนิดที่ใช้ป้อนอุตสาหกรรมผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงไล่ตั้งแต่ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ขีปนาวุธ ไปจนถึงอุปกรณ์เรดาห์ และรถยนต์ไฮบริด โดยเมื่อปีที่แล้วจีนผลิตแร่แรร์เอิร์ธป้อนตลาดโลกมากถึง 97 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม หากวัดจากปริมาณแหล่งแร่สำรองที่มีอยู่ในโลกขณะนี้ จีนถือว่ามีแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น ขณะที่สหรัฐฯ และออสเตรเลีย มีแหล่งสำรองของแร่เหล่านี้ในจำนวนมากเช่นกัน นั่นคือ 15 และ 5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ทว่า ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าในเชิงเปรียบเทียบกับจีน บวกด้วยการพิจารณาถึงปัญหามลภาวะมากเหลือคณานับที่ตามมาจากการทำเหมือง จึงทำให้ทั้งอเมริกาและออสซี่ไม่ผลิตอีกต่อไป และจีนก็ได้กลายมาเป็นผู้นำในด้านของซับพลายเออร์โดยไร้คู่แข่ง

 

ทว่า นับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา จีนลดโควตาการส่งออกแร่แรร์เอิร์ธลงระหว่าง 5 เปอร์เซ็นต์ ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ทุกปี และเมื่อ 3 เดือนก่อนหน้านี้ ปักกิ่งระบุว่าได้ลดโควต้าส่งออกแรร์เอิร์ธในช่วงครึ่งหลังของปี 2010 ลงถึง 72 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 7,976 ตัน จากปริมาณส่งออก 28,417 ตันในปีที่แล้ว ขณะที่อุปสงค์และราคาของแร่ชนิดนี้ในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเสียงกล่าวหาจากนานาชาติว่าแรร์เอิร์ธจะถูกใช้เป็นเครื่องมือแอบแฝงนัยทางการเมืองของจีน ดังเช่นกรณีที่ทำกับญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆ มานี้

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนไม่เห็นเช่นนั้น

 

“จีนกำลังจะบอกว่า พวกเขาไม่ได้สนใจที่จะเป็นประเทศผู้ป้อนแร่แรร์เอิร์ธรายใหญ่ที่สุดของโลกแต่อย่างใด” เจฟฟ์ เบดฟอร์ด รองประธาน นีโอ เทคโนโลยีส์ บริษัทผู้ดำเนินธุรกิจเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในจีน ให้สัมภาษณ์เอเอฟพี ณ ที่ประชุมด้านอุตสาหกรรมซึ่งจัดขึ้นในเมืองเซี่ยเหมิน เกาะทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน

 

“ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงให้สัญญาณถึงการที่จะลดเพดานการผลิตลง นอกจากนี้พวกเขาก็คาดหวังด้วยว่าประเทศอื่นๆ จะเข้ามาแบกรับบทบาทเป็นผู้ผลิตและส่งออกแร่เหล่านี้บ้าง” เบดฟอร์ด กล่าว

 

เขายังประมาณการด้วยว่า ในอีกไม่กี่ปีนี้ จะมีแร่แรร์เอิร์ธที่ไม่ได้มาจากเหมืองในจีนป้อนสู่ตลาดโลกราว 40,000 ตัน จากปริมาณอุปทานต่อปีในปัจจุบันที่ 125,000 ตัน

 

ขณะที่ เดเมียน หม่า นักวิเคราะห์แห่งยูเรเชีย กรุ๊ป เขียนโน้ตลงในรายงานฉบับหนึ่ง ระบุว่า พวกเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลปักกิ่งต่างก็มีทัศนคติแง่ลบต่อนโยบายการส่งออกแรร์เอิร์ธในอดีตที่ผ่านมา โดยพวกเขาเห็นว่าดีลค้าขายดังกล่าวเปรียบเสมือนการขาย “ทองคำ” ให้แก่ชาวต่างชาติในราคาของ “หัวไชเท้า”

 

เช่นเดียวกับ ไนเจล ทูนนา กรรมการผู้จัดการบริษัทวิเคราะห์ด้านการตลาด เมทัล-เพจส์ ก็แสดงความเห็นว่า การจำกัดโควตาส่งออกแรร์เอิร์ธไปยังตลาดต่างแดน จะเป็นการเพิ่มปริมาณวัตถุดิบที่จะใช้ป้อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงในจีนเอง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตนโดยที่อาศัยการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีราคาสูง มากกว่าการหวังพึ่งพาวัตถุดิบมูลค่าต่ำดังเช่นในอดีต

 

“พวกเขาได้ตระหนักแล้วว่า พวกเขาต้องการผลิตอะไรๆ ด้วยตนเอง และมันก็ไม่มีมูลค่าใหญ่โตอะไรในการส่งออกวัตถุดิบไปยังต่างประเทศ สู้เอาไปเพิ่มมูลค่าเองในจีนดีกว่า” ทูนนา ให้ทัศนะ พร้อมกับทิ้งท้ายด้วยว่า สิ่งที่กล่าวมานี้อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะให้จำกัดโควตาผลิตและส่งออกแรร์เอิร์ธ

 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์แดนมังกร ก็เคยออกมาแถลงว่า จีนสามารถสงวนสิทธิ์ในการจำกัดโควตาการส่งออกแรร์เอิร์ธอีกครั้งได้ เพื่อที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไปนี้ และเพื่อที่จะรักษาระดับการพัฒนาของประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมซึ่งชื่อเสียงไม่ดีจากกรณีทำเหมืองอย่างผิดกฎหมาย และปัญหาระดับมลภาวะที่สูง

 

เจียง ฟาน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์เอเอฟพี ระบุว่า “ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ การสำรวจแหล่งแร่แรร์เอิร์ธเป็นไปอย่างไร้ระเบียบและยุ่งเหยิง นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมก็ถูกทำลายจนเสียหายอย่างหนัก”

 

“การลดปริมาณลงของแรร์เอิร์ธในตลาดโลกนั้นไม่ผลดีสำหรับทั่วโลกแน่ ฉันหวังว่า ประเทศอื่นๆ จะเข้าใจในสิ่งที่จีนกำลังทำอยู่นี้”

ถูกแก้ไข โดย ส้มโอมือ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

!gd +1 ให้คะแนน ขยันไม่มีวันหยุดจริงๆ !01

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Don’t Fight the Fed

กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

 

บทความวันนี้อาจจะมีชื่อคล้ายกับประโยคทองของนักวิเคราะห์ด้านเทคนิค (หรือTechnical Analyst) คือ “Don’t Fight the Trend” ที่แนะนำว่า เมื่อทิศทางราคามีแนวโน้ม หรือ Trend ไปในทิศทางใด (ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง) นักลงทุนไม่สมควรที่จะเข้าซื้อหรือขายในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับ Trend นั้น

 

ตัวอย่างในทางปฏิบัติของแนวคิดของ “Don’t Fight the Trend” หรือ “The Trend is Your Friend” ก็คือ เมื่อตลาดมี Trend ขาลงชัดเจน นักลงทุนไม่สมควรรีบเข้าไปช้อนซื้อ หรือเดาจุดต่ำสุด (catch a falling knife) หรือ เมื่อตลาดมี Trend ขาขึ้นชัดเจน Trader ก็ไม่ควรที่จะ Fight the Trend ด้วยการ Short สวน Trend ออกมา เพราะว่าตลาดสามารถที่จะปรับตัวไปในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานได้เป็นอย่างมากและเป็นระยะเวลานาน ดังที่ John Maynard Keynes (เจ้าของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบ Keynes ที่โด่งดัง) ผู้ซึ่งเคยหมดตัวจากตลาดมาก่อน แสดงความเห็นไว้ว่า “The market can stay irrational longer than you can stay solvent.”

 

คำกล่าวว่า “Don’t Fight the Fed” ก็เป็นประโยคทองเช่นกันในหมู่บรรดานักลงทุนทั้งหลาย นับตั้งแต่ Martin Zweig ได้เสนอแนวคิดเรื่อง Monetary indicators - Don't Fight the Fed ไว้ในหนังสือ “Winning on Wall Street” เมื่อ ค.ศ.1990 ซึ่งอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างดอกเบี้ย Discount Rate ที่กำหนดโดยคณะผู้บริหารในระบบธนาคารกลางของสหรัฐ (The Board of Governors of the Federal Reserve System หรือ FED) กับ ราคาตลาดหุ้นในสหรัฐ

 

Zweig เชื่อว่า เมื่อ FED ปรับขึ้น Discount Rate ราคาหุ้นโดยเฉลี่ยในตลาดมักจะปรับตัวลดลง โดยตลาดหุ้นถือว่ามีสภาพ Moderately Bearish หากปรับขึ้น Discount Rate ขึ้น 1-2 ครั้ง ในรอบ 6 เดือน และ Extremely Bearish หาก Discount Rate ถูกปรับขึ้น มากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป (แน่นอนว่า หาก Discount Rate ปรับลง ราคาหุ้นก็มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น)

 

ปัจจุบัน แนวคิด “Don’t Fight the Fed” นี้ มิได้ถูกจำกัดอยู่เพียงในวงการหุ้น แต่เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลในตลาดของ Asset Class อื่นๆ ด้วย เช่น อัตราแลกเปลี่ยน พันธบัตร และสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงแนวคิดนี้ก็มิได้จำกัดแค่การปรับ Discount Rate และหมายรวมถึงการดำเนินนโยบายเงินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ของ FED ด้วย

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า นับตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินปี ค.ศ.2008 เป็นต้นมา เมื่ออัตรา Discount Rate อยู่ในระดับที่ต่ำมาก FED ได้นำเอานโยบายการพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตร หรือ Quantitative Easing (QE) (ซึ่งปัจจุบันหมดอายุไปแล้ว) มาใช้เสริมกลับนโยบายดอกเบี้ย อีกทั้ง Ben Bernanke ประธาน FED กล่าวย้ำกว่า ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ระดับใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ไปอีกนานเท่าที่จำเป็น และพร้อมจะมีมาตรการพิเศษอื่นอีกหากเห็นสมควร เพื่อเป็นหลักประกันว่าวิกฤติการเงินจะไม่หวนกลับมาอีก

 

ช่วงที่ผ่านมา หากตามสุนทรพจน์ของ Ben Bernanke ที่ Jackson Hole, Wyoming เมื่อ 27 ส.ค. 53 หรือสุนทรพจน์ของ William Dudley ผู้ว่า FED สาขานิวยอร์ก ที่ Graduate School of Journalism, New York เมื่อ 1 ต.ค.2553 ที่ได้กล่าวไว้ในทำนองว่า “ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อยังต่ำเกินไป” หรือ การแสดงความเห็นของ James Bullard ผู้ว่า FED สาขาเซ็นต์หลุยส์ ผ่าน CNBC ในรายการ SQUAWK BOX เมื่อ 8 ต.ค.2553 ก็จะเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการพิมพ์เงินออกมา หรือ QE ภาคสอง (QE 2.0) เร็วๆ นี้ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของระบบธนาคารกลางของสหรัฐ เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2553 ที่เพิ่งได้ถูกนำเผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อ 13 ต.ค.2553 ซึ่งทั้งหมดสามารถตีความได้ว่า ASSET CLASS ต่าง ๆ น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

ในช่วง 3 เดือนมานี้ ดูเหมือนว่าตลาดได้คาดการณ์ความเป็นไปได้ของนโยบาย QE 2.0 ไปแล้ว สังเกตจากราคาหุ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 15% ราคาสินค้าโภคภัณฑ์แทบทุกประเภทต่างปรับตัวขึ้นกันถ้วนหน้า ไล่เรียงตั้งแต่ สินค้าเกษตร อาทิเช่น น้ำตาล 68% ข้าวโพด 58% ข้าวโอ๊ต 58% ข้าวสาลี 47% ถั่วเหลือง 24% กลุ่มโลหะ อาทิเช่น ทองแดง 32% เงิน 30% อะลูมิเนียม 21% ทองคำ 12% และน้ำมันดิบ 12%

 

จะเห็นได้ว่า คาถา “Don’t Fight the Fed” ช่วงนี้ ก็ศักดิ์สิทธิ์ เพราะผู้ที่ใช้กลยุทธ์ที่ “Fight the Fed” หรือ เก็งกำไรในทิศทางขาลง (เปิด Short Position ไว้) ขาดทุนกันถ้วนหน้า และจะขาดทุนอย่างมากหากเป็นการลงแบบ High Leverage เช่นใน ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) หรือ ตลาดอนุพันธ์ (TFEX)

 

ส่วนตัวผมเอง ไม่ค่อยแปลกใจเท่าไรกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาดังกล่าว เพราะเข้าใจว่าน่าจะเกิดจากการคาดการณ์ของนักลงทุน ในการดำเนินนโยบายผ่อนคลายของธนาคารกลางชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด และมีสกุลเงินที่ปัจจุบันยังเป็น World Reserve Currency

 

แต่ช่วงที่ผ่านมาผมยังแปลกใจอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือ เหตุใดข้าวในบ้านเรายังมีระดับราคาที่ค่อนข้างต่ำ (ณ วันที่ 12 ต.ค. ข้าวขาว 5% ตลาดกรุงเทพฯ รายงานโดยกรมการค้าภายใน ราคาตันละ 12,750 บาท ลดลง 3% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา) ราคาไม่ยอมปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มของกระแสโลก (ราคาธัญพืชแทบทุกตัว) ทั้งๆ ที่ มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นทั่วโลก เช่น รัสเซีย ปากีสถาน หรือ ออสเตรเลีย รวมถึง Crop Report ของ USDA ล่าสุด รายงานถึงภาวะผลผลิตที่ตกต่ำของธัญพืชส่วนใหญ่ในสหรัฐในปีนี้ (ไม่นับรวมเรื่องของ Don’t Fight the Fed ที่พูดว่าก่อนหน้าอีกนะครับ)

 

หลายท่านอาจจะออกมาแย้งว่า ข้าวไทยราคาไม่ขึ้น เพราะเงินบาทแข็ง ซึ่งผมก็พอจะเห็นประเด็น แต่บาทแข็งอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวถึงกลับปรับตัวลดลงมาเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ หากเทียบกับสินค้ายางที่โค้ดกันเป็น “บาท” เหมือนกัน ปัจจุบันทำ New High ในรูปของบาทจนราคาอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว (RSS3 ใน AFET)

 

คงเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ที่ต้องช่วยกันหาคำตอบ และ/หรือ แก้ปัญหา โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพราะต้องอย่าลืมว่า ราคาข้าวตกต่ำ หรือ ยังไม่ยอมปรับตัวขึ้นทั้งๆ อาจจะสมควรต้องขึ้นแล้ว รัฐบาลย่อมได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะยิ่งราคาข้าวตกลงเท่าไรรัฐยิ่งต้องนำเงิน “ภาษี” มาจ่ายเงินชดเชยให้กับพี่น้องชาวนามากเท่านั้น (ตามเงื่อนไขของโครงการประกันรายได้ของรัฐบาล) ซึ่งอาจทำให้เงินงบประมาณไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่นๆ

 

ท้ายนี้ขอเอาใจช่วยรัฐบาลให้สามารถหาคำตอบ และ/หรือแก้ปัญหา ข้าวที่ว่านี้สำเร็จลุล่วงไปได้โดยเร็วครับ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

บทความ ของ ท่านสมโอมือ ให้ข้อคิดดีๆ ครับ และ เมื่อวานหยิบ ซีดี บันทึก รายการ จับเข่าคุย ของคุณสรยุทธ์ กับ ท่านเจ้าสัวซีพี กับทฤษฏีสองสูง มาดู ผมว่าท่านมองการณ์ไกล เกี่ยวกับสินค้าเกษตร จริงๆ ตอนท่านพูดเรื่องราคายาง ตอนปี 51 ราคาแค่ 80 บาท ต่อกิโล ท่านว่าต่อไป จะขึ้นถึง 150 บาท ภายในสามปี

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ขอบคุณครับ สำหรับคุณส้มโอมือ สำหรับบทความน่าอ่านครับ ประเด็นเรื่องข้าวไทยถูก

ก็เพราะประเทศร่ำรวยมั่งคั่ง มีค่าครองชีพสูงๆ ( ดูจากฐานอัตราแลกเปลี่ยน ) เช่น สหรัฐ, อังกฤษ, ประเทศในยูโรโซน

เค้ากินขนมปัง แบบโฮลล์วีทกันเกือบหมด หรือ ไม่ก็พวก คอร์นเฟล็ก ซึ่งประกอบด้วยข้าวสาลีเป็นหลัก ส่วนข้าวต้ม ข้าวสวย

ข้าวเหนียว ข้าวต้มมัด คนซื้อกินส่วนใหญ่ก็คนเอเชียเรานี่แหละ รัสเซียก็มี เด็กขายของคิดแบบนี้ ไม่รู้ว่าคิดเข้าข้างตัวเองหรือ

เปล่า ถ้าผิด ก็ขออภัยในความโง่เขลามา ณ. ที่นี้ด้วยครับ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ท่านบอก ปรับเงินเดือนราชการก่อน ให้สูง จะได้มีกำลัง ซื้อ จากนั้น ราคาสินค้าหรือรายได้ประชนชนทั่วไปจะปรับสูงตาม เป็นสองสูง สุดท้าย ภาครัฐจะได้ภาษี เพิ่ม จากสองสูง (ทฤษฏี win-win)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เรื่องข้าว ท่านพูดแบบน้อยใจนิด ๆ เปรียบกับน้ำมัน ว่า น้ำมัน จากตะวันออกกลาง เหมือนอาหารเครื่องจักร ราคาสูงขึ้นๆ ข้าวของอาเซียนเป็นอาหารของคนบนโลก ถูกลงๆ

 

ประชากรโลกที่กินข้าว มากกว่ากินขนมปัง(อเมริกา 200 ล้านคน) ครับ และบอกว่า ต่อไป จีน(1200 ล้านคน , อินเดีย 800ล้านคน) จะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซีย จะดีขึ้น

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

9d613a6d90cccfe7aa25f09d6add0d14.jpg

 

งวดนี้ผมขอแทงยาว 1600 ตามอาจารย์เสมครับ :lol: :lol: :lol:

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ผมมองว่าข้าวราคาถูก เพราะการกอบโกยผลประโยชน์ของนักการเมืองไทย รัฐบาลมีข้าวที่เก็บไว้อยู่มหาศาล(คุ้นๆว่าเคยอ่านเจอที่5ล้านตันหรือมากกว่านั้น) มีข้าวอยู่ในมือมากขนาดนั้น กดราคาข้าวในตลาดไม่ยาก อยากให้ราคาตกก็ให้ข่าวว่ารัฐบาลจะระบายข้าวที่เก็บไว้ออกมา เพราะการเก็บไว้มีค่าใช้จ่ายมหาศาลต้องการระบายออกเพื่อลดค่าใช้จ่าย ข่าวนี้ออกมาพวกพ่อค้าเล็กก็ไม่กล้าซื้อข้าวแล้วกลัวราคาตก ถ้าซื้อก็กดราคาต่ำๆไว้ก่อน กดราคาให้ถูกได้กำไร2เด้งครับ

1)ราคาถูกก็ต้องจ่ายชดเชยเพราะมีประกันราคาข้าว ชาวนาเองได้ไปเท่าไหร่(กี่คนได้เท่าจำนวนที่ปลูกจริง) นักการเมืองสวมรอยเป็นชาวนา รวมแล้วใครได้มากกว่ากันชาวนาหรือนักการเมือง

2)กดราคาถูกแล้วอุปโลกใครก็ได้มาซื้อแทน เมื่อซื้อเสร็จแล้วรวมทั้งได้เงินจากประกันราคาข้าวแล้ว ก็ปล่อยให้ราคาข้าวเป็นไปตามกลไกราคาตลาดฟันกำไรอีกมากมาย

ทำนาบนหลังคน คนพวกนี้ชอบทำ ใครมีข้อมูลหรือมองแตกต่างมาช่วยแลกเปลี่ยนความเห็นหน่อยครับ(สิ่งที่ผมมองก็อาจจะผิด) หลายมุมมองหลายความคิดยิ่งได้ประโยชน์ครับ

ถูกแก้ไข โดย ส้มโอมือ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

บทความ ของ ท่านสมโอมือ ให้ข้อคิดดีๆ ครับ และ เมื่อวานหยิบ ซีดี บันทึก รายการ จับเข่าคุย ของคุณสรยุทธ์ กับ ท่านเจ้าสัวซีพี กับทฤษฏีสองสูง มาดู ผมว่าท่านมองการณ์ไกล เกี่ยวกับสินค้าเกษตร จริงๆ ตอนท่านพูดเรื่องราคายาง ตอนปี 51 ราคาแค่ 80 บาท ต่อกิโล ท่านว่าต่อไป จะขึ้นถึง 150 บาท ภายในสามปี

มิหน้าล่ะ ถึงขึ้นราคาไข่ไก่โคตรแพง ฟองละเกือบ 6 บาท อยู่แล้ว ต้นทุนก็ต่ำ วัตถุดิบทุกอย่างก็อยู่ในเครือ ไก่ไข่ก็นำเข้ามาเองแล้วให้ชาวบ้านเลี้ยง แต่มาขายตั้ง 6-7 บาท

แล้วบอกว่าเป็นไปตามกลไก มองการณ์ไกลล่วงหน้า ครบวงจรอยู่แล้ว ทำอะไรก็ไม่มีคนต่อว่า

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ท่านบอก ปรับเงินเดือนราชการก่อน ให้สูง จะได้มีกำลัง ซื้อ จากนั้น ราคาสินค้าหรือรายได้ประชนชนทั่วไปจะปรับสูงตาม เป็นสองสูง สุดท้าย ภาครัฐจะได้ภาษี เพิ่ม จากสองสูง (ทฤษฏี win-win)

ทุกวันนี้ ข้าราชการกินผลไม้นำเข้านะครับ องุ่น APPLE สาลี่ โทษนะครับ นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย เด็กขายของยังขายผลไม้พวกนี้จากเมืองจีนให้คนทั่วไปทานเลย

เงินเดือนก็มาจากภาษีที่ผมจ่าย ก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ทุกๆ วันที่ซื้อของ ก็เป็นเงินเดือนของเขาทั้งสิ้น

ส่วนรายได้ประชาชนจะปรับสูง ก็คงมีเฉพาะ พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของตามตลาดนัดในสถานที่ราชการเหล่านั้นมั่งครับ เพราะพี่ท่านทั้งหลายซื้อของกันแบบราคาสูงเหยียดฟ้า และของมาจากสำเพ็ง ลองดูสิ ที่

กรมชลประทาน, กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กรมศุลกากร กระทรวงพาณิชย์ โรงพยาบาลราชวิถึ ลองสำรวจ ดู แล้วจะรู้ครับ แล้วพวกนี้ ก็ไม่ได้เพิ่มภาษีให้รัฐในส่วนต่างราคาที่บวกกำไรมากๆ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

เรื่องข้าว ท่านพูดแบบน้อยใจนิด ๆ เปรียบกับน้ำมัน ว่า น้ำมัน จากตะวันออกกลาง เหมือนอาหารเครื่องจักร ราคาสูงขึ้นๆ ข้าวของอาเซียนเป็นอาหารของคนบนโลก ถูกลงๆ

 

ประชากรโลกที่กินข้าว มากกว่ากินขนมปัง(อเมริกา 200 ล้านคน) ครับ และบอกว่า ต่อไป จีน(1200 ล้านคน , อินเดีย 800ล้านคน) จะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซีย จะดีขึ้น

ท่านน้อยใจ ท่านถึงเอาปลายข้าว ข้าวหัก มาทำเป็นอาหารสัตว์เสียเลย แล้วขายอาหารให้ชาวบ้านที่เอาสัตว์เขาไปเลี้ยง ครบวงจร อยากเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ก็จงซื้ออาหาร

ไม่งั้นไม่ให้เลี้ยง ต้นทุนอาเฮียต่ำมาก และควบคุมได้ตลอด แล้ว ทรัพยากรธรรมชาติบนโลก น้ำมัน ขุดมาใช้แล้ว ก็ต้องหมดไปจากโลก เมื่อหมดก็ต้องหาสิ่งอื่นมาทดแทน ซึ่งราคาต้นทุนแรกๆ ก็ต้องสูงมาก

เป็นธรรมดา แต่สินค้าเกษตรกรรม ท่านขายปุ๋ยเอง ขายอาหารสัตว์เอง ส่งลูกไก่เอง ชำแหละเอง เปิดร้านเอง ก็สามารถที่จะกำหนดราคาได้เอง ลองไม่มีใครมาโวยวายเสียก่อน ก็เสร็จข้าล่ะ

ส่วนจะให้ขายข้าวไปต่างประเทศเหรอ ไม่สนหรอก กำไรน้อย ต้องปลูกโดยพึ่งสิ่งแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ ด้วย ควบคุมไม่ได้ ไม่เอาหรอก เวลาขาย ก็มีแต่ประเทศที่จ่ายช้าทั้งนั้น หรือไม่ก็กดราคา ต้องประมูล

เพื่อเอาราคาที่ต่ำสุด ระบบประมูล ไม่ชอบเท่าไหร่ เพราะ มันกำหนดราคาตามใจชอบไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะได้กำไรเท่าที่อยากได้หรือเปล่า งั้น ไม่ทำเรื่อง ข้าว ให้คนอื่น มันเสี่ยงไป ไม่เอา ไม่เอา

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Join the conversation

You can post now and register later. If you have an account, sign in now to post with your account.

ผู้มาเยือน
ตอบกลับกระทู้นี้...

×   วางข้อความแบบ rich text.   วางแบบข้อความธรรมดาแทน

  อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 75 อิโมติคอน.

×   ลิงก์ของคุณถูกฝังอัตโนมัติ.   แสดงเป็นลิงก์แทน

×   เนื้อหาเดิมของคุณได้ถูกเรียกกลับคืนมาแล้ว.   เคลียร์อิดิเตอร์

×   คุณไม่สามารถวางรูปภาพได้โดยตรง กรุณาอัปโหลดหรือแทรกภาพจาก URL

กำลังโหลด...

  • เข้ามาดูเมื่อเร็วๆนี้   0 สมาชิก

    ไม่มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนกำลังดูหน้านี้

×
×
  • สร้างใหม่...