ข้ามไปเนื้อหา
Update
 
 
Gold
 
USD/THB
 
สมาคมฯ
 
Gold965%
 
Gold9999
 
CrudeOil
 
USDX
 
Dowjones
 
GLD10US
 
HUI
 
SPDR(ton)
 
Silver
 
Silver/Oz
 
Silver/Baht
 

โพสต์แนะนำ

จับตา! สงครามสกุลเงินโลก ประเทศไทยพร้อมแล้วหรือยัง!?

 

โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ 26 ตุลาคม 2553 15:44 น.

 

 

 

 

 

 

สงครามระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นมหาอำนาจที่กำลังสู้รบกันด้วยเศรษฐกิจอย่างที่ใครจะคาดคิดได้ และอาวุธสำคัญที่สุดในเวลานี้ของทั้งสองประเทศก็คือฝ่ายสหรัฐอเมริกามีดอลลาร์สหรัฐอเมริกาที่ใช้กระจายอยู่ทั่วโลก ฝ่ายจีนมีเงินสกุลหยวนที่เป็นระบบการเงินแบบควบคุมและอ่อนค่าตามเงินดอลลาร์สหรัฐอมริกา

 

“In God We Trust” คือข้อความที่พิมพ์อยู่ในธนบัตรของสหรัฐอเมริกา และเป็นเรื่องประหลาดตรงที่ว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวในโลกที่ธนาคารกลางสามารถพิมพ์ธนบัตรเงินสกุลดอลลาร์ได้โดยไม่ต้องอาศัยทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นตัวหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรของตัวเอง และสามารถให้ประชาคมโลกเชื่อในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้าทั่วโลกมาอย่างยาวนาน และเมื่อประชาคมโลกต่างพร้อมใจค้าขายสินค้ากันในรูปเงินสกุลดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ต่างก็ได้เก็บเป็นทรัพย์สินเอาไว้ในทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศตัวเองเป็นจำนวนมาก

 

ปัจจุบันทุนสำรองระหว่างประเทศของทุกประเทศรวมกันทั้งโลกมีอยู่ประมาณ 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สะสมเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมากที่สุดประมาณ 6.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเป็นอันดับสองคือเงินยูโรซึ่งมีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อันดับที่สามเป็นเงินสกุลปอนด์สเตอริงประมาณ 4.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ อันดับที่สี่เป็นเงินเยนของญี่ปุ่นประมาณ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

 

สหรัฐอมริกาเป็นประเทศที่มีสวัสดิการสูงทั้งประกันสังคม ประกันสุขภาพ ค่าแรงสูงจึงได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในฐานะเป็นประเทศผู้ผลิตไปในนานแล้ว ฐานการผลิตทั่วโลกส่วนใหญ่ได้ย้ายมาอยู่ในภูมิภาคเอเชียและจีน ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศผู้บริโภคที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดระหว่างประเทศอย่างมหาศาลที่อาจจะถึง 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปีหน้า

 

แต่เนื่องจากสหรัฐอเมริกาได้ทำให้คนทั้งโลกเชื่อในเงินสกุลดอลลาร์ได้ โดยที่ธนาคารกลางสามารถพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาได้ไม่จำกัดจำนวน ทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสามารถออกพันธบัตรกู้เงินจากธนาคารกลางเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ แบกรับสวัสดิการต่างๆ ในสังคมได้อย่างมหาศาล และสามารถกู้เงินทุนสำรองจากประเทศต่างๆ โดยการออกพันธบัตรออกมาอีกจำนวนมากเพื่อมาชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้เช่นกัน

 

อเมริกาจึงไม่เคยมีวินัยทางการเงินและการคลัง โดยสิ้นปีนี้คาดว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เป็นหนี้สาธารณะและหนี้ที่กู้ยืมกันภายในรัฐบาลรวมประมาณ 14.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 98% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสูงกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งโลกรวมกันเสียอีก โดยในจำนวนนี้เป็นการกู้เงินจากการพิมพ์ดอลลาร์ของธนาคารกลางออกมาจำนวนประมาณ 7.10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และถ้ารวมกับภาระผูกพันต่อกองทุนประกันสังคมและประกันสุขภาพของอเมริกาแล้วก็จะทำหนี้รวมกับภาระผูกพันในอนาคตจะมีสูงถึง 118.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นคาดการณ์ได้ว่าการกู้ธนาคารกลางจึงย่อมต้องมีต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น หรือไม่ก็ต้องมีการชักดาบเข้าสักวันหนึ่ง

 

การก่อหนี้ได้ไม่จำกัดจำนวนทำให้สหรัฐอเมริกาได้เลือกหนทางในการสูบความมั่งคั่งและทรัพยากรจากทั่วโลก ไม่ว่าการสนับสนุนกองทุนเฮดจ์ฟันด์ในการโจมตีค่าเงินและหุ้นทั่วโลก การใช้อิทธิพลผ่านธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในการเข้ายึดกิจการรัฐวิสาหกิจและทรัพยากรธรรมชาติ ใช้งบประมาณมหาศาลสร้างอาวุธเข้าทำสงครามแย่งชิงพลังงานทั่วโลก ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยี ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรสูบความมั่งคั่งจากประเทศผู้ผลิตกลับไปยังสหรัฐอเมริกา

 

ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศของทุกประเทศทั่วโลกรวมกันซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐนั้น เก็บเป็นเงินสกุลดอลลาร์ประมาณ 6.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้ประเทศต่างๆ ได้ถือเป็นพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐอเมริการวมกันประมาณ 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของอเมริกาอันดับหนึ่ง ก็คือ จีนถือพันธบัตรอเมริกาในรูปดอลลาร์อยู่ประมาณ 846,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับสองก็คือญี่ปุ่นถือพันธบัตรรัฐบาลอเมริกาอยู่ประมาณ 821,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับที่สามก็คือสหราชอาณาจักรถือพันธบัตรอเมริกาอยู่ประมาณ 374,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งก็คงไม่ใช่ปัญหาในเวลานี้ของอเมริกาอีกอยู่ดี เพราะตราบใดที่คนเชื่อในดอลลาร์ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาก็พร้อมจะพิมพ์เงินดอลลาร์มาให้รัฐบาลสหรัฐฯ นำไปคืนหนี้ หรือออกพันธบัตรกู้หนี้ใหม่มาคืนหนี้เก่าได้ต่อไปเรื่อยๆ

 

จนกว่าจะมีวันหนึ่งที่คนจำนวนมากในโลกไม่เชื่อถือใน “ดอลลาร์”!!!

เงินจำนวนมหาศาลที่ล้นอยู่ในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ภาคการผลิตอ่อนแอและย้ายฐานออกนอกประเทศ ทำให้สหรัฐอเมริกาเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการบริโภคและอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลทำให้เกิดหนี้เสียและความเสียหายในการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หลายระลอก ภาคการธนาคารพาณิชย์จึงอ่อนแอลง สินเชื่อไม่ขยายตัวและเกิดการว่างงานถึง 10% เป็นภาระต่อกองทุนประกันสังคมอย่างหนัก กำลังซื้อหดตัว อาการนี้ยังลามไปถึงกลุ่มประเทศยุโรปอีกหลายแห่ง

 

ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางเหลือ 0.25% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำติดดินเพื่อหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อและเร่งให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอย และทำให้คนสนใจลงทุนในดอลลาร์น้อยลงเพื่อทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อน อีกทั้งยังเป็นการทำให้ต้นทุนเงินให้กู้กับเอกชนลดต่ำลง แต่เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ อยู่ในสถานะที่อ่อนแอ ธนาคารพาณิชย์ในอเมริกาจึงเลือกไปลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลซึ่งให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าเพราะเสี่ยงน้อยกว่าที่จะปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจจริงที่กำลังมีปัญหาอยู่จำนวนมาก (อาการนี้เคยเกิดขึ้นคล้ายๆ กับประเทศไทย)

 

นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้สหรัฐอเมริกาจึงได้ออกมาตรการ Quantitative Easing หรือ QE ซึ่งก็คือการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์ เข้าไปในระบบเพื่อเข้าไปซื้อตราสารหนี้ หนี้เสีย หรือทรัพย์สินที่ด้อยค่าออกจากธนาคารพาณิชย์ เพื่อทำให้สถานภาพธนาคารพาณิชย์แข็งแกร่งขึ้นพอที่จะทำให้กลับมาปล่อยสินเชื่อได้เป็นปกติ ในอีกด้านหนึ่งธนาคารกลางของสหรัฐฯ ก็เพิ่มปริมาณดอลลาร์ทุ่มาซื้อตลาดพันธบัตรเพื่อทำให้อัตราผลตอบแทนที่ได้จากพันธบัตรต่ำลง จนไม่เป็นแรงจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์มาสนใจลงทุน เพื่อบีบให้ธนาคารพาณิชย์หันไปปล่อยสินเชื่อโดยตรงให้กับภาคการผลิตจริง และแน่นอนว่าเมื่อเพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์เข้าไปในระบบจำนวนมหาศาลก็จะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง โดยหวังว่าจะทำให้ภาคการผลิตในสหรัฐอเมริกากลับมาแข่งขันราคากับทั่วโลกได้อีกครั้ง เพื่อทำให้อัตราการว่างงานลดลง

 

หากสำเร็จอเมริกาก็รอดไปได้อีกครั้ง แต่มีความเสี่ยงถ้าไม่สำเร็จเพราะสหรัฐอเมริกาอาจตกอยู่ในวิกฤตและอาจทำให้คนไม่เชื่อถือดอลลาร์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

จีนซึ่งกำลังถูกบีบจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปให้ปล่อยเงินหยวนให้ลอยตัว หรือให้แข็งค่ามากกว่านี้ เพราะจีนมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งตรงกันข้ามสุดขั้วกับสหรัฐอเมริกา โดยปีที่แล้วจีนเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าและดุลบริการไหลเข้าจน “เกินดุลบัญชีเดินสะพัด” สูงที่สุดในโลกถึง 297,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่สหรัฐอเมริกากลับ “ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด” สูงที่สุดในโลกถึง 419,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่จีนปีที่แล้วมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 8.7% แต่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากลับติดลบเป็น -2.4%

 

ประมาณการว่าสิ้นปีนี้ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปรวมกันจะมี GDP สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกประมาณ 15.15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อันดับสองคือสหรัฐอเมริกาจะมี GDP ประมาณ 14.62 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่จีนมาเป็นอันดับที่สามซึ่งจะมี GDP ประมาณ 10.08 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็เป็นที่คาดการณ์กันว่าจีนจะโตแซงสหรัฐอเมริกาในเวลาอีกไม่นานด้วยประชากร 1,300 ล้านคน ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีประชากรอยู่ประมาณ 310 ล้านคน

 

จีนมีการบริหารจัดการเพื่อกำหนดค่าเงินตามที่น่าสนใจด้วยการบริหารจัดการอย่างมียุทธศาสตร์ในหลายมิติคือ

 

1. ควบคุมการไหลเข้าและออกของเงินตราต่างประเทศไม่ให้กระทบต่อค่าเงิน แม้เงินเข้ามาเล่นหุ้นจากต่างประเทศหากเป็นกระดานเงินหยวนซึ่งมีไว้สำหรับนักลงทุนในประเทศก็มีการจำกัดโควตาที่เรียกว่า A share

 

หากเป็นนักเล่นหุ้นจากต่างประเทศก็แยกกระดานให้นักลงทุนต่างชาติถือเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าเงินหยวนเรียกว่า B Share

 

และตลาดที่ฮ่องกงก็ให้เล่นเป็นเงินเหรียญฮ่องกงได้เรียกว่า H Share เพื่อป้องกันไม่ให้นักลงทุนตลาดหุ้นเข้ามาเก็งกำไรเงินหยวน ส่วนนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในจีนแล้วก็ยากที่จะนำเงินถอนทุนกลับประเทศได้โดยง่าย และจีนก็ไม่ปล่อยให้มีการถือบัญชีเงินหยวนในต่างประเทศ ดังนั้นโอกาสโจมตีค่าเงินผ่านตลาดหุ้นหรือการลงทุนจึงเกิดขึ้นแทบไม่ได้

 

2. ธนาคารกลางของจีนได้พิมพ์เพิ่มปริมาณเงินหยวนเข้าไปในตลาดตามให้เพียงพอต่อความต้องการของเงินทุนที่ไหลเข้า ทำให้ไม่มีใครมากดดันให้เงินหยวนแข็งค่าได้

 

3. จีนกำหนดให้ค่าเงินอ่อนตามสหรัฐอเมริกา เมื่อควบคุมเงินไหลเข้าออก และควบคุมไม่ให้มีบัญชีเงินหยวนในต่างประเทศ และพิมพ์เงินหยวนให้เพียงพอต่อความต้องการกับเงินที่ไหลเข้า จึงทำให้จีนกำหนดค่าเงินให้อ่อนค่าและแข็งค่าตามความต้องการของตัวเองได้

 

4. เมื่อเงินหยวนท่วมประเทศจากเงินที่ไหลเข้าทั้งจากการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนจีนจึงย่อมเกิดอัตราเงินเฟ้อ (สินค้าแพงขึ้น) รัฐบาลจีนจึงเพิ่มค่าแรงและเงินเดือนเพื่อให้มีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในประเทศสูงขึ้นเศรษฐกิจในประเทศขยายเติบโตพึ่งเศรษฐกิจภายในเป็นสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังแข่งขันราคากับต่างประเทศได้เมื่อกำหนดค่าเงินให้อ่อนตามสหรัฐอเมริกา

 

5. จีนได้พยายามในการแปลงเงินดอลลาร์สหรัฐที่กำลังด้อยค่าลงทุกวันในทุนสำรองระหว่างประเทศ ไปถือเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น ซึ่งรวมถึงการกักตุนนำเงินดอลลาร์ไปซื้อเหมืองทองแดง เหล็ก น้ำมัน เหมืองแร่โปแตส และกิจการในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเพื่อการสร้างมูลค่าในอนาคตให้กับประเทศจีน ตลอดจนการลงทุนผ่องถ่ายเงินดอลลาร์ไปในหลายประเทศเพื่อรับสัมปทานในโครงการต่างๆ เพื่อเตรียมรองรับรายได้เป็นเงินสกุลอื่นแทน

 

ด้วยเหตุนี้สหรัฐอเมริกาจึงไม่สามารถกดดันจีนได้โดยใช้ทุนเสรีตามความถนัดของยุโรปและอเมริกา จึงต้องใช้มาตรการอื่นตามมา เช่น การใช้มาตรการภาษีกีดกันทางการค้า และอาจกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศอีกหลายรูปแบบตามมาอย่างแน่นอน รวมถึงขบวนการแอบแฝงเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อเรียกร้องให้จีนเปิดทุนเสรี หรือการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพต่างๆ เพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

ประเทศไทยในเวลานี้กำลังกลายเป็นเหยื่อของสงครามสกุลเงินของโลก เพราะในขณะที่จีนและอเมริกาพากันอ่อนค่าเงินของตัวเองอย่างต่อเนื่อง และทั่วโลกต่างพากันหาที่ทิ้งดอลลาร์ออกจากทุนสำรองระหว่างประเทศของตัวเอง รัฐบาลไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยกลับมีความภาคภูมิใจในการรับซื้อเงินดอลลาร์เข้ามาแลกบาทเพื่อปั่นหุ้นในประเทศจนค่าเงินบาทแข็งค่าเกินหน้าเพื่อนบ้าน และทุนสำรองระหว่างประเทศก็พุ่งเพิ่มเงินดอลลาร์สูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยจะต้องพิจารณาหามาตรการควบคุมทุนไหลเข้าออกระยะสั้นประเภทที่เข้ามาเก็งกำไรปั่นแล้วทุบหุ้นและค่าเงินแบบตีหัวเข้าบ้าน โดยเฉพาะตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ เช่น การกำหนดเงื่อนไขให้ชาวต่างชาติในตลาดหุ้นถือทรัพย์สินเป็นบัญชีเงินสกุลเงินดอลลาร์ หรือกำหนดสภาพบังคับระยะเวลาการลงทุนในประเทศของนักลงทุนต่างชาติ หรือกำหนดมาตรการทางภาษีขั้นสูงที่มีอัตราลดลงตามระยะเวลาที่ลงทุนอยู่ในประเทศ เพื่อเก็บเกี่ยวจากทุนต่างประเทศที่ไหลทะลักมาท่วมภูมิภาคเอเชียเก็งกำไรอยู่ในขณะนี้?

 

ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยจะต้องพิจารณาเริ่มพูดคุยกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันนี้เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าโดยหาเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อเป็นตัวกลางในการค้าขายกันใหม่แทนเงินสกุลดอลลาร์หรือยูโร หรือสร้างสกุลเงินกลางระหว่างภูมิภาคใหม่?

 

ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องมาพูดคุยกันถึงเรื่องปริมาณ “ทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนเกิน” ที่มีมากกว่าปริมาณเงินบาทในประเทศหลายเท่าตัว ที่จะต้องมีการบริหารจัดการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างเหมาะสม?

 

ถึงเวลาหรือยังที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่มีเป้าหมายเพียงแค่ “เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ”แต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีเป้าหมายของชาติในเรื่องยุทธศาสตร์ค่าเงินบาทให้เท่าทันกับสมรภูมิสงครามค่าเงินของโลกด้วย

 

ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องหันมาปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่มีเป้าหมายเน้นการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศ คุณค่าทรัพยากรและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตกอยู่กับคนส่วนใหญ่ในประเทศ เพื่อให้การเจริญเติบโตเป็นไป

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

แบบนี้ใช่หมายถึงตัวเลขเศรษฐกิจดีแต่ประชาชนยอบแยบ...คะ :lol:

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ราคาพุ่ง 30% เวียดนามบ่นอุบ ข้าวหมดสต๊อก ไทยโกยเงินอื้อซ่า

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 ตุลาคม 2553 19:25 น.

 

 

 

 

 

 

 

ภาพเอเอฟพี 21 ต.ค.2553 เด็กๆ พยายามช่วยผู้ปกครองเก็บเกี่ยวสิ่งที่เหลืออยู่ในผืนนาของครอบครัวที่ จ.อิลากัน (Ilagan) ทางตอนเหนือของเกาะลูซอน หลังซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมกี (Megi) ผ่านไปในสัปดาห์กลางเดือนนี้ ยังนับว่าโชคดีกว่าอีกหลายครอบครัวที่ไม่เหลืออะไรเลย ฟิลิปปินส์จะประกวดราคานำเข้าข้าว 500,000-600,000 ตัน เพื่อส่งมอบในเดือน ธ.ค.นี้ แต่เวียดนาดไม่มีข้าวแล้ว

 

 

 

ASTVผู้จัดการออนไลน์ — เอาไปเอามาเวียดนามไม่มีข้าวเหลือในสต๊อกอีกแล้ว ข้าวที่เซ็นสัญญาซื้อขายไปแล้วอีก 1.3 ล้านตัน ยังไม่ได้จัดส่ง ขณะที่ราคาในตลาดโลกพุ่งสูงและหลายประเทศต้องการข้าวจากเวียดนาม แต่ก็ไม่อาจจะหาให้ได้

 

อุทกภัยในจังหวัดภาคกลางสัปดาห์ต้นเดือนนี้ ได้ปิดทางตันส่งออกข้าวในช่วงปลายปี เปิดทางให้ข้าวไทยที่รอมาแต่ต้นปีโกยเงินอื้อ

 

หนังสือพิมพ์ไซ่ง่อนไทมส์ และ เทยบ๋าวกีงเตไส่กอง (Thoi Bao Kinh Te Saigon) หรือ “ข่าวเศรษฐกิจไซ่ง่อน” เผยแพร่เรื่องนี้สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอ้างรายงานของสมาคมอาหารเวียดนาม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักกำกับดูแลการส่งออกข้าวของประเทศ

 

และก็เป็นเช่นทุกปีที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ผู้ส่งออกเวียดนามจะพากันบ่นเสียดายโอกาสที่จะทำเงิน ไม่น่ารีบนำข้าวออกขายราคาถูกๆ ตั้งแต่ต้นปี หลายคนบอกว่าผ่านมาหลายปีแล้ว ผู้ส่งออกเวียดนามก็ยังไม่ยอมศึกษาเรื่องนี้จากประสบการณ์ของประเทศไทย

 

มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่อินโดนีเซีย จะนำเข้าข้าวอีก 200,000 ตันในเดือน พ.ย.ศกนี้ และ ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องซื้อข้าวไทยในราคาที่แพงกว่าเดิม

 

ตามรายงานของสมาคมอาหารเวียดนาม (VietFood) ช่วงเดือน ต.ค.นี้ ผู้ส่งออกข้าวรายอื่น คือ ไทย อินเดีย และ ปากีสถาน ได้ขึ้นราคาข้าวเฉลี่ย 30% หลังจากเวียดนามจำหน่ายข้าวออกไปจนหมด

 

 

 

 

ภาพเอเอฟพี 19 ต.ค.2553 อาสาสมัครกาชาดฟิลิปปินส์ ช่วยกันบรรจุข้าวสารลงถุง เพื่อส่งไปเยียวยาประชาชนในเขตประสบภัยจากไต้ฝุ่นเมกี (Megi) ทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งนาข้าวและพืชผลการเกษตรอื่นๆ ถูกทำลายย่อยยับ ฟิลิปปินส์กำลังจะนำเข้าข้าวอีก 500,000-600,000 ตันในเดือน ธ.ค.ศกนี้ ขณะที่เวียดนามไม่มีข้าวขาย เปิดทางโล่งให้ข้าวไทย

 

 

ฟิลิปปินส์กำลังจะจัดประกวดราคานำเข้าอีก 500,000-600,000 ตัน เพื่อเริ่มส่งมอบในเดือน ธ.ค.นี้ หลังจากไต้ฝุ่นเมกีทำลายนาข้าวและธัญญาหารอื่นๆ เสียหายย่อยยับ แต่เวียดนามไม่มีข้าวขายอีกแล้ว จนกว่าจะถึงฤดูเก็บเกี่ยวต้นปีหน้า สื่อของทางการกล่าว

 

ถ้าหากสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น ตลาดข้าวโลกก็จะเปลี่ยนไปอย่างมาก แต่เวียดนามจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรทั้งสิ้น เวียดนามไม่ควรจะรีบขายข้าวในราคาถูกๆ ตอนต้นปี ควรจะรอให้ถึงช่วยเดือน ต.ค.-พ.ย.ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่า หลายปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ข้าวขายได้ราคาดีกว่า

 

ตามรายงานของ VietFood สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายข้าวกับต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าผู้ส่งออกยังลังเล เนื่องจาก VietFood ได้ประกาศขยับราคาข้าวในประเทศขึ้นอีก 10 ดอลลาร์ต่อตัน เป็นตันละ 445 ดอลลาร์ สำหรับข้าวผสมเมล็ดหัก 25% และ 475 ดอลลาร์ต่อตันสำหรับข้าว 5% TBKTS กล่าว

 

จนถึงปัจจุบันเวียดนามเซ็นสัญญาขายข้าวไปแล้วรวม 6.9 ล้านตัน ซึ่งสูงอย่างเป็นประวัติการณ์ แต่ในนั้น 1.3 ล้านตัน ยังไม่ได้ส่งมอบ

 

อุทกภัยที่เกิดซ้อนๆ กับในชั่วข้ามสัปดาห์ใน จ.ห่าตี๋ง (Ha Tinh) เหงะอาน (Nge An) กว๋างจิ (Quang Tri) และ กว๋างบี่ง (Quang Binh) ในภาคกลางตอนบน สร้างความเสียหายให้นาข้าวกับพืชผลการเกษตรต่างๆ อย่างย่อยยับ

 

ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติเช่นนี้ จะต้องขนย้ายข้าวจากเขตที่ปากแม่น้ำโขง เพื่อนำไปเยียวยาแก่ผู้ประสบภัย รวมทั้งจำนวนหนึ่งที่จะต้องจัดเก็บเป็นสต๊อก เพื่อความมั่นคงทางด้านเสบียงอาหารอีกด้วย

 

 

 

 

ภาพรอยเตอร์ 12 ต.ค.2553 ชาวนาแบกต้นข้าวที่ออกรวงแก่จัด เตรียมขนเข้าหมู่บ้านใน อ.โกวา (Gowa) จ.สุลาเวสี (Sulawesi) ซึ่งเป็นอู่ข้าวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ อุทกภัยที่เกิดในช่วงกลางปีนี้ทำให้อินโดนีเซียอาจจะต้องนำเข้าข้าว 200,000 ตันในเดือน พ.ย. แต่ยังตกลงราคากับไทยไม่ได้ ขณะที่เวียดนามไม่ข้าวจำหน่ายให้ สื่อของทางการกล่าว

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ราคาพุ่ง 30% เวียดนามบ่นอุบ ข้าวหมดสต๊อก ไทยโกยเงินอื้อซ่า

 

น่าจะพาดหัวแบบแจ้งกลุ่มคนนะครับ ไม่น่าเป็น ไทยทั้งชาติ ที่ได้รับ

อานิสงฆ์

ถูกแก้ไข โดย เด็กขายของ

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

IRRI เตือนราคาข้าวปรับเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 ตุลาคม 2553 13:32 น.

 

 

 

 

 

เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยข้าวสากล หรือ ไออาร์อาร์ไอ เตือนวันนี้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกข้าวสำคัญทั่วโลก จะส่งผลให้ราคาข้าวปรับเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า และเชื่อว่า ราคาข้าวจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นถึงระดับวิกฤติเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 ซึ่งขณะนี้ราคาข้าวสูงสุดในรอบ 30 ปี

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวน่าจะปรับตัวขึ้นเนื่องจาก พื้นที่ปลูกข้าวในปากีสถานได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ขณะเดียวกันพื้นที่เพาะปลูกข้าวในจีน เผชิญความเสียหายทั้งจากน้ำท่วม และสภาพอากาศแห้งแล้ง ส่งผลให้ปีนี้ ผลิตข้าวได้ลดลงราวร้อยละ 5-10 ขณะที่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ราคาข้าวสาลี ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี หลังจากรัสเซียประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลีชั่วคราว หลังจากพื้นที่ปลูกข้าวสาลีของรัสเซียเผชิญความเสียหายจากสภาพอากาศแห้งแล้งและไฟป่า ซึ่งคาดว่า ส่งผลให้รัสเซียผลิตข้าวสาลีลดลงกว่าร้อยละ 30

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

ตอนนี้เหมือนระบบทองคำจะแดงแล้วหนิครับ ไม่ทราบว่ามีความเห็นอย่างไรกันบ้าง (จากการติดตามมาตลอดเพิ่งจะสมัครสมาชิกใหม่ครับ ^^)

แชร์โพสต์นี้


ลิงก์ไปโพสต์
แชร์ไปเว็บไซต์อื่น

Join the conversation

You can post now and register later. If you have an account, sign in now to post with your account.

ผู้มาเยือน
ตอบกลับกระทู้นี้...

×   วางข้อความแบบ rich text.   วางแบบข้อความธรรมดาแทน

  อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 75 อิโมติคอน.

×   ลิงก์ของคุณถูกฝังอัตโนมัติ.   แสดงเป็นลิงก์แทน

×   เนื้อหาเดิมของคุณได้ถูกเรียกกลับคืนมาแล้ว.   เคลียร์อิดิเตอร์

×   คุณไม่สามารถวางรูปภาพได้โดยตรง กรุณาอัปโหลดหรือแทรกภาพจาก URL

กำลังโหลด...

  • เข้ามาดูเมื่อเร็วๆนี้   0 สมาชิก

    ไม่มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนกำลังดูหน้านี้

×
×
  • สร้างใหม่...